“วีระกานต์” เปิดใจ ชะตาชีวิต การเมือง และเรื่องนปช.เสื้อแดง!
"..แนวความคิดเสื้อแดงในการสร้างประชาธิปไตยยังเติบโตอยู่ แต่ไร้ระบบ ขาดการบริหาร องค์กรทางการเมืองต้องมีองค์กรนำ มีมวลชนตาม แต่วันนี้องค์กรนำไม่ได้ทำหน้าที่ องค์กรตามก็สะเปะสะปะ ไม่เกิดพลังที่แท้จริง"
สำนักข่าวอิศรา สนทนาส่งท้ายปลายปีกับ “วีระกานต์ มุสิกพงศ์” พี่วีระ อาวีระ หรือพ่อใหญ่วีระ ที่ใครหลายคนรู้จักมักคุ้น อดีตประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) ในวัย 67 ปี ถึงตัวตน การเมือง ครอบครัว และชะตาชีวิตหลังการรัฐประหาร 22 พฤษภา รวมทั้งบทบาทและอนาคตของคนเสื้อแดง!
@ ชีวิตหลังรัฐประหาร 22 พฤษภา เปลี่ยนไปเยอะไหมครับ
เปลี่ยนเยอะ เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นน้อยลง มีการขอความร่วมมือจากคสช. ในการจะเขียน จะพูด ก็ลำบากใจ แล้วยังมีเรื่องเสรีภาพทางร่างกายอีก ไปไหนมาไหนก็มีทหารมาตามดูแลความปลอดภัย ไม่รู้หน่วยไหน ซึ่งผมไม่ค่อยต้องการ(เท่าไหร่) แต่โวยวายไปก็ไม่มีประโยชน์
แต่ที่ต้องดูแลหน่อยคือสุขภาพ มีปัญหาเส้นเสียงอักเสบเรื้อรัง ต่อสู้กลางแดด ใช้เสียงปราศรัยมาเป็นปีๆ ไม่ได้ดูแลรักษา ไปหาหมอ หมอบอกว่า เป็นเพราะปล่อยไว้นานเกินไป ใช้เวลาอีกนานกว่าจะกลับคืนมาได้ หมอบอกว่าดีที่สุดคือ เวลาอยู่บ้าน ไม่ต้องพูดกับใคร จะดีที่สุด อาการก็จะคืนตัวเร็ว ออกมานอกบ้านค่อยพูด(ยิ้ม)
@ วันนี้ออกนอกบ้าน คิดเห็นเรื่องบ้านเมืองอย่างไรบ้าง
ผมค่อนข้างผิดหวังกับผู้คน เมื่อครั้งเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ก็กล่าวกันมาหนหนึ่งแล้วว่า คนไทยไม่พร้อม คณะราษฎรไปทำโดยลำพังความคิดตนเองแทนประชาชน เราก็เถียงตลอดเวลาว่า จะให้พร้อมคงไม่ได้ ไม่มีประเทศไหนรอให้ประชาชนพร้อมแล้วเปลี่ยนมาเป็นประชาธิปไตย ต้องมีการทำอย่างนี้แหละ
มาถึงปัจจุบันจึงรู้สึกผิดหวังกับคนไทยที่ว่า ประชาธิปไตย 82 ปีแล้ว รู้รสชาติสิทธิเสรีภาพประชาธิปไตยดี แต่ก็ไม่ได้ต้องการประชาธิปไตยจริงๆ คนไทยไม่พร้อมจริงๆสำหรับประชาธิปไตย ไม่พร้อมสำหรับปกครองตนเอง
คนไทยชอบให้ผู้อื่นมาปกครอง ชื่นชมต่อคณะรัฐประหาร เรื่องนั้นก็ดี เรื่องนี้ก็เรียบร้อย ถูกใจ ถ้าเป็นรัฐบาลเลือกตั้ง ป่านนี้ก็ตายไปแล้ว
เรื่องนี้ผิดกับต่างประเทศที่เป็นประชาธิปไตย เขาจะเห็นว่าปัญหาสิทธิเสรีภาพ ปัญหาประชาธิปไตย เป็นปัญหาอันดับหนึ่ง แต่ของเราไม่ใช่อย่างนั้น นักธุรกิจก็ชื่นชอบอำนาจเผด็จการ ประชาชนก็ชื่นชอบ ที่ชื่นชอบเพราะไม่กล้าทำเอง และไม่ชอบให้พวกเดียวกันเองดูแล นี่คือปัญหาของคนไทย ผมผิดหวังมาก
