ตะลึง!ผลตรวจพัสดุ"กสทช." หาย199รายการ ยังหาตัวผู้รับผิดชอบไม่ได้
เผยผลสอบพัสดุ กสทช.ล่าสุด! สตง.พบปัญหาเพียบ ของหาย 199 รายการ ผู้บริหารลงนามตั้งกก.สอบแล้ว ช่วงเดือน มิ.ย.57 ก่อนเรื่องเงียบหาย หาตัวผู้รับผิดชอบไม่ได้
นอกเหนือจากข้อสังเกตถึงกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีพิเศษ ของ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในช่วงปี 2556 ที่ถูกตรวจสอบพบว่ามีการใช้เงินเป็นจำนวนกว่า 1,311.79 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 55 ของจำนวนเงินที่จัดซื้อจัดจ้างในปี 2556 (เกือบ 3 พันล้านบาท) ซึ่งถูกระบุว่า ขาดความรัดกุม และอาจเป็นช่องทางให้เกิดการทุจริตได้
(อ่านประกอบ : สตง.ชำแหละกสทช.ฉบับเต็ม! พบจัดซื้อวิธีพิเศษพุ่ง1.3พันล. หวั่นเอื้อทุจริต)
การดำเนินงานด้านพัสดุของ กสทช. ก็ถูกตรวจสอบพบว่ามีปัญหาจำนวนมากเช่นกัน ถึงขั้นตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงหลังจากมีพัสดุหายไปจำนวนกว่า 199 รายการ
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบว่า ในรายงานประเมินผลการใช้จ่ายเงินและทรัพย์สิน ของ สำนักงาน กสทช. ประจำปี 2556 ที่จัดทำโดย สตง. มีการระบุถึงว่าการดำเนินการตรวจนับพัสดุประจำปี 2556 ของกสทช.ว่า มีความล่าช้า
โดยการตรวจนับพัสดุประจำปี 2556 ของสำนักงาน กสทช. ตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 เรื่อง การยืม การควบคุม และการจำหน่ายพัสดุ ข้อ 7 ระบุไว้ว่า “ก่อนสิ้นเดือนธันวาคมทุกปี ให้มีการตรวจสอบการรับจ่ายพัสดุงวดตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม และตรวจนับพัสดุคงเหลือในวันสิ้นงวดนั้น โดยให้เริ่มดำเนินการตรวจสอบพัสดุในวันเปิดทำการวันแรกของเดือนมกราคมเป็นต้นไป ว่าการรับจ่ายถูกต้องหรือไม่ พัสดุคงเหลือมีตัวอยู่ตรงตามบัญชีหรือทะเบียนหรือไม่ มีพัสดุใดชำรุด เสื่อมคุณภาพ หรือสูญไป เพราะเหตุใด หรือพัสดุใดไม่จำเป็นต้องใช้ในสำนักงานต่อไป แล้วให้เสนอรายงานผลการตรวจสอบตามลำดับชั้นจนถึงเลขาธิการ 1 ชุด และส่งสำเนารายงานไปยังสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน 1 ชุด สำหรับหน่วยงานในส่วนภูมิภาค ให้ส่งรายงานไปยังสำนักงานด้วย”
คณะทำงานตรวจสอบพัสดุประจำปี 2556 ได้ประชุมเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2557 มอบหมายให้ตัวแทนแต่ละกลุ่มงานที่ได้รับแต่งตั้งเป็นคณะทำงานตรวจสอบพัสดุทำการตรวจนับพัสดุแล้วรายงานผลให้ประธานคณะทำงานทราบภายใน 30 วันทำการ
ต่อมากลุ่มงานการพัสดุและบริหารทรัพย์สินเสนอขอขยายเวลาการตรวจสอบพัสดุประจำปี 2556 โดยอ้างเหตุว่า ต้องการให้คณะทำงานได้ใช้เวลาในการค้นหาและตรวจสอบทะเบียนควบคุมอย่างละเอียด ด้วยเห็นว่ามีพัสดุอยู่ในความควบคุมดูแลเป็นจำนวนมาก และคณะทำงานไม่สามารถดำเนินการได้ทันตามกำหนดเวลา เนื่องด้วยสถานการณ์บ้านเมืองไม่เป็นปกติ จึงขอขยายเวลาในการตรวจสอบออกไปอีก 30 วันทำการ จนถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2557
ข้อสังเกต
