"จงอย่าทิ้งทะเล" บรรจง นะแส จับชีพจรทะเลไทยห้วงวิกฤติ
“ลูกหลานควรได้กินโปรตีนธรรมชาติ ซึ่งใครจะกินไก่ขาว หมูขุนก็กินไป แต่ผมใฝ่ฝันจะให้เด็ก จ.แม่ฮ่องสอนกินปูม้าอาทิตย์ละครั้งบ้าง รัฐบาลทำไม่ได้เชียวหรือ”
การลดลงของพันธุ์สัตว์น้ำในทะเลไทยอย่างรวดเร็ว เปรียบเสมือนสัญญาณอันตรายที่เตือนภัยวิกฤติกำลังก่อตัวขึ้น ‘สมาคมรักษ์ทะเลไทย’ ภายใต้การนำของ ‘บรรจง นะแส’ จึงลุกขึ้นมาเป็นปราการด่านหน้าปกป้องทรัพยากรอันมีค่าและแหล่งอาหารโปรตีนสำคัญ เพื่อหวังสักวันหนึ่งน้ำเค็มผืนใหญ่นี้จะกลับคืนสู่ความอุดมสมบูรณ์
“การบังคับกฎหมายที่ล้าสมัย ปล่อยให้เรือประมงใช้เครื่องมือทำลายล้าง ประเภท อวนรุน อวนลาก หรือเรือปั่นไฟปลากะตัก ซึ่งในอารยประเทศไม่เห็นด้วย เพราะเป็นบ่อเกิดของการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ” บรรจง นะแส ระบุกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ถึงสาเหตุความหายนะที่กำลังจะเกิดขึ้นกับทะเลไทย หากรัฐบาลยังมองไม่เห็นเป็นเรื่องใหญ่
เขามองว่า ผลผลิตที่ได้จากเครื่องมือทำลายล้างยังถูกแปลงเป็นวัตถุดิบให้แก่กลุ่มธุรกิจปลาป่น ซึ่งเกี่ยวโยงไปถึงธุรกิจการเลี้ยงกุ้ง ปลา เป็ด ไก่ หมู ในเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) นอกจากนี้การตั้งนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่และเล็ก ยังส่งผลให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่งทะเลหรือน้ำมันรั่วไหลด้วย
สิ่งเหล่านี้จึงเป็นวิกฤติที่พูดไปแล้วเหมือนมองไม่เห็นอนาคต
และจากที่ได้ทำงานขับเคลื่อนร่วมกับชาวประมงชายฝั่ง บรรจง พบว่า ชาวบ้านหลายคนที่เคยทิ้งอาชีพประมงไปประกอบอาชีพอื่น ยกตัวอย่าง ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้าง เมื่อมีรายได้ไม่เพียงพอเลี้ยงครอบครัว สุดท้ายเลือกกลับมาฟื้นฟูทะเลและยึดอาชีพประมงอีกครั้ง เพราะการจับสัตว์น้ำจำหน่ายสร้างรายได้เฉลี่ยวันละหลายพันบาท ฉะนั้นเขาจึงเริ่มมีความหวัง ทันทีที่เห็นชุมชนเริ่มลุกขึ้นมาปกป้องทรัพยากรของตัวเอง โดยไม่หวังพึ่งพาจากรัฐฝ่ายเดียว
“สมาคมรักษ์ทะเลไทยไม่เชื่อว่า การขับเคลื่อนของภาคประชาสังคมแบบนัดประชุม สรุปเป็นข้อเสนอนั้น จะส่งเสริมการปฏิบัติได้ดีเท่ากับการขับเคลื่อนในลักษณะจัดตั้งองค์กรภาคประชาชน” เขากล่าว พร้อมยกตัวอย่าง การตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต และธนาคารปู เป็นหนึ่งในความสำเร็จ ซึ่งเมื่อเริ่มต้นขึ้นได้แล้วก็สามารถต่อยอดพัฒนาความเข้มแข็งขึ้นอีก
