กฤษฎีกา ยัน ปปง. มีอำนาจใช้ กม. ฟอกเงิน ลุยนายทุนฮุบที่โคราช 4 พันไร่
กฤษฎีกา ไฟเขียว ปปง. ใช้อำนาจกม.ฟอกเงิน ม.3 (15) จัดการนายทุน ถือครองที่ดินสาธารณ 4,000 ไร่ โดยมิชอบ เผยพฤติการณ์ ยกพวกเข้าไปทำประโยชน์ปลูกพืชไร่ ปล่อยผู้อื่นเช่าเก็บค่าตอบแทน ทั้งที่ไม่มีสิทธิ แถมกรณีขุดที่ดินส.ป.ก.ขายให้โครงการบ้านจัดสรรด้วย -คสช.รับทราบเรื่องแล้ว
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อเร็วๆนี้ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้เผยแพร่บันทึกตอบความเห็นทางกฎหมาย กรณีสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (สำนักงาน ปปง.) ได้มีหนังสือ ด่วนที่สุดที่ ปง ๐๐๐๒.๒/๔๐๖๗ ลงวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๕๗ ถึงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ความว่าด้วยได้มีหนังสือร้องเรียนต่อหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติเมื่อวันที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๕๗ ว่ามีกลุ่มบุคคลร่วมกันบุกรุกและเข้าถือครองทำประโยชน์ในที่ดินสาธารณประโยชน์โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและได้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริง และรวบรวมพยานหลักฐานต่าง ๆ จากบุคคลและส่วนราชการที่เกี่ยวข้องกับที่ดินสาธารณประโยชน์แปลงนี้ สรุปได้ว่า ที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์มีเนื้อที่ประมาณ ๔,๐๐๐ ไร่เศษ และมีกลุ่มบุคคลเข้ายึดครองและทำประโยชน์ที่ดินดังกล่าวจริง
ต่อมาเจ้าหน้าที่ทหารในพื้นที่จึงได้ประสานมายังสำนักงาน ปปง. และได้ร่วมกันเข้าตรวจค้นเมื่อวันที่ ๒๒ สิงหาคม ๒๕๕๗ และยึดทรัพย์สินไว้หลายรายการเพื่อตรวจสอบโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พระพุทธศักราช ๒๔๕๗
ต่อมามีการส่งเรื่องให้สำนักงาน ปปง. ตรวจสอบเพื่อดำเนินการตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. ๒๕๔๒ ต่อไป ในการนี้ สำนักงาน ปปง. ได้ดำเนินการตรวจสอบ
เรื่องดังกล่าว ปรากฏข้อเท็จจริงสรุปได้ว่า มีกลุ่มบุคคล (กลุ่มนายทุน) ได้ร่วมกันเข้ายึดถือ ครอบครองที่ดินสาธารณประโยชน์คิดเป็นเนื้อที่ประมาณ ๔,๐๐๐ ไร่ และได้ทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวด้วยการปลูกพืชไร่ เช่น อ้อย มันสำปะหลัง ต้นยูคาลิปตัส ต้นสัก รวมถึงได้นำที่ดินนั้นออกให้ผู้อื่นเช่าโดยได้รับค่าตอบแทนด้วย โดยไม่ปรากฏว่ากลุ่มบุคคลดังกล่าวมีสิทธิตามกฎหมายในการเข้าถือครองและทำประโยชน์ในที่ดินนั้นหรือได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจแต่อย่างใด
ในเบื้องต้นสำนักงาน ปปง. พิจารณาแล้วเห็นว่าพฤติการณ์ดังกล่าวมีลักษณะเป็นการเข้าไปยึดถือ ครอบครองที่ดินสาธารณประโยชน์ อันเป็นความผิดตามมาตรา ๙ (๑) ประกอบกับมาตรา ๑๐๘ ทวิ วรรคสองแห่งประมวลกฎหมายที่ดิน และมีพยานหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่ากลุ่มบุคคลดังกล่าวได้ไปซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อม โดยการใช้ ยึดถือหรือครอบครองทรัพยากรธรรมชาติหรือกระบวนการแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติโดยมิชอบด้วยกฎหมายอันมีลักษณะเป็นการค้า ซึ่งเป็นความผิดมูลฐานตามมาตรา ๓ (๑๕)แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. ๒๕๔๒