1. สำนักงาน กสทช. ไม่สามารถดำเนินการตรวจนับพัสดุประจำปี 2556 ได้ทันตามกำหนดระยะเวลา ทั้งที่ได้มีการขยายระยะเวลาออกไปจนถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2557 แล้ว และสำนักงาน กสทช. ได้จัดส่งรายงานผลการตรวจนับพัสดุประจำปี 2556 ให้กับเลขาธิการ กสทช. เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2557 ซึ่งเกินกว่าระยะเวลาที่ขอขยายไว้กว่า 3 เดือน เนื่องจากประกาศสำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 เรื่อง การยืม การควบคุม และการจำหน่ายพัสดุ ไม่ได้กำหนดระยะเวลาการดำเนินการในการตรวจนับพัสดุประจำปีไว้ ส่งผลให้ผู้ที่เกี่ยวข้องไม่ให้ความสำคัญกับการดำเนินการดังกล่าว
2. รายงานผลการตรวจนับของกรรมการพบว่า มีพัสดุที่สูญหายจำนวน 199 รายการ และสำนักงาน กสทช. ได้ออกคำสั่งที่ 275/2557 ลงวันที่ 2 มิถุนายน 2557 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงพัสดุประจำปี 2556 แต่จนถึงปัจจุบันคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงยังไม่ได้รายงานผลการสอบข้อเท็จจริงแต่อย่างใด ทำให้ไม่ทราบว่ามีพัสดุสูญหายทั้งสิ้นจำนวนเท่าใด เกิดจากสาเหตุใด และใครจะเป็นผู้รับผิดชอบต่อการสูญหายของพัสดุเท่านั้น
3. จากการที่สำนักงาน กสทช. ไม่สามารถนำรายงานผลการตรวจนับพัสดุประจำปี 2556 มาเป็นเอกสารหลักฐานแสดงถึงจำนวนพัสดุคงเหลือปลายงวดเพื่อประกอบการจัดทำงบการเงินประจำปี 2556 ได้ ทำให้ยอดคงเหลือตามบัญชีของสินทรัพย์ในงบการเงินมิได้มีการปรับปรุงยอดให้ถูกต้องตามผลการตรวจนับประจำปี ส่งผลให้ข้อมูลสินทรัพย์ที่แสดงในงบการเงินขาดความน่าเชื่อถือ เนื่องจากไม่สามารถยืนยันได้ว่าถูกต้องหรือไม่
ข้อเสนอแนะ
1. ขอให้ผู้บริหารของสำนักงาน กสทช. ให้ความสำคัญในการดำเนินการตรวจนับพัสดุประจำปี ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ในการควบคุมและตรวจสอบความมีอยู่จริงของพัสดุของสำนักงาน กสทช. ซึ่งส่งผลต่อความเชื่อมั่นในความถูกต้องของข้อมูลในงบการเงิน
2. ขอให้เลขาธิการ กสทช. เร่งรัดดำเนินการสอบข้อเท็จจริงกรณีพัสดุสูญหาย หากผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงพบว่าพัสดุที่สูญหายดังกล่าวเกิดจากการประมาทเลินเล่อหรือเกิดจากการจงใจของเจ้าหน้าที่ ให้ตั้งคณะกรรมการสอบวินัยหรือความรับผิดทางละเมิดต่อไป
3. ขอให้ผู้บริหารสำนักงาน กสทช. จัดทำประกาศของสำนักงาน กสทช. ทดแทนประกาศสำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่องเกี่ยวกับการยืม การควบคุม และการจำหน่ายพัสดุ โดยให้มีการระบุถึงกำหนดระยะเวลาในการดำเนินการตรวจนับพัสดุให้แล้วเสร็จอย่างชัดเจน โดยสำนักงาน กสทช. อาจเทียบเคียงกรอบระยะเวลาในการดำเนินงานกับกรอบระยะเวลาที่ปรากฏในระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการพัสดุ ข้อ 155
สตง.ยังระบุด้วยว่า จากการที่สำนักงาน กสทช. ไม่มีแผนปฏิบัติการประจำปี 2556 ที่สอดรับกับยุทธศาสตร์ขององค์กร ทำให้การจัดสรรงบประมาณขาดทิศทางที่ชัดเจน เนื่องจากแต่ละสำนักไม่ได้จัดทำแผนการจัดซื้อจัดจ้างส่งให้สำนักการพัสดุและบริหารทรัพย์สิน ส่งผลให้ไม่มีการจัดทำแผนการจัดซื้อจัดจ้างประจำปีของสำนักงาน กสทช. ที่ครอบคลุมถึงการใช้จ่ายเงินในภารกิจสำคัญต่าง ๆ อย่างครบถ้วน
