ชาวนารุ่นใหม่ แนะเกษตรกรพึ่งตนเอง รวมกลุ่ม สร้างอำนาจต่อรองในตลาด
ปธ.สมาพันธ์สมาคมชาวนาฯ หนุนชาวนาใช้ระบบ GAP สร้างมาตรฐานความปลอดภัยในอาหาร ดันกม.สวัสดิการชาวนา-คุ้มครองพื้นที่นาเหมาะสม ส่งเสริมรวมเเปลงเกษตร ลดต้นทุนการผลิต สร้างระบบจัดการครบวงจร
นายนิพนธ์ วงษ์ตระหง่าน ประธานสมาพันธ์สมาคมชาวนาแห่งประเทศไทย กล่าวถึงทางเลือกทางรอดข้าวและชาวนาไทย สู่ความมั่นคง และความปลอดภัยทางอาหาร’ ในงานประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 7 ว่า แนวทางให้ชาวนาไทยอยู่รอดได้ ต้องคำนึงการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีและเหมาะสม ปลอดภัย ปลอดศัตรูพืช (Good Agricultural Practice :GAP) แม้ช่วงแรกของการเพาะปลูกอาจต้องใช้สารเคมีเบื้องต้นก่อนได้ จากนั้นจึงค่อย ๆ ลดปริมาณจนกลายเป็นอินทรีย์ในที่สุด
ทั้งนี้ จากการเป็นที่ปรึกษาโครงการพัฒนาทุ่งกุลาร้องไห้ นายนิพนธ์ พบว่า การนำระบบ GAP ไปใช้ สามารถเพิ่มผลผลิตได้มากขึ้น และยังลดต้นทุนการผลิตด้วย เพราะชาวนาได้นำความรู้ทางวิชาการไปปรับใช้ ดังนั้น จะอยู่รอดได้อย่างมั่นคง ต้องรู้จักปฏิรูปตัวเอง
“ชาวนาต้องเริ่มเปลี่ยนแปลงจากตัวเรา เพราะโลกเปลี่ยน หากคอยแบมือขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลไม่มีทางมั่นคงได้” ประธานสมาพันธ์ฯ กล่าว และว่า การช่วยตัวเองก่อน สำคัญ มิฉะนั้นจะก้าวไม่ทันการเปลี่ยนของโลก
นายนิพนธ์ ยังระบุถึงวิธีการเปลี่ยนแปลงด้วยว่า ภาครัฐต้องผลักดันให้เกิดแหล่งน้ำระดับไร่นา ซึ่งกำลังขายความคิดให้กับ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี ด้านเศรษฐกิจ และนายอำนวย ปะติเส รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (รมช.กษ.) เพื่อความเป็นธรรมของชาวนา พร้อมกันนี้ เสนอไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ให้บัญญัติเรื่องข้าวไว้ในรัฐธรรมนูญว่า จะธำรงไว้ซึ่งอาชีพการทำนาให้อยู่คู่ประเทศไทย
นอกจากนี้ สมาพันธ์ฯ ยังเสนอให้ผลักดันพ.ร.บ.กองทุนสวัสดิการชาวนา เพื่อให้ชาวนามีสวัสดิการเหมือนแรงงานในระบบ และพ.ร.บ.คุ้มครองพื้นที่นาเหมาะสม โดยเฉพาะในเขตชลประทาน สามารถซื้อขายแลกเปลี่ยนได้ แต่ผู้ซื้อจะต้องทำนาต่อ ซึ่งในหลายประเทศล้วนมีกฎหมายลักษณะนี้ รวมถึงตั้งโรงเรียนชาวนาด้วย
ประธานสมาพันธ์ฯ กล่าวด้วยว่า รัฐบาลต้องส่งเสริมให้ชาวนารวมตัวกันผลิตแปลงใหญ่ เพื่อลดต้นทุน แต่ไม่ใช่การนำโฉนดที่ดินมารวมกัน เพียงแต่นำแปลงมารวมกันเท่านั้น และสร้างโรงสี ทำข้าวถุง นำรำข้าวสกัดน้ำมัน โรงงานอาหารสัตว์ เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการครบวงจรในชุมชน ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ซึ่งคาดว่าจะนำร่อง จ.ชัยนาท
