ก.เกษตรฯ ส่งท้ายปี ‘ปีติพงศ์’ คุยทุกเรื่องข้าว ยาง ประมง หนุนเลี้ยงวัว ควาย ไก่บ้าน
เปิดบ้าน กษ. ส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ 'ปีติพงศ์' ถือโอกาสเเจงนโยบาย ปี 58 หวังดันกม.สวัสดิการเกษตรกร เดินหน้าปรับโครงสร้างข้าว ส่งเสริมเลี้ยงวัว-ควาย เผย 'อำนวย ปะติเส' ทำงานหนัก เเก้ราคายางตกต่ำ
ปล่อยมุขชวนหัวเราะตลอดงาน MOAC Meet the Press เนื่องในวันส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ สำหรับ ‘ปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา’ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) ผู้มีบุคลิกร่าเริง แจ่มใส และเป็นกันเอง
‘ปีติพงศ์’ เลือกใช้โอกาสนี้แจกแจงถึงปัญหาภาคเกษตรของไทยและแนวทางขับเคลื่อนต่อไปในอนาคต โดยระบุว่า ปีนี้เขาเห็นว่า ที่ประสบปัญหาหนักสุดก็เรื่องเกี่ยวกับ ‘ภัยแล้ง’ และ ‘ข้าว’
ดังนั้น กระทรวงเกษตรฯ จึงมีนโยบายจะแก้ไขปัญหาที่คั่งค้างจบลงให้ได้
“ขณะนี้การเบิกจ่ายงบประมาณเพื่อแก้ไขความยากจนของชาวนาไปได้ดี ส่วนการจ้างให้มาทำงานด้านโยธาแทนการปลูกข้าวนั้น ขณะนี้มีผู้เข้าสู่โครงการเกินเป้าหมายที่กำหนดแล้ว” รมว.เกษตรฯ กล่าว และคาดว่าอาจมีความจำเป็นต้องเพิ่มจำนวนคนก๊อก 2 เพื่อช่วยให้ผู้ไม่ได้ทำนาหรือผู้ประสบปัญหาลืมตาอ้าปากได้ ซึ่งกำลังอยู่ในขั้นตอนการวิเคราะห์ปัญหาอยู่
สำหรับชาวนาที่ประสบปัญหานั้น ปีติพงศ์ บอกว่า อยู่ในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนบนเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งมาตรการส่งเสริมรายได้ และจ้างทำงานด้านโยธาเพียงพอสำหรับการแก้ไขปัญหาหรือไม่ แต่ยืนยันโยบายดังกล่าวดี เพราะ ‘ยิงตรง’ ไปที่ประชาชน ดังนั้นอนาคตจึงควรเลือกปฏิบัติลักษณะนี้
ขณะที่ปัญหาราคายางพาราตกต่ำ เขามองว่า เริ่มสบายขึ้นเล็กน้อย เพราะมี ‘นายอำนวย ปะติเส’ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (รมช.กษ.) มารับหน้าที่ดูแลต่อ ซึ่งมีราคามีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นเรื่อย ๆ ตามเป้าหมายที่กำหนด กิโลกรัมละ 60 บาท อย่างไรก็ตาม จำเป็นต้องคอยจับตาดูราคาอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ราคาที่ตั้งใจดำรงไว้
“ตอนนี้รัฐมนตรีช่วยฯ ทานข้าวไม่ค่อยลง เพราะกำลังป่วยหนัก ถึงขนาดนักข่าวต้องยกข้าวมาให้ทาน” ปีติพงศ์ แซวอย่างเป็นกันเอง ภายหลังทราบว่า มือขวาระดับปรมาจารย์ผู้นี้ทำงานหนัก เพื่อแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำ
"ถึงขนาดกระจอกข่าวประจำกระทรวงฯ สงสารรัฐมนตรีช่วยฯ หยิบยาหอม ยาอม ขาดก็แต่ยาหม่องมาให้ เพราะท่านเครียดจนไม่สบาย เสียงแหบแห้ง แต่ก็ยังยืนยันว่า การจะให้ราคายางพารากระโดดแตะกิโลกรัมละ 80 บาท ต้องใช้เวลาอีกนาน"
รมว.เกษตรฯ ระบุถึงสิ่งที่กำลังคิดร่วมกัน คือ ทำอย่างไรให้ ‘คนกรีดยาง’ ซึ่งเดือดร้อนมากที่สุดมีชีวิตอยู่ได้ ซึ่งต้องค่อย ๆ คิด ค่อย ๆ ทำ เพราะรัฐบาลไม่มีงบประมาณมากพอจะแจก ที่สำคัญ นโยบายแจกเงินดังกล่าวทำไม่ได้อีกแล้ว
“สิ่งที่กำลังหลีกเลี่ยง คือ การรับซื้อยางพาราเพื่อยกระดับราคา แต่จะหันมาจัดการสต๊อกแทน ค่อย ๆ ซื้อนำตลาด และขายสต๊อกเก่า ในอัตราที่ไม่ทำให้ราคาพืชผลอื่นตกต่ำ”
ปีติพงศ์ กล่าวถึงราคาผลิตผลในปีหน้าว่า ย่อมขึ้นอยู่กับราคาน้ำมันโลก ปัจจุบันการซื้อขายผลผลิตซับซ้อนมากขึ้น เพราะใช้ระบบตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้า ดังนั้น การวิเคราะห์เศรษฐกิจแบบตรงไปตรงมา ไม่น่าจะถูกต้องมากนัก กระทรวงฯ จึงพยายามให้นักวิชาการเข้ามาแก้ไขปัญหาด้านคุณภาพสินค้า โดยยกตัวอย่างการเจาะตลาดในรัสเซีย และมองไปถึงจีนที่ต้องพยายามส่งสินค้าให้มากขึ้น
