'อำนวย ปะติเส' ชี้ปี 57 ไม่ใช่ ‘ปีทอง’ เกษตรกรไทย คาดปีหน้าทรงตัวค่อยดีขึ้น
สศก.เผยภาวะเศรษฐกิจการเกษตร ปี 57 เติบโต 1.2% สาขาประมง บริการทางการเกษตรหดตัว คาดเเนวโน้มปี 58 หากไม่มีปัจจัยบีบ มีสิทธิเติบโตสูงร้อยละ 2-3%
วันที่ 25 ธันวาคม 2557 สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร จัดสัมมนา ภาวะเศรษฐกิจการเกษตร ปี 2557 และแนวโน้ม ปี 2558 หัวข้อ ‘ปฏิรูปเกษตรไทยในยุคดิจิทัล’ ณ โรงแรมเซนทราศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ
นายเลอศักดิ์ ริ้วตระกูลไพบูลย์ เลขาธิการ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร(สศก.) เปิดเผยถึงภาวะเศรษฐกิจการเกษตร ปี 2557 ขยายตัวร้อยละ 1.2 เติบโตมากกว่าปี 2556 ซึ่งขยายตัวร้อยละ 1.1 ซึ่งหากพิจารณาเป็นรายสาขา จะพบสาขาพืช ขยายตัวร้อยละ 1.5 โดยผลผลิตพืชที่สำคัญเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวนาปี มันสำปะหลัง อ้อยโรงงาน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และผลไม้ (ลำไย ทุเรียน มังคุด และเงาะ)
“ข้าวนาปี ผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากการดูแลเอาใจใส่ของเกษตรกร ประกอบกับปริมาณน้ำฝนเพียงพอต่อการเจริญเติบโตของต้นข้าว ทำให้ผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม เนื้อที่เพราะปลูกข้าวนาปีลดลงจากปีที่ผ่านมา เพราะไม่มั่นใจในผลตอบแทนจากการขายข้าว รวมทั้งราคามีแนวโน้มลดลง ทำให้เกษตรกรปลูกอ้อยโรงงานแทน” เลขาธิการ สศก. กล่าว และว่า ส่วนผลผลิตพืชที่ลดลง ได้แก่ ข้าวนาปรัง และสับปะรดโรงงาน ด้านราคา สินค้าพืชที่มีราคาเพิ่มขึ้น ได้แก่ มันสำปะหลัง สับปะรดโรงงาน ปาล์มน้ำมัน และมังคุด และสินค้าที่มีราคาลดลง ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อ้อยโรงงาน ยางพารา ลำไย ทุเรียน และเงาะ
สำหรับสาขาปศุสัตว์ นายเลอศักดิ์ กล่าวว่า ขยายตัวร้อยละ 1.9 เนื่องจากการผลิตสินค้าปศุสัตว์โดยรวมอยู่ในเกณฑ์ดี มีการปรับระบบการผลิตที่ได้มาตรฐาน มีการเฝ้าระวังและควบคุมโรคระบาด รวมถึงมีการขยายการเลี้ยงเพื่อรองรับความต้องการของตลาดที่เพิ่มขึ้น โดยปริมาณการผลิตปศุสัตว์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ไก่เนื้อ และไข่ไก่ ขณะที่การผลิตสุกรลดลง จากสภาพอากาศที่แปรปรวนและปัญหาโรคระบาด ส่วนแม่โครีดนมลดลง ทำให้ปริมาณน้ำนมดิบลดลงด้วย แต่ราคาสินค้าโดยรวมอยู่ในเกณฑ์ดี
เช่นเดียวกับสาขาป่าไม้ ขยายตัวร้อยละ 2.8 โดยผลผลิตไม้ยางพารา น้ำผึ้ง และถ่านไม้ เพิ่มขึ้น เนื่องจากราคายางพาราในประเทศตกต่ำ ทำให้เกษตรกรเข้าร่วมโครงการสงเคราะห์และส่งเสริมการตัดโค่นพื้นที่สวนยางพาราเก่า และปลูกทดแทนด้วยยางพาราพันธุ์ดีหรือพืชเศรษฐกิจอื่น เช่น ปาล์มน้ำมัน และไม้ผล ซึ่งขณะนี้มีพื้นที่ตัดโค่นเกินกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ 3 แสนไร่ ส่วนผลผลิตและมูลค่าการส่งออกน้ำผึ้งขยายตัว เนื่องจากน้ำผึ้งของไทยเป็นที่ต้องการของต่างประเทศ ทั้งเยอรมนี ไต้หวัน และประเทศแถบตะวันออกกลาง
นายเลอศักดิ์ กล่าวด้วยว่า อีก 2 สาขาการผลิต อยู่ในภาวะหดตัว ได้แก่ สาขาการประมง ร้อยละ 1.8 เนื่องจากผลผลิตประมงลดลง โดยเฉพาะกุ้งทะเลเพาะเลี้ยง เพราะเกิดจากปัญหาโรคตายด่วน ส่วนด้านราคา พบว่า ราคากุ้งขาวแวนนาไม ขนาด 70 ตัวต่อกิโลกรัม ที่เกษตรกรขายได้ในช่วงมกราคา-พฤศจิกายน 2557 มีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 225 บาท/กิโลกรัม เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2556 ซึ่งมีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 192 บาท/กิโลกรัม หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.2