@ 1-2 ปีหลังจากนี้ คิดว่าอะไรคือความท้าทายของสังคมไทย
ในที่สุดก็ยังมีปัญหาเรื่องการเมือง หนีการเมืองไม่พ้น จะไม่ชอบยังไง ปฏิเสธยังไง การเมืองก็จะวิ่งเข้าหาคุณ
ปัญหาที่จะเผชิญต่อไป ไม่ว่าคณะคสช.หรือใคร ก็คือ ปัญหาการเมือง เรื่องการเลือกตั้ง เรื่องกติกาที่ทำกันอยู่หรือคิดทำกันอยู่ทุกวันนี้ไม่ได้แก้ปัญหาประเทศชาติ แต่เป็นแก้โจทย์เฉพาะหน้า คือ สกัดทักษิณและพวก เสร็จปัญหานี้ ก็จะเจอปัญหาใหม่อยู่ดี
@ ปัญหาใหม่ที่ว่านี้คือ
เค้าโครงรัฐธรรมนูญที่กำลังจะออกมา เขาไม่ต้องการให้พรรคการเมืองเข้มแข็ง กันคนแบบทักษิณไม่ให้มาครอบงำส.ส. แต่นั่นแหละกำลังผลักส.ส. ให้ไปสู่ระบบวุ่นวาย
วุ่นวายคือ รัฐบาลจะไม่มีเสถียรภาพในการบริหารประเทศ ส.ส. จะไม่มีระเบียบวินัย ไม่รู้จักการทำงานเป็นระบบ วันนี้ส.ส.หนุนรัฐบาลจำนวนเท่านี้ วันพรุ่งนี้ ส.ส. หายไปโดยรัฐบาลไม่รู้ตัว ก็ล้มตึงหงายหลังกลางสภา
@ ล่าสุดมีข้อเสนอจากกมธ.ยกร่างฯเปิดช่องให้คุณสมบัตินายกฯไม่ต้องมาจากส.ส.ได้ วิเคราะห์อย่างไร
นี่แหละ ไม่ต้องลงสมัครรับเลือกตั้ง ก็สามารถได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี แล้วมาโหวตกันกลางสภา เมื่อกลางสภาไม่มีพรรคการเมือง ก็โหวตอิสระ ฉะนั้นใครมีอำนาจ มีเงิน ก็ได้รับโหวต ก็ได้นายกฯที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง
@ อะไรคือจุดแข็งหรือจุดอ่อนของข้อเสนอนี้
สุดท้ายหากเคาะอออกมา จุดอ่อนก็คือ ประชาชนสิแย่ เพราะการเมืองไม่มีเสถียรภาพ จะหวังแก้ปัญหาอะไรได้ ปัญหาที่รอการแก้ไขต้องเป็นรัฐบาลที่มีเสถียรภาพ มีสภาเข้มแข็ง มีอำนาจตรวจสอบทางการเมืองที่มาจากสภาเข้มแข็ง
แต่เวลานี้ มีการสร้างความคิดใหม่ให้ประชาชนว่าเรามีองค์กรอิสระไว้ตรวจสอบ องค์กรอิสระนี่แหละ เละที่สุด เราก็เห็นมาแล้ว ก็จะทำให้เกิดรัฐบาลล้มลุก จะหานักการเมืองก็หายาก มองไปในอนาคตนักการเมืองจะไม่มี พรรคการเมืองก็เข้มแข็งไม่ได้ เพราะเครื่องมือไม่มี
เครื่องมือทางการเมืองก็คือพรรคการเมือง เมื่อเครื่องมือนี้ไม่เข้มแข็งเสียแล้ว ระบบนี้ก็จะเป็นระบบที่แก้ปัญหาให้ประชาชนไม่ได้ ก็สมความปรารถนาเขา ที่ไหนเละเทะอำนาจเผด็จการก็มา เพราะทุกคนเรียกหาเผด็จการ
@ ข้อห่วงใยนี้ ได้นำเสนอในวันไปชี้แจงกับกรรมาธิการยกร่างรธน.ไหม
