‘ไพบูลย์" เสนอเปลี่ยนกสทช.เป็นคณะกก.กำกับดูแลการสื่อสารแห่งชาติ
‘ไพบูลย์ นิติตะวัน’ ไม่เห็นด้วย คสช.ให้สิทธิ กสทช.แก้กฎหมายจัดสรรคลื่นฯ เอง แนะให้ก.ไอซีทีเสนอร่างกม.ร่วม ชงให้องค์กรตาม รธน.แสดงบัญชีทรัพย์สิน สร้างความโปร่งใส ทีดีอาร์ไอ ชำแหละ กสทช.หลงไทยใช้อินเตอร์เน็ตเพิ่มขึ้น ชี้เทียบกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ พบยังล้าหลังอยู่ หวังอนาคตประมูล 4 จี เปิดช่องให้กสท.-ทีโอที ร่วมชิงคลื่น
วันที่ 23 ธันวาคม 2557 ศูนย์วิจัยกฎหมายและการพัฒนา คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ คณะกรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน (กตป.) กสทช. จัดเสวนา ‘การเปลี่ยนผ่านการควบคุมกิจการของรัฐสู่การกำกับดูแลกิจการแข่งขันเสรี’ ณ ห้องประชุม สุรเกียรติ์ เสถียรไทย คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวถึงผลงานของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) บางเรื่องที่เป็นปัญหา เช่น การจัดแถลงข่าวของกรรมการ กสทช.บางท่านอย่างน่าภูมิใจ เกี่ยวกับอัตราการใช้อินเตอร์เน็ตไทยเพิ่มสูงขึ้นนั้น อยู่อันดับที่ 71 ของโลก ในปี 2557 จากเดิมอันดับที่ 105 ในปี 2555 ซึ่งมีอัตราการเติบโตสูงอันดับ 1 ของโลก
"อัตราการเติบโตใช้อินเตอร์เน็ตที่รวดเร็ว มีสาเหตุจากไทยริเริ่มการใช้จากฐานที่ต่ำมาก ทั้งนี้ เมื่อดูข้อมูลการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยอยู่อันดับที่ 30 ของโลก นั่นแสดงว่า ไทยยังล้าหลังในการใช้อินเตอร์เน็ต ฉะนั้น กสทช.ต้องรับผิดชอบต่อผลงานให้การบริการโครงข่ายอินเตอร์เน็ตแพร่หลายให้ได้"
ประธานทีดีอาร์ไอ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาความรับผิดชอบต่อผลงานของ กสทช.หลายด้านไม่ค่อยเกิดขึ้น กสทช.นำเสนอรายงานประจำปีต่อรัฐสภาล่าช้า ข้อมูลไม่ครบ และสภาฯ ก็ไม่ทำหน้าที่ตรวจสอบอย่างที่ควรจะเป็น
ดร.สมเกียรติ กล่าวถึงการทำหน้าที่ของ สตง. ว่า หากดำเนินการตั้งแต่หลายปีที่ผ่านมาก็จะไม่เกิดเรื่องการใช้จ่ายงบประมาณขาดประสิทธิภาพ เช่นเดียวกับ ป.ป.ช. ต้องทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมาในคดีสำคัญ ยกตัวอย่าง การประมูลคลื่น 3 จี ที่มีมติเสียงค่อนข้างแปลกให้ กทค.ไม่มีความผิดในการดำเนินการ ซึ่งไม่ก้าวล่วงคำวินิจฉัย แต่สิ่งที่ควรทำ คือ การเปิดเผยคำวินิจฉัยโดยละเอียดให้สังคมตรวจสอบและทราบถึงเหตุผลการพิจารณามากกว่า
“ศาลปกครองเป็นอีกองค์กรหนึ่งที่จะช่วยให้ความรับผิดชอบเกิดขึ้นได้ เพราะส่วนใหญ่ปัญหาจะเกิดจากความล่าช้าในการพิจารณาคดี ทำให้คดีต่าง ๆ ไม่ออกมาอย่างที่ควรจะเป็น ” ประธาน ทีดีอาร์ไอ กล่าว และเรียกร้องให้เร่งดำเนินการ เพราะต่อให้องค์กรใด ๆ พยายามขับเคลื่อนการแข่งขันในตลาดคมนาคม แต่เมื่อมีผลประโยชน์เกี่ยวข้องแล้วการตัดสินระงับข้อพิพาทจบลงที่ศาล หากดำเนินการล่าช้า ศาลจะกลายเป็นผู้กำหนดอนาคตโทรคมนาคมเสียเอง มิฉะนั้นความรับผิดชอบจะตกอยู่ที่สังคมฝ่ายเดียวในการตรวจสอบ กสทช. จึงต้องออกแบบกลไกความรับผิดชอบให้ชัดเจน
