เข้าใจเรื่อง “ภิกษุณีสงฆ์” ในสังคมไทย
"ภิกษุณีมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าพระภิกษุสงฆ์ ศาสนาจะขาดคนใดคนหนึ่งไปไม่ได้ เสมือนรถที่มีสี่ล้อ ถ้ามีสามล้อก็วิ่งไม่ได้"
"ภิกษุณีหมดสาบสูญขาดเชื้อสายมานานแล้ว" มติที่มหาเถรสมาคม (มส.) ได้หยิบยกขึ้นมากล่าวอ้างถึงเหตุผลมิให้พระภิกษุสามเณรทุกนิกาย "บวช" ผู้หญิงเป็นภิกษุณีในประเทศไทย
และเป็นที่มาของการจัดเวทีพูดคุย เรื่อง "ความไม่เข้าใจเรื่องภิกษุณีสงฆ์ในสังคมไทย" ณ หอจดหมายเหตุพุทธทาสอินทปํญโญ จัดโดยเครือข่ายคนไทยและส่งเสริมพุทธบริษัทสี่ ร่วมกับเครือข่ายผู้หญิงปฎิรูปประเทศและผู้หญิงเพื่อความก้าวหน้าและสันติภาพ เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา
สำนักข่าวอิศรา ได้รวบความคิดเห็นในประเด็นที่วิทยากรและผู้ร่วมเสวนา ส่วนใหญ่เห็นตรงกันต่อกรณี มส. ไม่อนุญาติให้
จัดการบวชภิกษุณีในไทย รวมไปถึงการหยิบยกหลักสิทธิสตรีและเนื้อหาจากพระไตรปิฎกมาเป็นข้อโต้แย้ง
ที่มาภาพ: https://www.facebook.com/sulak.sivaraksa
ส. ศิวรักษ์ : อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์
นักคิดนักเขียน ชื่อดัง
"พระพุทธเจ้าทรงวางพระพุทธศาสนาไว้กับ พระภิกษุสงฆ์ พระภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา สี่เหล่านี้ได้ประพฤดี ประพฤติชอบ รักษาศาสนาไว้ได้อย่างดี และพระภิกษุณีก็เป็นสัญลักษณ์หนึ่งที่แตกต่างจากศาสนาอื่น เพราะฉะนั้นภิกษุณีจึงมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าพระภิกษุสงฆ์ ศาสนาจะขาดคนใดคนหนึ่งไปไม่ได้
เปรียบก็เสมือนรถที่มีสี่ล้อ ถ้ามีสามล้อก็วิ่งไม่ได้ พระพุทธเจ้าเคยตรัสไว้อย่างชัดเจนว่า พระภิกษุณีมีสิทธิ์ที่จะบรรลุเป็นพระอรหันต์ได้ไม่แพ้ผู้ชาย อีกนัยหนึ่งผู้หญิงและผู้ชายเท่าเทียมกัน นี่เป็นพื้นฐานที่สำคัญ
มีบางคนเอาเหตุมาอ้างว่า เมื่อนางมหาปชาบดีโคตมีขอบรรพชาอุปสมบทนั้น ได้โดนปฎิเสธ เพราะในสังคมเวลานั้นมีเหตุการณ์ต่างๆเกิดขึ้น เกรงว่าจะเป็นอันตราย เมื่อพระอานนท์ได้ถามว่า พระองค์ผู้หญิงสามารถสำเร็จมรรคผลได้หรือไม่ คำตอบที่ได้ คือ ผู้หญิงสามารถสำเร็จมรรคผลได้ไม่แพ้ผู้ชาย
ฉะนั้น อยากทราบว่า มหาเถรสมาคม ได้ศึกษาเรื่องนี้อย่างแท้จริงหรือไม่ เพราะเท่าทีเห็น เท่าที่ได้ศึกษามา พระภิกษุณีในบางประเทศมีมากกว่า พระภิกษุสงฆ์ด้วยซ้ำ และพระภิกษุณีเหล่านั้น ประพฤติดี ประพฤติชอบมาโดยตลอด