อีกสาขาหนึ่ง คือ บริการทางการเกษตร หดตัวร้อยละ 0.5 เนื่องจากพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปีลดลง ขณะที่ข้าวนาปรังบางส่วนได้รับความเสียหายจากปัญหาภัยแล้ง ทำให้มีการจ้างบริการรถไถและรถแทรกเตอร์ในการเตรียมดินและไถพรวนดิน รวมถึงรถเกี่ยวข้าวนวดลดลงตามไปด้วย อย่างไรก็ตาม การส่งเสริมการปลูกอ้อยของรัฐบาลและโรงงานน้ำตาล ทำให้เกษตรกรขยายพื้นที่เพาะปลูกอ้อยโรงงานเพิ่มขึ้น ส่งผลให้มีการใช้บริการเครื่องจักรกลทางการเกษตร เช่น รถไถเตรียมดิน และรถตัดอ้อยเพิ่มขึ้น
สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจการเกษตร ปี 2558 เลขาธิการ สศก. คาดว่าจะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 2.0-3.0 โดยสาขาการผลิตที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ สาขาพืช ขยายตัวอยู่ในช่วง 2.2-3.2 สาขาปศุสัตว์ ขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 1.5-2.5 ส่วนสาขาประมง จะกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ในปีนี้ หลังจากที่หดตัวต่อเนื่องมา 2 ปี โดยขยายตัวในช่วงร้อยละ 1.0-2.0 และสาขาป่าไม้ ขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 2.5-3.5 ส่วนบริการทางการเกษตร หดตัวอยู่ในช่วงร้อยละ (-3)-(-2)
ทั้งนี้ สำหรับผลผลิตพืชสำคัญที่มีเเนวโน้มเพิ่มขึ้น ได้เเก่ ข้าวนาปี มันสำปะหลัง สับปะรดโรงงาน ยางพารา ปาล์มน้ำมัน เเละผลไม้ เช่น ทุเรียน มังคุด เเละเงาะ ส่วนสถานการณ์ระบาดของโรคกุ้งตายด่วนจะเริ่มคลี่คลายลงตั้งเเต่ไตรมาสที่ 3 ของปี 2557 เเละคาดว่าการผลิตกุ้งจะดีขึ้นเรื่อย ๆ
นายเลอศักดิ์ กล่าวด้วยว่า ปี 2020 คาดการณ์กันว่า ผลผลิตทางการเกษตรจะลดลงร้อยละ 1.5 เนื่องจากภาวะโลกร้อน อย่างไรก็ตาม สำหรับไทยจะไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เพราะประเทศตั้งอยู่ในพื้นที่เส้นศูนย์สูตร
“หากเกษตรกรต้องพบกับปัจจัยแวดล้อม เช่น ภัยพิบัติ ราคา เทคโนโลยี สภาวะโลกร้อน โรคพืช โรคสัตว์ แนวโน้มเศรษฐกิจการเกษตร ปี 2558 อาจเหลืออัตราการขยายตัวเพียงร้อยละ 1.48 เท่านั้น คิดเป็นร้อยละ 8.3 ของจีดีพี” นายเลอศักดิ์ กล่าว
ด้านนายอำนวย ปะติเส รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) กล่าวว่า เศรษฐกิจการเกษตร ปี 2557 ไม่ใช่ ‘ปีทอง’ ของไทย แต่ด้วยความเป็นสินค้าเกษตรจึงทำให้มีความสำคัญ เพราะทำหน้าที่เป็นอาหาร พลังงาน อาหารสัตว์ และวัตถุดิบในภาคอุตสาหกรรม ฉะนั้นคงไม่ตกลงไปในจุดอับ
ทั้งนี้ เมื่อคาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจ ปี 2558 มีแนวโน้ม ‘ทรงตัว’ และ ‘ดีขึ้น’ โดยยืนยันไม่มีสินค้าชนิดใดอยู่ในโซนความเสี่ยงจนเอาไม่อยู่ ยกเว้น ภาคประมง เพราะเป็นปัญหาต่อเนื่อง แต่จะมีมาตรการจัดการระบบบริหารความเสี่ยงที่ทันสมัย
“การประมาณการณ์อัตราการขยายตัวเศรษฐกิจเกษตรครั้งนี้เป็นเบื้องต้น ยังไม่ได้คำนวณปัจจัยอย่างละเอียด ดังนั้น ปีหน้าเราจะนำการประมาณการณ์ตัวเลขล่าสุดทบทวนทุกเดือน ทั้งเรื่องราคาน้ำมัน ภาวะเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจภายใน หรือราคาสินค้า ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยตัวแปร” รมช.กษ.กล่าว