ขับเคลื่อน 6 ประเด็น สมัชชาสุขภาพฯ ครั้งที่ 7 รองนายกฯ ชูกำจัดโรคพยาธิใบไม้ตับ
เปิดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 7 เดินหน้านโยบายสาธารณะเน้น กลไกคุ้มครองเด็ก เยาวชน ครอบครัว กำจัดพยาธิใบไม้ตับ มะเร็งท่อน้ำดี ‘นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา’ เผยคืบหน้าส่งเสริมการใช้จักรยาน หวังอนาคตลดใช้น้ำมัน ระบุ สสส.เตรียมชงครม.สร้างลานกิจกรรมรองรับ
วันที่ 24-26 ธันวาคม 2557 คณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คจ.สช.) จัดงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 7 หัวข้อ ‘เดินหน้าสมานฉันท์ ร่วมกันปฏิรูป สังคมสุขภาวะ’ ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี
โดยที่ประชุมเดินหน้าเน้นคุณภาพข้อเสนอ 6 ระเบียบวาระสำคัญสู่นโยบายสาธารณะ ประกอบด้วย 1.การพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อบูรณาการกลไกคุ้มครองเด็ก เยาวชน และครอบครัว จากปัจจัยเสี่ยง 2.การจัดการสเตียรอยด์ที่คุกคามสุขภาพคนไทย 3.การพัฒนากระบวนการประเมินและการตัดสินใจใช้เทคโนโลยีด้านสุขภาพ 4.การกำจัดปัญหาพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีในประชาชน 5.การจัดทำแผนยุทธศาสตร์สุขภาพโลกของประเทศไทย และ 6.ทบทวนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ การป้องกันผลกระทบต่อสุขภาวะและสังคมจากการค้าระหว่างประเทศ
ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี ด้านสังคม ในฐานะประธานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า การขับเคลื่อนนโยบายที่สำคัญ โดยเฉพาะด้านสาธารณสุข ไม่สามารถขับเคลื่อนจากข้างบนฝ่ายเดียวได้ จำเป็นต้องอาศัยความรู้ที่เกิดจากการทำงานวิชาการ การแลกเปลี่ยนความคิดเห็น จนกระทั่งเกิดความเห็นพ้อง และมีฉันทามติทุกภาคส่วน
ทั้งนี้ ระบบสุขภาวะของชาติเป็นเรื่องที่ตรงกับนโยบายรัฐบาลปัจจุบันที่ต้องการขับเคลื่อน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ค้ำจุนกัน และสร้างสรรค์รากหญ้า โดยการประชุมครั้งนี้นอกจากจะมีเรื่องเด็ก ครอบครัว และการค้าผลิตภัณฑ์มีสารสเตียรอยด์เจือปนอย่างไร้เหตุผลแล้ว สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญต่อไป คือ การกำจัดโรคพยาธิใบไม้ในตับ
“แม้โรคพยาธิใบไม้ในตับจะมียารักษาให้หาย แต่มีราคาค่อนข้างแพง ดังนั้นควรสร้างวิธีป้องกันมากกว่าแก้ไข ด้วยการส่งเสริมนิสัยการบริโภคถูกสุขลักษณะ สิ่งนี้ถือเป็นความท้าทายของคนไทย” รองนายกรัฐมนตรี กล่าว และว่า ตลอด 6 ปีที่ผ่านมา สมัชชาฯ มีฉันทมติแล้ว 59 มติ ซึ่งรัฐบาลได้นำบางมติไปปฏิบัติ เช่น การใช้จักรยาน แก้ไขปัญหาอุบัติเหตุ ปัญหาหมอกควัน คนอ้วน เป็นต้น โดยกระทรวงสาธารณสุขดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ภายใต้การดูแลกันเองของสังคม
ด้านนพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา ประธานกรรมการขับเคลื่อนและติดตามการดำเนินงานตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ กล่าวถึงมติที่ต้องรายงานผลการดำเนินงานต่อที่ประชุมจำนวน 10 มติ โดยมติที่น่าจับตามอง ได้แก่ การจัดระบบและโครงสร้างเพื่อส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน ซึ่งวางเป้าหมาย 3 ระดับ คือ ขี่จักรยานเพื่อแข่งขัน ขี่จักรยานเพื่อสุขภาพ-ท่องเที่ยว และขี่จักรยานเพื่อลดใช้พลังงานภายนอก หากทำได้จะสามารถลดการใช้พลังงานน้ำมันในอนาคตได้
