อดีตนายกฯ อานันท์ :ภาคเกษตรมีอำนาจต่อรองน้อยที่สุด
“เกษตรกรไทยแทบไม่มีอำนาจต่อรองกับพ่อค้า นักธุรกิจหน่วยงานราชการและอื่นๆ ในสังคมไทยภาคเกษตรเป็นภาคต่อรองน้อยที่สุด และในปัจจุบันยังไม่มีเห็นมีท่าที หรือมาตรการที่จะช่วยเพิ่ม อำนาจต่อรองให้ดีขึ้นเลย"
วันที่ 23 ธันวาคม 2557 สภาการเกษตรแห่งชาติ จัดงานประชุมสัมมนาวิชาการประจำปี 2557 “สภาการเกษตรแห่งชาติกับการปฏิรูปภาคการเกษตรที่ยั่งยืน” ณ อาคารชาเลนเจอร์ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพค เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี
นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง “การปฏิรูปภาคการเกษตรไทย และการปฏิรูปประเทศไทย” ตอนหนึ่งว่า อนาคตเกษตรกรและภาคการเกษตรที่มีจำนวนมากกว่า 24 ล้านคนในประเทศ เป็นส่วนสำคัญ ที่ผ่านมาในระยะกว่า 10 ปีภาคการเกษตรประสบกับปัญหาในหลายๆด้าน ไม่ว่าจะเป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติต่างๆ วิกฤติทางการเงิน การขาดเสถียรภาพทางการเมือง คอร์รัปชั่น
โดยเฉพาะในช่วงหลัง 3-4 ปีที่ผ่านมา ยังพบกับปัญหาหนักอย่างรุนแรงจากกรณีความขัดแย้งทางการเมืองที่มีผลต่อภาคการเกษตร แต่นั้นก็เป็นประวัติศาสตร์ ซึ่งสิ่งที่พูดในวันนี้จะหยิบยกปัญหา ความเป็นจริงมานำเสนอเพื่อให้บุคคลอื่นที่มีอำนาจรับไปพิจารณาร่วมกับภาคส่วนอื่นๆที่เกี่ยวข้องเพื่อผลประโยชน์ของบ้านเมือง
อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงความทุกข์ต่างๆของเกษตรกร ไม่ว่าจะเป็นความทุกของชาวไร่ ชาวนา และชาวสวนที่ได้รับอยู่ในปัจจุบันนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นเรื่องที่เคยเกิดขึ้นในอดีต แต่เพียงไม่มีรัฐบาลใดที่จะสามารถแก้ไขได้เท่านั้น อาทิ เรื่องน้ำท่วมพืชผลผลิต หน้าแล้งน้ำไม่มี ราคาสินค้าตกต่ำ ตลาดโลกสำหรับสินค้าเกษตรแคบลง
และล่าสุดกรณีปัญหาพิเศษอย่าง "จำนำข้าว" ที่ระยะเวลากว่า 2 ปีที่ผ่านมา หลายฝ่ายกล่าวว่า โครงการดังกล่าวทำให้ประเทศชาติเสียหายมากกว่า 6 แสนล้านบาท และนำมาซึ่งความเจ็บปวดและทำให้เศรษฐกิจของประเทศชะงัก หรือแม้กระทั่งเรื่องชลประทานที่ล้มเหลวในการบริหารจัดการน้ำที่ส่งไม่ทั่วถึงในหลายพื้นที่ เป็นต้น
"นี่เป็นความบกพร่องของการบริหารของรัฐที่ไม่ไปด้วยกัน เกิดการแก่งแย่งในการทำหน้าที่ว่าใครควรทำ ซึ่งปัญหาเกิดจากการที่รัฐไม่มีนโยบายหรือมาตรการในการคุ้มครองให้ความเป็นธรรมให้กับภาคเกษตรกร แม้ที่ผ่านมามีการเสนอให้มีการจัดทำร่างพระราชบัญญัติขึ้น เพื่อคุ้มครองสิทธิและส่งเสริมขีดความสามารถ สร้างความเป็นธรรม และเกื้อกูลผลประโยชน์ของเกษตรกรอย่างทั่วถึง แต่การเสนอดังกล่าวก็ไม่ถูกพิจารณา เพราะรัฐให้ความสนใจกับสถานภาพและใส่ใจเรื่องของเกษตรกรของไทยน้อยเกินไป"
