หลักการใหม่ เกี่ยวกับระบอบการเมือง นักการเมือง และสถาบันการเมือง
๑. พลเมืองเข้มแข็ง นักการเมืองมีคุณธรรม
๑.๑ ระบอบการเมืองใหม่ต้องมีการปลูกฝังความเป็นพลเมืองทุกระดับและให้มีสมัชชาพลเมือง
(ระดับพื้นที่) ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนสภาองค์กรชุมชน ผู้แทนประชาสังคมผู้แทนภาคเอกชน ผู้แทนสถาบันอุดมศึกษา ผู้นำศาสนา ปราชญ์ชาวบ้าน ฯลฯ มีหน้าที่ในการจัดทำแผนพัฒนาพื้นที่ เห็นชอบงบประมาณพัฒนาพื้นที่ และมีส่วนร่วมอื่นๆ กับภาครัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการบริหารจัดการพื้นที่ รวมทั้งส่วนร่วมในการตรวจสอบ
๑.๒ ในระดับชาติให้มีสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติซึ่งประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิและคุณธรรม
เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางจากสังคมมีหน้าที่ส่งเสริมและพิทักษ์คุณธรรมจริยธรรมและธรรมาภิบาลของนักการเมือง เจ้าหน้าที่รัฐ และเอกชนทุกระดับ และมีหน้าที่ตรวจสอบ ไต่สวนการละเมิดจริยธรรมของบุคคลสาธารณะ และประกาศผลให้สาธารณชนทราบ พร้อมส่งเรื่องให้ผู้มีอำนาจดำเนินการ เช่น ถอดถอน
๒. ความเป็นกลางในการกำหนดวันเลือกตั้ง และการรักษาการระหว่างเลือกตั้ง
แม้การยุบสภาจะเป็นพระราชอำนาจโดยคำกราบบังคมทูลของนายกรัฐมนตรีให้ทรงตรา
พระราชกฤษฎีกายุบสภาได้แต่การกำหนดวันเลือกตั้งเป็นอำนาจเด็ดขาดของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (ภายใน ๔๕ วัน นับแต่สภาผู้แทนสิ้นอายุ – ภายใน ๖๐ วันนับแต่วันยุบสภา)
การรักษาการระหว่างเลือกตั้งให้เป็นหน้าที่ของปลัดกระทรวงโดยให้ปลัดกระทรวงทำหน้าที่
รัฐมนตรีว่าการ และให้ปลัดกระทรวงเลือกกันเองให้มีผู้ทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรีโดยจะทำงานนโยบายใดๆมิได้เว้นแต่ฉุกเฉินจำเป็นเร่งด่วนไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ก็ต้องอาศัยคะแนนเสียง ๓ ใน ๔ ของปลัดกระทรวงทั้งหมด และต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง
๓. โครงสร้างทางการเมืองที่สมดุลโดยมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนทางสังคม
โครงสร้างทางการเมืองที่ดีต้องผนวกรวม (Inclusive) ทุกภาคส่วนในสังคมเข้าไว้ในโครงสร้าง
โดยไม่จำต้องนับที่จำนวนหรือต้องมีที่มาทางเดียว ดังนั้น ในโครงร่างทางการเมืองใหม่จะประกอบด้วย ๒ สภา คือ
๓.๑ สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีสมาชิกไม่เกิน ๔๘๐ คน ดังมีรายละเอียดในข้อ ๖ – ๘ ซึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนที่สามารถสะท้อนเจตนารมณ์ทางการเมืองที่แท้จริงของประชาชน เป็นสภาซึ่งบริหารโดยอาศัยหลักเสียงข้างมาก (Majoritarian Chamber) เป็นที่มาและความชอบธรรมของรัฐบาล
๓.๒ วุฒิสภา ซึ่งมีสมาชิกไม่เกิน ๒๐๐ คน ซึ่งมาจากความหลากหลายทางวิชาชีพและกลุ่มต่างๆ ที่หลากหลายเป็นสภาพหุนิยม (Pluralist Chamber) ซึ่งควรมีส่วนในโครงสร้างการเมืองโดยไม่เป็นสมาชิกพรรคการเมือง โดยมีวาระดำรงตำแหน่ง ๓ ปีและเป็นได้ไม่เกิน ๒ วาระ คือ
๑) ผู้เคยดำรงตำแหน่งสำคัญระดับสูงสุดของอำนาจทั้งสาม ในอดีตที่ไม่ลักษณะต้องห้าม (เช่น ไม่เป็นสมาชิกพรรคการเมือง) โดยเฉพาะอดีตนายกรัฐมนตรีอดีตประธานรัฐสภา อดีตประธานศาลฎีกา