บรรจง จึงมั่นใจว่า ทะเลไทยเป็นความหวังกับทุกคน ในแง่การเป็นแหล่งอาหารโปรตีนธรรมชาติ นอกเหนือจากการบริโภคเนื้อไก่ เนื้อหมู ซึ่งถูกควบคุมการผลิตจำพวก สายพันธุ์ อาหาร ยาปฏิชีวนะ หรือสารเร่งเนื้อ ซึ่งล้วนเป็นอันตรายกับร่างกายคนเรา
เมื่อถามถึงยุทธศาสตร์ดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของซีพี เอ็นจีโอรุ่นใหญ่ ตอบทันทีว่า อยากจะเห็นรูปธรรมเช่นกัน เพราะขนาดเรื่องทะเลยังทำไม่ได้ พร้อมกับเชื่อว่า ที่ซีพีพยายามปรับตัวอยู่นั้นมีสาเหตุมาจากแรงกดดันทั้งในและต่างประเทศ
“การปลูกข้าวโพดในพื้นที่ภาคเหนือของไทยส่งผลให้พื้นที่ป่าถูกทำลาย อันมีสาเหตุหนึ่งจากการทำเกษตรระบบพันธะสัญญา ดังนั้นหากซีพีมีความตั้งใจจะผลักดันยุทธศาสตร์กับข้าวโพดอันดับแรกก็คาดหวังอยากจะเห็น”
ก่อนตั้งคำถามกลับว่า การริเริ่มยุทธศาสตร์ดังกล่าวช้าเกินไปหรือไม่ ?
สำหรับภาพอนาคต เขาเชื่อว่า ดีขึ้นแน่นอน ด้วยเรามีความหวังกฎหมายประมงฉบับใหม่จะถูกบังคับใช้ เพื่อให้สิทธิชุมชนได้จัดการทรัพยากรในท้องถิ่น ชุมชนก็จะมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น อีกทั้ง ทิศทางจะต้องถูกพัฒนาในลักษณะผู้บริโภคสามารถรับรู้แหล่งที่มาของอาหารได้ว่าจับมาด้วยวิธีใด รับซื้อมาจากเเหล่งไหน
บรรจง กล่าวด้วยว่า พี่น้องชาวประมงต้องหันมาจัดการตนเองตั้งเป็นสมาคมให้ได้ เพื่อช่วยกันดูแลรักษาทรัพยากรทางทะเล เพราะบุคลากรของสำนักงานประมงอำเภอมีไม่เพียงพอ ทั้งนี้ เชื่อมั่นว่า ทะเลไทยจะฟื้นฟูได้เร็วขึ้น หากทุกคนช่วยกัน ที่สำคัญ ราคาอาหารทะเลไม่เคยตกต่ำ "จงอย่าทิ้งทะเล" เพราะเป็นความหวัง
“วันนี้ผู้คุมการผลิตอาหารจะกลายเป็นผู้คุมอำนาจ ดังนั้นเมื่อโปรตีนถูกควบคุมก็จะส่งผลกระทบต่อเยาวชน เพราะมิได้ผลิตจากธรรมชาติ แต่มีสารเจือปนเป็นอันตราย รัฐบาลจึงต้องเร่งคิดแก้ปัญหาเรื่องเหล่านี้” เขากล่าว และว่า ไทยมีทะเลและท้องนาเป็นต้นทุน ควรดูแลคนกลุ่มนี้ อย่าให้คนมีอำนาจรังแก อย่าให้ธุรกิจขนาดใหญ่นำผลผลิตทำปลาป่น รวมทั้งต้องออกกฎหมายให้ชัดเจนเด็ดขาด ทะเลก็จะฟื้นตัวดีขึ้น
“ลูกหลานควรได้กินโปรตีนธรรมชาติ ซึ่งใครจะกินไก่ขาว หมูขุนก็กินไป แต่ผมใฝ่ฝันจะให้เด็ก จ.แม่ฮ่องสอนกินปูม้าอาทิตย์ละครั้งบ้าง รัฐบาลทำไม่ได้เชียวหรือ” บรรจง ฝากความหวังทิ้งท้าย