“การบริหารจัดการระบบดังกล่าวอาจสร้างความเคืองใจให้กับนายทุน เพราะจะมีคู่แข่งในตลาดเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี มิฉะนั้นนายทุนจะเอาเปรียบได้ ซึ่งถือเป็นจุดอ่อนของภาคเกษตรไทยในขณะนี้” นายนิพนธ์ กล่าว
ด้านน.ส.จิตชนก ต๊ะวิชัย (หนูดี) บัณฑิตคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ในฐานะชาวนารุ่นใหม่ จ.เลย เล่าวว่า ครอบครัวเธอมีอาชีพรับราชการ ไม่มีความรู้ในการทำนาเลย เมื่อชาวบ้านในชุมชนนำที่ดินขายให้นายทุนต่างพื้นที่ เพื่อดำเนินกิจการต่าง ๆ จึงคิดว่า หากไม่เป็นคนซื้อที่ดินผืนนี้ไว้ คงไม่เหลือพื้นที่ปลูกข้าวอีกแล้ว เพราะค่านิยมมักปลูกฝังให้ลูกหลานเรียนจบ เพื่อทำงานในเมือง
“หลายคนมักตั้งคำถามว่า ทำไมทำนาผิวไม่ดำ ซึ่งใครที่มองว่าชาวนาต้องผิวดำ แต่งหน้าไม่ได้ คนนั้นกำลังเหยียบเราให้ต่ำกว่า โดยประเมินค่าชาวนาจากรูปลักษณ์ภายนอก” ชาวนารุ่นใหม่ กล่าว และว่า เมื่อขายข้าวได้เงินก็มีสิทธิจะนำเงินซื้อเครื่องสำอางได้ ไม่จำเป็นต้องเก็บไว้ซื้อปุ๋ยเคมีอย่างเดียว เพราะเราทำเกษตรอินทรีย์
ทั้งนี้ ไม่ได้มองว่าอยู่สูงกว่าใคร เพราะกำลังทำในสิ่งที่เป็นรากเหง้าที่มีมานาน และชีวิตโชคดีที่มีโอกาสได้ทำนา ซึ่งหากไปสมัครงานในบริษัทต่าง ๆ ก็คงมีโอกาสได้รับคัดเลือก แต่เพื่อนในกลุ่ม 20 คน การได้มีโอกาสกลับไปเหยียบดินเพียงคนเดียว ถือเป็นโอกาสที่ทำให้รู้สึก ‘พราว’ ในตัวเองมาก
เมื่อถามถึงการสร้างความปลอดภัยทางอาหาร ชาวนารุ่นใหม่ กล่าวว่า ปัญหานี้ได้เรื้อรังมานาน ซึ่งตั้งแต่เด็กเห็นการใช้สารเคมีมากขึ้น กระทั่งปัจจุบันบริษัทยักษ์ใหญ่หลายแห่งพยายามป้อนข้อมูลว่า สารเคมีถูกนำมาใช้ตั้งแต่รุ่นปู่รุ่นย่า ซึ่งไม่เป็นความจริง สิ่งเหล่านี้กลับเพิ่งเกิดขึ้น โดยเข้ามาทำให้เราเกิดความมักง่ายเกินไป จนกลายเป็นความเชื่อผิด ๆ และเปลี่ยนแปลงความเชื่อนั้นยาก
“หนูพยายามทำให้เห็นเป็นตัวอย่างว่า การใช้สารเคมีไม่ดี แต่การจะอยู่รอดได้ต้องกลับไปใช้วิถีสมัยบรรพบุรุษ ยึดถือรากเหง้าที่ปฏิบัติกันมา” น.ส.จิตชนก กล่าว และว่า สาเหตุที่แท้จริง คือ เราไม่พึ่งพาตัวเอง แต่รอคอยความช่วยเหลือจากรัฐบาลเพียงฝ่ายเดียว ทั้งที่สามารถเพิ่มขีดความสามารถเองได้ โดยการรวมกลุ่มกัน เพื่อเพิ่มอำนาจการต่อรองกับตลาด
ชาวนารุ่นใหม่ ยังกล่าวด้วยว่า เรามักวิ่งหนีและรอคอยเหมือนนกน้อยรอเหยื่อมาป้อนถึงในปาก เพราะฉะนั้นต้องเริ่มเปลี่ยนแปลงจากตัวเรา เดินไปหาโอกาส ไม่ใช่ให้โอกาสเดินมาหา พร้อมยืนยัน ทุกคนมีรายได้เพียงพอหากรู้จักบริหารจัดการอย่างมีคุณภาพ .