เดินทางช่วงปีใหม่ นักวิจัย ปักหมุดจุดไหนควรระวัง หลังพบอุบัติเหตุบ่อยสุด
ข้อมูลสถิติ สพฉ.ชี้ 80% ของการเกิดอุบัติเหตุเกิดจากคนเมาแล้วขับ ระบุช่วงเวลาเกิดมากสุด 16.00-20.00 น. แนะเส้นทางหลวงที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยตามภาคต่างๆ พร้อมบริการศูนยฺรับแจ้งเหตุ 1669 ตลอด 24 ชม.
วันที่ 25 ธันวาคม 2557 สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) จัดงานเวทีเสวนาเรื่อง “เปิดจุดเสี่ยง ปิดรอยโหว่ ลดสูญเสียอุบัติเหตุบนท้องถนน สัญจรปีใหม่ไปกลับปลอดภัย” ณ ห้องประขุมชั้น 3 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กรุงเทพฯ
ดร.กัณวีร์ กนิษฐ์พงศ์ ศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT)กล่าวถึงปัจจัยที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุในช่วงเทศกาลปีใหม่นั้นในแต่ละปีจะมีปัญหาที่แตกต่างกันไป ซึ่งในช่วงระยะเวลาเฝ้าระวัง 7 วันอันตรายนั้น จะแบ่งเป็นลักษณะของการเกิดอุบัติเหตุ โดยในช่วงวันที่ 1-2 และวันที่ 6-7 ของช่วงเวลาดังกล่าวจะมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นบริเวณถนนสายหลัก ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่มาจากการขับรถเกินกว่าความเร็วที่กฎหมายกำหนด ส่วนวันที่ 3-5 จะเป็นลักษณะของการเกิดอุบัติเหตุในถนนสายรองที่เกิดกรณีเมาแล้วขับ ดังนั้นแนวทางการแก้ไขและป้องกันการสูญเสียของการเกิดอุบัติเหตุต้องวิเคราะห์วันต่อวัน
ทั้งนี้จากการการวิเคราะห์ข้อมูลศูนย์วิจัยฯ พบว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนในปีที่ผ่านมานั้นเกิดขึ้นกับรถมอเตอร์ไซต์ โดยสาเหตุของการเกิดเหตุ คือเมาแล้วขับและ 10-15 เปอร์เซ็นต์ และรถปิคอัพมีสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุ คือ การขับรถเร็ว
ดร.กัณวีร์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังมีสถิติที่น่าตกใจในการเกิดอุบัติเหตุตั้งแต่ปี พ.ศ.2551-2557 ของความรุนแรงในการเกิดอุบัติเหตุเพิ่มมากขึ้นถึง 12 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งหมายความว่าในการเกิด 100 ครั้งจะมีคนเสียชีวิต 12 คน ซึ่งเป็นข้อมูลที่น่ากังวลเป็นอย่างมาก โดยสาเหตุเกิดจาก 3 ปัจจัย คือ การไม่ใช่อุปกรณ์นิรภัยในขณะโดยสารหรือขับรถยนต์หรือการไม่สวมหมวกนิรภัยในขณะขับขี่รถจักรยานยนต์ การขับรถด้วยความเร็วสูง และอันตรายจากสิ่งที่กีดขว้างข้างทาง อาทิ ป้าย ต้นไม้ เกาะกลางหรือคูไหล่ทาง เป็นต้น
“ความเร็วที่ปลอดภัยที่สุดสำหรับผู้ขับขี่รถเฉลี่ยอยู่ที่ 100 กิโลเมตร/ ชั่วโมง ซึ่งจะต้องระมัดระวังเป็นพิเศษตามไหล่เขา ทางโค้ง และถนนเส้นที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยอย่างเส้นทางหลวง เป็นต้น ” ดร.กัณวีร์ กล่าว
สำหรับเส้นทางที่ควรระวังในแต่ละภูมิภาค ดร.กัณวีร์ กล่าวว่า ในเส้นทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เส้นทางที่ต้องระวังเป็นพิเศษคือ ทางหลวงเส้นที่ 1 เส้นทางวังน้อยอยุธยา กิโลเมตรที่ 70 และเส้นที่ 2 คือทางขึ้นเขาแก่งคอยสระบุรี ซึ่งบริเวณดังกล่าวเป็นบริเวณที่เกิดอุบัติเหตุค่อนข้างบ่อย
ในส่วนของเส้นทางภาคใต้นั้น ควรระมัดระวังเส้นทางหลวงหมายเลขที่ 35 เส้นพระราม 2 เพราะถนนเส้นดังกล่าวจำนวนรถบวกกับความเร็วของผู้ใช้รถค่อนข้างมาก จึงทำให้เกิดอุบัติเหตุชนท้ายหรือรถตกข้างทางเป็นจำนวนมาก
นอกจากนี้แล้วยังมีถนนทางหลวงหมายเลข 41 เส้นจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และจังหวัดชุมพร ซึ่งลักษณะเส้นทางเป็นภูเขาและโค้งที่เยอะจนทำให้เกิดเกิดอุบัติเหตุบ่อย อีกทั้งในแต่ละครั้งมีความรุนแรงค่อนข้างมาก
