จะปล่อยผู้ต้องหาลอยนวลหรือจะปล่อยเจ้าหน้าที่ลอยชาย
มีการเสนอให้คดีทุจริตไม่มีอายุความในการดำเนินคดี เพราะเห็นว่าอายุความ ที่กำหนดไว้ทำให้ผู้ต้องหาพ้นโทษในคดีอาญา เนื่องจากไม่ได้ตัวผู้ต้องหามาดำเนินคดีภายในอายุความ ดังนั้น เราต้องมาพิจาณาว่าเพราะเหตุใดกฎหมายจึงต้องกำหนดให้มีอายุความการดำเนินคดี ทั้งทางอาญาและทางแพ่ง พอสรุปได้ดังนี้
๑. อายุความจะกำหนดตามอัตราระวางโทษหนักเบา
๒. พยานที่รู้เห็นเหตุการณ์นั้น ย่อมลืมเลือนต่อเหตุการณ์ที่ตนประสบมา เมื่อระยะเวลาได้ล่วงเลยมานาน ส่วนพยานเอกสารก็ต้องมีผู้มารับรองเอกสาร หากปล่อยเวลาล่วงเลยนานเกินไปก็จะหาผู้รับรองเอกสารที่ทำขึ้นไม่ได้ว่ามีอยู่จริงหรือไม่ ยกเว้นเอกสารมหาชนพอสืบค้นที่มาที่ไปได้ ส่วนเอกสารราชการทั่วไปก็รู้แต่ผู้ที่มีหน้าที่เท่านั้น
๓. การหลบหนีคดีนั้น เห็นว่าผู้ที่หลบหนีต้องคอยแอบหลบซ่อน ไม่ได้ติดต่อสังคม ระยะเวลา ที่หลบหนีถือว่าได้รับผลมาเพียงพอแก่โทษแล้ว
๔. เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้กระทำผิดกลับเนื้อกลับตนเป็นคนดี เพื่อทำประโยชน์ให้แก่สังคมต่อไป
๕. ต้องการให้เจ้าหน้าที่เร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในอายุความ เพื่อสังคมจะได้รับทราบผลแห่งการกระทำผิด เพื่อมิให้เอาเยี่ยงอย่างในการกระทำความผิด
ในปัจจุบัน สังคมอาจมีความรู้สึกว่าการบังคับใช้กฎหมายนั้นไม่สามารถใช้กับผู้ที่มีอำนาจหรือร่ำรวยได้ คงใช้บังคับกับคนที่ไม่มีฐานะหรือผู้ไม่มีตำแหน่งเท่านั้น จึงมองว่ากระบวนการยุติธรรมเป็นสองมาตรฐาน แต่ความเป็นจริงกฎหมายมิได้เป็นสองมาตรฐาน หากแต่ว่าสังคมได้ให้ความใส่ใจในคดีไม่เท่า เทียมกันและวัดกันด้วยความรู้สึกมากกว่าหลักกฎหมาย เช่น คดีขับรถโดยประมาทในกรณีที่ผู้ประทำผิดเป็นผู้ที่ขับรถยนต์ส่วนตัวหรือรถจักรยานยนต์ หากผู้ต้องหารับสารภาพและมีการพยายามบรรเทาผลร้าย ศาลก็จะรอการลงโทษทุกรายไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นคนที่อยู่ในฐานะสังคมอย่างไร เพราะคดีขับรถโดยประมาทมิใช่อาชญากร
แต่ถ้าเป็นผู้ที่มีวิชาชีพซึ่งจะต้องใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ เช่น ผู้ที่ขับรถสาธารณะหรือขับรถบรรทุกขนส่งสินค้า หากความประมาทเกิดความร้ายแรง กรณีเช่นนี้ศาลก็จะลงโทษโดยไม่รอการลงโทษ หรือคดีกระทำผิดขายแผ่นซีดีปลอมศาลย่อมลงโทษผู้กระผิดในอัตราโทษเดียวกัน แต่คนที่มีฐานะสามารถชำระค่าปรับตาม คำพิพากษาได้ ส่วนคนไม่มีฐานะไม่สามารถชำระค่าปรับตามคำพิพากษาได้ จึงต้องถูกกักขังแทนค่าปรับ กรณีเช่นนี้สังคมสงสารผู้ที่ไม่มีฐานะ จึงอาจถึงเวลาที่ควรจะยกเลิกการกักขังแทนค่าปรับ และให้ผู้ไม่มีฐานะสามารถผ่อนชำระค่าปรับได้
สำหรับ คดีสำคัญในคดีอาญาซึ่งกฎหมายจะกำหนดโทษไว้สูง และกำหนดให้มีอายุความ ๒๐ ปี ซึ่งตามหลักทางวิชาการถือว่าเป็นเวลานานพอสมควร และหากหลบหนีในชั้นพิจารณาของศาลก็นับอายุความใหม่อีก รวมแล้วมีอายุความ ๔๐ ปี ส่วนคดีที่มีโทษรองๆ ลงมาอายุความก็ลดลงตามลำดับของโทษ เนื่องจากในปัจจุบัน เรามีคดีนักการเมืองกระทำทุจริตอยู่หลายเรื่องที่จะขาดอายุความ ทำให้สังคมมองไปยังผู้ต้องหาว่ากำลังจะพ้นความผิด จึงเรียกร้องให้แก้ไขอายุความ โดยให้ไม่มีกำหนดอายุความ ซึ่งหากมองโดยผิวเผิน