ผมพูดไปแล้ว ท่าทีตอบรับก็ค่อนข้างดี แต่ผลลัพธ์ออกมา ไม่ใช่ ก่อนหน้านี้พรรคพวกหลายคนบอกว่าอย่าไปเลย ชี้แจงไปก็เท่านั้น ไม่เกิดประโยชน์ ผมบอกว่า ไม่เป็นไร ต้องไปชี้แจงเพื่อบันทึกไว้ให้รู้ไว้ว่าเราพูดอย่างนี้ ต่อไปถ้าเขาไม่ปฏิบัติ ก็จะได้ถกเถียงกันได้ ผมก็ไปด้วยเหตุนี้ ชี้แจงชัดเจน
การไม่สังกัดพรรค เป็นเรื่องที่เคยผ่านมาแล้ว อันตรายที่สุด ปี2511-2514 เป็นช่วงที่ไม่ต้องสังกัดพรรคการเมือง วุ่นวายจนจอมพลถนอม(กิตติขจร)ยังอยู่ไม่ได้ ขนาดมีเสถียรภาพทางทหารมั่นคง เจอสภาที่ไม่สังกัดพรรค ก็เจ๊ง ผมก็บอกกรรมาธิการยกร่างฯว่าบทเรียนมีมาแล้ว
ปี 2517 2518 ได้รัฐธรรมนูญใหม่ก็มีการบังคับเลยว่า ต้องสมัครพรรคการเมือง ก็เพื่อปฏิเสธเรื่องวุ่นวายพรรค์นี้ ก็ได้ผลในระดับหนึ่ง แต่ก็มาล้มลงตอน 6 ตุลา 2519 หลังจากนั้นมาก็ไม่มีอะไรเป็นมาตรฐาน พอปี 2535 ก็ติดปัญหาว่านายกฯควรจะเป็นส.ส.หรือไม่ ก็สู้กันจนนองเลือด สุดท้ายก็บอกว่านายกฯควรเป็นส.ส.
มาวันนี้ เอาอีกแล้ว นายกฯมาจากไหนก็ได้ ไม่จำเป็นต้องส.ส. นั่นจะนำไปสู่วิกฤต คอยดูสิ เหมือนสมัยสุจินดา(คราประยูร) ไม่ใช่วิกฤตอื่น วิฤตจากรัฐธรรมนูญโดยตรง รัฐธรรมนูญเขียนแบบนี้ อยู่ไม่ยืด บ้านเมืองยุ่ง
@ ปีหน้าการเมืองจะยุงอีก อย่างนั้นหรือ
ปีหน้าจะเป็นปีแห่งความยุ่งยากที่สุด เพราะคสช.ยังไม่เข้าใจธรรมชาติการเมือง เขาพูดทุกวันว่า คิดต่างกันได้ แต่อย่าแตกแยก แต่กลับไม่มีการแสดงความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมา ที่จะเกิดประโยชน์และแก้ปัญหาได้ เหตุในปีนี้จะเกิดผลในปีหน้า
@ นายกฯประยุทธ์บอกว่า คสช.และรัฐบาลกำลังทำงานทั้งเรื่องการสร้างปรองดองและเดินหน้าปฏิรูปประเทศ เพื่อวางรากฐานไปสู่ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์
เป็นไปไม่ได้หรอก จะนำไปสู่ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ รัฐธรรมนูญต้องรองรับ ปูพื้นฐานไว้ให้ แต่ถ้ารัฐธรรมนูญไม่ใช่หลัก ก็เป็นไปไม่ได้
ผมคิดว่าสังคมที่เป็นประชาธิปไตย จะต้องเริ่มต้นจากการให้สิทธิเสรีภาพประชาชนเสียก่อน ถ้าไม่เริ่มต้นตรงนี้ก็ยาก บุคคลในระบอบประชาธิปไตยต้องเป็นเจ้าของสิทธิเสรีภาพที่จะแสดงความคิด ความเห็นได้ ถ้าเรื่องนี้ไม่มี ก็อย่าไปคิดเรื่องอื่นให้มันเกร่อ
แม้แต่การระดมพละกำลังในการพัฒนาเศรษฐกิจก็มาจากตรงนี้ ถ้าไม่มีสิทธิเสรีภาพก็ไม่มีความหมาย ต้องปลดล็อคให้ประชาชนมีเสรีภาพ จึงจะเป็นสังคมประชาธิปไตย ตราบใดที่เป็นสิทธิเสรีภาพในกรอบที่ทหารกำหนด แม่พิมพ์ปฏิรูปก็ออกมาตามนั้น พลังการปฏิรูปที่แท้จริงอยู่ที่ประชาชน ไปมัดเอาไว้ ไม่มีทาง