๒) ผู้เคยดำรงตำแหน่งระดับสูงในภาครัฐ โดยเฉพาะอดีตปลัดกระทรวงหรือเทียบเท่า และอดีตผบ. เหล่าทัพ และผบ.ตร. อดีตอัยการสูงสุดซึ่งเลือกกันเองตามจำนวนที่กำหนดในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ
๓) ผู้ซึ่งเป็นหัวหน้าองค์กรวิชาชีพที่มีกฎหมายรองรับ หรือผู้แทน อาทิสภาหอการค้าฯสภาอุตสาหกรรม สภาวิชาชีพต่าง ๆ เช่น แพทยสภา สภาทนายความ ฯลฯ
๔) ผู้ซึ่งมาจากการเลือกกันเองขององค์กรต่าง ๆ ตามจำนวนที่กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ
กำหนด อาทิ
๔.๑) ผู้แทนสหกรณ์การเกษตร
๔.๒) ผู้แทนสหภาพแรงงาน
๔.๓) ผู้แทนสภาองค์กรชุมชน และสมัชชาพลเมือง
๔.๔) ผู้แทนอธิการบดีและประธานสภาอาจารย์จากสถาบันอุดมศึกษาของรัฐและเอกชน
๔.๕) ผู้แทนองค์กรอื่น ๆ ที่กำหนดในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ เช่น ผู้แทนองค์กรประชาสังคมต่าง ๆ
๕) ผู้ซึ่งมาจากสมัครและการเลือกสรรด้านต่าง ๆ ทำนองเดียวกับที่เลือกสรร สมาชิก ส.ป.ช.
ทั้งนี้ตามจำนวนและวิธีการที่กำหนดในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ
๔. การกรองผู้สมัครรับเลือกตั้งทั้ง ๒ สภา ที่อาจมีปัญหาเรื่องความสุจริตก่อนเลือกตั้ง
การให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งหรือเลือกกันเองต้องแสดงบัญชีทรัพย์สิน หนี้สิน การเสียภาษี และการแสดงกิจกรรมและที่มาของรายได้ก่อนวันสมัครรับเลือกตั้งและให้มีคณะผู้ตรวจสอบการแสดงข้อมูลดังกล่าว หากไม่อาจชี้แจงที่มาของรายได้ก็ไม่ให้สมัครรับเลือกตั้ง
๕. กำหนดให้มีการตรวจสอบการหาเสียง
๕.๑ กำหนดให้นโยบายทุกนโยบายต้องระบุจำนวนเงินแผ่นดินที่ต้องใช้และระบุที่มาของรายได้
ที่จะนำมาใช้
๕.๒ ให้หัวหน้าพรรคการเมืองที่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ลำดับที่ ๑ – ๔ ในสภาครั้งที่แล้ว
ต้องขึ้นดีเบตในโทรทัศน์ก่อนวันลงคะแนนเสียงตามที่กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญกำหนด
๖. ให้มีระบบเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่สะท้อนเจตนารมณ์ที่แท้จริงของประชาชน และทำให้คะแนนเสียงทุกคะแนนของประชาชนมีความหมายอย่างแท้จริง
๖.๑ ระบบเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ผ่านมามีปัญหามากโดยเฉพาะระบบเขตเดียวมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ๑ คน ทำให้ผู้ชนะเพียงเล็กน้อยได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (เช่นได้ ๕๑ เสียง จาก ๑๐๐ เสียง ) ส่วนคะแนนเสียงของผู้แพ้ (๔๙ เสียง ใน ๑๐๐ เสียง) ก็ไร้ความหมายโดยสิ้นเชิง
ดังนั้น จึงควรปรับระบบเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้สะท้อนเจตนารมณ์ที่แท้จริง
ของประชาชนเป็น ๔ ต่อ ๕ ทำให้คะแนนทุกคะแนนมีความหมาย ไม่ตกน้ำโดยใช้ระบบเลือกบัญชีพรรคและเลือกคนในแต่ละเขต โดยให้จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแต่ละพรรคจะถูกกำหนดโดยสัดส่วนที่ประชาชนลงคะแนน เลือกพรรคนั้น ๆ แต่ให้ผู้สมัครอิสระสามารถสมัครอิสระได้ในเขตเลือกตั้ง ดังตัวอย่างต่อไปนี้
ถ้าประชากร ๑๔๓,๐๐๐ คน มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้๑ คน ประเทศไทยก็จะมีสมาชิก