เขาเห็นว่า ตลาดจีนกับรัสเซีย แม้จะไม่มีความยั่งยืน แต่ปีหน้าก็เป็นกุญแจสำคัญในการแก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำได้ เช่นเดียวกับตลาดแอฟริกาและแถบอาหรับ ฉะนั้น จำเป็นต้องแทรกแซงราคาตลาดเกษตรล่วงหน้าในบางชนิดสินค้า
‘วิกฤติเป็นโอกาสได้ ถ้าทำเป็น ถ้าทำไม่เป็น วิกฤติก็เป็นวิกฤติ’ เพราะฉะนั้นการเงินของโลกขณะนี้จึงสร้างโอกาสให้ไทย หากสามารถแก้ไขข้อจำกัดทางกฎหมายบางข้อ ราคาก็จะกระเตื้องขึ้นได้
นอกจากนี้การอนุมัติงบประมาณให้ต่างประเทศเข้ามาลงทุนในไทย เสนาบดี กษ. ยืนยันว่า ไม่มีผลโดยตรงสำหรับปีนี้ แต่อย่างน้อยที่สุด โรงงานผลิตที่เปิดในปีหน้าจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถดูดซึมสินค้าเกษตรเข้าไปและสร้างสินค้าขึ้นมาได้
ปีติพงศ์ ยังระบุแนวทางการขับเคลื่อนในอนาคต โปรแกรมหลัก คือ การปรับโครงสร้างข้าว ซึ่งเรื่องนี้ ‘ง้าง’ มานาน ยกตัวอย่าง การปรับพื้นที่ปลูกข้าวไปเป็นเกษตรกรรมทางเลือก แต่ขณะนี้ยังไม่ไปถึงไหน อย่างไรก็ตาม คาดว่าจะนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายใน 2 สัปดาห์
ทั้งนี้ ข้าวเป็นเรื่องใหญ่ เพราะบรรพบุรุษบริโภคมาตั้งแต่อดีต จึงต้องให้ความสำคัญมากที่สุด แต่หากไม่นำยุทธศาสตร์เข้า ครม.ครั้งนี้ ก็ไม่มีเวลาแล้ว เพราะต้องเร่งทำในฤดูกาลผลิต ปี 2557/58 เเต่ก็ไม่ทันเเล้ว”
เรื่องกฎระเบียบว่าด้วยการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ไม่รายงาน และไร้การควบคุม (Illegal, Unreported and Unregulated Finishing: IUU) รมว.เกษตรฯ ชี้ว่า ก็ต้องเร่งจดทะเบียนเรือให้ใช้เครื่องมือให้ถูกต้อง ไม่ใช่นำเครื่องมือดักจับปลาซิวไปจับปลาวาฬ และติดตั้งระบบติดตามเรือ
ที่น่าสนใจ คือ การส่งเสริมเลี้ยง ‘ควาย’ โดยปัจจุบันเหลือประมาณ 5 แสนตัว และคาดว่าอีก 5 ปีข้างหน้า ควายจะหมดไปจากไทย คนต่างจังหวัดก็จะไม่เห็นอีกต่อไป หากปล่อยให้เป็นเช่นนี้คงต้องนำควายมาปั้นเป็นอนุสาวรีย์ในกรุงเทพฯ
เช่นเดียวกับการส่งเสริมเลี้ยง ‘วัว’ ด้วยการดึงสหกรณ์เข้ามามีส่วนร่วมในการขยายพันธุ์ ตลอดจน ‘ไก่บ้าน’ด้วย ทั้งหมดนี้จะกลายเป็นอาชีพเสริมได้ และต้องดำเนินการให้เห็นผลทันตาภายในปี 2558
รวมไปถึงการปรับระบบการส่งเสริมเป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้กัน เน้นแปลงขนาดใหญ่ ไม่เฉพาะพืช แต่ครอบคลุมถึงประมง ปศุสัตว์ และสุดท้าย คือ การผลักดันกฎหมาย ซึ่งหลายฉบับคลอดออกมาแล้ว คงเหลือเพียง 2-3 ฉบับเท่านั้น
นั่นคือ ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การยางแห่งประเทศไทย พ.ศ. ... และร่าง พ.ร.บ.การประมง พ.ศ. ... กำลังอยู่ในการพิจารณาวาระ 2 ซึ่งล้วนเป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้ ทั้งนี้ กำลังมีแนวคิดผลักดันกฎหมายช่วยเหลือแรงงานเกษตรและคนในภาคเกษตรให้มีระบบสวัสดิการ ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนการร่างฯ
ช่วงท้าย เจ้ากระทรวงฯ อวยพรขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิที่นับถือ พระสยามเทวาธิราช จงคุ้มครองให้มีความสุข ความเจริญ คิดสิ่งใดก็ขอให้สมความปรารถนา สุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์
“นักข่าวให้มีฝีปากดีขึ้น เขียนดีขึ้น และมีใจที่จะช่วยกระทรวงเกษตรฯ อย่างที่เคยเป็น” คำหวานทิ้งทวนส่งท้ายปี 2557 ของชายที่ชื่อ ‘ปีติพงศ์’ สุดติสท์..