ถึงเวลารวมพลัง! ผลักดัน ร่างพรบ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ….”
"..การฟ้องร้องแพทย์เป็นเรื่องยากสำหรับชาวบ้าน โดยผู้เสียหายฯ แสดงความเห็นด้วยที่จะให้กฎหมายฉบับดังกล่าวเกิดขึ้น โดยคาดหวังว่ากฎหมายฉบับนี้จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนทุกระดับ.."
เมื่อเร็วๆ นี้ คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) จัดเวทีเสวนาเรื่อง “ร่างพรบ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ….” ณ ห้องประชุมสำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย อาคารซอฟแวร์ พาร์ค โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมจากหลายภาคส่วนอาทิ คณะกรรมการปฏิรูปสาธารณสุข สภาปฏิรูปแห่งชาติ สมาชิกสภา กรรมการกฤษฎีกา อดีตเลขาธิการแพทยสภาหลายยุค ผู้เสียหายฯ ที่เป็นผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม ในฐานะข้าราชการและบัตรทอง อัยการ นักวิชาการ และผู้ประกันตนทั้งแรงงานในระบบและนอกระบบ
นางสุนี ไชยรส ประธานคณะอนุกรรมการฯ ชี้แจงว่า ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ….ฉบับนี้ ผ่านการศึกษา รับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วนรวมทั้งสภาวิชาชีพทางสาธารณสุขมาสองปีกว่า ก่อนจะมาเป็นร่างกฎหมายที่ได้รับความเห็นชอบจาก คปก. ซึ่งได้นำเสนอต่อนายกรัฐมนตรี และประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติไปเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม โดยอยู่บนพื้นฐานการศึกษาจากร่างกฎหมายที่ผ่านการเห็นชอบจากคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นหลักเบื้องต้น รวมถึงร่างกฎหมายที่ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งเข้าชื่อเสนอสองฉบับ
นางสุนี กล่าวว่า จากการศึกษาพบว่ากฎหมายเข้าชื่อทั้งสองฉบับมีเนื้อหาสาระและหลักการที่มีความขัดแย้งกันอยู่ คปก.จึงร่างฉบับนี้ขึ้นมาเพื่อให้เป็นทางเลือก เพราะเป็นความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องมีกฎหมายเช่นนี้ และหารือกับรัฐมนตรีสาธารณสุข เพื่อผลักดันให้เป็นร่างของรัฐบาล คปก.จึงจัดให้มีการรับฟังความเห็นจากผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายมาอย่างต่อเนื่อง
ศ.ดร.คณิต ณ นคร กล่าวเปิดการประชุมว่า การขับเคลื่อนร่างกฎหมายฉบับนี้ต้องทำให้เกิดหลักเกณฑ์ที่ดีในทุกมิติ และต้องแก้ไขที่กระบวนการยุติธรรม รวมทั้ง พัฒนาพื้นฐานระบบการศึกษาทั้งบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม และวิชาชีพต่างๆ เนื่องจากระบบการเรียนสอนเป็นพื้นฐานความคิดของผู้คนในสังคม
ศ.แสวง บุญเฉลิมวิภาส กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นเนื่องจากกระบวนการยุติธรรมมีปัญหา ก่อนหน้านี้กฎหมายฉบับนี้เคยมีการเสนอเข้าสภาแล้วแต่มีการต่อต้านจากกลุ่มแพทย์จึงทำให้ต้องถอนกฎหมายฉบับนั้นออกไป อย่างไรก็ตาม การที่คปก.หยิบยกกฎหมายฉบับนี้ขึ้นมาพิจารณาและพยายามผลักดันกฎหมายอีกครั้งนับว่าเป็นเรื่องที่ดียิ่ง
ทั้งนี้ ศ.แสวงได้อธิบายหลักสำคัญของร่างกฎหมายฉบับนี้ว่า เป็นกฎหมายที่เอื้อประโยชน์ให้กับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งประชาชนที่ได้รับความเสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข และผู้ให้บริการสาธารณสุข เนื่องจากมีการเสนอให้มีการจัดตั้งกองทุนเพื่อเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข โดยไม่ต้องมุ่งพิสูจน์หาความผิดของผู้กระทำ อีกทั้ง บทบัญญัติในมาตรา 28 ได้เปิดช่องให้ศาลพิจารณาสามารถใช้ดุลพินิจลดหย่อนโทษหรือไม่ลงโทษต่อผู้ให้บริการสาธารณสุขที่ถูกฟ้องเป็นคดีตามกรอบที่กฎหมายบัญญัติอีกด้วย