“ขณะนี้ยุทธศาสตร์ได้รับการขับเคลื่อนจากกระทรวงมหาดไทย กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงคมนาคม สำนักนายกรัฐมนตรี กรมอนามัย ร่วมกันผลักดัน ภายใต้แกนนำหลัก คือ ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย” ประธานกรรมการขับเคลื่อนฯ กล่าว และว่าสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เตรียมผลักดันให้เกิดพื้นที่ดำเนินกิจกรรมสำหรับจักรยาน และเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร็ว ๆ นี้
นอกจากนี้ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพฯ ยังได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงกับกระทรวงอุตสาหกรรม โดยเน้นตั้งคณะทำงานวิชาการเพื่อตรวจสอบมาตรการของจักรยานและอะไหล่ ทั้งนี้ รวมถึงอุปกรณ์สำหรับคนพิการด้วย และสร้างแผนสนับสนุนผู้ประกอบการผลิตจักรยานด้วย
นพ.ณรงค์ศักดิ์ กล่าวถึงการป้องกันและลดผลกระทบด้านสุขภาพจากโรงไฟฟ้าชีวมวล ก่อให้เกิดมลภาวะมาก ดังนั้นรัฐบาลจึงตั้งเป้าหมายที่จะนำพลังงานทางเลือกจากแสงอาทิตย์ ลม และน้ำ มาทดแทน โดยคาดหวังว่าไทยจะลดการใช้น้ำมันได้ถึง 25%
“ไทยมีเศษวัสดุจากภาคเกษตรจำนวนมาก หากนำมาเข้าสู่กระบวนการเผาไหม้อย่างถูกวิธีและนำความร้อนมาเป็นไฟฟ้าจะช่วยได้มาก ดังนั้น จึงมีการผลักดันโรงไฟฟ้าต่ำกว่า 10 เมกะวัตต์ โดยไม่ต้องผ่านรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (Environmental impact assessment:EIA ) สร้างผลกระทบค่อนข้างเยอะ” ประธานกรรมการขับเคลื่อนฯ กล่าว และว่าขณะนี้กรมโรงงานอุตสาหกรรม ได้กำหนดประเภทโรงงานผลิตไฟฟ้า อยู่ในขั้นตอนการออกกฎกระทรวง และสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ออกข้อกำหนดประมวลหลักปฏิบัติสำหรับโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก ทดแทนการเลี่ยงไม่ทำอีไอเอ
สุดท้าย นพ.ณรงค์ศักดิ์ ระบุถึงการจัดการปัญหาหมอกควันที่มีผลกระทบต่อสุขภาพว่า เกิดการรวมกลุ่มของชุมชนที่ได้รับความเดือดร้อน นำไปสู่การคิดร่วมกันในการป้องกันและแก้ปัญหาของแต่ละพื้นที่ โดยมีการขับเคลื่อนใน 8 จังหวัด ภาคเหนือ โดยเฉพาะเชียงใหม่ ที่มีข้อบัญญัติต่าง ๆ ต่อยอดไปถึงระดับอำเภอ และจังหวัด เพื่อให้เป็นนโยบายสาธารณะของแต่ละพื้นที่ นอกจากพลังพลเมืองแล้ว ยังต้องใช้ยาแรงอย่างกฎหมายด้วย กระบวนการทั้งหมดเปรียบเสมือนการรดน้ำ พรวนดิน ใส่ปุ๋ย นับวันก็จะยิ่งเติบโตงอกงาม ทำให้การแก้ปัญหาไม่โดดเดี่ยวและประสบความสำเร็จในที่สุด
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ภายในงานยังมีการมอบรางวัลสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ แบ่งเป็น รางวัล 1 จังหวัด มอบให้แก่จังหวัดที่มีการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม ได้แก่ จ.อุบลราชธานี และจ.ลำปาง
รางวัล 1 พื้นที่ มอบให้กับพื้นที่ที่มีการพัฒนาและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม โดยใช้ธรรมนูญสุขภาพเป็นเครื่องมืออย่างเป็นรูปธรรม ได้แก่ ต.ริมปิง จ.ลำพูน ต.ดงมูลเหล็ก จ.เพชรบูรณ์ และบ้านคลองอาราง ต.บ้านแก้ง จ.สระแก้ว
รางวัล 1 กรณี มอบให้ชุมชนที่นำเครื่องมือการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพมาใช้อย่างได้ผลเป็นที่ประจักษ์ ได้แก่ ชุมชน อ.ปราสาท และ อ.เมือง กรณีไฟฟ้าชีวมวล จ.สุรินทร์ และชุมชนจะนะ กรณีท่าเรือน้ำลึกและการพัฒนาอุตสาหกรรม อ.จะนะ จ.สงขลา .