นายอานันท์ กล่าวว่า เกษตรกรต้องพิจารณาตรวจสอบในส่วนตัวเองด้วยว่า มีข้อบกพร่องสิ่งใด ทำอย่างไรปรับปรุงให้ดีขึ้น รวมทัั้งอยากเห็นประเทศมีมาตรการ มีนโยบายส่งเสริมความรู้เกษตรกรที่ยังขาดอยู่ เช่น ด้านตลาด การเงิน การจัดการ บัญชี สัญญาซื้อขาย เป็นต้น แม้กระทั่งการที่เกษตรกร ชาวนา ชาวไร่ที่ครอบครองที่ดินมาเป็นเวลาช้านาน วันดีคืนดีมีกฎหมายว่า เกษตรกรบุกรุกพื้นที่ ควรจะคิดดูให้ดีว่า ใครบุกรุกใครกันแน่ ชาวนาชาวไร่หรือรัฐบุกรุกสิทธิของชาวไร่ชาวนา
"เราต้องให้ความสนใจมากขึ้น ไม่ใช่เพราะเห็นใจคนจน หรือเกษตรกร แต่ทำเพื่อความยุติธรรมของคนในสังคม"
พร้อมกันนี้ อดีตนายกรัฐมนตรี เห็นว่า ปัจจุบันเกษตรกรไทยแทบไม่มีอำนาจต่อรองกับพ่อค้า นักธุรกิจ หน่วยงานราชการ ในสังคมไทยภาคเกษตรเป็นภาคที่มีอำนาจต่อรองน้อยที่สุด และไม่มีทีท่าหรือมาตรการที่จะช่วยเพิ่มอำนาจต่อรองให้ดีขึ้นเลย
"ผมอยากเห็นประเทศมีมาตรการ มีนโยบายส่งเสริมความรู้เกษตรกรที่ยังขาดอยู่ เช่น ด้านตลาด การเงิน การจัดการ บัญชี สัญญาซื้อขาย เป็นต้น ซึ่งรัฐต้องเข้ามามีบทบาท"
ในส่วนของการปฏิรูปประเทศไทยนั้น นายอานันท์ กล่าวถึงบทบาทเมื่อครั้งได้รับเป็นประธานคณะกรรมการปฏิรูป และได้จัดทำรายงานโดยพิมพ์เมื่อเดือน มิถุนายน 2554 จากนั้นได้ชักชวนทุกฝ่ายอ่านและนำไปต่อยอดการแก้ไขปัญหาบ้านเมือง ซึ่งเนื้อหารายงานส่วนหนึ่งชี้ถึงความล้มเหลวเชิงโครงสร้างของประเทศไทย ความล้มเหลวของอำนาจรัฐ อำนาจของภาคราชการกับประชาชนที่สร้างให้ภาคธุรกิจมีอำนาจเหนือกว่าภาคเกษตรกร การสร้างความเหลื่อมล้ำในสังคมให้มีมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ด้านรายได้ ด้านสิทธิ ด้านโอกาส หรือแม้กระทั่งความเหลื่อมล้ำของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
ประชาธิปไตยระบบที่ "เลวน้อยที่สุด"
นอกจากนี้ นายอานันท์ ยังกล่าวถึงประชาธิปไตยในต่างประเทศเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศไทยว่า ในหลายประเทศที่อ้างว่า ใช้ระบอบประชาธิปไตยล้วนแล้วแต่ประสบกับปัญหาทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็น ฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา สเปน หรือแม้กระทั่งญี่ปุ่น เพราะประชาธิปไตยไม่ได้เป็นระบบที่สมบูรณ์หรือไม่มีช่องโหว่ เพียงแต่เป็นระบบที่ "เลวน้อยที่สุด" เท่าที่มนุษย์มีประสบการณ์มา
"สิ่งที่ทุกประเทศเรียกหา ไม่ใช่ระบบที่ปกครองอย่างบริสุทธิ์ผุดผ่อง สมบรูณ์แบบ หรือเต็มวัย เพราะสิ่งนั้นคือความฝัน สิ่งที่ต้องการคือ ประชาธิปไตยในแบบฉบับของแต่ละประเทศที่ไม่ใช่ประชาธิปไตยแบบจอมปลอม และขึ้นอยู่กับรัฐบาลว่า จะสร้างระบบให้มีความยุติธรรมและมีเสรีได้มากน้อยแค่ไหน" นายอานันท์ กล่าว และว่า ปัญหาดังกล่าว เป็นโจทย์ที่ผู้ร่างต้องตระหนักและแก้ไขในการร่างให้ออกมาอุดช่องโหว่ได้อย่างไร การวางแผน การวางกลไกให้มีมาตรการเพิ่มพูนความสมดุล ทั้งในฝ่ายนิติบัญญัติ ตุลาการ และประชาชนต้องมีส่วนร่วมในการออกความคิดเห็น ได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง แสดงความคิดเห็นเพื่อจะได้ทำหน้าที่ในการตรวจสอบจับผิด
"หลักของประชาธิปไตยอำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน และอำนาจของฝ่ายบริหารนิติบัญญัติเป็นอำนาจที่ประชาชนมอบให้บุคคลส่วนหนึ่งเป็นระยะชั่วคราว ผู้ที่ได้รับเลือกจะได้รับอำนาจจากประชาชนการบริหารงาน การได้รับเลือกนั้นต้องทำหน้าที่ของตนให้ดี แต่ไม่ใช่ทำหน้าที่หลังการรับเลือกตั้งไม่ดี เพราะฉะนั้นการเลือกตั้งไม่ใช่เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ รัฐต้องบริหารงานโดยมีหลักธรรมาภิบาล"
อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การเลือกตั้งเป็นส่วนหนึ่งของการปกครองระบอบประชาธิปไตย หากอนาคตมีการเลือกตั้ง ต้องสร้างความหมายที่แท้จริง โครงสร้างพรรคการเมืองต้องปรับปรุง ผู้สมัครต้องมีความซื่อสัตย์กับตนเอง วิธีการเลือกตั้งต้องปรับปรุงใหม่เพื่อให้ประชาชนเกิดความนับถือเลื่อมใสในระบบ
"ที่ผ่านมาสิ่งที่เห็นเมื่อมีการเลือกตั้งตัวแทนที่ส่งลงไปกลับกลายมาเป็นบุคคลที่มาทำ "ธุรกิจการเมือง" ไม่ได้มาทำการเมือง ไม่ได้เข้ามาทำภารกิจของประเทศชาติ การบริหารงานราชการจึงต้องมีความโปร่งใส ไม่มีการซ้อนเร้นปิดบังข้อเท็จจริง ขณะที่ข้อมูลประชาชนต้องสามารถตรวจสอบเพื่อการพัฒนา"
อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวด้วยว่าศัตรูสำคัญของประชาธิปไตย คือการโกงกิน ฉ้อราษฎรบังหลวงของรัฐบาล ฉะนั้นต้องมีกฎหมายที่แน่ชัด และบังคับใช้อย่างแข็งขัน เพื่อส่งเสริมการแข่งขันเสรี และเป็นธรรม สามารรถบริการขั้นพื้นฐานให้กับประชาชนได้ ครอบคลุมทุกการบริการขั้นพื้นฐาน
"รัฐมีเงินสำรองอยู่ในคลังอยู่แล้ว ไม่ใช่ไปใช้นอกงบประมาณ เงินเหล่านี้มาจากการการเก็บภาษีที่ควรจะเป็น ซึ่งรัฐบาลต้องจัดการระบบภาษีที่ยังมีช่องโหว่อีกมาก อีกทั้งต้องปฏิรูปจิตใจ และวิธีคิดของกลุ่มนักการเมือง ปฏิรูปความคิดของประชาชนให้ยอมรับความแตกต่างทางด้านเชื้อชาติ ศาสนา และแตกต่างทางความคิด สิ่งเหล่านี้ต้องเกิดขึ้นอย่างจริงใจ ไม่เช่นนั้นประชาธิปไตยที่ได้มาในอนาคตจะเป็นประชาธิปไตยแบบลุ่มๆดอนๆ"
สุดท้ายสิ่งที่ควรปฏิรูปเพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งในสังคม นายอานันท์ เสนอให้ปฏิรูป 3 ระดับ คือ 1.ระหว่างภาครัฐกับประชาชน 2.ประชาชนกับประชาชน และ3.ราชการกับประชาชน
“ผมอยากเห็นการปฏิรูปประเทศไทย ให้เป็นไปกรอบที่ผมกล่าวมาโดยมีจุดมุ่งหมายที่จะแก้ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นใน 3ระดับ ซึ่งหัวใจสำคัญคือการปฏิรูปภาคการเมือง เพื่อให้เกิดระบบประชาธิปไตยที่แท้จริง คลี่คลายไปในทางที่ดี เกิดความพึงพอใจของทุกฝ่าย และความสงบกลับคืนสู่รัฐและประชาชน สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งประชาชนอยากเห็น” อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวทิ้งท้าย