เก็บตก! สนช.ผ่านวาระเเรกร่างกม.ภาษีมรดก 'สมหมาย' ยันชัดตั้งกองทุนเฉพาะไม่ได้
ภายหลังที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติผ่านหลักการร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ภาษีมรดก พ.ศ. ... วาระแรก ด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย 160 เสียง ไม่เห็นด้วย 16 เสียง และงดออกเสียง 10 เสียง จากผู้เข้าประชุม 186 คน พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา 25 คน กำหนดแปรญัตติภายใน 15 วัน ให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน
ตลอดครึ่งวันเช้าของวันที่ 18 ธันวาคม 2557 มีสมาชิก สนช. 18 คน ลุกขึ้นอภิปราย โดยส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการผลักดันร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ ก่อนที่นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (รมว.คลัง) ลุกขึ้นชี้แจง
ทั้งนี้ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รวบรวมแต่ละความเห็น บางช่วงบางตอนมานำเสนอ
นายสมชาย แสวงการ สมาชิก สนช. กล่าวถึงพ.ร.บ.ภาษีมรดกเป็นกฎหมายที่แสดงถึงสัญญาณชัดเจน ในการลดความเหลื่อมล้ำ แต่คำถาม คือ เพียงพอหรือไม่ เพราะผู้ที่มีรายได้ระดับหนึ่งไม่สามารถมีหน่วยงานฝ่ายกฎหมายหรือไม่มีโครงข่ายธุรกิจต่างประเทศที่หลบเลี่ยงได้ ขณะที่อภิมหาเศรษฐีที่ประกอบธุรกิจทั้งในและต่างประเทศต่างมีเครือข่าย ข้อมูล และเจ้าหน้าที่คอยดำเนินการให้สามารถยักย้ายถ่ายโอนไปไว้ต่างประเทศ
“คณะกรรมาธิการวิสามัญจึงควรพิจารณาให้รอบด้าน เพื่อป้องกันการหลบเลี่ยงภาษีหรือการลดศักยภาพการออมในประเทศ อีกทั้ง สนช.จะต้องรอบคอบ รัดกุม โดยอาจเพิ่มระยะเวลาพิจารณาเป็น 60 วัน 90 วัน หรือ 120 วัน อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าอนาคตรัฐบาลจะผลักดันกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องในการสร้างความเป็นธรรมอีก”
ด้านนายอิสระ ว่องกุศลกิจ สมาชิก สนช. กล่าวว่า บุคคลที่มีรายได้มากควรแยกให้เห็นชัดเจน เมื่อได้รับมรดกมาเคยเสียภาษีไปแล้วเท่าไหร่ หรือได้รับมาแล้วยังไม่เคยเสียภาษี เพื่อจะระบุได้ว่า บุคคลใดควรเสียภาษีเพิ่มขึ้น โดยที่ผ่านมาการเก็บภาษีในไทยเก็บหลายขั้นตอน ขณะที่ต่างประเทศอย่างสิงคโปร์กลับเก็บเพียงครั้งเดียว
“กิจการแห่งหนึ่งในไทยมีผลกำไร 100 บาท จ่ายภาษีไปแล้ว 20% เหลือ 80 บาท เงินปันผลจะถูกหักไปอีก 10% เหลือ 72 บาท และเมื่อมอบให้ลูกหลานจะเสียอีก 10% ฉะนั้นจะเหลือกำไรเพียง 65 บาท แต่หากเทียบกับประเทศสิงคโปร์ ซึ่งมีภาษีที่เก็บครั้งเดียวจะมีรายได้เหลือ 85 บาท”