ก็รู้สึกว่าน่าจะดี แต่หากลองพิจารณาให้ท่องแท้แล้ว อันตรายย่อมน่ากลัวยิ่ง เพราะเจ้าหน้าที่ของรัฐจะไม่ต้องรับผิดชอบสำนวนคดีดังกล่าวเพราะไม่มีอายุความ จะดำเนินคดีอย่างไรก็ได้ อาจปล่อยเนินนานจนพยานหลักฐานหายหมด อันเป็นการปล่อยผู้ต้องหาลอยนวล และเจ้าหน้าที่ของรัฐให้ลอยชาย โดยไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ ทั้งสิ้น ซึ่งความเป็นจริงแล้ว กฎหมายมีสภาพบังคับอย่างเท่าเทียมกัน แต่ผู้ถูกกฎหมายบังคับใช้อาจไม่เท่าเทียมกัน เพราะเรานำเอาความรู้สึกมาวัดมากกว่าหลักกฎหมาย กรณีเจ้าหน้าที่ทำคดีขาดอายุความ เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องต้องได้รับโทษทางวินัย ทางแพ่ง และกรณี ที่ถึงขั้นกระทำผิดอาญาก็ถูกโทษทางอาญาด้วย พนักงานตำรวจที่ทำสำนวนขาดอายุความหลายเรื่อง หรือทำสำนวนล่าช้าจำนวนมาก ก็ถูกโทษทางวินัยถึงให้ออกจากราชการก็มี ทางอัยการก็มีการให้ออกจากราชการเพราะไม่ทำสำนวนมาหลายราย และต้องถูกดำเนินการในทางแพ่งเมื่อรัฐเสียหาย
แต่คดี ป.ป.ช. ดำเนินการ ประชาชนมิได้สนใจว่าการเร่งดำเนินการตามหน้าที่มิให้สำนวนขาดอายุความนั้นเป็นเรื่องสำคัญ แต่กลับจะแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ โดยการขยายอายุความ ในขณะที่หน่วยงานอื่นต้องรับผิดชอบต่อการทำคดีขาดอายุความ ดังเช่น ที่มีผู้เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดในเรื่องจำนำข้าว
ดังนั้น กรณีที่ ป.ป.ช. ทำคดีขาดอายุความจึงต้องรับผิดชอบด้วย เช่นหน่วยงานอื่น ๆ เพราะตามกฎหมาย ป.ป.ช. คุ้มครองเฉพาะการปฏิบัติหน้าที่ครบถ้วนให้ไม่ต้องรับผิด ส่วนการปล่อยปละละเลยให้สำนวนคดีขาดอายุความ ป.ป.ช. ก็ต้องรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นเช่นกัน ดังสุภาษิตที่ว่า “ของหลวงตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้” ก็คือ ไม่ว่าใครจะพ้นความผิดเจ้าหน้าที่ไม่เคยพ้นผิด
ดังนั้น ควรแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๕ โดยเพิ่มเติมวรรคสามว่า
“ในคดีทุจริตต่อหน้าที่ ก่อนคดีขาดอายุความ ๑ ปี หากเจ้าหน้าที่ของรัฐมีคำสั่งฟ้องผู้ต้องหา (กรณีได้ตัวมาสอบสวนแล้วต่อมาหลบหนี) หรือมีคำสั่งควรสั่งฟ้อง (ผู้ต้องหาหลบหนีและยังไม่ได้ตัวมาสอบสวน) ไว้แล้ว และยังไม่ได้ตัวมาฟ้องให้เจ้าหน้าผู้มีอำนาจฟ้องยื่นฟ้องผู้ต้องหานั้นเป็นจำเลยต่อศาลได้ และให้ศาล รับไว้พิจารณาและออกหมายเรียกจำเลยให้มาต่อสู้คดี หากจำเลยไม่มาศาลให้ศาลออกหมายจับโดยให้ขยาย อายุความออกไปอีก ๑ เท่า (อายุความ ๒๐ ปี ก็ขยายไปเป็นอายุความ ๔๐ ปี) และหากยังไม่ได้ตัวจำเลย มาพิจารณาภายในอายุความที่ขยายแล้ว คดีเป็นอันขาดอายุความ ให้ศาลจำหน่ายคดี”
กรณีเช่นนี้ ก็จะไม่ปล่อยให้คนทำผิดลอยนวลและเจ้าหน้าที่ลอยชายอีกต่อไป และเป็นไปตามหลักอาชญาวิทยา เพราะคดีที่ฟ้องโดยไม่สามารถลงโทษผู้กระทำผิดได้เพราะพยานหลักฐานสูญหาย ไม่เป็นผลดีต่อกระบวนการยุติธรรม และจะทำให้ผู้กระทำผิดหรือผู้ที่คิดจะกระทำผิดไม่เกรงกลัวกฎหมาย แต่การฟ้องคดีต้องมีพยานให้ศาลสามารถลงโทษจำเลยให้ได้มากที่สุด จึงจะถือว่ากระบวนการยุติธรรม นั้นมีความเที่ยงธรรม ดังหลักสุภาษิตกฎหมายที่ว่า “ปล่อยคนผิดสิบคน ดีกว่าลงโทษคนบริสุทธิ์เพียงคนเดียว”