สภาผู้แทนราษฎรได้ประมาณ ๔๕๐ คน แต่เมื่อระบบเลือกตั้งแบบเลือกบัญชีรายชื่อและระบบเขตเป็น ๔ ต่อ ๕ เช่นนี้ จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก็จะกำหนดคงตัวไม่ได้จึงอาจต้องกำหนดให้สภาผู้แทนราษฎรมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่เกิน ๔๘๐ คน โดยมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อพรรค ๒๐๐ คนโดยแบ่งเป็นภูมิภาคตามจำนวนประชากรที่ใกล้เคียงกันและคำนึงถึงภูมิสังคมของแต่ละภูมิภาคสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเขต เขตละ ๑ คน ๒๕๐ คน จาก ๒๕๐ เขต
อย่างไรก็ดีบัญชีรายชื่อพรรคแบบใหม่นี้ต่างจากบัญชีรายชื่อที่ใช้ในปี ๒๕๔๐ และ ๒๕๕๐
โดยสิ้นเชิง กล่าวคือบัญชีรายชื่อ (party list) ปี๒๕๔๐, ๒๕๕๐ เป็น “บัญชีรายชื่อให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพิ่ม” หรือเรียกสั้น ๆ ว่า “บัญชีรายชื่อให้เพิ่ม” เพราะไม่มีความสัมพันธ์การเลือกตั้งเขตเลย จึงเปรียบเหมือน “ของแถม” ให้พรรคต่าง ๆ อีก ๑๐๐ คน แต่ระบบบัญชีรายชื่อใหม่นี้เป็น “บัญชีรายชื่อเติมเต็ม” เพื่อกำหนดสัดส่วนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่แต่ละพรรคหรือกลุ่มได้รับจริงโดยสัมพันธ์กับจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในเขต จึงสรุปว่าบัญชีรายชื่อแบบเดิมเป็นแบบ “ให้เพิ่ม” และแบบใหม่เป็นแบบ “เติมเต็ม”
ระบบเลือกตั้งแบบนี้ทำให้คะแนนเสียงของฝ่ายข้างน้อยไม่เสียไปแต่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
เข้าไปตามสัดส่วนของบัญชีรายชื่อ ที่สำคัญคือทำให้ไม่เกิด winner takes all หรือ “กินรวบ” แบบเดิม
๖.๒ บัญชีรายชื่อตามรายภาคนั้นจะมีมาตรการกำหนดให้เป็น “บัญชีเปิด” (open list) โดยให้ประชาชนเป็นผู้ “จัดลําดับ” ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรบัญชีรายชื่อที่จะได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่ใช่ให้หัวหน้าพรรคเป็นผู้กําหนดดังแต่เดิม
๖.๓ อนึ่ง ต้องกําหนดให้มีการนับคะแนนการไม่เลือกผู้ใด (Vote no) ด้วย และกําหนดให้ผู้ชนะเลือกตั้งต้องได้คะแนนเกินคะแนนที่ไม่เลือกผู้ใดเพื่อให้ประชาชนสามารถประท้วงการเลือกตั้งที่ตนไม่เห็นด้วยได้อย่างมีความหมาย
๗. ทําให้การซื้อเสียงทํายากขึ้น โดยการปรับการเลือกตั้ง
๗.๑ ยกเลิกการให้หมายเลขบนบัตรเลือกตั้งให้ใส่ชื่อ – นามสกุล และภาพถ่ายผู้สมัคร (กรณีส.ส.เขต) และชื่อพรรค กับหัวหน้าพรรคและเครื่องหมายพรรค (กรณีบัญชีรายชื่อ)
๗.๒ การห้ามผู้ซื้อเสียงหรือทุจริตเข้าสู่การเมือง และห้ามดํารงตําแหน่งใดๆ ในภาครัฐ และบริษัทมหาชนจํากัดตลอดชีวิต
๗.๓ ให้มีการ “ล่อขาย” เพื่อจับผู้ซื้อเสียงในทํานองเดียวกับ “ล่อซื้อ” ในคดียาเสพติด
๗.๔ ให้มีการจัดการเลือกตั้งใหม่ในเขตที่มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่ามีการเลือกตั้งที่ไม่สุจริต หรือเที่ยงธรรม และให้เปิดสภาได้ตามปกติภายใน ๓๐ วัน นับแต่วันเลือกตั้ง ถ้าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ได้รับการรับรองแล้วถึง ๘๕% (เพราะรัฐธรรมนูญใช้คําว่า “มีส.ส. ไม่เกิน ๔๘๐ คน”) การให้เลือกตั้งใหม่นี้ให้กระทํา กี่ครั้งก็ได้ตามที่มีหลักฐานอันควรเชื่อว่าการเลือกตั้งไม่สุจริตหรือเที่ยงธรรมเป็นนัยสําคัญจนกว่าคณะกรรมการการเลือกตั้งจะเชื่อว่าการเลือกตั้งสุจริตและเที่ยงธรรมอย่างแท้จริง
