ตีตกเลือกนายกฯทางตรง! กมธ.ยกร่างฯปฏิรูประบบรัฐสภาขจัดนายทุน
กมธ.ยกร่างฯ สรุปตีตกปมเลือกนายกฯ-ครม.ทางตรง ดันระบบรัฐสภายกเครื่องใหม่ ขจัดนายทุนหนุนพรรค ควบอำนาจเบ็ดเสร็จเสียงข้างมาก ป้องครอบงำอำนาจนิติบัญญัติ-บริหาร ยังไม่เคาะนายกฯต้องเป็น ส.ส. หรือไม่
นายสุจิต บุญบงการ รองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงกรณีที่สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เสนอแนวทางการเลือกตั้งคณะรัฐมนตรี และนายกรัฐมนตรีโดยตรงว่า กมธ.ยกร่างฯ สรุปและมีการยอมรับในหลักการได้ว่า ควรให้ใช้รูปแบบรัฐสภาที่ให้นายกรัฐมนตรีมาจากการเลือกตั้งของสภาผู้แทนราษฎร หรือการเลือกตั้งนายกฯทางอ้อมเช่นเดิม แต่จะมีการปรับเปลี่ยนไม่ให้เกิดปัญหาแบบเดิม เช่น แก้ไขโจทย์ในอดีตที่ไม่ต้องให้ผู้นำกลุ่มการเมือง หรือกลุ่มการเมืองมีอำนาจในการใช้เสียงข้างมาก กุมอำนาจนิติบัญญัติ และบริหาร เกือบเบ็ดเสร็จ อย่างที่เห็นก่อนเหตุการณ์วันที่ 22 พฤษภาคม 2557
นายสุจิต กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังแก้ไขไม่ให้พรรคการเมืองเป็นเครื่องมือของนายทุน ส่วน ส.ส. ต้องเป็นผู้แทนประชาชนอย่างแท้จริง ไม่ใช่ผู้แทนกลุ่มการเมือง ขณะเดียวกันแม้จะคำนึงเสียงข้างมาก แต่ก็ต้องรับฟังเสียงข้างน้อยด้วย และต้องทำอย่างไรให้เสียงข้างน้อยมีสิทธิตามสมควร รวมไปถึงการให้ประธานสภาผู้แทนฯ มาจากพรรคที่ได้คะแนนเสียงข้างมาก ส่วนรองประธานสภาผู้แทนฯคนที่ 1-2 ต้องเป็นพรรคที่ได้คะแนนเสียงลดหลั่นกันไป เพื่อป้องกันการครอบงำ นอกจากนี้ต้องไม่ตกอยู่ภายใต้มติพรรคการเมือง
“ส่วนที่ไม่สามารถยอมรับข้อคิดเห็นของ สปช.-สนช. ได้นั้น มีหลายเหตุผล เช่น ต้องยอมรับไม่ว่าจะเป็นระบบรัฐสภา ที่ดำเนินการมากว่า 82 ปี หรือระบบแบ่งแยกอำนาจ คือเลือกนายกฯทางตรงนั้น ทั้ง 2 ระบบมีจุดเสี่ยง รวมไปถึงปัญหาเหมือนกัน เพียงแต่ว่าระบบรัฐสภาเป็นปัญหาที่เราคุ้นชินและสามารถแก้ไขได้ ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องพลิกมือเป็นหลังมือสู่ระบบใหม่” นายสุจิต กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า ในการประชุมมีใครคัดค้านหรือสนับสนุนการเลือกตั้งนายกฯโดยตรงบ้าง นายสุจิต กล่าวว่า ในที่ประชุม นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ยกร่างฯ ได้ถามว่า มีผู้ใดสนับสนุนการเลือกตั้งนายกฯโดยตรง พบว่า มีเพียงคนเดียวที่สนับสนุน แต่ภายหลังได้เลิกเสนอ โดยระบุสาเหตุว่า คงฝ่ามติ กมธ.ยกร่างฯลำบาก นายบวรศักดิ์ ถามอีกว่า มีใครต้องการจะอภิปรายประเด็นนี้บ้าง พบว่า มีผู้เสนออภิปรายเพียงคนเดียว ขณะที่คนอภิปรายคนอื่นก็ไม่เห็นด้วย
ผู้สื่อข่าวถามว่า นายกรัฐมนตรีจำเป็นต้องมาจาก ส.ส. อยู่หรือไม่ นายสุจิต กล่าวว่า ในที่ประชุมยังเห็นเป็นสองทาง คือ เป็น ส.ส. ก็ได้ หรือไม่เป็นก็ได้ เนื่องจากเป็นการเปิดช่องว่างไม่ให้เกิดปัญหาแบบก่อนวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 อีก เพราะถ้าเป็นอย่างนี้ก็จะสามารถหานายกรัฐมนตรีคนกลางได้ ขณะที่อีกทางคือต้องเป็น ส.ส. แต่อาจมีข้อยกเว้น เป็นต้น