@ ในฐานะอดีตประธานนปช. วันนี้กลุ่มนปช.มีข้อเสนอเรื่องปรองดองหรือปฏิรูปบ้างไหม
นปช.หลัง 22 พฤษภา ไม่มีโอกาสแม้แต่ประชุมแกนนำ เพราะต้องห้ามภายใต้กฎอัยการศึก จึงสูญเสียโอกาสไปอย่างน่าเสียดาย
@ ได้มีการสรุปบทเรียนบ้างไหมว่าจะเดินหน้าต่อ หรือแก้ไขปรับปรุงองค์กรอย่างไร
ไม่มีโอกาสมาสรุปบทเรียนว่าผิดตรงไหนหรือจะปรับปรุงอย่างไร ก่อนหน้านั้นเราเคยสัมมนา ถกเถียงพูดคุย ก็ทำให้องค์กรขยายตัวได้มากขึ้น เข้มแข็งขึ้น แต่ตอนนี้แทบจะเรียกได้ว่าไม่เป็นองค์กรซะแล้ว องค์กรใดที่ขาดการประชุม พูดคุย ทบทวน เป็นองค์กรที่เข้มแข็งไม่ได้
แต่มวลชนเกิดมากขึ้น แนวความคิดเสื้อแดงในการสร้างประชาธิปไตยยังเติบโตอยู่ แต่เติบโตอย่างไร้ระบบ ขาดการบริหาร องค์กรทางการเมืองต้องมีองค์กรนำ มีมวลชนตาม แต่วันนี้องค์กรนำไม่ได้ทำหน้าที่ องค์กรตามก็สะเปะสะปะ ไม่เกิดพลังที่แท้จริง วันนี้ต่างคนต่างกระจัดกระจาย
@ บทบาทนปช.หลังจากนี้จะเป็นอย่างไร
อย่าว่าแต่นปช.เลย แม้แต่พรรคการเมืองทุกพรรคก็ลำบากใจ จะเตรียมตัวเลือกตั้งได้อย่างไรในเมื่อยังมีการห้ามชุมนุม มันตลก มีการประกาศเรื่องเลือกตั้ง แต่นักการเมืองชุมนุมกันไม่ได้ หรือบอกกับชาวโลกว่า เราพร้อมแล้วสำหรับการเลือกตั้ง แต่พรรคการเมือง นักการเมือง ไม่มีสิทธิ์ที่ประชุม ปรึกษาหารือกันทางการเมือง
เมื่อเป็นเช่นนี้ บรรยากาศการหาเสียงเลือกตั้ง ก็จะมีคนลุกขึ้นด่ากันไปด่ากันมา แล้วก็ด่าคสช. ด่ากันเอง บรรยากาศของการทะเลาะวิวาทก็จะมาถึงอีก จำเป็นต้องจัดระเบียบ เลื่อนเลือกตั้งออกไป หรือไม่ก็มีการเลื่อนตั้งเพื่อคั่นจังหวะ นี่คือสิ่งที่น่ากลัวที่สุด สุดท้ายก็ก้าวไม่พ้นจากวงจรการยึดอำนาจ
@ ไม่มีความหวังอะไรเลยหรือ
ไม่มี กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ท่านหลักการดี แต่พอรูปจริงออกมา เขาก็ลงเรือแป๊ะ ที่พูดว่าลงเรือแป๊ะ เป็นความจริง หลักการก็มีไว้แค่ท่องบ่น แต่เสร็จแล้วก็ทำตามที่แป๊ะต้องการ
@ ในอนาคตนปช.จะกลับมารวมตัวกันได้ไหม
ผมว่าถ้าปลดล็อกแล้ว กลุ่มการเมืองที่คึกที่สุดคือ นปช.เสื้อแดง เพราะเขากระหาย แต่วันนี้อยู่ในความกลัว กลัวคุก เราเดินไปไหน เจอเสื้อแดงมาทักแล้วก็บอกว่า ต้องทนหน่อยนะ รอจังหวะ เขาเป็นคนปลอบเราเอง เขาเข้าใจ