ดร.สมเกียรติ กล่าวด้วยว่า รัฐบาลที่มาจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ไม่ควรหลงประเด็นเกี่ยวกับการปฏิรูประบบโทรคมนาคม หากต้องการปรับปรุงแก้ไขระบบธรรมาภิบาลของ กสทช.ก็ไม่ควรผูกรอกับรัฐธรรมนูญ เพราะอาจเสียเวลาหลายเดือนกว่ากฎหมายลูกจะบังคับใช้ และทำให้การประมูลคลื่น 4 จี ล่าช้า อีกทั้ง ในการประมูลควรเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายใหม่เข้าสู่ตลาด คือ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) และบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เพื่อให้เกิดสภาพการแข่งขันในตลาดดีขึ้น
ด้านนายไพบูลย์ นิติตะวัน กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า กสทช.มีภารกิจหลัก 3 ประการ คือ 1.การจัดสรรคลื่นความถี่ ซึ่งยังมีความจำเป็น เพราะขณะนี้ยังไว้ใจนักการเมืองไม่ได้ แต่อนาคตหากมีนักการเมืองที่โปร่งใสก็สามารถอยู่ในความดูแลของรัฐได้ อย่างไรก็ตาม กรณีการจัดสรรคลื่นความถี่วิทยุโทรทัศน์อาจตกเป็นของรัฐได้ หากให้รัฐเป็นผู้จัดสรรเอง ดังนั้นจึงเห็นว่า การจัดสรรคลื่นความถี่ควรมาจากองค์กรกลาง
2.การดำเนินกิจการคุ้มครองผู้บริโภค กสทช.ต้องสร้างการมีส่วนร่วมกับผู้บริโภค และ3.ต้องดูแลไม่ให้กิจการสื่อสารสาธารณะ โดยเฉพาะสื่อที่มีผลกระทบหลายเรื่องถูกครอบงำจากกลุ่มทุน ผ่านกระบวนการถือครองหุ้นในสัดส่วนที่มีนัยยะสำคัญ อันส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ซึ่งทั้งหมดนี้ถือเป็นภารกิจที่ กสทช.ต้องกำกับดูแลไม่ให้เกิดขึ้น
กรรมาธิการยกร่าง รธน. แสดงความไม่เห็นด้วยกับคำสั่ง คสช.ที่ 94/2557 เรื่อง การระงับการดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ซึ่งให้อำนาจ กสทช.ปรับปรุงกฎหมายเอง จะกระทำแบบนั้นไม่ได้ จึงฝากไปถึง คสช.ควรให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเสนอร่างฯ ขึ้นมาด้วย หรือใช้ช่องทางสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ปรับปรุงกฎหมายอีกทางหนึ่ง
“เตรียมเสนอให้เปลี่ยน กสทช.เป็นคณะกรรมการกำกับดูแลการสื่อสารแห่งชาติ เน้นการจัดสรรคลื่นความถี่เกิดประโยชน์กับชุมชนและรัฐ ครอบคลุมวิทยุโทรทัศน์ โทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร”
รวมไปถึงควรมีสมัชชาภาคประชาชนสังคมตรวจสอบการทำหน้าที่ และองค์กรกำกับดูแลทั้งหมดทุก 1 ปี ต้องมีหน่วยงานที่มีอิสระเข้ามาประเมินผลงานและประกาศให้สังคมรับรู้ อีกทั้ง องค์กรตามรธน.ควรเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินด้วย เพื่อการเปิดเผยที่โปร่งใสและตรวจสอบได้
ขณะที่ผศ.ดร.ธวัชชัย จิตรภาษ์นันท์ กรรมการ กสทช. กล่าวถึงกรณีการได้มาของกรรมการ กสทช.ว่า ได้รับการคัดเลือกจากวุฒิสภา เพราะฉะนั้นจะสมบูรณ์แบบไม่ได้ เพราะสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) มาจากหลายกลุ่ม เชื่อว่า สรรหากี่ครั้งก็จะได้แบบเดิม เพื่อให้เกิดการถ่วงดุลและเกิดการโต้แย้งมากขึ้น .