ดังนั้นแผนการจัดซื้อจัดจ้างประจำปี 2556 จึงเป็นเพียงการวางแผนและติดตามผลในการจัดหาพัสดุเฉพาะหมวดครุภัณฑ์ ที่ดิน และสิ่งก่อสร้าง โดยไม่รวมถึงการจัดหาพัสดุตามแผนงาน โครงการ การจัดหาโดยการว่าจ้างผู้รับจัดงาน (Organizer) และการจ้างจัดงานประชาสัมพันธ์ เป็นต้น
การไม่มีแผนปฏิบัติการจัดซื้อจัดจ้างประจำปีในภาพรวมดังกล่าว ทำให้ขาดความโปร่งใสในกระบวนการจัดซื้อ จัดจ้าง เนื่องจากไม่สามารถควบคุมได้ว่ามีการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างนอกเหนือจากแผนที่วางไว้มากน้อยเพียงใด ได้มีการดำเนินการที่รวบรัดกระบวนการโดยไม่มีการตรวจสอบหรือไม่ นอกจากนี้ได้ตรวจพบการรีบเร่งดำเนินการทำสัญญาในช่วงปลายปีจำนวนมาก เพื่อขอกันเงินงบประมาณไว้ใช้ในปีถัดไป ซึ่งอาจทำให้การดำเนินการจัดทำสัญญาขาดความระมัดระวังรอบคอบ
โดยในปี 2556 พบว่ามีสัญญาที่ดำเนินการในเดือนธันวาคม 2556 จำนวนสูงถึง 277 สัญญา/ใบสั่งซื้อ/ใบสั่งจ้าง เป็นจำนวนเงินสูงถึง 584.23 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 25 ของจำนวนเงินที่ทำสัญญาทั้งปี
ขณะที่การจัดซื้อจัดจ้างล่าช้า เนื่องจากหลายสาเหตุดังนี้
1. ในแต่ละปีสำนักงาน กสทช. มักจะกันเงินงบประมาณของปีก่อนไว้เป็นจำนวนมาก ทำให้ช่วงไตรมาสหนึ่งถึงไตรมาสสองของปีจะเป็นช่วงดำเนินการตามสัญญาที่ลงนามไว้ในปีก่อนทั้งสิ้น สำหรับการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างของปีปัจจุบันจะเริ่มกระบวนการได้ในช่วงไตรมาสที่สามเป็นต้นไป ซึ่งสุดท้ายก็จะพบการเร่งรีบดำเนินการทำสัญญาในช่วงสิ้นปี เพื่อขอกันเงินงบประมาณไว้ใช้ในปีถัดไป ทั้งนี้เมื่อนำเงินกันเหลื่อมปีที่ได้กันไว้มารวมกับงบประมาณปีปัจจุบันที่ตั้งเพิ่มโดยไม่ได้มีการประเมินถึงศักยภาพของบุคลากรที่จะดำเนินการได้ จึงเกิดการวนรอบของปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างที่ล่าช้าซึ่งเป็นปัญหาเดิม ๆ อย่างต่อเนื่องไม่มีที่สิ้นสุด
2. ไม่มีคู่มือการปฏิบัติงานที่แสดงขั้นตอนการดำเนินการของกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง (Procedure) พร้อมคำอธิบายรายละเอียดของการปฏิบัติงานในแต่ละขั้นตอน รวมถึงไม่มีแผนภาพทางเดินเอกสาร (Flow Chart) ของแต่ละกระบวนการ ทำให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายพัสดุและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในแต่ละกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างเกิดความสับสนในการปฏิบัติ อีกทั้งทำให้ไม่สามารถติดตามประเมินผลการปฏิบัติงานได้ว่าความล่าช้าเกิดขึ้นที่กระบวนการใด
3. ผู้ปฏิบัติงานไม่เข้าใจเกี่ยวกับขั้นตอนกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างที่สำคัญ เช่น การจัดทำร่างขอบเขตงาน (TOR) การจัดทำรายงานการขอซื้อขอจ้าง การตรวจรับพัสดุหรือการตรวจรับงานจ้าง เนื่องจากระเบียบคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2548 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ไม่มีการกำหนดรายการที่ต้องมีในการจัดทำขอบเขตงาน (TOR) และรายงานการขอซื้อขอจ้าง อีกทั้งไม่มีการจัดทำแบบฟอร์มมาตรฐาน ในการดำเนินการดังกล่าวให้ถือปฏิบัติ จึงเกิดปัญหาความล่าช้าในการดำเนินการเกิดความผิดพลาด ไม่ครบถ้วน ต้องแก้ไขบ่อยครั้ง