เอ็นจีโอจี้ออกกฎเหล็กป้องกันเอกชนเลี่ยงทำ EIA สร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล
NGO- นักวิชาการหวั่นช่องโหว่กฎหมายสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลกระทบต่อสุขภาพ เหตุบ.เอกชนเลี่ยงทำรายงานด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ
เมื่อเร็วๆนี้ เวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 7 ได้มีการประชุมเพื่อขับเคลื่อนมติเกี่ยวกับ"การป้องกันและลดผลกระทบด้านสุขภาพจากโรงไฟฟ้าชีวมวล"โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำเสนอความคืบหน้าอาทิ กระทรวงสาธารณสุข กรมควบคุมมลพิษ กรมโยธาธิการและผังเมือง และเครือข่ายพลังงานภาคประชาชน
นายศุภกิจ นันทะวรการ มูลนิธินโยบายสุขภาวะ กล่าวว่า ประเทศไทยมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลเพื่อเป็นพลังงานทางเลือกทั่วประเทศ โดยส่วนใหญ่อยู่ทางภาคเหนือและอีสาน และพบว่า หลายโครงการสร้างผลกระทบต่อสุขภาวะของคนในชุมชน เนื่องจากยังมีช่องว่างของกฎหมายที่ระบุว่า การก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาดเล็ก ที่มีกำลังผลิตต่ำกว่า 10 เมกะวัตต์ ไม่ต้องผ่านการทำรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ทำให้เกิดการหลบเลี่ยงก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลหลายโครงการในพื้นที่เดียวกันจนมีการฟ้องร้องต่อศาลปกครองอยู่ในขณะนี้
สำหรับแนวทางการแก้ปัญหานั้น นายศุภกิจ กล่าวว่า จะต้องมีการรับฟังความเห็นของประชาชนในชุมชนและพื้นที่ใกล้เคียงเพื่อพิจารณาถึงผลกระทบ โดยภาครัฐควรให้ความสำคัญต่อแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโรงไฟฟ้าชีวมวล ที่เน้นกระบวนการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน และควรมีแผนยุทธศาสตร์โรงไฟฟ้าชีวมวลระดับจังหวัด ทางด้านกรมโยธาธิการและผังเมืองอย่างชัดเจนว่าพื้นที่ตรงไหนเหมาะสมต่อการตั้งโรงไฟฟ้า มีการกำหนดประเภทโรงไฟฟ้า มีระบบบำบัดน้ำเสียที่ดี และไม่ควรใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง ขณะที่สาธารณสุขก็ควรประกาศว่า โรงไฟฟ้าชีวมวลอาจเป็นอันตรายกับสุขภาพ
ด้านนายพันศักดิ์ กิรมงคล นักวิชาการสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า มีการกำหนดมาตรฐาน การระบายมลพิษของโรงไฟฟ้าชีวมวลไว้แล้ว แต่การติดตามเฝ้าระวังที่ดีควรมาจากการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ซึ่งทางกรมฯจัดทำคู่มือการเฝ้าระวังอย่างง่ายให้ประชาชนได้ศึกษา เช่นการดูจากฝุ่นละออง และน้ำที่มีสีเปลี่ยนแปลงไป เพื่อแก้ปัญหาการนำเครื่องมือไปตรวจวัดไม่ทันเวลา
ขณะที่ นางวิจิตรา ชูสกุล ตัวแทนจากเครือข่ายพลังงาน จังหวัดสุรินทร์ กล่าวว่า ในบางจังหวัดมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลอยู่แล้ว 5 แห่ง และเตรียมจะจัดสร้างเพิ่มอีก โดยยืนยันว่า โรงงานไฟฟ้าชีวมวลที่ดำเนินการอยู่แล้ว มีปัญหาเรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อมทั้งหมด ที่สำคัญคือเป็นโรงไฟฟ้าชีวมวลกำลังผลิตขนาด 9 เมกะวัตต์ ถึง 4 แห่งในพื้นที่เดียวกัน ซึ่งหากสร้างโรงไฟฟ้าเสร็จทั้ง 10 แห่ง เชื้อเพลิงชีวมวลจะมีไม่เพียงพอ ดังนั้นจึงอยากเสนอให้ยุติการก่อสร้างโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ไปก่อนจนกว่าจะได้ข้อสรุปจากการศึกษาผลกระทบ
ส่วนผศ.ดร.พงศ์เทพ สุธีรวุฒิ คณะกรรมการติดตามการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คมส.) กล่าวว่า มติ "การป้องกันและลดผลกระทบด้านสุขภาพจากโรงไฟฟ้าชีวมวล" มีความคืบหน้าไปพอสมควร เช่น กรมโยธาธิการและผังเมือง เริ่มมีกฎเกณฑ์ควบคุมพื้นที่ในการก่อสร้างโรงไฟฟ้า ด้านกรมควบคุมมลพิษ ก็มีความตั้งใจที่จะดูแลผลกระทบต่อชุมชน ซึ่งเวทีหารือจะช่วยกระตุ้นให้ทุกหน่วยงานหันมาเห็นความสำคัญของปัญหามากขึ้น ขณะที่ภาคประชาชนก็มีความพร้อมที่จะร่วมแก้ปัญหา แต่ควรเร่งรัดแก้ไขข้อจำกัดของหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งหลังจากนี้ จะเชิญภาคเอกชนเข้ามาร่วมด้วย โดยนำคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่เป็นตัวตั้ง
ขอบคุณภาพจากinfonulico.blogspot.com