๘. การทําให้ส.ส. เป็นผู้แทนราษฎรที่แท้จริงไม่ใช่ลูกจ้างของพรรคการเมืองหรือหัวหน้าพรรค
๘.๑ การไม่บังคับให้ผู้สมัคร ส.ส. เขตต้องสังกัดพรรค
๘.๒ การให้ “กลุ่มบุคคล” สามารถลงสมัครแบบบัญชีรายชื่อได้โดยไม่ต้องสังกัดพรรคการเมืองใด
๘.๓ การไม่กําหนดให้การไม่ปฏิบัติตามมติพรรคในการลงมติในสภาทําให้พรรคขับออกจากพรรค
และพ้นจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (เพราะการกําหนดเช่นนี้ขัดกับหลัก “ความเป็นผู้แทนของปวงชน” ซึ่งได้รับเลือกตั้งจากประชาชน แต่กลับให้คณะกรรมการบริหารพรรคปลดผู้แทนประชาชนที่ทําหน้าที่ในสภาอย่างอิสระได้ อันขัดต่อเจตนารมณ์ของประชาชนที่เลือกผู้นั้นเข้ามา) เพื่อให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีความเป็นอิสระและทําตามความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริงได้
๙. การปรับพรรคการเมืองให้เป็นประชาธิปไตย และควบคุมการรับบริจาค และการใช้จ่ายเงินของพรรคและผู้บริหารพรรค
๑๐. การปรับให้มีการถ่วงดุลในการบริหารในรัฐสภาระหว่างฝ่ายรัฐบาล – ฝ่ายค้าน
๑๐.๑ เมื่อได้รับเลือกเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ให้ผู้นั้นไม่ต้องปฏิบัติตามมติพรรค และต้องปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นกลาง
๑๐.๒ ให้ผู้ได้รับคะแนนเป็นลําดับ ๒ และลําดับ ๓ ในการเลือกประธานเป็นรองประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้พรรคการเมืองฝ่ายค้านมีรองประธานสภาผู้แทนราษฎรด้วย
๑๐.๓ ให้ฝ่ายค้านเป็นประธานคณะกรรมาธิการชุดตรวจสอบที่สําคัญ เช่น คณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริต คณะกรรมาธิการติดตามงบประมาณ
๑๑. วุฒิสภา : สภาพหุนิยม ซึ่งสร้างความสมดุลให้ระบบการเมือง
เมื่อวุฒิสภามีสมาชิก ๒๐๐ คน (ประมาณกึ่งหนึ่งของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร) มาจากหลากหลายอาชีพและมาจากการเลือกตั้งทางอ้อมแล้ว ดังนั้น สมาชิกวุฒิสภาจึงควรมีอํานาจหน้าที่สําคัญ ดังนี้
๑๑.๑ เสนอกฎหมายได้เมื่อผ่านวุฒิสภาแล้วก็ให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป
๑๑.๒ ตั้งกระทู้ถามนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีได้
๑๑.๓ เปิดอภิปรายทั่วไปในวุฒิสภา โดยไม่มีการลงมติได้
๑๑.๔ ตรวจสอบประวัติผู้ที่นายกรัฐมนตรีจะแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีและตรวจสอบประวัติหัวหน้าส่วนราชการทุกส่วน และเปิดเผยให้สาธารณะทราบ
๑๑.๕ เสนอให้สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติตรวจสอบจริยธรรมของรัฐมนตรีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และข้าราชการระดับสูงได้และองค์กรอิสระหากผิดจริยธรรมก็ถอดถอนได้
๑๑.๖ เสนอถอดถอนนายกรัฐมนตรีรัฐมนตรีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา และข้าราชการระดับสูง และลงมติร่วมกับสภาผู้แทนราษฎร และใช้คะแนนเสียงกึ่งหนึ่งของสองสภา
๑๑.๗ ลงมติเลือกองค์กรตรวจสอบตามรัฐธรรมนูญ (กกต.,ปปช.,คตง., ฯลฯ)
๑๑.๘ ร่วมกับสภาผู้แทนราษฎร ให้ความเห็นชอบวิสัยทัศน์ยุทธศาสตร์และแผนสําคัญประเทศเพื่อให้ฝ่ายบริหารนําไปปฏิบัติต่อไป
๑๒. นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีมีที่มาจากสภาผู้แทนราษฎรและมีเสถียรภาพ และประสิทธิภาพภายใต้ระบบการตรวจสอบที่ดี