@ หากมีการเลิกกฎอัยการศึก คุณวางบทบาททางการเมืองของตัวเองอย่างไร
กำลังเตรียมการกันอยู่ แต่ทรัพยากรน้อย ทำอะไรยาก แต่ที่แน่ๆต้องเข้าสู่กระบวนการต่อสู่ทางการเมือง การเลือกตั้ง แต่จะเข้าไปในลักษณะไหน ไปแบบคนสมัครอิสระลอยเท้งเต้งคนหนึ่ง ก็ไม่มีความหมายอะไร ต้องรวมพรรครวมพวกกันพอสมควร
@ ยังไหวอยู่ใช่ไหมครับ
ยังไหว พอมีกำลังอยู่ ผมผ่านมาหมดแล้วแล้ว 14 ตุลา 6 ตุลา พฤษภา’35 ยิ่งมา 10 ปีหลักผ่านมาครบเต็มหลักสูตร
@ อะไรคือบทเรียนการของคุณในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยแต่ละยุคสมัย
สรุปบทเรียนแล้วก็เหมือนกันคือ ผู้มีอำนาจไม่ต้องการให้ประชาชนมีประชาธิปไตย ไม่ไว้ใจอำนาจประชาชนนั่นเอง อำนาจอธิปไตย ไม่เป็นของปวงชนในประเทศนี้
@ ได้พูดคุยกับครอบครัวไหมครับว่าจะเดินหน้าทางการเมืองต่อ หรือหยุดดีกว่า
ที่บ้านผมเคยชินซะแล้ว ความลำบากใดๆก็ผ่านกันมามาก 10 ปีมานี้ ที่มาต่อสู้ ใช้เงินเก็บเพียงเล็กน้อย ใช้อย่างกระเบียดกระเสียจริงๆ สิ้นปีนี้ พูดได้ว่า สินปีก็เหมือนสิ้นใจ เงินไม่มีแล้ว ที่จะไปทำการเมือง
@ แล้ววางแผนชีวิตอย่างไรในสถานการณ์แบบนี้
ไม่ได้วางอะไรไว้หรอก แค่คิดว่าถ้าได้กลับเข้าสู่สภาก็จะเป็นประโยชน์ แต่หากออกมานอกสภาก็เขียนหนังสือ เขียนบทความ ตอนหลังเกิดทีวีขึ้นมา ก็มาจัดรายการ ก็พอได้
@ คนอย่างวีระ มีวันเกษียณจากการเมืองไหม
อยากเกษียณ(นะ) แต่เป็นไปได้ยาก จริงๆอยากจะหยุดเสียแต่ตอนนี้ แต่ยังอยู่ระหว่างการต่อสู้ทางจิตใจ ถ้าไม่ลงสมัครเลือกตั้ง ก็ไปหาความสงบไปบวชเป็นพระ ครอบครัวปล่อยได้แล้ว เราก็บวชได้ คิดอยู่เหมือนกัน ยังก้ำกึ่งๆ
แต่ที่ติดการเมืองเวลานี้ ก็ติดเสื้อแดงนี่แหละ ติดค้างน้ำใจคน เขาออกทุน เขาเสียสละเกินกำลังด้วยซ้ำ มาชุมนุมเสียงสตางค์ทั้งนั้น พี่น้องชาวอีสานขายข้าวมาชุมนุมก็มีเยอะ พี่น้องที่มีอุดมการณ์ เคยเข้าป่ามาก่อนก็เห็นใจเขาเหลือเกินว่า คนเหล่านี้ไม่มีตัวแทนในการทำงานแทน ผมติดคนเหล่านี้ ไม่รู้จะตอบแทนเขายังไง ก็คิดว่าจนกว่าจะไม่มีแรง
สมมุติว่าไปบวชพระ ก็ใช่ว่าจะตัดขาดได้ ชีวิตผมตัดขาดจากการเมืองยาก เพราะติดคนเหล่านี้ ปีนี้ ผม 67 ปี แล้ว แต่ยังสร้างประชาธิปไตยให้เข้มแข็งไม่ได้ รู้สึกสูญเปล่า เจ็บใจนัก
ปี 2520 ผมเคยบวชครั้งหนึ่งแล้ว พระอุปัชฌาย์ท่านก็เจตนาดี อยากให้ไปอยู่สำนักสวนโมกข์ เป็นลูกศิษย์ท่านพุทธทาส ท่านบอกว่า ท่านพุทธทาสจะได้สอนในสิ่งที่หลวงลุงสอนไม่ได้แล้ว
