รัฐบาลยิ่งลักษณ์กับความ(ไม่)ใส่ใจปัญหาไฟใต้ และปมโยกย้ายข้าราชการ
แม้การแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้จะได้รับการบรรจุไว้ในหมวดที่ 1 ว่าด้วยนโยบายเร่งด่วน ตามเอกสารการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แต่ดูเหมือนรัฐบาลจะมี “แอคชั่น” กับเรื่องนี้น้อยที่สุดหากเทียบกับนโยบายเร่งด่วนด้านอื่นๆ
ยิ่งถ้าเทียบกับเรื่องเร่งด่วนที่แม้ไม่ได้อยู่ในนโยบายแต่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของคุณทักษิณ ชินวัตร ด้วยแล้ว ต้องบอกว่าความเอาจริงเอาจังของรัฐบาลดูจะห่างไกลกันแบบไม่เห็นฝุ่น เพราะข่าวที่รัฐบาลทำอะไรให้คุณทักษิณนั้นมีทุกวัน แต่ข่าวเกี่ยวกับภาคใต้ที่ออกจากปากรัฐบาลยังแทบไม่มีเลย มีแต่ข่าวการก่อเหตุร้ายจากกลุ่มก่อความไม่สงบ
หนำซ้ำในวันแถลงนโยบายวันที่ 2 คุณยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งพ่วงตำแหน่งหัวหน้าพรรคเพื่อไทยด้วย ยังปฏิเสธกลางสภาแบบสิ้นเยื่อใยว่าไม่เคยมีแนวคิดการจัดตั้งองค์กรปกครองท้องถิ่นแบบพิเศษในรูปแบบที่เรียกว่า “นครปัตตานี” แต่อย่างใดทั้งสิ้น ทั้งๆ ที่หาเสียงเอาไว้อย่างครึกโครม โดยคุณยงยุทธบอกว่าเป็นความคิดแค่คนๆ เดียว ไม่ใช่มติพรรคเพื่อไทย
ถึงวันนี้จึงเริ่มมีเสียงถามกันหนาหูว่ารัฐบาลจะใช้นโยบายอะไรแก้ไขปัญหาภาคใต้ และนายกรัฐมนตรีจะเดินทางลงพื้นที่เป็นครั้งแรกเมื่อไหร่ เพื่อยืนยันว่าให้ความสำคัญกับปัญหาภาคใต้ในระดับ “วาระแห่งชาติ” จริงๆ
ปฏิเสธไม่ได้ว่าในรอบหลายปีที่ผ่านมาที่มีเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ นายกรัฐมนตรีของประเทศไทยทุกคนเดินทางลงพื้นที่ด้วยตัวเอง โดยกำหนดให้เป็นภารกิจแรกๆ เลยทีเดียว
อย่าง คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ รับตำแหน่งนายกฯเมื่อวันที่ 17 ธ.ค.2551 ก็เดินทางลงพื้นที่ชายแดนใต้เมื่อวันที่ 17 ม.ค.2552 หรือหลังจากเริ่มปฏิบัติงานเพียง 1 เดือน
คุณสมชาย วงศ์สวัสดิ์ แม้จะเป็นนายกรัฐมนตรีเพียง 75 วัน โดยรับตำแหน่งเมื่อวันที่ 18 ก.ย.2551 แต่เขาก็ลงใต้เมื่อวันที่ 28 ต.ค. หรือหลังรับตำแหน่งเพียงเดือนเศษ ทั้งๆ ที่มีสถานการณ์การชุมนุมขับไล่ของกลุ่มคนเสื้อเหลืองรุมเร้าจนเข้าทำเนียบรัฐบาลไม่ได้
ขณะที่ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรีหลังการรัฐประหาร เมื่อรับตำแหน่งวันที่ 1 ต.ค.2549 ก็เดินทางลงพื้นที่ชายแดนใต้ครั้งแรกเมื่อวันที่ 2 พ.ย.2549 หรือราวๆ 1 เดือนหลังรับตำแหน่งเช่นกัน ทั้งยังสร้างประวัติศาสตร์ขอโทษแทนรัฐบาลชุดก่อนที่ดำเนินนโยบายผิดพลาดในการแก้ไขปัญหาภาคใต้ด้วย