๑๒.๑ นายกรัฐมนตรีมาจากการลงคะแนนเลือกโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และให้ประธาน
สภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีทั้ง ๒ มาตรการนี้ก็เพียงพอ ทําให้มั่นใจได้ว่า ในภาวะปกติผู้เป็นนายกรัฐมนตรีย่อมต้องมาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แต่เปิดให้ในภาวะวิกฤตสามารถนําคนกลางที่เป็นที่ยอมรับของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาเป็นผู้แก้ภาวะวิกฤตชั่วคราวได้โดยไม่ต้องเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญโดยวิถีทางที่ไม่ได้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ
๑๒.๒ ก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะนําชื่อรัฐมนตรีขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย นายกรัฐมนตรีต้องให้วุฒิสภาตรวจสอบประวัติและเปิดเผยให้ประชาชนทราบก่อน อย่างน้อย ๒ สัปดาห์
๑๒.๓ ห้ามสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีในเวลาเดียวกัน
๑๒.๔ ให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ตั้งกระทู้ถามนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี โดยบุคคลดังกล่าวมีหน้าที่ต้องมาตอบกระทู้
๑๒.๕ ให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรี แต่ละคนได้แต่หากมีการลงมติไม่ไว้วางใจชนะ สภาผู้แทนราษฎรจะยุบไปพร้อมกับพ้นตําแหน่งของนายกรัฐมนตรี เพื่อให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฝ่ายค้านไปใช้กลไกสภาคุณธรรมแห่งชาติกลไกการถอดถอน การฟ้องศาลวินัย การเงินการคลัง และงบประมาณ การส่งเรื่องให้ปปช. ฯลฯ แทน
๑๒.๖ ให้นายกรัฐมนตรีขอความไว้วางใจจากสภาผู้แทนราษฎรได้หากนายกรัฐมนตรีได้คะแนน
ไม่ถึงครึ่งให้นายกรัฐมนตรีกราบบังคมทูลให้ยุบสภาได้
ให้นายกรัฐมนตรีแถลงว่าร่างกฎหมายฉบับใด หรือส่วนใดเป็นการแสดงความไว้วางใจรัฐบาล ถ้าไม่มีการยื่นญัตติไม่ไว้วางใจภายใน ๔๘ ชั่วโมง ให้ถือว่าร่างกฎหมายฉบับนั้น หรือส่วนนั้นผ่าน การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ถ้ามีการยื่นญัตติไม่ไว้วางใจภายใน ๔๘ ชั่วโมง และมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจโดยผ่านไปโดยลงคะแนนเสียงไม่ถึงกึ่งหนึ่ง ให้ถือว่าร่างกฎหมายฉบับนั้น หรือส่วนนั้นผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ถ้ามีคะแนนเสียงไม่ไว้วางใจเกินครึ่งก็ให้ร่างกฎหมายนั้นตกไป และให้นายกรัฐมนตรีกราบบังคมทูลให้ยุบสภาได้
๑๒.๗ ให้นายกรัฐมนตรีกราบบังคมทูลถวายคําแนะนําให้ตราพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎรได้แต่อํานาจกําหนดวันเลือกตั้งอยู่ที่กกต.
๑๒.๘ คณะรัฐมนตรีอาจส่งเรื่องให้สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติตรวจสอบจริยธรรมองค์กรอิสระ
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ได้หากพบว่ามีความผิดจริยธรรม ก็ให้เสนอถอดถอนได้
๑๓. การกําหนดให้ผู้ซึ่งมีหลักฐานอันควรเชื่อว่าเป็นผู้ครอบงํา นําชัก หรือสั่งการให้พรรคการเมือง ผู้ดํารงตําแหน่งการเมือง หรือข้าราชการกระทําการใด ๆ ต้องมีความรับผิดทางอาญา ทางวินัย การเงิน การคลัง และงบประมาณ และความรับผิดอื่น เช่นเดียวกับผู้ที่ตนสั่ง ครอบงํา หรือนําชัก