“ณรงค์” แนะสร้างความเข้มแข็งชุมชนรับมือประชาคมอาเซี่ยน
เขียนวันที่
วันอังคาร ที่ 13 กันยายน 2554 เวลา 21:14 น.
เขียนโดย
ธิดามนต์ พิมพาชัย
หมวดหมู่
เตรียมพร้อมรับมือวิกฤติ เศรษฐกิจ-พลังงาน-สิ่งแวดล้อม-สังคม "นักวิชาการ" ชี้ประชาชนต้อง รักษาดิน น้ำ ภูมิปัญญาท้องถิ่น จะทำให้อยู่รอด “บำรุง” เผยผนึกกำลังประชาชนสู่จังหวัดจัดการตนเองได้
วันที่ 12 ก.ย. 54 เครือข่ายองค์กรชุมชนจัดงาน ประชุมวิชาการ ที่ศูนย์ประชุมธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต มีการจัด เวทีอภิปราย “เมื่อโลกไม่ใช่ใบเดิมเริ่มเปิดเทอมการเปลี่ยนแปลงสังคมโดยของ องค์กรชุมชน” โดย ดร.วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน) กล่าวว่า วิกฤติเศรษฐกิจในประเทศสหรัฐอเมริกา และยุโรป สะท้อนว่าการเปิดเสรีทางการเงินโดยขาดการบริหารจัดการจะทำให้เกิดความเสียหายอย่างมหาศาล ประเทศไทยควรใช้โอกาสนี้ ในการสร้างเศรษฐกิจชุมชนเพื่อขยายไปสู่ความร่วมมือในประเทศและเตรียมเข้าสู่สังคมเศรษฐกิจอาเซียน ปี 2558
ดร.วีระศักดิ์ ยังกล่าวว่า สิ่งที่จะมาพร้อมกับประชาคมอาเซียน ปี 2558 คือทุนจำนวนมหาศาลซึ่งจะมากอบโกยผลประโยชน์ เนื่องจากปัจจุบันเกิดวิกฤติการด้านอาหาร คนจะเข้ามาลงทุน ในอุตสาหกรรมอาหารมากขึ้น จะมีการกว้านซื้อที่ดิน โดยเฉพาะที่ดินที่สมบูรณ์เพื่อทำเกษตรอินทรีย์ การแย่งทรัพยากรน้ำ เราต้องรักษาแหล่งน้ำไว้ให้ดี และปัญหาขยะและมลพิษที่มาพร้อมกับการเปิดเสรีประเทศ โดยรัฐต้องให้ความสำคัญกับองค์กรการเงินชุมชนด้วย
“ขอให้ชุมชนรักษาที่ดิน รักษาแหล่งน้ำ และรักษาภูมิปัญาของเราเอาไว้ ความภาคภูมิใจในสิ่งที่มีอยู่คือความเข้มแข็งในบริบทใหม่ ไม่ว่าจะเปิดสมรภูมิใหญ่แค่ใหหน ความเชื่อมั่นในภูมิปัญญาตนเอง จะทำให้เราอยู่รอด” ดร.วีระศักดิ์ กล่าว
ด้าน อ.ณรงค์ เพชรประเสิรฐ นักวิชาการด้านเศษฐศาสตร์ กล่าวว่า ปัจจุบันโลกกำลังนำไปสู่วิกฤติการเปลี่ยนแปลง เรียกว่า 4 อี (E) ได้แก่ 1 Economics Crisis หรือ วิกฤติด้านเศรษฐกิจ เนื่องจากตลาดส่งออกยุโรป และอเมริกาลดลงจาก 33% เหลือ 18% ทำให้ต่อไป ประเทศไทยจะพึ่งพาการส่งออกไม่ได้ แต่หากจะส่งออกต้องหันมาทำการตลาดภายในประเทศภูมิภาค หรือพัฒนาตลาดภายในประเทศโดยพิจารณาจากคนมีกำลังซื้อ ได้แก่ เกษตรกร 12 ล้านคน รวมกับ คนทำงานกินเงินเดือน 17 ล้านคน เท่ากับ 29 ล้านคน จากคนที่ทำงานได้ 38 ล้านคน ถ้าคนเหล่านี้ ไม่มีเงินในกระเป๋า ตลาดก็อยู่ไม่ได้
