ถึงเวลาฟื้นป่าน่าน ‘ผู้บริหารซีพี’ เปิดมิติใหม่ธุรกิจรักษ์สิ่งแวดล้อม
“...สินค้าทุกชนิดล้วนมีซีเอสอาร์อยู่ในตัว แต่เราจะต้องไม่ทำเพื่อหวังผลกำไรทางธุรกิจอย่างเดียว ต้องนำประโยชน์กลับคืนสู่สังคมด้วย เพื่อให้ทุกคนสามารถอยู่อาศัยร่วมกันได้หมด...”
เมื่อพูดถึงการปฏิรูประบบเกษตรอาหาร ต้องมองให้ครอบคลุมเรื่องความปลอดภัยและความมั่นคงยั่งยืน
หนึ่งในผู้ประกอบการธุรกิจ ‘พรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล’ รองประธานหอการค้าไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะที่ปรึกษากลุ่มธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) รับรู้ถึงปัญหาการดำเนินธุรกิจที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมาตลอดหลายสิบปี
เขายอมรับว่า ปัจจุบันมีการตัดไม้ทำลายป่า และใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช
นี่จึงเป็นแรงผลักดันให้นักธุรกิจ พลิกมุมคิดมาดำเนินธุรกิจแบบใหม่ เลือกศึกษาจากกระแสสังคมและสิ่งแวดล้อมควบคู่กันไป ซึ่งคนส่วนใหญ่มักไม่สนใจเท่ากับการตลาด
‘พรศิลป์' เล่าวว่า ช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา บนโต๊ะเจรจาในกลุ่มประเทศสมาชิกทั่วโลกต่างหยิบยกประเด็นสังคมและสิ่งแวดล้อมขึ้นมาถกเถียงกัน เพื่อให้การดำเนินธุรกิจที่เน้นการตลาดสามารถเดินไปพร้อมกับการพัฒนาด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมได้
"การประกอบธุรกิจที่เน้นเฉพาะการตลาดจะไม่ยั่งยืนในระยะยาว ฉะนั้นย่อมเกิดผลกระทบ ซีพีจึงต้องกลับมาดูปัญหาตั้งแต่ต้น และได้ขับเคลื่อนการพัฒนารูปแบบใหม่ที่เน้นการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติไปบ้างแล้ว แต่อาจจะมีไม่มากนัก เพราะยังต้องแข่งขันในตลาดที่เกี่ยวเนื่องกับต้นทุนอยู่"
เขาเห็นว่า ใครก็ตามที่เข้าไปจับเรื่องสังคมและสิ่งแวดล้อมอาจนำไปสู่การเพิ่มต้นทุน "แต่ผมไม่มองแบบนั้น เท่ากับมองว่า การลงทุนเพิ่มช่วยยกระดับธุรกิจให้มีความยั่งยืน”
พรศิลป์ ระบุต่อว่า ซีพีกำลังมองการทำสินค้าเกษตรที่ผ่านมาสร้างผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ดังนั้นต้องลงทุนเพิ่มเพื่อดึงทรัพยากรธรรมชาติกลับคืนมา ขณะที่ในการแข่งขันทางธุรกิจไม่ทำกัน ทำให้มีต้นทุนการผลิตถูกกว่าซีพี
“ผมไม่สนใจมองการตลาด เพราะวันนี้ซีพีต้องเริ่มก่อน โดยลงทุนเพิ่ม แม้จะมีค่าใช้จ่ายมากขึ้นก็ต้องยอม ด้วยอนาคตข้างหน้าธุรกิจทั้งกลุ่มจะต้องเดินต่อไปได้ในขั้นที่สอง ดังนั้นการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติจึงเกิดขึ้นมาหลายปีแล้ว และทั้งหมดก็ต้องมีการดำเนินงานที่ได้มาตรฐาน ไม่ใช่นึกเอาเอง”
