จะเสือหรือแมลงวันก็ต้องตีให้ตาย! “วิชา”ยกคำอดีตรองนายกฯจีนสู้โกง
“…โครงการรับจำนำข้าวมีความเสียหาย 6 แสนกว่าล้านบาท รัฐบาลแถลงเรียบร้อยแล้ว และนั่นเป็นมูลค่าเฉพาะตัวที่เป็นกฎหมาย แต่ว่ามันยังมีมูลค่าเสียหายที่เรียกว่าความเสียหายทางสังคมประมาณค่าไม่ได้ เพราะมันทำให้ทั่วโลกชี้มือมาที่เราบอกว่า โถ ประเทศไทย นับถือศาสนาพุทธ และเป็นเจ้าของสถิติปลูกพันธุ์ข้าวที่ดีที่สุดในโลก ในที่สุดแล้วเป็นอย่างไร ข้าวนั้นไม่สามารถที่จะขายออกได้…”
หมายเหตุ : สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org : นายวิชา มหาคุณ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวตอนหนึ่งในการบรรยายหัวข้อ “ปัญหาคอร์รัปชั่นในประเทศไทย : บทบาทของนักกฎหมายและนักเศรษฐศาสตร์” ในการอบรมหลักสูตรนิติเศรษฐศาสตร์ระยะสั้น รุ่นที่ 2 (ระดับที่ 1) แก่เจ้าหน้าที่สำนักงาน ป.ป.ช. และเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.)
----
การป้องกันและปราบปรามการทุจริตของเรามีปัญหาเกี่ยวกับการทำความเข้าใจว่า เรื่องใดเป็นเรื่องทุจริต เรื่องใดไม่ใช่ ตามที่อนุสัญญาว่าด้วยการป้องกันและต่อต้านการทุจริตของสหประชาชาติ และองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ ที่เป็นผู้จัดคะแนนความโปร่งใสของนานาประเทศนั้น ก็พบว่าประเทศไทยสอบตกตลอด คงไม่ต้องย้ำในเรื่องนี้ แม้จะได้คะแนนเพิ่มมานิดหน่อย แต่ก็ถือว่ายังสอบตกอยู่
การคอร์รัปชั่นแบ่งเป็นหลายระดับ แต่ปัญหาที่ใหญ่สุด คือการคอร์รัปชั่นขนาดใหญ่ (Grand Corruption) เป็นคอร์รัปชั่นที่ต้องจัดการด้วยวิธีที่เรียกได้ว่า ซับซ้อน คอร์รัปชั่นชนิดนี้ เช่น โครงการขนาดใหญ่ต่าง ๆ หรือเมกะโปรเจ็ค โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เขาเห็นว่าเกี่ยวพันที่สุดคือระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ เป็นกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการคอร์รัปชั่นขนาดใหญ่ มากที่สุดในหลาย ๆ ประเทศ จนทำให้เกิดสิ่งที่เรียกกันสมัยปัจจุบันนี้ว่า ทุจริตเชิงนโยบาย คือ การที่นักธุรกิจร่วมกับนักการเมืองวางแผนคอร์รัปชั่นแต่แรก หรือบางทีก็บังคับขู่เข็ญข้าราชการ หรือข้าราชการเต็มใจเข้าร่วม
ซึ่งการวางแผนนี้ หมายความว่าจะผันเอาสิ่งที่เรียกว่างบประมาณของรัฐ นำมาผ่านเข้ากระเป๋า และในระบบของการไซฟ่อน การถ่ายเงินเข้ากระเป๋า เป็นไปอย่างแนบเนียนมาก ขณะนี้มีการพ่วงเอาเงินทุจริตใส่ไว้ในงบประมาณของรัฐเรียบร้อยแล้ว พวกเราอาจไม่รู้ว่าโครงการต่าง ๆ ได้บวกเป็นค่าคอร์รัปชั่นไว้เบ็ดเสร็จแล้ว
อย่างไรก็ดีไม่ว่าจะเป็น Grand Corruption หรือคอร์รัปชั่นขนาดเล็ก ขนาดย่อย เป็นคอร์รัปชั่นที่ทำโดยข้าราชการระดับล่างก็ตาม ก็ต้องถือว่าเป็นสิ่งที่ต้องดำเนินการบริหารจัดการเช่นเดียวกัน
เมื่อไม่กี่วันมานี้ได้เดินทางไปกับคณะสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ไปพบกับรัฐบาลจีน ซึ่งท่านนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้มอบหมายให้เจรจากับจีน ในการปฏิรูปการทุจริต และการป้องกันและปราบปรามการทุจริต รวมถึงได้พบกับหวัง ฉี ซาน อดีตรองนายกรัฐมนตรี เลขาธิการคณะกรรมตรวจสอบวินัยกลางพรรคคอมมิวนิสต์ รวมถึงเป็นคณะกรรมการบริหารพรรคคอมมิวนิสต์ (โปลิตบูโล) ลำดับ 6 เป็นผู้ดูแลและควบคุมการทุจริต และดูแลวินัยของพรรคทั้งหมด