เราก็คิดไปคิดมาบอกว่า ผมอยู่ที่นี่ดีแล้ว เพราะถ้าไปอยู่กับเจ้าคุณพุทธทาส ผมยังห่วงจะเป็นผู้แทน ผมยังมีกรรมอยู่ ขอให้ผมไปใช้กรรมเถอะครับ ท่านก็บอกว่างั้นตามใจ ก็เลยไม่ไปสวนโมกข์ ลาสึกออกมาก็ติดคุกครั้งแรกเลย ตอนเหตุการณ์กบฏ 26 มีนา 2520 (หัวเราะ) ชีวิตจึงตัดการเมืองไม่ได้ แล้วอยู่วงในเสียด้วย ร่วมในเหตุการณ์ชนิดอยู่วงใน ได้เห็นชัด อยู่วงนอก อยากจะกลับบ้านเมื่อไหร่ก็ได้ อยู่วงในมันถอนตัวยาก
@ ทราบว่ากิจการร้านอาหารในต่างประเทศ
ไม่ได้ไปดูเลย ศาลไม่อนุญาติ ความจำเป็นของเรากับของศาลไม่เหมือนกัน ภรรยาผมก็ไปดูเป็นครั้งคราว แต่ดีอย่างที่ลูกๆเข้าใจ มีงานทำหมดแล้ว ต่างคนต่างหนีการเมือง เพราะเห็นชีวิตพ่อตั้งแต่เด็ก ลูกๆผมหนีการเมืองสุดชีวิต แต่ภูมิใจที่เขามีงานทำ ตอนนี้ขอเงินเขาใช้ด้วยซ้ำ(ยิ้ม) ถ้าลูกชวนไปช้อปปิ้ง ก็บอกว่าออกตังค์ให้พ่อมั๊ยล่ะ
@ มองในแง่ดี ก็มีเวลาให้ครอบครัวมากขึ้น
ใช่ ได้พบหน้าพบตากันมากขึ้น แต่บางครั้งก็มีสังคมเพื่อนฝูงของเขา เมื่อก่อนเขาหาเราไม่เจอ เดี๋ยวนี้เราก็หาเขาไม่ค่อยเจอ ผมบอกลูก บอกภรรยาเสมอว่าชีวิตนักการเมืองแบบเรา ก็ต้องเป็นแบบนี้แหละ แต่บอกให้พวกเขาสบายใจได้ว่าพ่อไม่ไปทำสิ่งชั่วร้าย ลูกๆก็เข้าใจ เขาไปไหนเชิดหน้าชูตาได้ ไม่มีใครมาประณาม มีคนทักทายก็ทักทายในแง่ดี
@ คุณสอนลูกๆยังไง
ผมสอนด้วยการปฏิบัติ เพราะตอนยังเล็กๆ แม่เขาสอนฝ่ายเดียว จนเขาเรียนจบมีงานทำ เราก็สบายใจ แต่เวลามีลูกก็วิตกอย่างเดียวว่า ทำอย่างไรจะผ่านยาเสพติดได้ ในวัย15 16 เขาก็ผ่านได้ ต่อมาก็เป็นห่วงเรื่องภัยทางเพศ กลัวว่าไม่รู้จะเป็นหญิงหรือชาย(ยิ้ม) สุดท้ายก็ผ่านมาได้ วันนี้ได้ทำงานแล้ว ก็รู้สึกภูมิใจ ไม่มีใครเกเร
@ ทุกวันนี้มีความสุขในชีวิตไหม
ไม่เคยมีความสุข สุขได้ยังไง ยังสร้างประชาธิปไตยให้เข้มแข็งไม่ได้ เพราะผมถูกบ่มเพาะมาอย่างนี้ ไม่เคยไปทางอื่น เคยสังสรรค์เสวนากับนักประชาธิปไตย กับนักหนังสือพิมพ์ที่มีอุดมการณ์ ฟังเรื่องเหล่านี้มาตลอดชีวิต แล้วจะไปไหนได้
ตอนนี้ จึงสู้รบอยู่ในจิตใจตัวเองอยู่ว่า กลัวไปบวชแล้วจะสนใจการเมืองขึ้นมาอีก วิ่งไปวิ่งมาก็น่าเกลียด คงต้องให้ชีวิตสุขงอมเต็มที ถึงจะไปใช้ชีวิตแบบนั้นได้
ทุกวันนี้ก็ไปเล่นฟุตบอลสัปดาห์ละ 2 ครั้ง ถ้าไม่ทำ สุขภาพจะไปไม่รอด ต้องให้วิ่งได้ ให้เหงื่อออก วันไหนไม่เล่นฟุตบอลจะเมื่อยตัว เครียด อ่านหนังสือไม่ได้ แต่ถ้าได้เตะบอล เหงื่อออก จะปลอดโปล่ง แล้วจะทำงานได้ดี