ทั้งนี้ ปัจจุบันซีพีกำลังดำเนินงานตามยุทธศาสตร์การจัดการข้าวโพดให้ยั่งยืนและแข่งขันได้ โดยใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะยกพืชเศรษฐกิจชนิดนี้นำร่องนโยบายใหม่ ตั้งแต่ลงไปดูการฟื้นฟูพื้นที่ป่าที่ถูกทำลายไปจากการปลูกข้าวโพดจะต้องใช้มาตรฐานใด ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยความช่วยเหลือจากนักวิชาการ เพื่อให้ทราบข้อมูลที่ถูกต้อง
“เจ้าหน้าที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) ต้องลงพื้นที่ไปให้ความรู้แก่เกษตรกร หากจำเป็นต้องลงทุนเพิ่มก็ต้องทำ” นายพรศิลป์ ยืนยัน และว่า อนาคตจะได้มีผลิตภัณฑ์กลับมาหาเราเพื่อใช้สำหรับผลิตอาหารสัตว์ต่อไป
ผู้บริหารซีพี ประเมินว่า การดำเนินงานให้ประสบความสำเร็จนั้น คาดว่า ต้องใช้เวลาระยะหนึ่ง
เมื่อถามว่า การปลูกข้าวโพดในพื้นที่ผิดกฎหมาย จ.น่าน และอื่น ๆ ต้องเคลื่อนย้ายเกษตรกรออกจากพื้นที่หรือไม่ เขาตอบว่า การทำให้ถูกกฎหมายต้องพูดคุยกับภาครัฐอีกครั้ง แต่วันนี้จะช่วยเกษตรกรต้องค่อยเป็นค่อยไป ทำครั้งเดียวไม่ได้ บางทีอาจต้องใช้ระยะเวลานานถึง 5 ปี จึงจะเห็นภาพภูเขาน่านมีต้นไม้กลับมาเหมือนเดิม
ทั้งนี้ การจะแก้ไขปัญหาป่าน่านเสื่อมโทรมได้ต้องให้เกษตรกรลงมาปลูกข้าวโพดในพื้นราบแทน อาจไม่เยอะเป็นแสนไร่ แต่เรามองว่าปริมาณผลผลิตจะยังเพียงพอต่อการดำเนินธุรกิจ และสามารถแข่งขันกับประเทศอื่นได้ อย่างไรก็ตาม ซีพีจะเข้าไปช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูกหรือหันไปปลูกในประเทศเพื่อนบ้าน
“ทางออกมีมากมาย ไม่ต้องกังวล เพราะสุดท้าย หากจำเป็นต้องให้เกษตรลงมาปลูกข้าวโพดในพื้นราบก็ต้องลง เราต้องคิดแบบนี้ไม่อย่างนั้นธุรกิจจะเดินต่อไม่ได้”
สำหรับการเลือกไปลงทุนประเทศเพื่อนบ้านนั้น ผู้บริหารซีพี เห็นว่า เหมาะที่สุด ที่พม่าอาจมีปัญหาเกี่ยวกับชนกลุ่มน้อยและการติดต่อค่อนข้างลำบาก ส่วนลาวมีพื้นที่น้อย ขณะที่ ‘กัมพูชา’ กลับเป็นประเทศที่มีพื้นที่เหมาะสมสำหรับการปลูกข้าวโพดมากที่สุด ด้วยมีพื้นที่กว้างใหญ่ เพียงแค่ซีพีอาจต้องเข้าไปพัฒนาเพิ่ม ก่อนจะพุ่งเป้าขยายไปพม่าที่ให้ความสนใจกับการพัฒนาธุรกิจนี้เช่นกัน
พรศิลป์ ลงลึกแจงรายละเอียดยุทธศาสตร์การจัดการข้าวโพดด้วยว่า ปัจจุบันมีการปลูกข้าวโพดในพื้นที่ผิดกฎหมายประมาณ 3 ล้านไร่ จากทั้งหมด 8 ล้านไร่ หากจะสั่งห้ามต้องใช้เวลาเป็นปีและหาอาชีพใหม่ให้เกษตรกรด้วย เพื่อนำมาสู่การฟื้นฟูผืนป่า ไม่อย่างนั้นควรให้สิทธิได้อยู่อย่างถูกกฎหมาย ด้วยการออก ‘โฉนดชุมชน’ ซึ่งน่าจะเป็นทางออกดีที่สุด ทุกคนจะได้มีส่วนร่วมในการจัดการที่ดินไม่ให้ใครบุกรุกต่อไป