ขณะที่เส้นทางภาคเหนือถนนที่ควรระมัดระวังคือ ถนนทางหลวงหมายเลข 32 ที่จะผ่านทางจังหวัดอุทัยธานีและจังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งเป็นเส้นทางแยกไปยังจังหวัดอื่นๆ
“การเดินทางในช่วงเทศกาลปีใหม่ประชาชนต้องใช้ความระมัดระวังในการเดินทางมากเป็นพิเศษ โดยมีการวางแผนการเดินทางตั้งแต่เนิ่นๆ หากเป็นไปได้อาจจะเดินทางก่อนวันหยุดและเดินทางกลับกรุงเทพก่อนคนอื่น ”ดร.กัณวีร์ กล่าว
ด้านนพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ กล่าวว่า ในช่วงเทศกาลปีใหม่ที่มีวันหยุดราชการติดต่อกันหลายวัน ซึ่งเป็นช่วงประชาชนเดินทางไปท่องเที่ยวและกลับภูมิลำเนาส่งผลให้ปริมาณการใช้รถใช้ถนนเพิ่มมากขึ้น และทำให้มีสถิติการเกิดอุบัติเหตุเพิ่มมากขึ้นเป็น 2 เท่า โดยในช่วงปี 2557 ระหว่างวันที่ 27 ธันวาคม- 2 มกราคม 2557 มีการให้บริการทางการแพทย์ฉุกเฉินรวม 25,959 ราย
เลขาธิการ สพฉ. กล่าวต่อว่า จังหวัดที่มีการเกิดอุบัติเหตุสูงสุดคือ จังหวัดนครราชสีมา รองลงมาคือจังหวัดเชียงใหม่ ชลบุรี จังหวัดบุรีรัมย์ และขอนแก่น ตามลำดับ ซึ่งจากการวิเคราะห์พบว่า สาเหตุส่วนใหญ่นั้นมาจากปัจจัยที่สำคัญ 3 ด้าน ได้แก่ 1.ปัจจัยด้านคน คือการที่ผู้ขับขี่รถขับเร็วกกว่าที่อัตราที่กฎหมายกำหนด ไม่ปฏิบัติตามกฎจราจร หรือมีอาการอ่อนล้า หลับใน เป็นต้น 2. ปัจจัยด้านรถ คือไม่มีการตรวจสอบสภาพรถก่อนออกเดินทาง และ 3. ปัจจัยด้านถนนและสิ่งแวดล้อม คือ ถนนชำรุด หรือต้นไม้ กิ่งไม้กีดขว้างเป็นสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุอีกทางหนึ่ง
“สำหรับแผนป้องกันการเกิดอุบัติเหตุในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2558 นี้ สพฉ.ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดทำแผนป้องกันและลดอุบัติเหตุ โดยได้ประสานไปยังศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการทางการแพทย์ฉุกเฉินทั่วประเทศ 78 ศูนย์ ประกอบกับสายตรวจ 1669 ที่สามารถใช้งานได้ 24 ชั่วโมง” นพ.อนุชากล่าว
อย่างไรก็ดี ภายหลังเวทีเสวนาในครั้งนี้ยังได้มีการสาธิตวิธีการช่วยเหลือตัวเองและคนใกล้ชิดเมื่อเกิดอุบัติเหตุจากมูลนิธิปอเต็กตึ้ง อาทิ ทำอย่างไรเมื่อรถตกน้ำ และช่วยเหลือผู้ป่วยอุบัติเหตุในรถที่ติดแก๊ส เป็นต้น
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า จากสถิติการเสียชีวิตในช่วงเทศกาลปีใหม่ในปี 2557 มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นมากถึง 3,174 ครั้ง โดยมีผู้เสียชีวิตรวม 366 ราย ผู้บาดเจ็บรวม 3,345 คน ซึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เมาสุรา 41.71 เปอร์เซ็นต์ ขับรถเร็วเกินกำหนด 25.83 เปอร์เซ็นต์ สำหรับยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักยานยนต์ 81.03 เปอร์เซ็นต์ รถปิคอัพ 8.50 เปอร์เซ็นต์
โดยพฤติกรรมเสี่ยงที่ก่อให้เกิดการบาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ ไม่สวมหมวกนิรภัย 22.39 เปอร์เซ็นต์ ส่วนใหญ่เกิดในเส้นทางตรง 61.50 เปอร์เซ็นต์ บนถนนทางหลวงแผ่นดิน 37.08 เปอร์เซ็นต์ ถนนองค์การบริหารส่วนตำบล/หมู่บ้าน 35.03 เปอร์เซ็นต์ อย่างไรก็ตามช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุดพบว่า ช่วงเวลาตั้งแต่ 16.00-20.00 น. คิดเป็น 28.48 เปอร์เซ็นต์ ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มวัยแรงงาน 56.59 เปอร์เซ็นต์ กลุ่มวัยเด็กและเยาวชน 23.52 เปอร์เซ็นต์