"หม่อมอุ๋ย" เปิด 3 วิธีหนุนชาวนาหลุดพ้นผลกรรม 'จำนำข้าว'
"หม่อมอุ๋ย" ระบุจีนตกลงสร้าง 8 โรงงานยางในไทย คาดแล้วเสร็จซื้อยาง 1 ล้านตัน/ปี ย้ำชัดแก้ไขปัญหาข้าว แนะเกษตรกรหันปลูกอ้อยแทน ทำเกษตรทางเลือก และปรับปรุงพันธุ์ข้าวคุณภาพสูง
วันที่ 24 ธันวาคม 2557 สภาเกษตรกรแห่งชาติ จัดประชุมสัมมนาเชิงวิชาการประจำปี 2557 “สภาการเกษตรกรแห่งชาติกับการปฏิรูปภาคเกษตรกรที่ยั่งยืน” เป็นวันที่ 2 ณ อาคารชาเลนเจอร์ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพค เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี
หม่อมราชวงศ์ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ ปาฐกถาพิเศษตอนหนึ่งถึงสภาเกษตรแห่งชาติว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องมีสภาเกษตรกรแห่งชาติ เพื่อให้บุคคลที่เกี่ยวข้องได้มาปรึกษาหารือกัน และให้อาชีพเกษตรกรมั่นคงขึ้น ทำรายได้มากขึ้น สามารถฝ่าฟันปัญหาต่างๆให้อยู่รอดปลอดภัยได้
รองนายกฯ กล่าวว่า ภาคการเกษตรได้เปลี่ยนจากเกษตรยังชีพ มาเป็นเกษตรเพื่อการค้าแล้ว จำเป็นต้องทำการเกษตรโดยมีต้นทุนที่เหมาะสมเพื่อให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ ประกอบกับสภาวะของภูมิอากาศโลกที่แปรปรวนส่งผลให้มีโรคพืชชนิดใหม่เกิดขึ้น ดังนั้นเกษตรกรจึงต้องได้รับความรู้เพื่อต่อสู้กับปัญหาดังกล่าวได้ทันเหตุการณ์ตลอดเวลา ซึ่งสภาเกษตรฯ จะเข้ามามีบทบาทถ่ายทอดความรู้ผ่านทางวิทยากรสมัยใหม่เพื่อเพิ่มประสิทธิผล และลดต้นทุนการผลิตได้
“การถ่ายทอดความรู้ต่างๆ ดังกล่าวเพื่อให้เกษตรกรของประเทศมีชีวิตที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน ดังนั้นทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องจะต้องช่วยกันยกระดับเกษตรกรจากที่เป็นผู้ผลิตและขายผลผลิตในรูปวัตถุดิบทางการเกษตร แปรรูปไม่เป็น ทำการตลาดไม่เป็น เปลี่ยนมาเป็นเกษตรกรที่ผลิตแล้วแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อย่างหลากหลาย เพื่อจำหน่ายและทำการตลาดได้เอง ทำรายได้มากขึ้นและมีชีวิตที่ดีขึ้น” รองนายกรัฐมนตรี กล่าว
พร้อมกันนี้ ม.ร.ว.ปรีดิยาธ กล่าวถึงกรณีชาวนาและชาวสวนยางที่กำลังเผชิญกับราคาตลาดตกต่ำว่า ในเรื่องของข้าวนั้นเกิดจากการที่ประเทศคู่แข่งสามารถสามารถผลิตข้าวได้ในต้นทุนที่ต่ำมาก อีกทั้งผลกรรมจากโครงการรับจำนำข้าวที่ทำให้รัฐมีสต็อคค้างอยู่ในมือถึง 17 ล้านตัน มีผลกดราคาข้าวให้อยู่ในระดับต่ำ รัฐบาลกำลังหาทางให้หลุดจากสภาวการณ์ที่เป็นอยู่ไปให้ได้ในฤดูกาลนาปีปีหน้านี้ โดยจะมีวิธีการต่างๆ ถึง 3 วิธี คือ
1.การแนะนำให้เปลี่ยนจากการปลูกข้าวไปปลูกอ้อยในพื้นที่ที่ผลิตอ้อยได้น้อยกว่ากำลังผลิตของโรงงาน เบื้องต้นศึกษาแล้วจำนวนกว่า 7 แสนไร่ ปลูกในพืชที่ที่มีการผลิตอ้อยน้อย รวมทั้งปลูกพืชหมุนเวียนชนิดอื่นๆ เพื่อให้แน่ใจว่า หากเปลี่ยนแล้วจะขายได้แน่นอน