“คนทั่วไปจะมองภาพซีพีเป็นผู้ทำลายป่า เป็นเหมือนอะไรที่ฝังใจมาตั้งแต่ต้น อาจเป็นเพราะความเป็นบริษัทใหญ่ง่ายต่อการถูกกล่าวหา ทั้งที่ธุรกิจประเภทนี้ไม่ได้มีเพียงเราเท่านั้น ฉะนั้นผู้ที่กำลังโจมตีอาจมองว่า หากเลือกบริษัทใหญ่จะตรงเป้าหมายมากกว่า เพราะพูดไปใครก็รู้จัก
หากมาโจมตีนาย ก. นาย ข. คนฟังแล้วจะรู้สึกเฉย ๆ ทำให้ผู้ทำลายป่ามากกว่าไม่ถูกกล่าวหา เพราะเป็นคนตัวเล็ก สิ่งเหล่านี้ถือเป็นเรื่องปกติ
"ซีพียอมรับในความเสียหายที่เกิดขึ้นกับทรัพยากร แต่สังคมไม่ค่อยรับรู้ ซึ่งเราไม่เคยยอมแพ้ และทำในสิ่งที่คิดว่าถูกต้อง เพื่อวันหนึ่งพวกเขาจะเห็นเอง เราคงไม่ไปเถียง”
พร้อมกันนี้ พรศิลป์ มั่นใจว่า เมื่อดำเนินงานตามยุทธศาสตร์การพัฒนาที่คำนึงถึงทรัพยากรธรรมชาติ ภาพจะดีขึ้นอย่างแน่นอน แม้เวลานี้คนจำนวนมากจะไม่เห็นแบบนั้น แต่เราพูดในภาพรวมของธุรกิจที่ต้องดูแลสิ่งเหล่านี้ทั้งหมด ไม่เฉพาะข้าวโพด หากรวมถึงทุกการผลิตจะต้องถูกนำมาจัดการ ทำให้ซีพีริเริ่มนำร่องจากข้าวโพด เพื่อให้เห็นว่ามีประโยชน์ และนำไปสู่การสะท้อนถึงคุณค่าในสินค้าชนิดอื่น
“สินค้าทุกชนิดล้วนมีซีเอสอาร์อยู่ในตัว แต่เราจะต้องไม่ทำเพื่อหวังผลกำไรทางธุรกิจอย่างเดียว ต้องนำประโยชน์กลับคืนสู่สังคมด้วย เพื่อให้ทุกคนสามารถอยู่อาศัยร่วมกันได้หมด” เขากล่าว และว่า วันหนึ่งข้างหน้าทุกคนอาจจะเข้าใจและเริ่มช่วยกันทำมากขึ้น ภาพที่ดีจะปรากฏขึ้นชัดเจนเรื่อย ๆ
ผู้บริหารซีพี กล่าวด้วยว่า หากประสบความสำเร็จจะทำให้เห็นภาพของแปลนธุรกิจที่ดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อม เพราะธุรกิจในอนาคตจะถูกจับตามองจากผู้บริโภคมากขึ้น ฉะนั้นถ้ากลไกการผลิตไม่ตอบสนองจะกลายเป็นสินค้าที่ตลาดไม่ยอมรับ
ทั้งหมดจึงเป็นมิติใหม่ในการทำธุรกิจ ดึงให้ไทยกระโดดขึ้นไปสู่ประเทศพัฒนาในอีกระดับหนึ่ง เพราะว่าเราสมบูรณ์ขึ้น ไม่คิดผลิตสินค้าต้นทุนถูกอย่างเดียว แต่ผลิตสินค้าแล้วสามารถดูแลทรัพยากรธรรมชาติได้ เพื่อหวังให้สิ่งเหล่านี้กลับมาตอบสนองธุรกิจอีกครั้งหนึ่ง
“เวลานี้หากไม่เร่งฟื้นฟูผืนป่า จ.น่าน ก็จะกลายเป็นพื้นที่แห้งแล้ง เสียหาย และหมดอายุ แต่หากช่วยกันดูแล ‘น่าน’ จะถูกรีไซเคิลหวนกลับมาอีกครั้ง ทรัพยากรธรรมชาติก็จะถูกนำมาใช้ไม่มีวันหมด เพราะเราใช้แล้วก็ได้เสริมสร้างตลอดเวลา วนเวียนกันไปเช่นนี้” เขาสรุป .
อ่านประกอบ:ผู้บริหารซีพี “เที่ยวนี้ผมผลิตอาหารแบบที่คนรับไม่ได้ ไม่ได้อีกแล้ว”
ภาพประกอบ:พรศิลป์-www.catdumb.com