2.Environment Crisis สิ่งแวดล้อม หมายถึง ดิน น้ำ อากาศ แร่ธาตุ ที่ปัจจุบันเริ่มเสื่อมด้วยสารเคมี อากาศเป็นพิษ และแร่ธาตุถูกขุดมาใช้จนเหลือน้อยลงทุกที 3. Energy Crisis วิกฤตการณ์ด้านพลังงาน 4. Elder People Crisis ปัญหาโครงสร้างสังคมผู้สูงอายุ ซึ่งระบบบำนาญในเมืองไทยยังไม่พร้อม และเด็กเกิดใหม่มีจำนวนน้อย เห็นได้จากปัจจุบันมีแรงงานเข้าสู่ตลาดแรงงาน เพียง 700,000 คน จากอดีต 1,500,000 คน และส่วนใหญ่มีรายได้น้อย ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ
อ.ณรงค์ กล่าวต่อว่า ปัญหาหลักของประเทศคือความเหลื่อมล้ำ ใน 5 มิติ ได้แก่ เหลื่อมล้ำ ด้านรายได้ สิทธิ โอกาส อำนาจ และศักดิ์ศรี ซึ่งไม่สามารถแก้ได้พร้อมๆ กัน แต่เรื่องที่สามารถแก้ได้อย่างเร่งด่วนคือ คือการปรับความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ที่มีปัญหามากที่สุด คือ อำนาจรัฐ ที่มักจะลับลวงครอบงำ ทำให้คนยอมอยู่ใต้อำนาจ และ อำนาจ ทุน ซึ่งใช้วิธีหลอกล่อ ดูดกิน ซึมซับ ใช้การโฆษณาล้างสมอง ให้ประชาชนกลายเป็นนักบริโภคนิยม ส่วนระบบพรรคการเมืองในประเทศไทยไม่ใช่พรรคการเมืองแต่เป็นบริษัท เพราะถ้าเป็นพรรคการเมืองจะมีรูปแบบเป็นสหกรณ์ มีคนละ 1 เสียง แต่ปจุบัน เป็นการทุบโต๊ะออกคำสั่งจากผู้มีอำนาจ
“จะต้องเปลี่ยนความสัมพันธ์เชิงอำนาจใหม่ คือให้ประชาชน สามารถต่อสู้กับรัฐ และทุนได้ เช่นเอาผู้ผลิตกับผู้บริโภคมาเจอกัน เช่นเอาสินค้าในชนบทมาขายในชุมชนโรงงาน โดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง เป็นการสร้างพลังต่อรองทางเศรษฐกิจระหว่างชุมชนกับทุน เป็นได้ชุมชนสมานฉันท์เพื่อสร้างอำนาจทัดทานอำนาจรัฐ และอำนาจทุนได้” นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์กล่าว
นายบำรุง คะโยธา นายกองค์การบริการส่วน ต.สายนาวัง จ.กาฬสินธุ์ สะท้อนถึงปัญหาการทำเกษตรกรรมในชุมชนว่า ส่วนใหญ่เป็นสังคมผู้สูงอายุ หลายครัวเรือนต้องทำอาชีพเสริมจึงจะอยู่รอด และขาดข้อมูลในการพัฒนาทักษะอาชีพ เพราะไม่มีในหลักสูตรการศึกษา ทั้งนี้ที่ผ่านมา และถึงเวลาแล้วที่ภาคประชาชนจะลุกขึ้นมาทวงสิทธิ โดยร่วมมือกันเชื่อมโยงเป็นเครือขายสู่การเป็นจังหวัดที่สามารถจัดการตนเองได้ เพราะที่ผ่านมาประชาชนถูกกระทำมานานแล้ว ทำให้ชุมชนอ่อนแอ
นายบำรุง กล่าวต่อว่า ต้องการทำใช้ชุมชนขนาดเล็ก รวมตัวกันเพื่อหยุดยั้งการล่มสลายได้ของชุมชน และเปลี่ยนวิถีชีวิตในชุมชนที่มีดิน มีแดด มีน้ำ และแรงงานเราต้องผลิตอาหารเพื่อเลี้ยงคนในชุมชนจากที่ผลิตอาหารเพื่อคนอื่นมานาน ซึ่งขณะนี้ในหลายๆ ตำบลยังไม่ปรับตัว ซึ่งถ้าไม่ทำตอนนี้ ในปี 2558 เมื่อก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซี่ยนจะลำบากยิ่งขึ้น เพราะปัญหาด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม และชุมชน ยังไม่ถูกเตรียมการ ชุมชนต้องเตรียมพร้อมโดยเฉพาะการจัดลำดับความสัมพันธ์กับอำนาจรัฐ