2.ทำให้เป็นระบบเกษตรทางเลือก เพื่อแนะนำให้ชาวนารายย่อยที่มีที่นาทำกินขนาดเล็ก(ไม่เกิน 10 ไร่) สามารถเลือกปลูกพืชหรือไม้ดอกชนิดอื่นที่มีตลาดในท้องถิ่น และสามารถทำรายได้สูงมากกว่าการปลูกข้าว โดยการหารือกับผู้ซื้อในท้องถิ่นนั้นๆ เบื้องต้นคาดว่าจะสามารถเปลี่ยนได้จำนวน 10 ล้านไร่
3.สำหรับพื้นที่ทำนาส่วนใหญ่ โครงการรับจำนำข้าวได้ทำลายการผลิตข้าวคุณภาพดีไปเป็นจำนวนมาก รัฐบาลจะช่วยเปลี่ยนพันธุ์ เพื่อให้ชาวนาได้ปลูกข้าวคุณภาพสูงชนิดที่เหมาะกับท้องถิ่นแต่ละแห่ง อีกทั้งก้าวข้ามจากการผลิตขาวราคาต่ำไปเป็นข้าวคุณภาพสูง ที่ราคาในตลาดสูงคุ้มกับต้นทุนการผลิต มีกำไรพอควร
“โครงการช่วยเหลือดังกล่าวเกษตรอำเภอและเกษตรตำบลจะลงมืออย่างเต็มที่ในทุกท้องที่ที่ทำได้ การปรับปรุงพันธุ์ โดยการช่วยเหลือด้านเมล็ดพันธุ์” ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าว และว่า หากทำได้ในข้างต้นเกษตรจะได้ผลิตผลเกษตรกรที่มีราคาที่สูงขึ้น ช่วยลดปริมาณการผลิตของข้าวคุณภาพที่ต่ำลง ซึ่งจะช่วยให้ราคาขยับตัวดีขึ้น
สำหรับเรื่องยาง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า การที่น้ำมันในตลาดโลกราคาลดลง มีผลให้ราคายางเทียมลดลงมาก และเนื่องจากยางเทียมเป็นสินค้าที่ทดแทนยางธรรมชาติได้ในการผลิตสินค้าหลายประเภทจึงเป็นที่ชัดเจนว่า ความต้องการการใช้ยางธรรมชาติของโลกจะลดลงมาทีเดียว ซึ่งจะมีผลให้ราคายางธรรมชาติของโลกปรับตัวลดลงอย่างมากเช่นเดียวกัน และส่งผลให้ราคายางธรรมชาติปรับตัวสูงขึ้นได้ยาก ทางแก้ไขก็คือจะต้องพยายามให้มีการซื้อยางภายในประเทศให้มากขึ้นและค่อยๆปรับราคาสวนยาง
"การเพิ่มการซื้อภายในประเทศ ขณะนี้มีโรงงานจากประเทศจีนตกลงจะมาตั้งโรงงานผลิตยางล้อรถยนต์ในประเทศไทยเพิ่มขึ้นอีก 8 โรงงาน ดำเนินการแล้วเสร็จจำนวน 1 โรง แต่ต้องใช้ระยะเวลาอีก 2-3 ปี กว่าโรงงานเหล่านี้จะเริ่มเปิดดำเนินการได้ ซึ่งหากแล้วเสร็จความว่าความต้องการใช้ยางในประเทศจะมีสูงถึง 1 ล้านต้น/ปี ประมาณร้อยละ 25 จากเดิมร้อยละ 14 ทำให้บริโภคในประเทศเพิ่มขึ้นเป็น ร้อยละ 39 ด้านการผลิตนั้นกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เริ่มดำเนินโครงการปรับปรุงสวนยางตามคำแนะนำของเกษตรกร เพื่อให้ชาวสวนยางขนาดเล็ก สามารถกู้เงินรายละไม่เกิน 100,000 บาท/ราย โดยรัฐบาลจะจัดหาสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำวงเงิน 1 หมื่นล้านบาท (วงเงินดังกล่าวมาจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์เพื่อการเกษตร(ธ.ก.ส.)) เพื่อใช้ในการโค่นยางเก่าที่มีอายุมาก แล้วหันไปปลูกพืชตัวใหม่ ทั้งคาดว่าจะช่วยปรับปรุงสวนยางได้มากกว่า 100,000 ครัวเรือนในปีแรก
รองนายกฯ กล่าวด้วยว่า แม้เกษตรของไทยกำลังเผชิญกับปัญหาอุปสรรค และความท้าทายใหม่ๆ แต่ยังเชื่อว่าเกษตรกรไทยยังมีศักยภาพเติบโตต่อไปและคงความได้เปรียบการแข่งขันในตลาดโลกต่อไปได้ หากทุกภาคส่วนร่วมมือกันปรับเปลี่ยนการปฏิรูปสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคเกษตรกรรมและเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งนี้ รัฐบาลขอยืนยันว่าจะเร่งรัดการปฏิรูปภาคการเกษตร และพัฒนาประเทศให้เร็วที่สุด