สปช.มติเห็นด้วย 187 เสียงดันอันดามันขึ้น 'มรดกโลก'
ที่ประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ มีมติเห็นชอบรายงานพื้นที่อนุรักษ์ในทะเลอันดามันเป็นเขตมรดกโลกด้วยคะแนนเสียง 187 ไม่เห็นด้วย 10 เสียง หวังอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล พร้อมแนะกมธ.นำข้อสังเกตของสมาชิกสปช.ไปปรับปรุงรายงานให้สมบูรณ์
29 พฤศจิกายน 2557 ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) โดยมีระเบียบวาระเพื่อพิจารณารายงานศึกษาเรื่อง การนำเสนอพื้นที่อนุรักษ์ในทะเลอันดามันเป็นเขตมรดกโลก ที่คณะกรรมาธิการปฏิรูปทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพิจารณาเสร็จ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ กล่าวถึงการเสนอพื้นที่แหล่งอนุรักษ์ทะเลอันดามันให้เป็นมรดกในครั้งนี้นั้นเป็นการเร่งรัดให้ประเทศไทยสมัครเข้ารับการพิจารณาเป็นมรดกโลก ซึ่งสิ่งที่ได้ทำเอกสารส่งให้สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติเป็นเพียงเอกสารความหนาเพียงแค่ 10 หน้า เป็นเกณฑ์ที่ทางคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (National Commission for UNESCO)กำหนดและไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ โดยจะต้องส่งภายในวันที่ 15 เมษายน 2558
ทั้งนี้หากไทยได้รับการพิจารณา ผศ.ดร.ธรณ์ กล่าวว่า ในขั้นตอนต่อไปจะเป็นกระบวนการของการพิจารณา สอบว่าอันดามันของไทยมีคุณสมบัติตามที่ยูเนสโกกำหนดหรือไม่ ซึ่งต้องใช้ทั้งเอกสารและข้อมูลมหาศาล ทั้งนี้การพิจารณาอาจต้องใช้เวลา2-3 ปีตามความเหมาะสมว่าจะผ่านหรือไม่ผ่าน
“สิ่งที่คณะกรรมาธิการกำลังจะเสนออยู่ตอนนี้ คือขอให้ประเทศไทยสมัครสอบสักที หลังจากที่รอมา 10 ปี ซึ่งที่ผ่านมา สมัครยังไม่ได้สมัครเลย และครั้งนี้ที่ขอให้ช่วยกรุณาเร่งรัดทางคณะรัฐมนตรี(ครม.)ในการพิจารณา เพราะต้องอาศัยมติ ครม.ใช้ในการสมัคร ครั้งนี้หากไม่ผ่านมติครม.ของไทยก็จะไม่สามารถสมัครเข้ารับการพิจารณาได้”
ผศ.ธรณ์ ยังเสนอให้รัฐบาลจัดตั้งคณะทำงานเพื่อผลักดันให้พื้นที่ทะเลอันดามันเป็น พื้นที่อนุรักษ์โดยเฉพาะ เพราะไม่มั่นใจกลไกของภาครัฐจะดำเนินการเรื่องนี้อย่างไร เนื่องจาก 10 ปีที่ผ่านมาไม่มีการดำเนินการต่อ อีกทั้งจะได้ทราบถึงปัญหาว่าเหตุใดรัฐฯไม่จัดการดำเนินการต่อ แค่เฉพาะการสมัครก็ยังไม่มีให้เห็นออกมาเป็นรูปเป็นร่าง อีกทั้งหากจะปฏิรูปต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมถึงกระบวนการ
ดร.ธรณ์ สรุปถึงการจะผลักดันให้เกิดพื้นที่แหล่งอนุรักษ์ทะเลอันดามันให้เป็นมรดกในครั้งนี้ว่า เป็นการนำปัญหาที่ได้ถกเถียงทั้งในที่ประชุมและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งในเรื่องของปัญหาทุจรติคอร์รัปชั่น ทรัพยากรธรรมชาติเสื่อมโทรมลง และอีกมากมาย ซึ่งหากไม่เร่งดำเนินการจะแก้ไขปัญหาเหล่านั้นได้ และย้ำว่าทุกท่านที่เสนอวันนี้จะนำไปปรับและเพิ่มเติมหากมีการสมัครสอบ
ด้านนพ.อำพล จินดาวัฒนะ กล่าวว่า การนำเสนอพื้นที่อนุรักษ์ในทะเลอันดามัน เป็นเขตมรดกโลก เป็นการที่พยายามจะเปลี่ยนระบบโครงสร้าง เปลี่ยนอุดมการณ์ เปลี่ยนวิธีการปฏิบัติ หรือเปลี่ยนวิธีการพัฒนาทิศทางในด้านนโยบายเพื่อสร้างสังคมให้เกิดความยั่งยืน หากนำโจทย์นี้มาเป็นตัวตั้งจะต้องเขียนรายละเอียดให้ชัดเจนและเป็นเหตุเป็นผล