อย่างมหาเถรสมาคมเองก็ไม่ได้ประพฤติดี สักเท่าไหร่ แต่ผมไม่อยากพูด แต่อยากให้ท่านเปิดโอกาสให้สตรีได้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของศาสนาต่อไปก็พอ"
นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ
กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
"เถรสมาคมกระทำไม่ถูกต้อง เพราะการออกกฎมารังแกผู้หญิงที่รักในทางศาสนา ซึ่งเถรสมาคมควรคำนึงถึงความความงาม ความถูกต้อง และผมในฐานะกรรมการสิทธิมนุษย์ชนคนหนึ่ง ถ้าพูดคือทุกคนจะต้องมีสิทธิเสรีภาพเท่าเทียมกัน ฉะนั้นเถรสมาคมควรหันกลับมาทบทวนเรื่องนี้ให้มาก
สิ่งที่ทางทิพยสถานธรรม ได้ทำนั้น เป็นที่ถูกต้อง และดีงาม ไม่ได้ผิดในหลักทางศาสนา แต่เถรสมาคมมาปิดกั้นโอกาสเหล่านั้นไปไม่ได้ เพราะทางทิพยสถานไม่ได้กระทำผิดและไม่ใช่สิ่งที่เกิดมาเป็นครั้งแรก แต่เกิดมานานแล้ว ยังผ่านการการต่อสู้มามากมาย เถรสมาคมไม่ควรใช้อำนาจทางกฎหมายหรืออำนาจรัฐมาปิดกั้นเรื่องเหล่านี้"
สุเพ็ญศรี พึ่งโคกสูง
ผู้แทนจากขบวนผู้หญิงปฎิรูปประเทศไทย
" สิ่งที่เถรสมาคมกล่าวมานั้น เหตุหลักๆ คือขัดหลักการความเสมอภาค และขัดต่อเจตนารมณ์ของพระพุทธเจ้า เพราะพระองค์ทรงฝากพุทธศาสนาไว้กับ พระภิกษุสงฆ์ พระภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา เปรียบเสมือนเก้าอี้สี่ขา พยายามที่จะพยุงคนละบทบาทหน้าที่ หรือถ้าไม่ให้ภิกษุณีบวชก็เหมือนกับเก้าที่เหลือสามขาแล้ว จะต้องรับน้ำหนักมากไปหรือเรียกว่า เทน้ำหนักใส่ความศรัทธา เพราะนั้นคือความโง่ไม่ใช่ศรัทธา
ในถานะที่เป็นขบวนการผู้หญิงปฎิรูปปะเทศไทยเป็นหนึ่งในคณะทำงาน ทำหน้าที่ที่จะเสนอกรอบแนวทาง ตอนนี้ก็มีการเสนอยกร่างรัฐธรรมนูญและยกร่างพระราชบัญญัติ ข้อสำคัญที่เกิดขึ้นทั้งหลายทั้งปวงนั้นเกิดจากความไม่เสมอภาคของผู้หญิง ผู้ชายและเพศที่หลากหลาย ขณะนี้ สนช.รับหลักการวาระหนึ่งเรื่อง พ.ร.บ.เท่าเทียม แต่มติของมหาเถรสมาคมนั้น เขาเรียกว่า ฝ่าฝืนหลักการหรือนโยบายตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวที่พูดถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เรื่องความเสมอภาคและที่สำคัญคำสั่งเหล่านี้ขัดรัฐธรรมนูญ ขัดหลักสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะปัจจุบันนี้รัฐบาลไทยเห็นความสำคัญแต่เรื่องของรัฐธรรมนูญ แต่กลับลืมเรื่องของผู้หญิง"
"ระเบียบรัตน์ พงษ์พานิช"