อย่างไรก็ดี เนื่องจากมาตรา ๓ (๑๕) แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้บัญญัติให้ความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อม โดยการใช้ยึดถือ หรือครอบครองทรัพยากรธรรมชาติหรือกระบวนการแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติโดยมิชอบด้วยกฎหมายอันมีลักษณะเป็นการค้าอันเป็นความผิดมูลฐาน
แต่มิได้บัญญัติไว้ว่าการกระทำส่งพร้อมหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ นร ๐๙๐๒/๑๔๒ ลงวันที่ ๒๒ ธันวาคม ๒๕๕๗ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกามีถึงสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอันเป็นความผิดต่อทรัพยากรธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อมดังกล่าว ครอบคลุมความผิดตามกฎหมายใดซึ่งแตกต่างกับมูลฐานความผิดอื่นที่จะระบุไว้ว่าความผิดมูลฐานนั้น ๆ เป็นความผิดตามกฎหมายฉบับใดทำให้เกิดความไม่ชัดเจนและส่งผลกระทบต่อการบังคับใช้ซึ่งกฎหมายดังกล่าว
ดังนั้น เพื่อให้การบังคับใช้พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. ๒๕๔๒ ดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย สำนักงาน ปปง. จึงขอหารือประเด็นปัญหาข้อกฎหมายต่อคณะกรรมการกฤษฎีกา ดังต่อไปนี้
ประเด็นที่หนึ่ง ความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อม โดยการใช้ยึดถือ หรือครอบครองทรัพยากรธรรมชาติหรือกระบวนการแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติโดยมิชอบด้วยกฎหมายอันมีลักษณะเป็นการค้า อันเป็นความผิดมูลฐานตามมาตรา ๓ (๑๕) นั้นครอบคลุมถึงความผิดตามกฎหมายฉบับใดบ้างซึ่งในเบื้องต้น สำนักงาน ปปง. พิจารณาแล้ว เห็นว่าครอบคลุมกฎหมายดังต่อไปนี้ด้วยนั้น เป็นการถูกต้องหรือไม่ อย่างไร
๑. ความผิดตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐ ได้แก่ ความผิดตามมาตรา ๑๒มาตรา ๔๓ มาตรา ๖๒ มาตรา ๖๓ มาตรา ๖๔ มาตรา ๗๔ มาตรา ๗๖ มาตรา ๘๙ มาตรา ๙๑ ทวิมาตรา ๑๐๕ มาตรา ๑๒๙ มาตรา ๑๓๓ มาตรา ๑๓๕ และมาตรา ๑๓๘
๒. ความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. ๒๔๘๔ ได้แก่ ความผิดตามมาตรา ๑๑มาตรา ๑๒ มาตรา ๑๓ มาตรา ๒๙ มาตรา ๒๙ ทวิ มาตรา ๓๑ มาตรา ๓๙ มาตรา ๓๙ ตรี มาตรา ๔๐ มาตรา ๔๓ มาตรา ๔๘ มาตรา ๕๑ มาตรา ๕๓ ตรี มาตรา ๕๔ มาตรา ๖๙ มาตรา ๗๐ มาตรา ๗๑ ทวิ มาตรา ๗๒ มาตรา ๗๒ ทวิ มาตรา ๗๒ ตรี มาตรา ๗๓ และมาตรา ๗๓ ทวิ
๓. ความผิดตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๗ มาตรา ๑๔มาตรา ๓๑ และมาตรา ๓๔
๔. ความผิดตามพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. ๒๕๑๔ มาตรา ๑๐๓ ถึงมาตรา ๑๐๕
๕. ความผิดตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๔ มาตรา ๑๖ (๑) (๒) (๓) (๗) และ (๑๓)
๖. ความผิดตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. ๒๕๓๕ มาตรา ๑๙
มาตรา ๒๐ มาตรา ๒๑ มาตรา ๒๓ มาตรา ๓๖ และมาตรา ๓๘
๗. ความผิดตามพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ มาตรา ๑๙ และมาตรา ๒๐
๘. ความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยสิทธิการประมงในเขตการประมงไทย