นายอิสระ กล่าวต่อว่า อย่าคิดคนไทยเท่านั้นที่ต้องเสียภาษีมรดก เพราะยังมีชาวต่างชาติจำนวนมากที่ลงทุนในไทยและมีภาษีมรดกอยู่ อาจนำเงินไปลงทุนในประเทศอื่นได้ ดังนั้นต้องพิจารณาว่า การผลักดันภาษีมรดกจะส่งผลกระทบต่อไทยอย่างไร เป็นไปได้หรือไม่ต้องส่งเสริมให้มีการลงทุนในประเทศ หรือชักชวนให้บริษัทหรือองค์กรต่างชาติเข้ามาทำธุรกิจในไทย
“เงินที่ได้รับจากการจัดเก็บภาษีมรดกมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือคนยากไร้ ดังนั้นต้องสร้างหลักประกันให้เห็นว่า มีการนำเงินดังกล่าวไปใช้ตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย โดยทำอย่างไรให้เกิดการยกระดับการดำรงชีวิตของประชาชนที่ยากไร้ให้ดีขึ้น และสามารถพัฒนาองค์ความรู้ไปช่วยเหลือตัวเองได้
ฉะนั้นเงินจำนวนเหล่านี้ไม่ควรนำไปไว้ในงบประมาณรวมภาครัฐ แต่ควรแยกออกมาจัดตั้งเป็นองค์กร และกำหนดให้ชัดเจนว่านำไปใช้พัฒนากลุ่มใด ผู้เสียภาษีมรดกก็จะมีความเต็มใจในการมีส่วนร่วม เพราะรับรู้ว่าเงินมิได้ถูกนำไปใช้ในทางที่ไม่เหมาะสมเหมือนในอดีต”
สำหรับการเก็บภาษีมรดกอย่างถูกต้องนั้น นายอิสระ กล่าวว่า ต้องให้เวลากับผู้ประกอบการบางรายที่ยังไม่มีความสามารถจ่ายภาษีได้ เพราะการเร่งรัดจะทำให้โครงสร้างของครอบครัวแตกแยกมากขึ้น ยกตัวอย่าง ครอบครัวหนึ่งมีลูก 3 คน หัวหน้าครอบครัวคิดว่าลูกบางคนยังไม่สมควรได้รับ แต่เมื่อมีกฎหมายฉบับนี้ออกมาบังคับใช้ จึงต้องโอนมรดกทันที เพื่อประหยัดภาษี
พร้อมกับหวั่นว่า ความแตกแยกในครอบครัวอาจเกิดขึ้นได้ เพราะเงินในครอบครัว เมื่อรวมกันจะทำให้การลงทุนเพื่อทำประโยชน์กลายเป็นกอบเป็นกำ แต่หากกระจายเงินไปแล้วจะเกิดความเสียหายมากขึ้น ทำให้โครงสร้างครอบครัวแตกแยก
ขณะที่นายมณเฑียร บุญตัน สมาชิก สนช. กล่าวถึงกระแสวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับร่างพ.ร.บ.ภาษีมรดก ส่วนใหญ่ไม่มั่นใจว่า เมื่อเก็บภาษีไปแล้วจะเกิดประโยชน์ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรม มากน้อยเพียงใด
ในภาพรวมขณะนี้ ถือมีความจำเป็นต้องกระจายความมั่นคั่งไปสู่ประชาชนทุกหมู่เหล่า ด้วยการหามาตรการยกระดับความเป็นอยู่แก่คนยากไร้ และคนที่มีฐานะเสียเปรียบในสังคม ดังนั้นภาษีจึงเป็นอีกมาตรการหนึ่งที่แสดงให้เห็นความจริงใจของรัฐ
“ความจริงผมภาวนาอยากเห็นการผลักดันร่างพ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเข้าสภาฯ ก่อน เพราะมีเนื้อหาที่เป็นรูปธรรมมากกว่า แต่ถึงแม้จะเป็นร่างพ.ร.บ.ภาษีมรดก เชื่อว่าอนาคตจะก่อให้เกิดลูกโซ่แห่งการเปลี่ยนแปลงเชิงสัญลักษณ์ได้”
นายมณเฑียร กล่าวอีกว่า ร่างพ.ร.บ.ภาษีมรดกอาจมีปัญหาในทางปฏิบัติ ไม่เฉพาะที่หลายคนกังวลเกี่ยวกับความคุ้มค่าด้านความเป็นธรรมในการเก็บอัตราภาษีเท่ากันหมด ซึ่งไม่เกี่ยงหากจะเริ่มต้นจัดเก็บที่ 10% แต่เป็นไปได้ควรใช้ระบบขั้นบันได เพราะจะมีเงินนำไปพัฒนาประเทศมากขึ้น
