อีกหนึ่งของขวัญคนไทย...ร่างกฎหมายป้องกัน "ซ้อมทรมาน-อุ้มหาย"
ช่วงนี้ต่อเนื่องไปจนถึงปีใหม่ คนไทยคงได้รับของขวัญและมีความสุขสนุกสนานจากสิ่งดีๆ หลายต่อหลายเรื่องราว...
ล่าสุดก็คือความสุข ความสะใจ ที่นักเตะทีมชาติไทยคว้าแชมป์ เอเอฟเอฟ ซูซูกิ คัพ 2014 ด้วยการพลิกสถานการณ์จากการตามหลัง "เสือเหลือง" มาเลเซียถึง 3 ลูก กระทั่งจบสกอร์ที่ 2-3 ได้ฉลองชัยในทัวร์นาเมนท์นี้ การันตีการเป็นเบอร์ 1 ของอาเซียนในเกมลูกหนัง
ขณะที่ช่วงส่งท้ายปี รัฐบาลและทุกกระทรวง ทบวง กรมก็มีคิวแจกของขวัญคืนความสุขกันอีกหลายระลอก ถือเป็นนิมิตหมายอันดีที่ฝ่ายการเมืองเริ่มมองเห็นความต้องการและความสุขของประชาชนเป็นศูนย์กลาง ไม่พยายามทำอะไรที่ทำให้บ้านเมืองตกอยู่ในห้วงทุกข์ แม้ว่าจะเป็นฝ่ายการเมืองที่มาจากการรัฐประหารก็ตาม
มีอีกเรื่องที่คงเสร็จไม่ทันปีใหม่ แต่จะเป็นของขวัญชิ้นใหญ่ที่ยกระดับงานด้านสิทธิมนุษยชนในเมืองไทยแน่ นั่นก็คือกรณีที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม กำลังเร่งจัดทำ ร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย พ.ศ. .... เรียกสั้นๆ ว่า ร่างกฎหมายทรมานและสูญหายฯ หรือจะเรียกให้เข้าใจง่ายๆ ว่า ร่างกฎหมายป้องกันการซ้อมทรมานและอุ้มหาย ก็ได้
วันจันทร์ที่ 22 ธ.ค.57 คณะกรรมการร่างกฎหมายของกรมคุ้มครองสิทธิฯ จะประชุมสรุปความคืบหน้าครั้งสำคัญ ก่อนจะเปิดเวทีประชาพิจารณ์ในเดือน ม.ค.58 และส่งร่างกฎหมายให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) คณะกรรมการกฤษฎีกา และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ดำเนินการตามขั้นตอน
กฎหมายฉบับนี้ เป็นการอนุวัตกฎหมายภายใน หลังจากไทยได้เข้าเป็นภาคีของอนุสัญญาต่อต้านการทรมานฯ และร่วมลงนามในอนุสัญญาคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการถูกบังคับให้สูญหาย (อุ้มฆ่า อุ้มหาย) ซึ่งที่ผ่านมาเราไม่มีกฎหมายกำหนดความผิดทางอาญาเป็นการเฉพาะ โดยเฉพาะ "อุ้มหาย" คงมีแต่เพียงบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายอาญาว่าด้วยการกักขังหน่วงเหนี่ยว และฐานความผิดข้างเคียงเท่านั้น ซึ่งก็ไม่เพียงพอต่อการรับมือกับการกระทำความผิด โดยเฉพาะหากเกี่ยวโยงกับเจ้าหน้าที่รัฐ
กระทั่งเกิดปรากฏการณ์ "ลอยนวล" ของผู้กระทำผิดมากมายหลายกรณี!
คดีอุ้มฆ่า ทนายสมชาย นีละไพจิตร อดีตประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิม หรือการหายตัวไปของ "บิลลี่" พอละจี รักจงเจริญ แกนนำกะเหรี่ยงบางกลอย นับเป็นตัวอย่างเลวที่ดี (คือการอุ้มฆ่าเป็นเรื่องเลว การที่คดียืดเยื้อ จบไม่ลง หรือเอาผิดใครไม่ได้ จึงเป็นตัวอย่างเลวๆ ที่ดี สมควรนำมาศึกษาประกอบการยกร่างกฎหมาย)
เมื่อเร็วๆ นี้ มูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย สมาคมสิทธิเสรีภาพประชาชน มูลนิธิผสานวัฒนธรรม และองค์กรเครือข่าย ได้เปิดเวทีระดมความเห็นและร่วมกันจัดทำข้อเสนอแนะต่อปลัดกระทรวงยุติธรรมและอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิฯ
ประเด็นที่เป็นข้อเสนอและข้อสังเกตที่น่าสนใจก็เช่น
O การทรมานและการบังคับให้บุคคลสูญหายมักเกิดกับประชากรบางกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงหรือกลุ่มคนที่ด้อยโอกาสในสังคม เช่น กลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากอคติทางเชื้อชาติ กลุ่มที่ขัดแย้งหรือเห็นต่างกับเจ้าหน้าที่รัฐ อาทิ นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน หรือกลุ่มประชากรที่อยู่ภายใต้นโยบายพิเศษบางอย่างของรัฐ อย่างการปราบปรามยาเสพติด การปราบปรามการก่อการร้าย หรือการปราบปรามผู้มีอิทธิพล เป็นต้น
O การสืบสวนสอบสวนคดีทรมานหรือการบังคับสูญหายมักไม่ประสบความสำเร็จในการเข้าถึงความยุติธรรม เนื่องจากหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินการและรับผิดชอบ ไม่มีความเป็นอิสระ เป็นกลาง และอาจไม่สนใจที่จะทำคดีหรือสืบสวนสอบสวนโดยทันที เช่น การไม่รับแจ้งความร้องทุกข์จากผู้เสียหาย เป็นต้น
O ไม่มีมาตรการคุ้มครองพยาน ทำให้ผู้เสียหายและญาติเกิดความหวาดกลัวและล้มเลิกความตั้งใจที่จะร้องเรียนเพื่อให้เจ้าหน้าที่ยุติการกระทำหรือเพื่อเอาผิดเอาโทษกับเจ้าหน้าที่ผู้ทำการละเมิด
O แม้ว่าในร่างกฎหมายใหม่ จะระบุถึงการมีคณะกรรมการชุดที่แต่งตั้งขึ้น มีอำนาจในการกำหนดให้หน่วยงานที่มีอำนาจสืบสวนสอบสวนทำคดีทรมานและการบังคับให้บุคคลสูญหายได้ก็จริง ซึ่งเป็นความพยายามกำหนดให้หน่วยงานอื่นเข้ามาทำคดีแทนหน่วยงานที่ถูกกล่าวหา หากแต่ก็ยังมีข้อกังวลว่าคณะกรรมการดังกล่าวอาจถูกแทรกแซงโดยผู้มีอำนาจหรือผู้มีอิทธิพล
O ร่างกฎหมายฉบับนี้ควรกำหนดการชดเชยเยียวยา รวมถึงค่าชดใช้และการฟื้นฟูเยียวยาให้สอดคล้องตามที่คณะกรรมการต่ออนุสัญญาต่อต้านการทรมานฯ เสนอต่อประเทศไทย
O ในร่างกฎหมายฉบับนี้ต้องให้ความมั่นใจว่ากรณี "อุ้มหาย" ต้องได้รับการสืบสวนสอบสวนโดยทันที เป็นกลาง และมีประสิทธิภาพ โดยต้องนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษได้ แม้ไม่พบตัวหรือไม่พบชิ้นส่วนศพก็ตาม และต้องตระหนักว่าสิทธิในการรับทราบความจริงเกี่ยวกับชะตากรรมของเหยื่อเป็นสิทธิโดยสมบูรณ์ที่ไม่อาจปฏิเสธได้
O คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย ในร่างกฎหมายฯ ต้องพิจารณาถึงการมีส่วนร่วมของผู้เสียหายและญาติผู้เสียหายด้วย
อังคณา นีละไพจิตร ประธานมูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ กล่าวว่า คดีบังคับให้สูญหาย ไม่มีอายุความ เพราะอายุความจะเริ่มนับเมื่อทราบชะตากรรมหรือที่อยู่ของผู้สูญหาย ฉะนั้นเมื่อกฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้ ก็จะเป็นโอกาสของการรื้อคดีบังคับให้สูญหายหลายๆ คดีในสังคมไทยขึ้นมาตรวจสอบอีกครั้ง รวมทั้งหลายกรณีในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย
นับจากนี้คงต้องจับตาดูว่ารัฐบาลจากการรัฐประหารจะจริงใจผลักดันร่างกฎหมายป้องกันการซ้อมทรมานและอุ้มหายหรือไม่ เพราะหลายๆ เรื่องก็เกี่ยวโยงกับเจ้าหน้าที่รัฐ และมีฝ่ายความมั่นคงเป็นจำเลยเสียเอง!
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 ตัวเลขผู้สูญหายในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งแต่ปี 2545-2554 (ที่มา จากมูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ)
2 ทนายสมชาย นีละไพจิตร
หมายเหตุ : บางส่วนของบทความชิ้นนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกในคอลัมน์แกะรอย หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันจันทร์ที่ 22 ธ.ค.57