ท่านอดีตรองนายกรัฐมนตรีจีนแนะนำว่า ไม่ว่าจะเป็นเสือหรือแมลงวันก็ต้องตีให้ตาย อย่าให้เกิดการเอาอย่างกัน เพราะจะเห็นว่าคนอื่นทำก็ไม่ผิด ดังนั้นการป้องกันและปราบปรามการทุจริตหยุดไม่ได้แม้แต่วินาทีเดียว ไม่มีวันหยุด ฉะนั้นท่านยังหน้าตาแจ่มใส อาจเป็นไปได้ว่าการปราบทุจริตเป็นความชอบ เป็นความสุขอย่างหนึ่งที่เห็นบ้านเมืองดีขึ้น
ดังนั้นกระบวนการทางศาล และผู้ที่ทำคดี ในเบื้องต้นทั้งอัยการ และ ป.ป.ช. ในกระบวนการเหล่านี้ต้องบูรณาการทางความคิด ต้องมาคุยกัน มาพูดจากัน มาทำให้กระบวนการเหล่านี้เป็นกระบวนการความคิดเดียวกันว่า จะจัดการความเสียหายที่ใหญ่หลวงได้อย่างไร ไม่ใช่คิดเป็นส่วน ๆ อัยการคิดอย่าง ป.ป.ช. คิดอย่าง ศาลคิดอย่าง ท้ายสุดประชาชนจะได้อะไร
ความเสียหายทีเกิดขึ้นไม่ใช่ตัวเงินที่เสียหายตามกฎหมาย แต่ว่าเป็นความเสียหายทางสังคมที่เกิดขึ้นเรียกว่าเป็นอนุสรณ์สถานแห่งการคอร์รัปชั่น เป็นร่องรอยที่ปรากฏให้เราเห็นว่า คอร์รัปชั่นทุกแห่งที่เป็นคอร์รัปชั่นขนาดใหญ่ ต้องจ่ายมหาศาลยิ่งกว่าตัวเงินที่ต้องสูญเสียไป
ทั้งนี้ พล.อ.เปรม ได้มาพูดถึงเรื่องความอับอายขายหน้า บอกว่าการทุจริตทำให้เกิดความอับอายขายหน้า ไม่ใช่ของบุคคล ของคนในชาติ เราทุกคนต้องแบกรับความอับอายขายหน้า แต่เราแสร้งทำเป็นมองไม่เห็น เมื่อคุยกับเพื่อนชาวต่างประเทศ เราก็ยิ้มแย้มแจ่มใส เป็น The Land of Smile และเราทำเป็นลืมไปว่า มูลค่าความเสียหายเหล่านี้มันใหญ่หลวงนัก
โดยเฉพาะที่เกิดขึ้นในขณะนี้คือโครงการรับจำนำข้าวมีความเสียหาย 6 แสนกว่าล้านบาท รัฐบาลแถลงเรียบร้อยแล้ว และนั่นเป็นมูลค่าเฉพาะตัวที่เป็นกฎหมาย แต่ว่ามันยังมีมูลค่าเสียหายที่เรียกว่าความเสียหายทางสังคมประมาณค่าไม่ได้ เพราะมันทำให้ทั่วโลกชี้มือมาที่เราบอกว่า โถ ประเทศไทย นับถือศาสนาพุทธ และเป็นเจ้าของสถิติปลูกพันธุ์ข้าวที่ดีที่สุดในโลก
ในที่สุดแล้วเป็นอย่างไร ข้าวนั้นไม่สามารถที่จะขายออกได้ พอตรวจสอบดูแล้ว 70 กว่าเปอร์เซ็นต์ เป็นมูลค่าแห่งความเสียหาย ถือว่าเป็นข้าวที่เสื่อมคุณภาพ หรือว่าไม่ตรงตามมูลค่าที่ได้รับจำนำเอาไว้ อ้างว่ารับจำนำ แต่จริง ๆ ไม่ใช่ แต่เป็นกระบวนการผิดพลาดคลาดเคลื่อน
ในเรื่องของความอับอายขายหน้า รวมถึงเรื่องความไร้ประสิทธิภาพในการบริหารแผ่นดิน สะท้อนว่าบริหารแบบไหน ทำให้ปล่อยให้เกิดเสียหายขนาดนี้ ความเสียหายทางสังคมจึงไม่ใช่เรื่องของกฎหมาย แต่เป็นเรื่องของนิติและเศรษฐศาสตร์รวมเข้าไปด้วยกัน
เพราะฉะนั้นแนวความคิดในทางเศรษฐศาสตร์ และแนวความคิดในทางนิติศาสตร์ เราสามารถที่จะผนึกกำลังกันได้ในการทำงาน ในการปฏิบัติหน้าที่การงาน เพื่อที่จะให้เกิดสิ่งที่เรียกว่าบูรณาการ เพื่อแก้ไขปัญหา หากเกิดความเสียหายขึ้น ฝ่ายเศรษฐศาสตร์จะเสนอแนวความคิดที่เป็นประโยชน์ คือเรื่องความเสียหายทางสังคม ซึ่งทางศาลก็ไม่เคยมีแนวทางนี้ ฉะนั้นจะเป็นได้หรือไม่ ถ้าเราจะนำสิ่งเหล่านี้มาผนึกกำลังกัน มาคิดใหม่ทำใหม่ แต่ไม่ใช่ในแง่ว่า จะทำอย่างไรจะจับไม่ได้ไล่ไม่ทันในเรื่องทุจริต แต่คิดใหม่ทำใหม่เพื่อให้เกิดสิ่งที่เรียกว่าโปร่งใส และตรวจสอบได้ทุกขั้นตอน และทำให้ไทยเป็นที่น่าเชื่อและไว้วางใจต่อสังคมนานาชาติ