ส่วนที่มีการยกเลิกการบังคับใช้ในหลายประเทศนั้น เพราะมีการปฏิรูประบบจัดเก็บภาษีจากแหล่งอื่นอย่างเป็นธรรมแล้ว ภาษีมรดกจึงมีความเป็นธรรมน้อยลง ไม่แน่ในอีก 20 ปี เราอาจต้องกลับมาพิจารณาใหม่อีกครั้งก็ได้ เมื่อวันนั้นระบบการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างหรือภาษีรายได้บุคคลธรรมดาอยู่ในอัตราที่เป็นธรรมแล้ว
“อาจจำเป็นต้องละจำนวนการจัดเก็บภาษีมรดกที่ 50 ล้านบาท โดยเขียนอย่างไรที่เปิดช่องให้สามารถทบทวนได้ทุกกี่ปี เพื่อให้มีความสอดคล้องกับสถานการณ์ความเป็นจริงเรื่องอัตราเงินเฟ้อในอนาคต” นายมณเฑียร กล่าว
ขณะที่นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ชี้แจงต่อที่ประชุมฯ ว่า ภาษีมรดกเป็นการจัดเก็บภาษีที่มองได้ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ หรือจากยอดจนถึงฐาน ขึ้นอยู่กับว่าใครจะเลือกพูดตรงส่วนไหน ซึ่งการพูดแต่ละเรื่องต่างสะท้อนถึงฐานะของผู้พูด แต่สำหรับตัวเองพยายามตั้งอยู่ในสายกลาง และมองความพอเพียง
สำหรับกรณีข้อเสนอให้มีการจัดเก็บภาษีมรดกแบบขั้นบันได แสดงให้เห็นว่าเราเจตนาเก็บจากผู้มีรายได้สูงมากกว่าผู้มีรายได้ปานกลาง หากเก็บในอัตราส่วนที่ต่างกันมากขึ้น จะทำให้การผลักดันให้ผู้เสียภาษีขนเงินไปอยู่นอกประเทศได้
รมว.คลัง กล่าวถึงประเด็นการยกเว้นจัดเก็บหรือค่อยเก็บ แม้จะเป็นเจตนาดี แต่จะทำให้ระบบเกิดความยุ่งยากมากขึ้นตามมาเป็นทวีคูณ ขณะที่ปัญหาเกี่ยวกับผู้รับมรดก ตนเองเห็นด้วย แต่ต้องเข้าใจว่า ไม่ได้เก็บจากจำนวนเงินบาทแรกที่อยู่เหนือ 50 ล้านบาท ทั้งนี้ อนาคตอีก 10 ปี อาจต้องแก้ไขปรับปรุงกฎหมายให้เกิดความยืดหยุ่นตามอัตราเงินเฟ้อ
อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า ไม่สามารถจะนำรายได้จากการจัดเก็บภาษีมรดกตั้งเป็นกองทุนนำไปลดความเหลื่อมล้ำได้ เพราะจะเกิดปัญหาด้านวินัยการเงินการคลัง นอกเสียจากให้ผ่านกระบวนการรายจ่ายงบประมาณหลักของประเทศแทน
นายสมหมาย ยังกล่าวถึงประเด็นบางประเทศยกเลิกการจัดเก็บภาษีมรดก โดยยกตัวอย่างการสนทนากับเอกอัครราชฑูตนอร์เวย์ ประจำประเทศไทย ระบุถึงสาเหตุการยกเลิกว่า นอร์เวย์มีระบบการจัดเก็บภาษีและกระจายรายได้ดีมาก ทำให้ไม่มีความเหลื่อมล้ำ ประชากรในประเทศน่ารัก สุขุม ไม่เห็นแก่ตัว ดังนั้นภาษีมรดกจึงไม่จำเป็น หากจะเก็บภาษีจากคนรวยก็สามารถพัฒนาระบบภาษีอื่นได้
"ไทยต้องเก็บเพราะหวังให้เป็นสัญลักษณ์ และจากนี้ไปต้องคิดถึงความเหลื่อมล้ำให้มาก แต่หากต้องการมีรายได้สูงก็ต้องเก็บจากภาษีอื่นอีก อย่างภาษีที่ดินเเละสิ่งปลูกสร้าง" รมว.คลัง กล่าว .