อดีตสมาชิกวุฒิสภา
"ดิฉันรู้สึกช้ำใจมากที่เกิดเรื่องแบบนนี้ขึ้นมา คือผู้หญิงเราถูกลิดรอน ไม่ให้บวชภิกษุณีในประเทศไทย ดิฉันเคยถูกด่าว่า นรกไม่มีที่ยืนให้กับระเบียบรัตน์ ถ้าถามว่าจะให้ดิฉันบวชชีจะบวชไหม ดิฉันบอกเลยว่า ไม่บวชค่ะ
ดิฉันขอบอกว่า ระเบียบรัตน์ ไม่ใช่ผู้หญิงชำรุด ที่จะต้องบวชชี แต่ดิฉันต่อสู้เพื่อผู้หญิงด้วยกัน เพื่อผู้หญิงด้วยกัน เพราะสิทธิผู้กำลังถูกลิดรอนอย่างมาก
ดิฉันศึกษาเรื่องนี้มาอย่างดี ก่อนการบวชทุกครั้งของพระภิกษุณีนั้นต้องผ่านการตรวจสอบจากพระผู้หญิงก่อน ก่อนที่จะส่งให้พระผู้ชายบวชได้ เพราะฉะนั้นสิ่งนี้ไม่ได้มีอะไรผิด ถึงแม้ว่าภิกษุณีจะขาดสาย แต่ทำไมเราไม่บูรณะต่อขึ้นมา ดิฉันเองไม่เคยลดละความตั้งใจ และตั้งใจว่าจะต่อสู้ไว้ให้ผู้หญิงสามารถบวชเป็นภิกษุณีให้ได้
ส่วนในคำว่าคณะสงฆ์ แต่ไม่ได้มีคำว่าภิกษุณีอยู่เลย พ.ร.บ.ฯ ไม่ได้กล่าวถึงพระภิกษุณีอยู่เลย ฉะนั้นเราต้องเติมในส่วนนั้นเข้าไปให้ได้ อันที่จริงเราไม่ต้องเพิ่มกฎหมายก็ได้ แต่เราต้องทำให้ชัดเจนว่า ผู้หญิงสามารถบวชเป็นพระภิกษุณีได้"
ภิกษุณีธัมมทีปา
ผู้ก่อตั้งทิพยสถานธรรม ต.เกาะยอ อ.เมือง จ.สงขลา
"การที่ทางทิพยสถานธรรม ได้จัดการบรรพชาสามเณรีนั้น เรากระทำอย่างถูกต้องไม่ได้ขัดต่อหลักศาสนาแต่อย่างใด ทางมหาเถรสมาคมอาจจะมีข้อมูลน้อยเกินไป จริงๆ แล้ว ทิพยสถานธรรมเป็นศูนย์บำบัดและพักฟื้นโรคมะเร็ง วันนี้ก็ยัง งงๆว่าทำไม แต่พอไปดูในกฎหมายก็ปรากฎว่า เราไม่อยู่ในกฎหมาย ซึ่งที่จริงแล้วเราก็ทำจัดกิจกรรมมาหลายครั้ง คือ บวชสามเณรี เพื่อถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ มา 5 ครั้ง ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 6
วันนี้เรากลับถูกตัดสินว่า เป็นโมฆะ จึงอยากจะให้ภิกษุณีทั้งหมดรวมกันตัวกันลุกขึ้นมาสู้กัน ไม่ใช่ประท้วง แต่สู้เพื่อศาสนา
ผู้หญิง ผู้ที่มาบวชนั้นไม่ใช่เป็นผู้ที่ "อกหัก รักลอย คอยงาน สังขารไม่ดี หนีหนี้ เปียแชร์ไม่ได้" แต่เป็นที่มีความรักในศาสนา ทางเราก็เครียดไม่รู้หาทางออกอย่างไร จึงถามหลวงแม่ธัมมนันทา ท่านก็บอกว่าสู้ ถามพระ พระท่านก็บอกว่า สู้
แท้ที่จริงแล้วเราสู้มาตั้งนานแล้ว สู้มาตั้งแต่ยังเป็นแม่ชี จนมาถึงขนาดนี้ เพื่อให้มหาเถรสมาคมได้เห็นถึงความตั้งใจของเราทั้งหลายที่อยากสืบทอดพระพุทธศาสนา และทำให้เห็นผู้หญิงเรามีคุณค่า เพราะเราเป็นผู้ประพฤติพรหมจรรย์"