ต้องเลิกความคิด...ไทยไม่ใช่เป้าก่อการร้าย
เหตุระทึกขวัญจับตัวประกันในคาเฟ่กลางนครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ตามด้วยโศกนาฏกรรมสังหารหมู่นักเรียนกว่า 130 คนในปากีสถาน จากน้ำมือของกลุ่มเครือข่ายของตาลีบัน ทำให้กระแสตื่นตัวเรื่องก่อการร้ายในบ้านเราพุ่งสูงขึ้น
เหตุสลดที่ปากีสถาน เป็นการกระทำขององค์กรก่อการร้ายที่มีชื่อและตัวตนชัดเจน แม้จะโหดร้าย แต่ก็ยังรู้เป้าหมายว่าใครคือผู้ก่อ แต่เหตุระทึกขวัญที่ซิดนีย์ หรือเหตุรุนแรงคล้ายๆ กันก่อนหน้านี้ เช่น ระเบิดกลางงานแข่งขันวิ่งมาราธอนที่บอสตัน สหรัฐอเมริกา กลับมีความน่าสะพรึงยิ่งกว่า เพราะผู้ก่อเหตุไม่ได้สังกัดองค์กรก่อการร้ายใดๆ อย่างชัดเจน
ทว่าพวกเขาคือสมาชิกในสังคมของประเทศที่ก่อเหตุนั่นแหละ แต่มีทัศนคติต่อต้านรัฐ และกลายเป็นพวกหัวรุนแรง หรือ "เอ็กซตรีมมิสท์" ด้วยตัวเอง ซึ่งศัพท์แสงในหมู่คนทำงานด้านความมั่นคงเรียกว่า "โฮมโกรว์น" (homegrown) และ "โลนวูลฟ์" (lonewolf)
การสกัดปฏิบัติการของคนกลุ่มนี้จึงยากและซับซ้อนขึ้นหลายเท่า กลายเป็นว่าทุกพื้นที่ในโลก แทบไม่มีที่ไหนที่ปลอดภัยอีกแล้ว
สุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี อดีตผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ (อดีต ผอ.สขช.) กล่าวว่า โลกเราทุกวันนี้มี 4 เรื่องที่ต้องตระหนัก คือ 1.การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ หรือ climate change 2.โรคระบาด โรคอุบัติซ้ำ โรคอุบัติใหม่ 3.ความคิดสุดโต่ง หรือ เอ็กซตรีมมิสท์ และ 4.การพัฒนาที่ยั่งยืน
"เรื่องความคิดสุดโต่ง โลกกำลังกังวลกันอย่างมาก ผมไม่อยากให้มองว่าเป็นมุสลิมเท่านั้น เพราะทุกความคิด ทุกปีก มีสุดโต่งด้วยกันทั้งสิ้น และมีทั้งที่เป็นองค์กร กับไม่เป็นองค์กร คือ ทำได้ด้วยตัวเอง เรียกว่า โฮมโกรว์น หรือโลนวูลฟ์ อย่างกรณีที่ซิดนีย์ ผู้ก่อเหตุก็มีความคิดสุดโต่งด้วยตัวเอง ไม่ได้สังกัดองค์กรไหน"
สุวพันธุ์ บอกว่า เรื่องนี้ฝ่ายความมั่นคงต้องหยิบมาพิจารณาและให้ความสำคัญอย่างเร่งด่วน เพราะไทยมีผลประโยชน์ของต่างชาติเยอะที่อาจเป็นคู่กรณีกับคนที่มีความคิดสุดโต่งเหล่านี้ ฉะนั้นพวกสุดโต่งก็อาจปฏิบัติการในบ้านเราได้
"สิ่งที่ฝ่ายความมั่นคงต้องทำ คือ 1.งานข่าวกรองต้องมีประสิทธิภาพ มีวิธีการ มีเครื่องมือพร้อมในการทำงาน 2.ต้องทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงาน ไม่มีหน่วยหนึ่งหน่วยใดเก่งหรือรับมือได้ทั้งหมด ต้องทำงานร่วมกัน ต้องมีประชาคมข่าวกรอง ศูนย์ประสานงานข่าวกรองแห่งชาติ ซึ่งปัจจุบันก็มีอยู่แล้วที่ สขช.ดูแล"
"3.เสริมงานข่าวกรอง ซึ่งก็คือการสร้างเครือข่ายภาคประชาชน ให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมสนับสนุนดูแลความเป็นไปที่ผิดปกติในชุมชนของตนเอง แต่สิ่งเหล่านี้ทั้งหมดต้องทำเงียบๆ สื่อเองก็ต้องเสนอข่าวด้วยความระมัดระวัง เพราะบางเรื่องที่ได้ข่าวมาอาจจะไม่จริงทั้งหมด หรือไม่จริงหมดเลย ถ้าเสนอไปจะทำให้สังคมเกิดความสับสน ส่งผลกระทบในทางลบ"
