ก.เกษตรฯ เตรียมชงแผนปรับโครงสร้างข้าวเข้า ครม. สัปดาห์ที่ 2 ม.ค. ปี 58
ก.เกษตรฯ เตรียมชงแผนปรับโครงสร้างข้าวเข้า ครม. สัปดาห์ที่ 2 ของม.ค. ปี 58 ภายใต้งบฯ 5.2 หมื่นล้านบาท ดำเนินการปลูกข้าวนาปี 2558/59 พื้นที่ 61 จว. เพิ่มขีดความสามารถกว่า 2 เเสนครัวเรือน
นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (รมว.กษ.) เปิดเผยว่า สัปดาห์ที่ 2 ของเดือนมกราคม 2558 จะนำแผนการปรับโครงสร้างข้าวภายใต้งบประมาณ 52,708.66 ล้านบาท แยกเป็นงบกลาง 21,637.32 ล้านบาท และเงินกู้ 31,071.34 ล้านบาท เข้าเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)หลังผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) แล้ว จะสามารถเริ่มดำเนินการได้ปีเพาะปลูกข้าวนาปี 2558/59 ประมาณเดือนพฤษภาคม 2558
โดยโครงการปรับโครงสร้างข้าวจะใช้ระยะเวลาการดำเนินการตั้งแต่ปี 2558-2561 ในพื้นที่ 61 จังหวัดเป้าหมายเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับชาวนา 255,000 ครัวเรือน พื้นที่ 3.75 ล้านไร่ ปรับเป็นเกษตรกรรมทางเลือก 247,378 ครัวเรือน พื้นที่ 1.24 ล้านไร่ ปรับเปลี่ยนเป็นอ้อย 35,000 ครัวเรือน พื้นที่ 7 แสนไร่
รมว.กษ. กล่าวต่อว่า โครงการปรับโครงสร้างข้าวในพื้นที่ไม่เหมาะสมเป็นชาวนารายย่อยมีพื้นที่ไม่เกิน 15 ไร่/ครัวเรือน กลุ่มเป้าหมาย 20 ครัวเรือน/หมู่บ้าน มีหมู่บ้านที่มีสิทธิ์เข้าร่วมโครงการ 8,342 หมู่บ้าน ใน 2,308 ตำบล 480 อำเภอ และ 40 จังหวัด กลุ่มนี้รัฐบาลจะสนับสนุนเงินสดและเงินกู้ผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เป็นเวลา 3 ปี ด้วยเงินจ่ายขาด ค่าปัจจัยการผลิต และวัสดุการเกษตร เช่น พันธุ์พืช ปุ๋ย สารป้องกันกำจัดศัตรูพืช รายละไม่เกิน 5 ไร่ เป็นระยะเวลา 3 ปี วงเงิน 45,000 บาท/ครัวเรือน
“ปีแรก ไร่ละ 5,000 บาท ปี ต่อมาไร่ละ 3,000 บาท และปีสุดท้ายไร่ละ 1,000 บาท โดยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ผ่าน ธ.ก.ส. ในอัตรา 5 % ต่อปี โดยชาวนาจ่าย 2 % รัฐสมทบร้อยละ 3 % ไม่เกินครัวเรือนละ 30,000 บาท ระยะเวลากู้ 3 ปี เพื่อจัดหาแหล่งน้ำในไร่นา” นายปีติพงศ์ กล่าว
ทั้งนี้ โครงสร้างชาวนาไทยที่จะปรับเปลี่ยนไป มีดังนี้
1.ชาวนาที่ปรับเปลี่ยนการปลูกข้าวในพื้นที่นาไม่เหมาะสมไปปลูกอ้อยจะมีจำนวน 35,000 ครัวเรือน จำนวน 0.7 ล้านไร่
2.ชาวนาเปลี่ยนเป็นกิจกรรมทางเลือกในพื้นที่ 1.24 ล้านไร่ ทำให้พื้นที่นาไม่เหมาะสมลดลง 4 แสนไร่ ในจำนวนนี้จะมีรายได้เพิ่มขึ้น 10,000บาท/ไร่/ปี หรือ 50,000 บาท/ครัวเรือนโดยรายได้จำนวนนี้ยังไม่รวมรายได้ที่เกิดจากการปลูกข้าวที่ยังทำอยู่
3.ชาวนาที่ลดพื้นที่การผลิตข้าวนาปรังปีละ 2ล้านไร่ ผลผลิตข้าวลดลงไม่ต่ำกว่าปีละ 0.89 ล้านตันข้าวเปลือก รวม 3 ปี พื้นที่ 6 ล้านไร่ ผลผลิต 2.67ล้านตัน ข้าวเปลือกและชาวนามีรายได้เพิ่มจากการจำหน่ายผลผลิตหมุนเวียน โดยมีกำไรเฉลี่ย 1,000 บาท/ไร่
4.ชาวนาไม่ต่ำกว่า 25,000 ครัวเรือน ในพื้นที่ 2.5แสนไร่ สามารถผลิตข้าวตลาดเฉพาะที่มีคุณภาพได้มาตรฐานเพิ่มขึ้น 141,750ตัน พื้นที่ 0.25 ล้านไร่ ผลผลิตข้าว 567 กก./ไร่ คิดเป็นมูลค่า 3,543 ล้านบาทหรือ 25,000 บาท/ตัน สามารถจำหน่ายได้ราคาสูงกว่าข้าวทั่วไป 2 เท่า
5.ชาวนาไม่ต่ำกว่า 1.3 แสนครัวเรือน สามารถผลิตข้าวคุณภาพดี 0.59ล้านตันข้าวเปลือก เพิ่มขึ้น 0.06 ล้านตันข้าวเปลือก คิดป็นมูลค่าไม่ต่ำกว่า 720 ล้านบาท หรือราคา 12,000 บาท/ตัน นอกจากนี้ต้นทุนการผลิตจะลดลง 2,000 บาท/ตัน คิดเป็นเงินทั้งสิ้น 1,080 ล้านบาท
6.ศูนย์ข้าวชุมชน 1,000 แห่งเป็นศูนย์กลางการพัฒนาข้าวสามารถผลิตและกระจายเมล็ดพันธุ์ข้าวได้ไม่ต่ำกว่า 20,000 ตัน นำไปปลูกได้ในพื้นที่ 1.3 ล้านไร่