สาส์นจาก ปธ.สภาการหนังสือพิมพ์ :ยึดมั่นหลักการ ฝ่าวิกฤติศรัทธา
"...แม้ว่าจะยากลำบากเพียงใดในท่ามกลางวิกฤติศรัทธา แต่สื่อจะต้องยืนยันในหลักการตามวิชาชีพ โดยไม่ท้อถอย เพื่อพิสูจน์ว่าในที่สุดแล้ว ความน่าเชื่อถือนั้นเอง คือสิ่งที่ล้ำค่าที่สุดในอาชีพสื่อ มิใช่ทรัพย์สินหรือผลประโยชน์อื่นใด..."
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org : เป็นสาสน์ของนายจักรกฤษณ์ เพิ่มพูล ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ถึงการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน
----
"ยึดมั่นหลักการ ฝ่าวิกฤติศรัทธา"
สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ กำลังจะผ่านห้วงเวลาสำคัญ ที่สื่อถูกตั้งคำถามเรื่องจริยธรรมอย่างหนักหน่วง และต่อเนื่องอีกปีหนึ่ง แม้ในฐานะองค์กรอิสระในการกำกับ ดูแลกันเอง ยังคงเป็นหลักการที่เรารักษาไว้ได้ แต่ด้วยบริบทของสังคมที่เปลี่ยนไป ความเป็นอุตสาหกรรมของสื่อที่ชัดเจนมากขึ้น การเคลื่อนย้ายเงินจากทุนที่ไม่มีแหล่งที่มาชัดเจน สู่องค์กรสื่อ อธิปไตยของกองบรรณาธิการที่ถูกรุกรานจากฝ่ายการตลาด อีกทั้งเป้าหมายขององค์กรสื่อที่มุ่งต่อการแสวงหากำไร มากกว่าจุดมุ่งหมายทางอุดมการณ์ เรื่องจริยธรรมก็เริ่มสั่นคลอน
ผลจากการสร้างและสั่งสม “วาทกรรมแห่งความเกลียดชัง “ ของสื่อ ตอกลิ่มความขัดแย้งในหมู่คนไทยให้ร้าวลึกยิ่งขึ้น และในที่สุดก็นำมาสู่การยึดอำนาจ ตามมาด้วยประกาศกฎอัยการศึก ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 97 ฉบับที่ 103 ที่มีเนื้อหาลิดรอนเสรีภาพในการทำงานของสื่อ
ขณะที่ความสับสนในการแยกแยะประเภทของสื่อ ที่มีทั้งสื่อการเมือง สื่อวิชาชีพ สื่อสังคมออนไลน์ ทำให้ทัศนคติ ความคิด ความเชื่อของสังคม มองอย่างเหมารวมว่าสื่อไม่มีความรับผิดชอบ และหากอำนาจรัฐจะเข้ามาจัดการอย่างเบ็ดเสร็จ ไม่ว่าในการใช้อำนาจตามกฎอัยการศึก หรือกำหนดให้มีอำนาจในการอนุญาตหรือเพิกถอนใบอนุญาตการประกอบวิชาชีพสื่อ ก็เป็นเรื่องที่ยอมรับได้
เราไม่อาจปฎิเสธความจริงว่า สื่อมีส่วนอย่างสำคัญที่ทำให้สังคมไทย ต้องตกลงไปอยู่ในหล่มโคลนแห่งความขัดแย้ง แต่บทเรียนครั้งนี้ก็น่าจะมากพอ ที่สังคมไทยจะตื่นรู้ และปฏิเสธสื่อที่ไม่มีความรับผิดชอบ ไม่อ่าน ไม่ดู ไม่ฟัง ปฎิเสธที่จะยอมรับ สื่อที่ทรยศต่อหลักการ สื่อที่คดโกง สื่อที่เป็นเครื่องมือของกลุ่มอำนาจและผลประโยชน์
ในขณะเดียวกัน สื่อที่ทำงานโดยวิชาชีพ จะต้องปฎิเสธการร่วมสังฆกรรมกับกลุ่มคนที่แอบแฝงมาใช้วิชาชีพนี้ แสดงตัวว่าเป็นสื่อเพียงเพื่อมุ่งหวังผลประโยชน์ส่วนตนและหมู่คณะ หรือมีวาระแอบแฝงทางการเมือง
น่ายินดีที่ในรอบปีที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการวิชาชีพสื่อจำนวนมาก สมัครเข้ามาเป็นองค์กรสมาชิกสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ โดยเฉพาะผู้ประกอบการในต่างจังหวัด ทำให้เราเป็นสภาวิชาชีพที่มีสมาชิกในรูปขององค์กรมากที่สุดในประเทศขณะนี้ การเป็นองค์กรสมาชิก ทำให้การทำงานยากลำบากมากขึ้น ต้องมีความระมัดระวังในการปฎิบัติตามข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพหนังสือพิมพ์ ของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติอย่างเคร่งครัดมากขึ้น ซึ่งน่าจะเป็นวัตรปฎิบัติที่ขัดแย้งกับวัฒนธรรมการทำงานที่ผ่านมา
แต่ผมพูดเสมอว่า แม้ว่าจะยากลำบากเพียงใดในท่ามกลางวิกฤติศรัทธา แต่สื่อจะต้องยืนยันในหลักการตามวิชาชีพ โดยไม่ท้อถอย เพื่อพิสูจน์ว่าในที่สุดแล้ว ความน่าเชื่อถือนั้นเอง คือสิ่งที่ล้ำค่าที่สุดในอาชีพสื่อ มิใช่ทรัพย์สินหรือผลประโยชน์อื่นใด