พ.ศ. ๒๔๘๒ มาตรา ๘ มาตรา ๙ และมาตรา ๑๑
๙. ความผิดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองซากดึกดำบรรพ์ พ.ศ. ๒๕๕๑ มาตรา ๑๗
มาตรา ๒๘ มาตรา ๕๔ มาตรา ๕๙ มาตรา ๖๐ และมาตรา ๖๑
๑๐. ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา ๙ และมาตรา ๑๐๘ ทวิ
ประเด็นที่สอง กรณีการกระทำของกลุ่มบุคคล (กลุ่มนายทุน) ตามข้อเท็จจริงดังกล่าว
ข้างต้น ซึ่งได้ร่วมกันเข้ายึดถือ ครอบครอง ที่ดินสาธารณประโยชน์ที่ประชาชนใช้ร่วมกันได้ และ
ทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวด้วยการปลูกพืชไร่ เช่น อ้อย มันสำปะหลัง ต้นยูคาลิปตัส ต้นสัก รวมถึงได้นำที่ดินออกให้ผู้อื่นเช่าโดยได้รับค่าเช่าตอบแทนด้วย โดยไม่ปรากฏว่ากลุ่มบุคคลดังกล่าวมีสิทธิตามกฎหมายในการเข้าถือครองและทำประโยชน์ในที่ดินนั้นหรือได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจแต่อย่างใด
พฤติการณ์เช่นนี้จะถือได้ว่าเป็นการกระทำ "อันมีลักษณะเป็นการค้า"ตามบทบัญญัติแห่งมาตรา ๓ (๑๕) แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. ๒๕๔๒และเป็นการกระทำอันเป็นความผิดมูลฐานหรือไม่ อย่างไร และหากเป็นกรณีที่ได้กระทำกับที่ดินที่ใช้
เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะหรือที่ราชพัสดุ แล้วผลจะแตกต่างกันหรือไม่ ประการใด
ประเด็นที่สาม กรณีที่มีกลุ่มนายทุนได้บุกรุกที่ดินที่รัฐได้จัดสรรเพื่อดำเนินการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) และได้ลักขุดดินขายให้โครงการบ้านจัดสรร ส่งผลกระทบก่อให้เกิด
ดินถล่มแบบแลนด์สไลด์ (Landslide) พฤติการณ์เช่นนี้ถือว่าเป็นความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อม โดยการใช้ ยึดถือ หรือครอบครองทรัพยากรธรรมชาติหรือกระบวนการแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติโดยมิชอบด้วยกฎหมายอันมีลักษณะเป็นการค้า อันเป็นความผิดมูลฐานตามมาตรา ๓ (๑๕) แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. ๒๕๔๒ ด้วยหรือไม่ อย่างไร
คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ ๑๑) ได้พิจารณาข้อหารือของสำนักงาน ปปง.
โดยมีผู้แทนจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กรมประมงและสำนักงานการปฏิรูปที่ดิน
เพื่อเกษตรกรรม) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (กรมทรัพยากรธรณีและกรมป่าไม้)กระทรวงพลังงาน (กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ) กระทรวงมหาดไทย (กรมที่ดิน) กระทรวงอุตสาหกรรม(กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่) และสำนักงาน ปปง. เป็นผู้ชี้แจงข้อเท็จจริงแล้วมีความเห็นในแต่ละประเด็น ดังต่อไปนี้
ประเด็นที่หนึ่ง เห็นว่า การกระทำที่จะถือว่าเป็นความผิดตาม (๑๕) ของบทนิยาม
คำว่า "ความผิดมูลฐาน" ในมาตรา ๓[๑] แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน
พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๕๖ นั้น ต้องเป็นการกระทำความผิดตามกฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครอง การป้องกัน หรือการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อม โดยการกระทำความผิดตามกฎหมายดังกล่าวต้องเป็นการใช้ยึดถือหรือครอบครองทรัพยากรธรรมชาติโดยมิชอบด้วยกฎหมายกรณีหนึ่ง หรือเป็นกระบวนการแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติโดยมิชอบด้วยกฎหมายอีกกรณีหนึ่ง และการกระทำความผิดทั้งสองกรณีต้องมีลักษณะเป็นการค้าด้วย
นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับความผิดมูลฐานตามอนุมาตราอื่นของบทนิยามคำเดียวกันแล้วจะเห็นได้ว่า หากกฎหมายประสงค์ที่จะให้ความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อมเป็นความผิดตามกฎหมายฉบับใดโดยเฉพาะแล้ว ก็จะบัญญัติไว้อย่างชัดเจนว่าเป็นความผิดตามกฎหมายฉบับใดบ้างดังเช่นความผิดมูลฐานตามอนุมาตราอื่น ๆ ฉะนั้น ไม่ว่าความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อมนั้นจะเป็นความผิดตามกฎหมายฉบับใดก็ตาม หากการกระทำความผิดตามกฎหมายฉบับนั้นครบองค์ประกอบความผิดตาม (๑๕) ของบทนิยามคำว่า "ความผิดมูลฐาน" ในมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินฯดังกล่าวแล้ว ย่อมถือได้ว่าการกระทำความผิดตามกฎหมายดังกล่าวเป็นความผิดที่อยู่ในความหมาย ของบทนิยามคำว่า "ความผิดมูลฐาน"
สำหรับข้อหารือที่ว่า ความผิดมูลฐานตามมาตรา ๓ (๑๕) ครอบคลุมถึงความผิดตามกฎหมายฉบับใดบ้าง ซึ่งในเบื้องต้น สำนักงาน ปปง. พิจารณาแล้วเห็นว่า ครอบคลุมกฎหมายรวมสิบฉบับเป็นการถูกต้องหรือไม่ อย่างไร นั้น เห็นว่า หากการกระทำความผิดตามบทบัญญัติของกฎหมายเหล่านั้นครบองค์ประกอบความผิดตาม (๑๕) ของบทนิยามคำว่า "ความผิดมูลฐาน" ในมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินฯ ดังกล่าวข้างต้นแล้ว กฎหมายต่าง ๆ นั้นย่อมอยู่ในความหมายของบทนิยามคำว่า "ความผิดมูลฐาน"
ประเด็นที่สอง เห็นว่า เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงเพิ่มเติมจากคำชี้แจงของผู้แทนสำนักงาน ปปง. ว่า กลุ่มบุคคล (กลุ่มนายทุน) ได้ร่วมกันบุกรุกที่ดินสาธารณประโยชน์ที่ประชาชนใช้ร่วมกัน มีเนื้อที่ประมาณ ๔,๐๐๐ ไร่ และมีการใช้ที่ดินดังกล่าวเพื่อการเกษตร เช่น ปลูกอ้อยและมีการนำผลผลิตทางการเกษตรที่ได้ไปขาย หรือนำที่ดินบางส่วนออกให้เช่าและได้รับค่าเช่าตอบแทนโดยไม่มีสิทธิตามกฎหมายหรือได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจ การกระทำดังกล่าวย่อมเป็นความผิดฐานเข้าไปยึดถือหรือครอบครองที่ดินของรัฐซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ร่วมกันตามมาตรา ๙ (๑) ประกอบกับมาตรา ๑๐๘ ทวิ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน
อีกทั้งการกระทำความผิดดังกล่าวก็มีลักษณะเป็นการค้าด้วย ดังนั้น การกระทำของกลุ่มบุคคลดังกล่าวจึงเป็นการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อม โดยการใช้ ยึดถือหรือครอบครองทรัพยากรธรรมชาติโดยมิชอบด้วยกฎหมายหรือเป็นกระบวนการแสวงหาประโยชน์
โดยมิชอบด้วยกฎหมายอันมีลักษณะเป็นการค้าซึ่งอยู่ในความหมายตาม (๑๕) ของบทนิยามคำว่า
"ความผิดมูลฐาน" ในมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินฯ แล้ว
นอกจากนี้ ความผิดมูลฐานดังกล่าวไม่ว่าจะได้กระทำในที่ดินที่ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะหรือที่ราชพัสดุก็ไม่มีผลแตกต่างกัน เนื่องจากที่ดินทั้งสองประเภทต่างก็เป็นที่ดินของรัฐตามมาตรา ๒ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน เช่นเดียวกัน