"การหยิบยกประเด็นนี้กำลังจะสะท้อนให้เห็นว่า การกำหนดให้อันดามันเป็นมรดกโลกกำลังจะบอกทิศทางการพัฒนาประเทศว่าต้องการให้ใช้ความยั่งยืนมาเป็นตัวกำหนดแทนการเอาตัวเลขเศรษฐกิจมาเป็นตัวตั้ง แล้วเกิดการทำลายทรัพยากร รวมทั้งวิธีการดำเนินชีวิตของคนในพื้นที่อย่างเช่นชาวมอร์แกน หรือการส่งเสริมเรื่องการอนุรักษ์ที่กำลังเป็นปัญหาระดับโลก"
นพ.อำพล กล่าวถึงการท่องเที่ยวว่า จะยังเอาเม็ดเงินเป็นตัวตั้งเช่นเดิมอยู่หรือไม่ ที่สำคัญต้องคำนึงถึงคือการยกพื้นที่นี้ให้เป็นมรดกโลกเพื่อที่จะระวังผลกระทบจากท่าเรือน้ำลึก หรือโรงไฟฟ้า หรือไม่อย่างไร ตัวรายงานต้องแตะเรื่องนี้ไว้ด้วย และต้องตอบให้ได้ว่า สิ่งเหล่านี้กำลังสวนทางกับนโยบายที่กำลังจะเกิดขึ้นในพื้นที่ภาคใต้และจะเป็นการสร้างการแตกหักด้วยหรือไม่
“หากจะมีการเสนอเรื่องนี้ทุกฝ่ายต้องมาร่วมกันทำงานให้ข้อมูลต่างๆอย่างครบถ้วนเพื่อให้เกิดพลังในการนำเสนอที่ชัดเจนและมีความครอบคลุม”
ขณะที่นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ กล่าวว่า บางส่วนของพื้นที่แหล่งอนุรักษ์ทะเลอันดามันได้รับการประกาศเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ (Ramsar Site) และที่สำคัญที่สุดหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องจะต้องร่วมงานกันและทำงานแบบบูรณาการ เหตุที่ต้องเสนอเรื่องนี้ในช่วงนี้เนื่องจากการศึกษาดำเนินการเสร็จสิ้นและมีความพร้อมแล้ว
หากถามว่า การประกาศให้อันดามันเป็นมรดกจะมีความสำคัญอย่างไรนั้น นายหาญณรงค์ กล่าวว่า อุทยานไม่ใช่แค่เรื่องการวางแผนด้านการท่องเที่ยวต้องมีฝ่ายหนึ่งทำหน้าที่ในการศึกษาด้านวิชาการของปะการัง สัตว์น้ำและระบบนิเวศน์อื่นๆ เนื่องจากที่ผ่านมามีการให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวจนละเลยข้อมูลของนักวิชาการด้านอุทยาน
“ในอนาคตจะต้องมีคณะกรรมการชัดเจนในการเข้ามาดูแลเรื่องนี้และจะต้องขึ้นทะเบียนไว้ก่อนแล้วค่อยดำเนินการผลักดันตามขั้นตอน ที่สำคัญจะต้องตอบคำถามเหล่านี้ให้เกิดความชัดเจนเมื่อมีการนำเสนอไปสู่รัฐบาลเพื่อที่จะได้มีคำตอบให้องค์การยูเนสโกว่า จะมีการทำท่าเรือน้ำลึกปากบารา ท่าเรือเกาะลันตา หรือไม่ มิเช่นนั้นก็จะเกิดการทำเอกสารโต้ตอบกลับไปกลับมา”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ท้ายสุดที่ประชุม สปช.ได้มีมติเห็นชอบรายงานพื้นที่อนุรักษ์ในทะเลอันดามันเป็นเขตมรดกโลก ด้วยคะแนนเสียง 187 เสียง ไม่เห็นด้วย 10 เสียง งดออกเสียง 11 เสียง จากจำนวนผู้เข้าร่วมประชุมทั้งหมด 208 คน พร้อมเห็นด้วยให้ กมธ.นำข้อเสนอแนะและข้อสังเกตของสมาชิก สปช.นำไปปรับปรุงรายงานให้สมบูรณ์มากขึ้น
หลังจากนี้นำเสนอรายงานดังกล่าวไปยังคณะรัฐมนตรี เพื่อขอให้มีมติเร่งรัดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนนำเสนอเอกสารเพื่อขอบรรจุพื้นที่อนุรักษ์ทะเลอันดามันเพื่อเป็นเขตมรดกโลกทางธรรมชาติ ในบัญชีรายชื่อเบื้องต้นฉบับสมบูรณ์ แก่คณะอนุกรรมการมรดกโลกทางธรรมชาติ ภายในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2558 ก่อนที่จะยื่นเอกสารดังกล่าวต่อองค์การยูเนสโก ภายในเดือนกรกฎาคม 2558