'รูโหว่' ของความซื่อตรง นักวิชาการ ชี้เด็ก-เยาวชนเห็นทุกวันจนชินชา
สำหรับปี 2557 มีหลายหน่วยงานศึกษาเรื่องปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันโดยเฉพาะในกลุ่มของเยาวชนอย่างน้อยข้อมูลจากทั้ง 2 องค์กรอย่างมูลนิธิเพื่อคนไทย และโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติได้สะท้อนให้เห็นช่องโหว่ของกลุ่มเยาวชนถึงแม้จะรู้ว่าการทุจริตเป็นเรื่องไม่ดีแต่ก็มองเป็นเรื่องปกติ
ดร.กนกกาญจน์ อนุแก่นทราย ผู้อำนวยการศูนย์สาธารณประโยชน์และประชาสังคม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ อธิบายถึงปรากฎการณ์เหล่านี้กับสำนักข่าวอิศรา ว่า ที่เด็กเห็นว่าเป็นเรื่องธรรมดาไม่ใช่เพราะว่าเขามองการทุจริตเป็นเรื่องธรรมดา แต่ธรรมดาในที่นี้หมายถึงเห็นทุกวันจนเหมือนเป็นเรื่องปกติ รู้ว่าเรื่องเหล่านี้มีอยู่จริงและเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยทั่วไป บางครั้งการใช้คำถามที่ไม่ได้อธิบายถึงรายละเอียดที่ชัดเจน เช่น จริงๆแล้วเป็นคนเกลียดการโกงมากๆ แต่มีคนมาถามว่า คิดว่าการทุจริตเป็นเรื่องปกติในสังคมไหม บางทีเราอาจจะตอบว่า ปกติ เพราะเราเห็นอยู่ทุกวัน
เมื่อถามว่าความเข้าใจและความคิดของเยาวชนที่บอกว่าเข้าใจว่า การทุจริตไม่ดีแต่ก็ยอมรับได้หากทำให้ได้ใบขับขี่ กลายเป็นช่องโหว่ของการจัดการกับปัญหาทุจริตหรือไม่นั้น ดร.กนกกาญจน์ กล่าวว่า จะเรียกว่า เป็นช่องโหว่ก็ได้ เพราะสังคมไทยเป็นสังคมที่ไม่ค่อยคิดถึงเรื่องประโยชน์ส่วนรวมมากเท่าไหร่นัก คิดแค่ว่าฉันจะได้อะไรเท่านั้น ส่วนที่จะมาคิดว่าถ้าให้เงินไปแล้วใครจะผิด ระบบจะเสียหายไหม สิ่งเหล่านี้คนไทยไม่ได้คิดมากขนาดนั้น ที่ผ่านมาเราคิดแค่ว่าอะไรก็ช่างขออำนวยความสะดวกไว้ก่อน
"ยกตัวอย่างง่ายๆ เดินไปเห็นฝาท่อระบายน้ำไม่ได้ปิด ถามว่าจะมีสักกี่คนที่แคร์เรื่องเหล่านี้ กุลีกุจอยกหูโทรศัพท์แจ้งเพราะเห็นว่า อันตราย หรือมากไปกว่านั้นคือเดินไปปิดฝาท่อ เพราะเราไม่ได้ฝึกให้แคร์และเป็นประเทศที่ไม่ได้เคร่งครัดเรื่องวินัย"
ผู้อำนวยการศูนย์สาธารณประโยชน์และประชาสังคม นิด้า กล่าวถึงประเทศสิงคโปร์ ว่า ความจริงแล้วสิงคโปร์ไม่ได้แคร์เรื่องส่วนรวมมาก แต่เพราะเขากลัวถูกจับหากจะทำอะไรก็จำเป็นต้องนึกถึงภาพรวมไว้ก่อน เรียกง่ายๆว่า ประเทศเขากลัวกฎหมาย ในขณะที่ประเทศญี่ปุ่นก็จะมีความลังเลหากทำอะไรแล้วกระทบต่อส่วนรวม เขาจะคิดก่อนว่าทำได้ไหม ทำแล้วจะผิดไหม ดังนั้นสิ่งเหล่านี้ขึ้นอยู่กับการปลูกฝัง
"ต้องยอมรับว่า ที่ผ่านมาเราไม่ได้ปลูกฝังให้คนในสังคมคำนึงถึงเรื่องส่วนรวม ไม่ได้สอนว่า การขอยกเว้นในบางเรื่องเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง รู้แค่ว่าขอให้เป็นคนมีสิทธิพิเศษ หลีกเลี่ยงปัญหา ทำอะไรก็ได้ง่ายๆไว้ก่อน คนในสังคมถูกหลอมรวมขึ้นมาแบบนี้ บอกแต่ว่าอย่ามองเรื่องพวกนี้เป็นเรื่องใหญ่เลย ฉะนั้นสิ่งเหล่านี้จึงสะท้อนคำตอบของเยาวชนและช่องโหว่ที่เกิดขึ้น"
สำหรับเรื่องการทุจริตนั้น ดร.กนกกาญจน์ กล่าวด้วยว่า เป็นเรื่องที่เริ่มมาพูดถึงกันยุคหลังๆ เมื่อก่อนประเด็นเหล่านี้ไม่ได้ถูกกล่าวถึงในสังคมอย่างชัดเจนเท่าไหร่นัก เราไม่เคยพูดว่าคนทิ้งขยะข้างทางเป็นคนไม่ดี แบบนี้น่ารังเกียจ หรือเห็นคนจ่ายสินบนเราก็ไม่เคยพูดว่าแบบนี้ทำไม่ได้นะ หรือไม่เคยมีปฏิกิริยาด้านลบกับคนเหล่านี้ เมื่อไหร่ก็ตามหากคนในสังคมเริ่มมีปฏิกิริยาต่อต้านคนก็ทำผิดน้อยลง แต่ตอนนี้สิ่งที่เกิดขึ้นกลายเป็นขนมผสมน้ำยา
ดังนั้นการจะอุดช่องโหว่เหล่านี้จะต้องปลูกฝังในวัยเด็กเรียกว่า ต้องใส่โปรแกรมเข้าไปเลยว่า ทำแบบไหนไม่ดี หรือบางทีอาจจะต้องสอนกันว่า ถ้าแม่ทำผิดหากลูกเป็นผู้รักษากฎหมายก็ต้องจับแม่นะ ถ้าปลูกฝังให้เด็กมีทัศนคติแบบนี้เขาก็จะมีความคิดอีกแบบหนึ่ง และหากพ่อแม่เริ่มสอนเด็กพร้อมๆกันจะกลายเป็นการสร้างกฎเกณฑ์ใหม่ให้กับสังคม