ในกลุ่มนายกรัฐมนตรี 5 คนที่ดำรงตำแหน่งในช่วงเกิดวิกฤตการณ์ไฟใต้ก่อนรัฐบาลชุดปัจจุบันนั้น นอกจากคุณทักษิณแล้ว มีเพียง คุณสมัคร สุนทรเวช ที่เดินทางลงพื้นที่หลังรับตำแหน่งหลายเดือน กล่าวคือท่านเข้ารับหน้าที่นายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 ม.ค.2551 แต่ลงใต้ครั้งแรกเมื่อวันที่ 10 พ.ค.ปีเดียวกัน หรือกว่า 3 เดือนหลังนั่งเก้าอี้นายกฯ ซึ่งก็ทำให้ถูกหลายฝ่ายวิพากษ์วิจารณ์กันไม่น้อยในช่วงนั้น
มาดูรัฐบาลชุดปัจจุบันบ้าง แม้มองภาพทั่วๆ ไปจะรู้สึกว่ารัฐบาลชุดนี้ยังใหม่ ตั้งกันมาได้เพียงไม่กี่วัน แต่หากนับจากวันที่คุณยิ่งลักษณ์รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 8 ส.ค.2554 ถึงวันนี้ต้องบอกว่าทำหน้าที่นายกฯมาเกิน 1 เดือนแล้ว แต่ก็ยังไม่มีวี่แววการเดินทางลงพื้นที่ชายแดนใต้ มิหนำซ้ำนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศไทยยังแทบไม่เคยพูดถึงปัญหาภาคใต้ผ่านสื่อเลยด้วยซ้ำ
แต่ก็อย่างที่บอกและหยิบยกข้อมูลย้อนหลังมาให้ดู ในอดีตก็ยังมีนายกฯบางท่านลงพื้นที่หลังรับตำแหน่งนานกว่า 3 เดือน ฉะนั้นประเด็นนี้จึงอาจไม่ได้เป็นสาระสำคัญอะไร เพียงแต่อาจสะท้อนให้เห็นถึงความ “ใส่ใจ” ต่อปัญหาได้ไม่มากก็น้อย ทว่าสิ่งที่สำคัญกว่าคือ “ทิศทาง” และ “นโยบาย” ซึ่งจนถึงวันนี้ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ยังไม่มีความชัดเจนเอาเลยจริงๆ
ความชัดเจนที่สุดของรัฐบาลชุดนี้ คือการจัดคนเข้าดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีเพื่อรับผิดชอบปัญหาภาคใต้ ซึ่งได้แก่ พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ รองนายกฯฝ่ายความมั่นคง ชื่อของ พล.ต.อ.โกวิท นั้น ทั้งชาวบ้านชายแดนใต้และเอ็นจีโอด้านสิทธิมนุษยชนคงจำกันได้ดี จากผลงานที่ท่านฝากเอาไว้เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองผบ.ตร. และจับกุมผู้ต้องหาคดีปล้นปืน
สำหรับความเคลื่อนไหวด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวกับนโยบายยังไม่มีให้เห็น นอกเสียจากข่าวการโยกย้ายข้าราชการ ได้แก่การเด้ง คุณถวิล เปลี่ยนศรี จากเก้าอี้เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ไปนั่งตบยุงในตำแหน่งที่ปรึกษานายกฯฝ่ายข้าราชการประจำ ทั้งๆ ที่คุณถวิลเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการผลักดันยุทธศาสตร์แก้ไขปัญหาภาคใต้ในเรื่องของการยอมรับความแตกต่างหลากหลาย และการสร้างความเข้าใจ "พหุวัฒนธรรม" อย่างแท้จริง
อีกรายที่มีกระแสข่าวว่าอาจ “ถูกเปลี่ยน” คือ พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาคที่ 4 ทั้งๆ ที่เป็นแม่ทัพคนแรกที่ประกาศล้างธุรกิจผิดกฎหมายซึ่งเฟื่องฟูสุดๆ ในดินแดนปลายสุดด้ามขวาน โดยเฉพาะขบวนการค้าน้ำมันเถื่อน สินค้าเถื่อน และยาเสพติด เจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจตั้งด่านจับกุมได้ทุกวัน
ยิ่งน้ำมันเถื่อนด้วยแล้ว เฉพาะปีนี้จับกุมล็อตใหญ่มากถึง 14 ครั้ง หลายครั้งยอดยึดของกลางสูงกว่า 10,000 ลิตร และยังตามไปทลายโรงงานหรือแหล่งกักตุนได้อีกด้วย
แรงกดดันให้ปลดแม่ทัพภาคที่ 4 มี 2 ด้าน คือด้านหนึ่งมาจากกลุ่มผู้เสียผลประโยชน์จากนโยบายปราบปรามธุรกิจผิดกฎหมาย โดยเฉพาะน้ำมันเถื่อนและสินค้าเถื่อนซึ่งมีเส้นสายเชื่อมโยงถึงนักการเมืองระดับชาติบางกลุ่ม บางคน จึงมีการใช้กำลังภายในให้เกิดการเปลี่ยนแปลง
กับอีกด้านคือความพยายามเปลี่ยนตัวเลขาธิการ ศอ.บต. (ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้) ซึ่งตามกฎหมายใหม่ที่ออกโดยรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ เลขาธิการ ศอ.บต.มีอำนาจเยอะมาก สามารถสั่งย้ายข้าราชการเกือบทุกหน่วยออกนอกพื้นที่ได้ และยังคุมเม็ดเงินจำนวนมหาศาลเนื่องจากเป็นหน่วยงานผ่านงบประมาณดับไฟใต้ลงพื้นที่
การเปลี่ยนตัวเลขาธิการ ศอ.บต.ไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้ เพราะอดีตนายทหารหน่วยข่าวจากศูนย์รักษาความปลอดภัย (ศรภ.) ก็เคยวิเคราะห์เอาไว้ (อ่านได้ใน ฟังทหารประเมินสถานการณ์หลังเลือกตั้งใต้ กับทางสองแพร่งของนโยบาย “นครปัตตานี”) และคุณยงยุทธ วิชัยดิษฐ ก็พูดเอาไว้ตอนแถลงนโยบายว่า จะปรับโครงสร้าง ศอ.บต.ใหม่ ให้ภาคประชาชนมีบทบาทมากขึ้น (อ่านได้ใน รัฐบาลชิ่งกลางสภา โดดหนีนครปัตตานี)
ข่าวว่าทั้งคนและทีมที่อาจถูกส่งมาแทน คุณภาณุ อุทัยรัตน์ เลขาธิการ ศอ.บต.คนปัจจุบัน ไม่ค่อยประทับใจผลงานของแม่ทัพฯอุดมชัยสักเท่าไหร่...
แต่ความจริงอีกด้านก็ต้องไม่ลืมว่า พล.ท.อุดมชัย นั่งเก้าอี้นี้ด้วยความเห็นชอบจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) การจะล้วงลูกปรับย้ายนายทหารระดับแม่ทัพ ก็ต้องดูด้วยว่าผู้บังคับบัญชาสูงสุดอย่าง ผบ.ทบ.จะยอมหรือไม่
นี่เองจึงการปล่อยชื่อ พล.ท.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ เพื่อนร่วมรุ่น ตท.12 ของ พล.อ.ประยุทธ์ ขึ้นมาเป็นแคนดิเดทแม่ทัพภาค 4 อีกรอบ ให้ฝุ่นตลบกันเข้าไว้...
ดูเหมือนเดือนเศษของรัฐบาลจะยุ่งอยู่กับการโยกย้ายข้าราชการโดยที่ยังไม่เบนความสนใจไปที่ความทุกข์ยากของประชาชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เท่าที่ควร!
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในวันรับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี
ขอบคุณ : ภาพจากอินเทอร์เน็ต
อ่านประกอบ :
1 รัฐบาลชิ่งกลางสภา โดดหนี"นครปัตตานี" เทพาปะทะเดือด อส.ดับ
2 ฟังทหารประเมินสถานการณ์หลังเลือกตั้งใต้ กับทางสองแพร่งของนโยบาย "นครปัตตานี"