โครงการพัฒนาขวางทางน้ำ ต้นเหตุอุทกภัยพื้นที่ ศก.ชายแดนใต้?
แม้สามจังหวัดชายแดนภาคใต้จะมีฝนตกหนักและน้ำท่วมแทบทุกปีในช่วงเดือนธันวาคม
แต่ปีนี้ดูจะต่างออกไป เพราะอุทกภัยลามถึงพื้นที่เศรษฐกิจชั้นในของเขตเทศบาล โดยเฉพาะ อ.เมืองปัตตานี
ถนนบางสายที่ไม่ค่อยเคยเห็นมีน้ำท่วมสูงเป็นเวลานานๆ ก็ได้เห็นกันในปีนี้ เช่น ถนนหน้าห้างสรรพสินค้าบิ๊กซี สาขาปัตตานี ย่านวงเวียนหอนาฬิกา ถนนหนองจิก ถนนพิพิธ ถนนปัตตานีภิรมย์ ถนนยะหริ่ง ถนนกลาพอ ถนนเกษมสุข ถนนมะกรูด ถนนนรินทราช ถนนอุดมวิถี ถนนปรีดา และถนนฤาดี เป็นต้น
แน่นอนว่าน้ำที่ถูกปล่อยจากเขื่อนบางลาง อ.บันนังสตา จ.ยะลา น่าจะเป็นเหตุผลสำคัญอย่างหนึ่งที่ทุกคนรู้ดี แต่หลายคนก็ยังไม่เชื่อเต็มร้อย เพราะน้ำทะลักเข้าท่วมพื้นที่เศรษฐกิจก่อนทางการประกาศพร่องน้ำจากเขื่อนเสียอีก
ด้วยเหตุนี้บางคนจึงพุ่งเป้าไปยังโครงการพัฒนาต่างๆ โดยเฉพาะโครงการด้านอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ ที่อาจถมดินหรือปลูกสร้างขวางทางน้ำ อันเป็นปัญหาคลาสสิกของบ้านเราที่โยงไปถึงระบบผังเมืองที่ล้มเหลว
"อาม่า" หญิงชราชาวไทยเชื้อสายจีนที่ค้าขายอยู่ในตัวเมืองปัตตานี บอกว่า น้ำที่ท่วมเขตเมืองในปีนี้มีหลายสาเหตุ การที่เขื่อนบางลางปล่อยน้ำก็เป็นสาเหตุหลักๆ ที่ทราบกันอยู่แล้ว แต่ปัจจัยสำคัญก็คือ เมื่อน้ำมาแล้ว พื้นที่ที่เคยเป็นแอ่ง ที่ลุ่ม หรืออาจเรียกได้ว่าเป็น "แก้มลิงธรรมชาติ" กลับถูกถมเพื่อก่อสร้างหมู่บ้าน สร้างโครงการขนาดใหญ่ ซึ่งหลายๆ โครงการขวางทางไหลของน้ำ
"อย่างที่ จ.ยะลา เห็นชัดเลยที่ตลาดเมืองใหม่ แถวตือเบาะ ย่านตลาดเก่า มีการถมดินตรงที่เป็นแอ่งน้ำ ส่งผลให้น้ำที่เคยไหลผ่านจุดนั้นไม่สามารถผ่านได้ ก็ต้องไหลไปทางอื่นที่ต่ำกว่าแทน ทำให้บางพื้นที่ที่ไม่เคยมีน้ำท่วม ก็เกิดท่วมในปีนี้"
"หรืออย่างปัตตานี ที่หน้าห้างฯบิ๊กซี มีการถมดินเท่าไหร่ เมื่อก่อน น้ำก็จะไปกองตรงนั้น ก่อนไหลลงทะเล แต่ตอนนี้ไม่มีที่ลุ่มอีกแล้ว น้ำก็ทะลักเข้าเมือง เข้าพื้นที่เศรษฐกิจ แถวก่อนถึงบานา มีโครงการปัตตานีจายา ถมดินไปเท่าไหร่ แล้วจะให้น้ำไหลไปกองที่ไหน ปีนี้ทราบว่า มาเลเซียก็มีน้ำท่วมหนักเหมือนกัน น่าจะมีน้ำบางส่วนจากมาเลเซียทะลักเข้าไทยด้วย" อาม่า กล่าว
ยาซีง มะแยแซะ วัย 50 ปี ชาว อ.เมืองปัตตานี มองไม่ต่างกันว่า สาเหตุที่ปีนี้น้ำท่วมหนักในเขตเมือง เพราะมีการปิดเส้นทางน้ำหลายจุด ทำให้น้ำไม่สามารถไหลลงทะเลได้สะดวก
"ก็คงรู้ๆ กันดีว่าบ้านเราเวลาจะสร้างจะทำอะไรไม่ค่อยนึกถึงประเด็นนี้ ระบบการไหลผ่านของน้ำมีความพร้อมขนาดไหนหลังจากไปถมดินปิดเส้นทางน้ำ นี่คือสาเหตุหลักที่ทำให้น้ำทะลักเข้าเมือง"
ยาซีง บอกอีกว่า ในส่วนของน้ำที่ถูกปล่อยจากเขื่อน เขาคิดว่าไม่ค่อยมีผลต่อปริมาณน้ำมากเท่าการก่อสร้างปิดเส้นทางน้ำ เพราะน้ำจากเขื่อนมีการปล่อยทุกปีอยู่แล้ว เพียงแต่ไม่มีการแจ้งเตือน ปีนี้มีการแจ้งเตือน ทำให้เป็นข่าวใหญ่
ด้านความเห็นต่อการให้ความช่วยเหลือของภาครัฐ นายอาหามะ (สงวนนามสกุล) วัย 42 ปี ชาวบ้านจางา อ.เมืองปัตตานี บอกว่า หน่วยงานรัฐพัฒนาขึ้นมาก เข้าพื้นที่ประสบอุทกภัยอย่างรวดเร็ว ชาวบ้านโดนน้ำท่วมไม่เกิน 3 วันรัฐก็เข้าถึงพื้นที่แล้ว นำเครื่องอุปโภคบริโภคมาแจกจ่าย ก็ถือเป็นเรื่องดีๆ ในเรื่องร้ายๆ ระหว่างน้ำท่วมใหญ่ในพื้นที่
ขณะที่ นิแมะ สาและ หญิงอายุ 55 ปี ชาวบ้าน จ.ปัตตานี เช่นกัน กล่าวว่า การช่วยเหลือของรัฐในภาพรวมดีขึ้น อาจมีบ้างบางพื้นที่ที่การช่วยเหลือไม่เพียงพอกับความต้องการ แต่ก็ต้องเข้าใจ เพราะพื้นที่ประสบภัยมีมาก และสิ่งที่รัฐดำเนินการวันนี้ถือว่าดีกว่าอดีตเยอะ น้ำท่วมวันนี้ พรุ่งนี้ก็มีข้าวสาร มีอาหารแห้งมาให้แล้ว ถ้าเป็นสมัยก่อนต้องรอกันเป็นสัปดาห์
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 ภาพเมืองปัตตานีในมุมสูง โดย นายพิทักษ์ ก่อเกียรติพิทักษ์ นายกเทศมนตรีเมืองปัตตานี
2-3 สภาพในเมืองปัตตานีหลังน้ำทะลักเข้าพื้นที่ชั้นใน