นายแพทย์วีระพันธ์ สุพรรณไชยมาตย์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า หากมีกองทุนฯ ดังกล่าวเกิดขึ้นจะช่วยบรรเทาความเสียหายต่อผู้เสียหายได้มาก จึงขอสนับสนุนให้มีกฎหมายฉบับนี้โดยเร็ว เพราะเป็นภาระต่อโรงพยาบาลและแพทย์อย่างมากเมื่อเกิดความเสียหายขึ้นทั้งที่ไม่มีเจตนา ทางกระทรวงสาธารณสุขได้นำร่างของ คปก.มาเป็นหลักในการยกร่างฉบับของกระทรวงฯอยู่ตอนนี้ โดยปรับปรุงบางประเด็นและกำลังรับฟังจากบุคลากรทางสาธารณสุขอยู่ และจะเชิญทางคปก.มาร่วมหารือบางประเด็นที่เห็นต่างกันอยู่บ้าง เพื่อให้เกิดกฎหมายที่เป็นประโยชน์นี้โดยเร็ว
ในขณะที่ผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขอาทิ นางนวลนภา ปันนินา ผู้เสียหายในระบบหลักประกันสุขภาพฯ ลูกชายประสบอุบัติเหตุ ในการรักษาทำให้ต้อง นอนติดเตียง เข้าพบรัฐมนตรีหลายท่าน ต้องฟ้องร้องเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายมากว่า 12 ปี จนในที่สุดจึงชนะคดีชั้นศาลฎีกาเมื่อเดือน พย.ที่ผ่านมา
นางนวลนภา กล่าวว่า “อยากให้มีการตั้งพรบ.ฉบับนี้ จะได้ไม่ต้องมีการฟ้องร้องยาวนานนับสิบปี”
นางวิลาวรรณ ทีระฆัง เปิดเผยกรณีของตนที่สามีเป็นตำรวจ เข้ารักษาที่โรงพยาบาลตำรวจ แต่เสียชีวิตจากความบกพร่องของการรักษา ต้องกัดฟันสู้คดีถึงสามศาล กว่าจะได้รับคำตัดสินให้ชนะ แต่สำนักงานตำรวจแห่งชาติก็ยังไม่จ่ายเงินตามที่ศาลสั่ง ยังต้องให้เป็นภาระของผู้เสียหายติดตามต่อไปอีก ไม่รู้ว่าจะได้เมื่อไหร่
นางภิญญามาศ โยธี ผู้เสียหายในระบบประกันสังคม กล่าวว่า “ในขณะตั้งท้องหมอสั่งยาที่ห้ามใช้กับผู้ตั้งครรภ์ พยายามบอกหมอแต่หมอยืนยันให้กินยา ผลที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบถึงลูก ลูกพิการทางสมอง ต้องออกจากงาน ประสบปัญหาครอบครัว พยายามร้องเรียนหน่วยงานรัฐเป็นปี แต่หมอบอกเพียงว่าเป็นเหตุสุดวิสัย ที่ผ่านมาเรายังไม่มีหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องนี้โดยตรง ร่างกฎหมายนี้ จะช่วยเหลือคนที่ไม่มีเครื่องมือต่อสู้ แม้ว่าวันนี้คดีตนเองจะสิ้นสุด แต่ก็ทุกข์ทรมานอย่างมาก ไม่ต้องการฟ้องหมอ อยากให้มีกฎหมายนี้เพื่อช่วยคนอีกมากมาย”
อีกกรณีของนายไพรัช ดำรงกิจถาวร ผู้เสียหายที่ใช้ประกันของเอกชน แล้วย้ายไประบบหลักประกันสุขภาพฯ “คุณแม่หกล้มกระดูกข้อสะโพกหักต้องผ่าเปลี่ยนข้อ ใช้การบล็อกหลัง เมื่อออกจาก้ห้องผ่าตัด ไม่ฟื้น ทำให้เกิดสภาวะสมองขาดเลือด ต้องเป็นอัมพาต ต่อมาย้ายมาโรงพยาบาลรัฐ และเสียชีวิต ได้ร้องต่อกระทรวงสาธารณสุข เมื่อปี 2551 ร้องต่อคณะกรรมาธิการ สภาผู้แทนราษฎร และแพทยสภา เมื่อปี 2553 ผลการวินิจฉัยใช้เวลาถึง 4 ปี บอกว่ารักษาตามมาตรฐานแล้ว ไม่ได้รับการช่วยเหลือแต่อย่างใด จึงฟ้องศาล ศาลชั้นต้น และอุทธรณ์ยกฟ้อง กำลังฟ้องแพทย์คดีอาญาว่า ให้การเป็นเท็จ”
ผู้เสียหายฯ ต่างกล่าวยืนยันว่าการฟ้องร้องแพทย์เป็นเรื่องยากสำหรับชาวบ้าน โดยผู้เสียหายฯ แสดงความเห็นด้วยที่จะให้กฎหมายฉบับดังกล่าวเกิดขึ้น โดยคาดหวังว่ากฎหมายฉบับนี้จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนทุกระดับ
ด้านศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ กรรมการกฤษฎีกาพิจารณาร่างพรบ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข ฉบับเดิมที่เข้าสภาฯ และปัจจุบันเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ กล่าวว่า ความคิดของร่างกฎหมายฉบับนี้ในเรื่องการจัดตั้งกองทุนเป็นแนวคิดที่ดีมากที่กฎหมายมุ่งจะเยียวยาผู้เสียหายโดยไม่ต้องพิสูจน์ความผิด โดยกล่าวเน้นย้ำว่า กฎหมายฉบับนี้ไม่ได้มุ่งคุ้มครองผู้เสียหายฯ อย่างเดียว แต่ไม่สามารถเขียนยกเว้นว่า ไม่ให้มีการฟ้องคดีอาญา แต่นวัตกรรมใหม่ที่บัญญัติให้ดุลพินิจศาลในการลดโทษหรือไม่ลงโทษแพทย์ที่บัญญัติไว้ในมาตรา 28 ของร่าง คปก.จะเป็นหลักประกันให้กับแพทย์มีความมั่นใจในการประกอบวิชาชีพมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ศ.ดร.สมคิดกล่าวยืนยันว่าจะช่วยผลักดัน พรบ.ฉบับนี้
นายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน เปิดเผยว่า กฎหมายฉบับนี้เป็นการขยายความบทบัญญัติมาตรา 41 แห่งพรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 เนื่องจากปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากการฟ้องร้องแพทย์ทำให้เกิดความบาดหมางระหว่างแพทย์และคนไข้ อีกทั้งยังใช้ระยะเวลาที่ยาวนานมาก บทบัญญัติมาตรา 41 ใช้บังคับมาแล้วกว่าสิบปี ช่วยจ่ายเงินเยียวยาให้ผู้เสียหายได้มากมาย และรวดเร็ว วงเงินก็สูงขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็มีข้อจำกัดเฉพาะในบัตรทอง และถ้าเป็นร้ายแรง ก็ต้องไปฟ้องศาลเพราะวงเงินจำกัด แต่ที่มีแพทย์บางส่วนเคยค้านว่า จะมีคนมาขอรับเงินมากเกินที่เสียหายจริง พิสูจน์ผ่านมานานแล้วว่า ไม่เป็นเช่นนั้น วงเงินที่กันไว้ก็ใช้ไปน้อยมาก ร่างกฎหมายคุ้มครองผู้เสียหายฯ ฉบับของคปก.นี้มาบัญญัติหลายประเด็นให้ชัดเจนและเป็นประโยชน์มากขึ้น จึงเห็นควรให้มีการสนับสนุนอย่างยิ่ง
พลเอกชูศิลป์ คุณาไทย รองประธานกรรมาธิการสาธารณสุข สปช. มีข้อสังเกตว่า เนื่องจากยังมีโรงพยาบาลที่มีบุคลากร เครื่องมือที่ยังไม่เพียงพอ ซึ่งมีค วามเสี่ยงที่อาจเกิดความเสียหายได้ หากมีร่างพ.ร.บ. นี้ อาจทำให้แพทย์ต้องระมัดระวังตัวมากขึ้นในการรักษาคนไข้ และหารือว่า อาจขยายมาตรา 41 ในกม.สปสช.จะเร็วกว่าหรือไม่ ในประเด็นนี้ นางปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา ชี้แจงว่า กระทรวงสาธารณสุข เคยดำเนินการศึกษาว่าจะขยายมาตรา 41 แล้ว ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะทำงานด้วย แต่พบว่าต้องแก้ไขกฎหมายหลายฉบับ การออกพ.ร.บ.ใหม่จะเป็นการดีกว่า และสามารถใช้กลไกที่มีอยู่เดิมของ สปสช.ได้โดยไม่ต้องตั้งสำนักงานใหม่ ซึ่งกรณีนี้ ศ.แสวง ชี้แจงเพิ่มเติมว่า ประเด็นการมีเหตุบรรเทาโทษหรือลดโทษ จะไม่มีในกฎหมาย สปสช.ด้วย
นางสาวจันทิมา ธนาสว่างกุล อัยการสำนักงานอัยการสูงสุดและที่ปรึกษาแพทยสภา มีความเห็นว่า กฎหมายฉบับนี้เป็นประโยชน์อย่างมาก เนื่องจากเป็นระบบเยียวยาผู้เสียหายที่ช่วยไม่ให้ปัญหาระหว่างแพทย์กับผู้เสียหายฯ เข้าสู่กระบวนการศาลมากเกินไป และจะรวดเร็ว เป็นธรรมขึ้น หลักการทางกฎหมายแล้วจะเขียนกฎหมายในเชิงลิดรอนสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนในการฟ้องร้องคดีอาญาไม่ได้ จึงสร้างกลไกในลักษณะการบรรเทาโทษตามที่ปรากฏในร่างกฎหมายมาตรา 28 เพื่อให้ศาลใช้ดุลพินิจเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับแพทย์ นอกจากนี้ ในมาตรา 12 ยังส่งเสริมการมีส่วนร่วมของหลายภาคส่วนในการจัดตั้งคณะอนุกรรมการอีกด้วย
ทั้งนี้ ทางคปก.จะประสานกับกระทรวงสาธารณสุข สนช. และ สปช.เพื่อเดินหน้าผลักดันร่างพรบ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ….” ให้มีผลต่อไป