อย่างไรก็ดี การประเมินสถานการณ์การก่อการร้ายในประเทศไทย สุวพันธุ์ บอกว่า ต้องย้อนดูเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยก่อนหน้านี้ เช่น วาเลนไทน์บอมบ์ (เหตุระเบิดย่านสุขุมวิท 71 เมื่อ 14 ก.พ.2555 โดยกลุ่มผู้ต้องหาที่ถือพาสปอร์ตอิหร่าน) สรุปได้ว่า 1.เขาทำในบ้านเราก็จริง แต่เป้าหมายไม่ได้ต้องการทำกับเรา และมีมูลเหตุจูงใจเป็นอย่างอื่น 2.สาเหตุที่เลือกทำในบ้านเรา เพราะบ้านเราเป็นสังคมเปิด ต้อนรับทุกคน ทุกฝ่าย ชีวิตความเป็นอยู่สบายๆ เรียบง่าย
"วันนี้ทุกๆ แห่งในโลกมีโอกาสเกิดใกล้เคียงกัน บ้านเรายังมีมาตรการที่วางไว้อยู่ แต่ก็ประมาทไม่ได้ รับประกันไม่ได้" รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นอดีต ผอ.สขช.กล่าว
ด้านแหล่งข่าวจากหน่วยงานความมั่นคง ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า หน่วยงานที่รับผิดชอบภารกิจต่อต้านการก่อการร้ายในประเทศไทย ในระดับนโยบาย คือ ศูนย์ต่อต้านการก่อการร้ายสากล หรือ ศตก. สังกัดกองบัญชาการกองทัพไทย (บก.ทท.) ทั้งนี้ ศตก.จะมีหน่วยขึ้นการบังคับบัญชาเมื่อมีสถานการณ์ก่อการร้าย คือ
กองทัพบก (ทบ.) ได้แก่ กองพันปฏิบัติการพิเศษ หรือหน่วยเฉพาะกิจ 90 เดิม (ฉก.90)
กองทัพเรือ (ทร.) ได้แก่ หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ (หน่วยซีล)
กองทัพอากาศ (ทอ.) ได้แก่ กรมปฏิบัติการพิเศษ หน่วยบัญชาการอากาศโยธิน
ตำรวจ ได้แก่ นเรศวร 261 กองบังคับการสนับสนุนทางอากาศ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน
แหล่งข่าวกล่าวต่อว่า หน่วยปฏิบัติเหล่านี้จะขึ้นบังคับบัญชากับ ศตก.เมื่อเกิดเหตุขึ้น กระบวนการคือ คณะกรรมการนโยบายและอำนวยการแก้ไขปัญหาก่อการร้ายสากล หรือ นอก.ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน จะเป็นคนชี้ขาดว่าเหตุการณ์ไหนที่เกิดขึ้นในประเทศไทยเป็นก่อการร้ายหรือไม่ และต้องเป็นการก่อการร้ายสากล ไม่ใช่ก่อการร้ายทั่วไป
ขั้นตอนการทำงาน ศตก.จะเสนอ นอก.ว่ามีเหตุการณ์ก่อการร้ายสากลเกิดขึ้น ถ้า นอก.เห็นชอบ ก็จะประกาศภาวะที่เรียกว่าเป็นการก่อการร้ายสากล มีการตั้งผู้บัญชาการเหตุการณ์ แล้วผู้บัญชาการเหตุการณ์ก็จะสั่งใช้หน่วยปฏิบัติการพิเศษ จัดชุดเจรจาต่อรอง และหน่วยสนับสนุนต่างๆ เข้าไปดูแลรับผิดชอบสถานการณ์ โดยมีอำนาจตามกฎหมายทันที
"โครงสร้างแบบนี้ยังมีจุดอ่อนอยู่เหมือนกัน เพราะหลักการการทำงานยังเป็นเชิงรับ ถ้าสถานการณ์ยังไม่ชัดเจน ยังเป็นที่สงสัยว่าเป็นการก่อการร้ายหรือไม่ หน่วยที่เกี่ยวข้องก็ยังไม่มีสภาพเป็นเจ้าพนักงาน จนกว่าจะมีการประกาศของ นอก.ก่อน"
แหล่งข่าวกล่าวด้วยว่า จากจุดอ่อนดังกล่าว ขณะนี้จึงมีความพยายามดึงองค์กรที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายอยู่แล้ว เช่น กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ทำการสืบสวนก่อนเกิดเหตุการณ์ โดยใช้อำนาจตามกฎหมายที่มี เมื่อได้ข้อมูลครบถ้วนก็รายงาน ศตก.เพื่อเสนอต่อ นอก.ต่อไป
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 หน่วยปฏิบัติการพิเศษที่ผ่านการฝึกการต่อต้านก่อการร้าย
2 กรมปฏิบัติการพิเศษ หน่วยบัญชาการอากาศโยธิน
ขอบคุณ : ภาพประกอบจากเว็บไซต์ https://sites.google.com/site/wwwdjnonmixcom/tha-ha-nth-har/bthkhwam-th-thhar-1/%E2%80%9Chlaksutrptibatikarphises%E2%80%9Dspecialoperation
หมายเหตุ : บทความชิ้นนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจหน้า 1 และ 2 ฉบับวันอาทิตย์ที่ 21 ธ.ค.57