ปธ.ศาลฎีกาฯออกกำหนดหลักเกณฑ์ให้ จนท.เข้าถึงอีเมล์ผู้ต้องสงสัยคดีค้ามนุษย์ได้
สำนักข่าวอิศรารายงานว่า ราชกิจจานุเบกษา(22 ธันวาคม) เผยแพร่ ข้อบังคับประธานศาลฎีกา ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้พนักงานเจ้าหน้าที่ได้มาซึ่งข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการกระทําความผิดฐานค้ามนุษย์ โดยอาศัยอํานาจตามความในมาตรา 5 และมาตรา 30 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551
ทั้งนี้ ประกาศระบุสาระสำคัญให้พนักงานเจ้าหน้าที่สามารถยื่นคําขอต่อศาลอาญาหรือศาลจังหวัดที่มีเขตอํานาจเหนือท้องที่ที่จะดําเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งเอกสารหรือข้อมูลข่าวสารอื่นใดซึ่งส่งทางไปรษณีย์ โทรเลข โทรศัพท์ โทรสาร คอมพิวเตอร์ เครื่องมือ หรืออุปกรณ์ในการสื่อสาร สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือสื่อสารสนเทศอื่นใด ที่ถูกใช้หรืออาจถูกใช้เพื่อประโยชน์ในการกระทําความผิดฐานค้ามนุษย์
โดยผู้ขอจะต้องได้รับอนุมัติเป็นหนังสือจากผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติ อธิบดี กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือผู้ว่าราชการจังหวัด แล้วแต่กรณี ขณะที่คําขอให้ศาลออกคําสั่งอนุญาตให้พนักงานเจ้าหน้าที่ได้มาซึ่งข้อมูลข่าวสาร ต้องมีชื่อส่วนราชการหรือหน่วยราชการของผู้ยื่นคําขอ ,วันเดือนปีที่ยื่นคําขอ,ชื่อและตําแหน่งพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ขอ
รวมถึงรายละเอียดเกี่ยวกับบุคคลและสถานที่ที่จะถูกดําเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลข่าวสาร และรายงานการสืบสวนที่มีรายละเอียดเกี่ยวกับข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ต่าง ๆ ของบุคคลที่ต้องการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารเท่าที่ได้กระทํามาแล้ว
พร้อมกันนี้ ต้องระบุสถานที่และวิธีการที่จะดําเนินการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารในสิ่งสื่อสารที่ต้องการ เช่น เอกสารเสียง ภาพ แผนภูมิ ระบบการแสดงตําแหน่งของเครื่องมือ
หลังจากนั้น ให้ผู้ขอนําคําขอพร้อมเอกสารประกอบ ใส่ซองปิดผนึกประทับตรา“ลับ” ยื่นต่อศาลที่ขอให้ออกคําสั่งนั้น เมื่อได้รับซองคําขอ ให้เจ้าหน้าที่ศาลลงเลขรับไว้บนซองและลงสารบบไว้ โดยห้ามเปิดซองแล้วนําเสนอต่ออธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาหรือผู้พิพากษาหัวหน้าศาล เพื่อพิจารณาโดยเร็ว
ทั้งนี้ พยานหลักฐานที่อาจพิสูจน์ได้ว่ามีเหตุสมควรในการออกคําสั่งอนุญาตให้รวมถึง
1.ข้อมูลที่ได้จากการสืบสวนสอบสวน เช่น บันทึกการสอบสวน บันทึกถ้อยคําของสายลับหรือของเจ้าพนักงานที่ได้จากการแฝงตัวเข้าไปในองค์กรอาชญากรรม ข้อมูลที่ได้จากรายงานของแหล่งข่าวของเจ้าพนักงานหรือการหาข่าวจากผู้กระทําความผิดที่ทําไว้เป็นลายลักษณ์อักษร และข้อมูลที่ได้จากรายงานการเฝ้าสังเกตการณ์ของเจ้าพนักงานที่ทําไว้เป็นลายลักษณ์อักษร
2. ข้อมูลที่ได้จากการวิเคราะห์ทางนิติวิทยาศาสตร์ หรือที่ได้จากการใช้เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์หรือเทคโนโลยี เช่น เครื่องมือตรวจพิสูจน์ลายพิมพ์นิ้วมือ เครื่องมือตรวจพิสูจน์ของกลาง เครื่องจับเท็จเครื่องมือตรวจโลหะ และเครื่องมือตรวจพิสูจน์ทางพันธุกรรม
3. ข้อมูลที่ได้จากสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เช่น ข้อมูลที่ได้จากจดหมายอิเล็กทรอนิกส์หรืออินเทอร์เน็ต
กรณีมีคําสั่งอนุญาตให้ศาลสั่งให้ดําเนินการได้ภายในระยะเวลาที่ร้องขอ แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินคราวละ90วัน นับแต่วันที่ศาลมีคําสั่งหรือวันที่ศาลเห็นสมควรกําหนด โดยจะกําหนดเงื่อนไขใด ๆด้วยก็ได้
ส่วนการดําเนินการและการรายงานผล ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดําเนินการตามที่ได้รับคําสั่งอนุญาตให้เสร็จสิ้นภายในระยะเวลาที่กําหนดไว้ในคําสั่งศาล และต้องยุติการดําเนินการทันทีที่ระยะเวลาดังกล่าวสิ้นสุดลง
เว้นแต่เมื่อได้ข้อมูลข่าวสารตามที่ต้องการครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว ,เมื่อความจําเป็นหรือพฤติการณ์ที่ต้องดําเนินการเปลี่ยนแปลงไป หรือไม่มีความจําเป็นในการดําเนินการนั้นอีกต่อไป,เมื่อศาลมีคําสั่งเปลี่ยนแปลงคําสั่งที่ได้อนุญาตไว้นั้นจนเป็นเหตุให้ไม่อาจดําเนินการต่อไปได้ ให้ยุติการดําเนินการก่อนครบกําหนดระยะเวลาดังกล่าว
เมื่อได้ดําเนินการตามที่ได้รับอนุญาตแล้ว ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดังกล่าวบันทึกรายละเอียดผลการดําเนินการนั้น และให้ส่งบันทึกนั้นไปยังศาลที่มีคําสั่งโดยเร็ว แต่ต้องไม่ช้ากว่าเจ็ดวันนับแต่วันที่ดําเนินการเสร็จ
ประกาศ ณ วันที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557
ดิเรก อิงคนินันท์
ประธานศาลฎีกา