ปลัดเกษตรฯ ลั่นลงโทษจริงผู้ฝ่าฝืนกม.ทารุณกรรมสัตว์-ห้ามปล่อยทิ้งขว้าง
ปลัดกระทรวงเกษตรฯ ยันจุดเด่นกม.ป้องกันทารุณกรรมสัตว์ เพิ่มโทษหนักขึ้น เตือนผู้เลี้ยงระวัง ฝ่าฝืนถึงขั้นจำคุก ลั่นจากนี้ไปคงไม่มีใครเห็นภาพ "จับแมวแขวนคอเล่น" ห้ามปล่อยทิ้งขว้างเหมือนเดิม
จากกรณีราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.2557 ซึ่งมีสาระสำคัญอยู่ในการให้ความคุ้มครองดูแลสัตว์ไม่ให้ถูกทารุณกรรม และเพิ่มบทลงโทษผู้ที่กระทำการฝ่าฝืนให้มีความรุนแรงมากขึ้น โดยมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ นับตั้งแต่วันที่ 27 ธ.ค.57 ที่ผ่านมานั้น
(อ่านประกอบ : บังคับใช้แล้ว! กม.ป้องกันทารุณสัตว์โทษสูงจำคุก2ปี- ปล่อยทิ้งปรับ4หมื่น)
นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้สัมภาษณ์ยืนยันสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ว่า ขณะนี้กรมปศุสัตว์อยู่ระหว่างการจัดทำข้อกำหนดและระเบียบวิธีการดำเนินการในการป้องกันคุ้มครองดูแลและจัดสวัสดิการสัตว์ ขึ้นมารองรับการปฏิบัติงานตาม พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.2557 ที่มีผลบังคับใช้เป็นทางการแล้ว ตั้งแต่เมื่อวันที่ 27 ธ.ค.57 ที่ผ่านมา ซึ่งจะมีการระบุขั้นตอนการควบคุมกำกับดูแลที่ชัดเจน โดยเฉพาะลักษณะและรูปแบบการทารุณกรรมสัตว์ให้เป็นไปตามหลักสากลมากขึ้น รวมถึงการจัดให้มีการต่อสู้ของสัตว์ตามประเพณีท้องถิ่นด้วย
นายชวลิต ยังกล่าวต่อไปว่า อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้นชัดเจนในขณะนี้ คือ ผู้เลี้ยงสัตว์ ชนิดต่างๆ ไม่สามารถใช้ความรุนแรงกับสัตว์ โดยไม่มีเหตุผลอันสมควรได้อีกต่อไปแล้ว เช่นภาพการทำแมวไปแขวนคอ ที่เคยปรากฎมาในอดีต และไม่สามารถนำสัตว์เลี้ยงไปปล่อยทิ้งตามสถานที่ต่างๆ ได้อีกต่อไป
"ขณะนี้ประเทศเรามีกฎหมายคุ้มครองเรื่องสัตว์โดยเฉพาะแล้ว จึงอยากแจ้งเตือนประชาชน ให้ระมัดระวังการใช้ความรุนแรงกับสัตว์ด้วย เพราะกฎหมายใหม่ที่ออกมา มีบทลงโทษที่รุนแรงมาก การทำทารุณกรรมสัตว์ไม่ได้เป็นคดีลหุโทษเหมือนเดิม ทำผิดแล้วปรับกันแค่พันกว่าบาทเท่านั้น แต่โทษใหม่จะมีความรุนแรงถึงขั้นจำคุก และปรับเงินเป็นหลักหมื่นบาท"
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในมาตรา 20 พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.2557 ระบุว่า ห้ามมิให้ผู้ใดกระทำการอันเป็นการทารุณกรรมสัตว์โดยไม่มีเหตุอันสมควร ยกเว้น
(1) การฆ่าสัตว์เพื่อใช้เป็นอาหาร ทั้งนี้ เฉพาะสัตว์เลี้ยงเพื่อใช้เป็นอาหาร
(2) การฆ่าสัตว์ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการฆ่าสัตว์และจำหน่ายเนื้อสัตว์
(3) การฆ่าสัตว์เพื่อควบคุมโรคระบาดตามกฎหมายว่าด้วยโรคระบาดสัตว์
(4) การฆ่าสัตว์ในกรณีที่สัตวแพทย์เห็นว่าสัตว์ป่วย พิการ หรือบาดเจ็บและไม่สามารถเยียวยา
หรือรักษาให้มีชีวิตอยู่รอดได้โดยปราศจากความทุกข์ทรมาน
(5) การฆ่าสัตว์ตามพิธีกรรมหรือความเชื่อทางศาสนา
(6) การฆ่าสัตว์ในกรณีที่มีความจำเป็นเพื่อป้องกันอันตรายแก่ชีวิตหรือร่างกายของมนุษย์
หรือสัตว์อื่น หรือป้องกันความเสียหายที่จะเกิดแก่ทรัพย์สิน
(7) การกระทำใด ๆ ต่อร่างกายสัตว์ซึ่งเข้าลักษณะของการประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์
โดยผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์หรือผู้ซึ่งได้รับยกเว้นให้กระทำได้โดยไม่ต้องขึ้นทะเบียนและได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์จากสัตวแพทยสภาตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพการสัตวแพทย์
(8) การตัด หู หาง ขน เขา หรืองาโดยมีเหตุอันสมควรและไม่เป็นอันตรายต่อสัตว์หรือการดำรงชีวิตของสัตว์
(9) การจัดให้มีการต่อสู้ของสัตว์ตามประเพณีท้องถิ่น
(10) การกระทำอื่นใดที่มีกฎหมายกำหนดให้สามารถกระทำได้เป็นการเฉพาะ
(11) การกระทำอื่นใดที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ
ขณะที่การจัดสวัสดิภาพสัตว์ กำหนดไว้ใน มาตรา 22 เจ้าของสัตว์ต้องดำเนินการจัดสวัสดิภาพสัตว์ให้แก่สัตว์ของตนให้เหมาะสมตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดการออกประกาศตามวรรคหนึ่ง ให้คำนึงถึงประเภท ชนิด ลักษณะ สภาพ และอายุของสัตว์
มาตรา 23 ห้ามมิให้เจ้าของสัตว์ปล่อย ละทิ้ง หรือกระทำการใด ๆ ให้สัตว์พ้นจากการดูแลของตนโดยไม่มีเหตุอันสมควรการกระทำตามวรรคหนึ่ง ไม่รวมถึงการโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองให้แก่ผู้ซึ่งประสงค์จะนำสัตว์ไปดูแลแทน
มาตรา 24 การขนส่งสัตว์ หรือการนำสัตว์ไปใช้งานหรือใช้ในการแสดง เจ้าของสัตว์หรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต้องจัดสวัสดิภาพสัตว์ให้เหมาะสม
ส่วนบทลงโทษ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา20 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
ส่วนเจ้าของสัตว์หรือผู้ใดไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรี ประกาศกำหนดตามมาตรา 22 มาตรา 24 หรือฝ่าฝืนมาตรา 23 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท