นายกสมาคมนักข่าววิทยุฯ หวังทีวีมีความรับผิดชอบต่อสังคมมากกว่าสื่ออื่น
วงถก "เสนอข่าวอย่างไร ไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน" เห็นพ้องปฏิรูปการนำเสนอข่าวที่ไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน แนะควรทำทั้งกระบวนการ หัวหน้าข่าว-ผู้สื่อข่าว-ตำรวจ ขณะที่ "เทพชัย หย่อง" ชี้ภูมิทัศน์สื่อเปลี่ยนไป โซเซียลมีเดียมีส่วนตรวจสอบสื่อมากขึ้น
วันที่ 19 ธันวาคม 2557 สมาคมนักข่าววิทยุแห่งประเทศไทย และสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ร่วมกับคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเสวนาถอดบทเรียน “เสนอข่าวอย่างไร ไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน” และระดมความเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิ และสื่อมวลชน ณ ห้องประชุมชั้น 3 อาคารสมาคมนักข่าวหนังหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กรุงเทพฯ
นายวัชรินทร์ กลิ่นมะลิ รองนายกสมาคมข่าวอาชญากรรมแห่งประเทศไทย กล่าวถึงการทำหน้าที่ที่ผ่านมายอมรับว่า สื่อมวลชนมีการละเมิดในเรื่องของภาพข่าว แต่เนื่องจากกระบวนการของการทำข่าวมีหลายขั้นตอน การรับคำสั่งของผู้สื่อข่าวมาจากหัวหน้าข่าว และบรรณาธิการข่าวในอีกขั้นหนึ่ง ทำให้ต้องทำตาม หากไม่ปฏิบัติก็ไม่มีข่าว จนในที่สุดก็โดนไล่ออก ทั้งนี้เชื่อว่าผู้สื่อข่าวทุกคนรู้จรรยาบรรณ ต้องทำอย่างไร แต่ถูกบังคับโดยกระบวนการการทำข่าว
รองนายกสมาคมข่าวอาชญากรรมฯ กล่าวถึงกรณีตำรวจบางกลุ่มที่อยากเป็นข่าว มีการเชิญลงพื้นที่ แถลงข่าวเพื่อบอกให้สังคมรับรู้ว่าได้ปฏิบัติหน้าที่และจับผู้ต้องหาได้ ในส่วนนี้หากไม่นำเสนอ ก็จะไม่มีข่าว ดังนั้น จึงมองว่า กระบวนการทำข่าวบังคับให้นักข่าวต้องปฏิบัติ หากไม่ทำตามก็ไม่มีข่าว ไม่มีงาน ซึ่งจะโทษเฉพาะนักข่าวไม่ได้ จำเป็นต้องโทษทั้งกระบวนการที่สั่งลงมาด้วย
ขณะที่รศ.นพ.สุริยเดว ปรีปาติ ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล และกรรมการสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมาทำงานด้านที่ต้องเกี่ยวข้องกับข่าวทั้งของเด็กมาตลอด จุดที่เบื่อเมื่อพูดเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนคือ สำนักข่าวหลายแห่งอ้างเสมอว่า ผู้บริโภคต้องการเสพข่าวในลักษณะที่เร้าอารมณ์ จึงต้องเสนอเช่นนี้ หรือผู้บริโภคต้องการที่จะเสพละครที่มีลักษณะรุนแรงเช่นนี้ ซึ่งความคิดเช่นนี้แสดงให้เห็นว่าจรรยาบรรณและจิตสำนึกของคนที่ทำงานเกี่ยวข้อง กำลังป่วยหรือตายไปแล้ว และไม่ใช่แค่ประเทศไทยแต่เป็นเหมือนกันทั้งโลก
"มีการศึกษาที่บ่งชี้ว่า แค่คนเสพข่าวหรือละครที่มีความรุนแรงเพียงแค่ 4 ฉากต่อชั่วโมง เป็นระยะเวลาหนึ่ง(ระยะเวลาขึ้นอยู่กับแต่ละคน) จะพบว่า คนจะเปลี่ยนพฤติกรรมไปเป็น 4 บุคลิกภาพด้วยกัน ได้แก่ 1.พฤติกรรมตอบโต้แรงมาแรงกลับ ลอกเลียนแบบพฤติกรรมตัวละครในฉาก 2.มีความรู้สึกหวาดผวาต่อสังคมมีความไว้วางใจ 3.เกิดความรู้สึกเคยชิน และ4.ความรู้สึกสงสารและเอื้ออาทรต่อสังคมและมนุษยชาติทั้งหมด"
รศ.นพ.สุริยเดว กล่าวด้วยว่า การแสดงออกของพฤติกรรมหลังการเสพข่าว จะแสดงถึงความรุนแรง มีทั้งการใช้วาจา ลีลา ท่าทาง มีทั้งการลงมือจริง อะไรทั้งหลายพวกนี้ล้วนแต่มีผลทั้งสิ้น ฉะนั้น ทุกฝ่ายต้องร่วมกันเป็นกระบอกเสียงให้เปลี่ยนวิธีคิด และต้องใช้จิตสำนึก เรียกร้องจิตสำนึกของคนทำงานทุกด้าน
นายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย กล่าวถึงกระบวน การการละเมิดสิทธิมนุษยชนล้วนละเมิดทั้งระบบของสังคมไทยและต่างประเทศ ทุกฝ่ายร่วมกันกระทำ ตั้งแต่เจ้าของสำนักข่าว หัวหน้าข่าว ผู้สื่อข่าว นักการเมือง ตำรวจ หรือแม้กระทั่งแพทย์ที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น ดังนั้นหากจะแก้ไขควรนำบุคคลที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายมานั่งพูดคุย และรับรู้ถึงปัญหาที่เกิดขึ้น
“ที่ผ่านมาไม่มีบรรณาธิการ หัวหน้าบรรณาธิการมานั่งคุย นั่งฟังปัญหาเลย ฉะนั้นต้องเชิญมาพูดคุยกันอย่างจริงจัง”นายประสงค์ กล่าว
ผอ.สถาบันอิศราฯ ยกตัวอย่างการละเมิดที่เกี่ยวข้องให้ฟังว่า ในบางกรณีที่เป็นคดีอาญา ซึ่งมีเด็กที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ มานั่งเป็นพยานในงานแถลงข่าวของตำรวจ ถึงแม้จะมีการปิดบังใบหน้า แต่รูปพรรณสัณฐานก็สามรถบ่งบอกตัวตนของเด็กได้ อีกทั้งตัวอย่างในการให้ข่าวของแพทย์ที่เกี่ยวข้อง ผู้ป่วยอาการบาดเจ็บสาหัสนอนพักอยู่ในห้องไอซียู(ICU) ก็อนุญาตให้นักข่าวเข้าไปทำข่าว ฯลฯ ดังนั้นจึงเป็นสิ่งที่บ่งบอกว่าสังคมไทยไม่ได้เรียนรู้เรื่องดังกล่าวว่าจะมีผลกระทบต่อจำเลยหรือผู้ต้องหา ดังนั้น หากมองทั้งกระบวนการ ไม่ว่าอาชีพไหนก็มีส่วนที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนได้ เพราะสังคมไทยไม่ได้มีการพูดถึงบทเรียนที่ผ่านมา และไม่มีการนำไปปรับใช้ มีแค่การจัดประชุมสัมมนา หลังจากจบไปก็ไม่มีการดำเนินการต่อ
สุดท้ายนายเทพชัย หย่อง นายกสมาคมนักข่าววิทยุโทรทัศน์ไทย กล่าวสรุปเนื้อหาวงเสวนาว่า ทุกคนทุกฝ่ายล้วนเห็นตรงกันในเรื่องความรับผิดชอบของสื่อ ที่ไม่ใช่เพียงแต่อาชีพใดอาชีพหนึ่งเท่านั้น แต่เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องร่วมกันทำให้ผลลัพธ์ให้ออกมาในแนวทางที่ดีขึ้น เคารพสิทธิมนุษยชน ความเป็นบุคคล และกระบวนการระหว่างทางให้ดีมากขึ้นจากเดิม
นายเทพชัย กล่าวถึงกรณีที่ขณะนี้ประเทศไทยมีช่องทีวีดิจิตอลเกิดขึ้นใหม่อีกจำนวนกว่า 24 ช่อง ซึ่งตรงนี้จะเป็นจุดหักเหในเชิงบวก เนื่องจากการทำหน้าที่ในบทบาทของสื่อจะเด่นในเรื่องสิทธิมนุษยชน
“ทีวีต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมมากกว่าสื่ออื่นๆ เพราะว่า ความเร็วในการนำเสนอภาพที่ปรากฏ การสร้างอารมณ์ ทีวีจะมีมากกว่าสื่อทั่วไป อีกทั้งยุคนี้ก็เป็นยุคที่โซเซี่ยลมีเดียมีบทบาทที่สูง ไม่มีการถูกจำกัดพื้นที่ อีกทั้งทุกคนสามารถตรวจสอบสื่อได้ ซึ่งจะทำให้สื่อระมัดระวังในการนำเสนอข่าวมากยิ่งขึ้น" นายเทพชัย กล่าว และหวังว่า ทีวีอาจจะเป็นตัวนำการเปลี่ยนแปลง ในยุคของการ ปฏิรูปสื่อ