ประเด็นที่สาม เห็นว่า ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเป็นที่ดินที่รัฐนำที่ดินของรัฐหรือรัฐจัดซื้อหรือเวนคืนมา เพื่อจัดให้แก่เกษตรกรผู้ไม่มีที่ดินของตนเองหรือเกษตรกรที่มีที่ดินเล็กน้อยให้มีที่ดินทำกินเพียงพอแก่การครองชีพ ที่ดินดังกล่าวยังคงเป็นที่ดินของรัฐอยู่ตามนิยามคำว่า "การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม" และ "ที่ดินของรัฐ" ของมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. ๒๕๑๘ หากบุคคลใดเข้าไปยึดถือ ครอบครอง และทำอันตรายต่อทรัพยากรในที่ดิน การฝ่าฝืนย่อมเป็นความผิดตามมาตรา ๙ (๑) และ (๓) ต้องระวางโทษตามมาตรา ๑๐๘ ทวิ
แห่งประมวลกฎหมายที่ดินเมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า กลุ่มบุคคล (กลุ่มนายทุน) ได้ร่วมกันเข้ายึดถือครอบครองที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินอันเป็นที่ดินของรัฐ และได้ขุดดินอันเป็นทรัพยากรธรรมชาติในที่ดินดังกล่าวเพื่อนำไปขายแก่โครงการหมู่บ้านจัดสรรจนทำให้เกิดดินถล่มหรือการชะล้างพังทลายของดินอย่างรุนแรงทั้งการกระทำดังกล่าวมีลักษณะเป็นการค้า ย่อมเป็นการกระทำที่ต้องด้วย (๑๕) ของบทนิยามคำว่า"ความผิดมูลฐาน" ในมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินฯ แล้ว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงปลายเดือนสิงหาคม 2557 ที่ผ่านมา กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย กองทัพภาคที่ 2 และคณะกรรมป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน หรือ ปปง.อายัดของกลางเป็นรถบรรทุก, รถยนต์, เครื่องจักรกลการเกษตร และทรัพย์สินอื่นๆ กว่า 30 รายการ รวมมูลค่ากว่า 100 ล้านบาทไว้ หลังสืบทราบว่านายสมโภช ศรีใหม่ ชาว ต.หนองตะไก้ อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา เจ้าของทรัพย์สินดังกล่าวเป็น 1 ใน 4 คนที่เกี่ยวข้องกับการบุกรุก และถือครองที่ดินสาธารณะประโยชน์หนองกุง-หนองแก้ว ต.หนองตะไก้ นานกว่า 20 ปี ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่ยังได้อายัดทรัพย์สินนายทุนอีก 3 คน รวมพื้นที่บุกรุกทั้งหมดเกือบ 4,000 ไร่
นายสมโภชน์อ้างว่าได้เช่าที่ดินกว่า 1,900 ไร่ต่อจาก นายอัมรินทร์ อยู่สุขดี นายทุนจาก อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา เพื่อปลูกอ้อย และมันสำปะหลัง โดยไม่ทราบมาก่อนว่าเป็นที่ดินสาธารณะประโยชน์
พ.ต.อ.สีหนาท ประยูรรัตน์ รองเลขาธิการ ปปง.เปิดเผยว่า ผู้บุกรุกทั้ง 4 คน มีความผิดเกี่ยวกับการทำลายทรัพยากรธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อม ให้เปลี่ยนแปลงไปจากวัตถุประสงค์เดิมที่ราชการประกาศให้เป็นที่เลี้ยงสัตว์ โดยใช้ยึดถือ หรือครอบครองที่ดินดังกล่าว เพื่อการแสวงหาผลประโยชน์จากที่ดินสาธารณะประโยชน์ อันเป็นทรัพยากรธรรมชาติโดยมิชอบด้วยกฎหมาย และเข้าข่ายเป็นความผิดมูลฐานตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ส่วนทรัพย์สินที่อายัดครั้งนี้ เบื้องต้น จะเน้นตรวจสอบยานพาหนะ ก่อนจะขยายผลไปยังทรัพย์สินอื่นๆ
(อ่านประกอบ : เจ้าหน้าที่อายัดทรัพย์สินนายทุนบุกรุกที่สาธารณะ จ.นครราชสีมา จากไทยพีบีเอส)