ป.ป.ช.แจงตีตกปมถอด 310 ส.ส.ดันนิรโทษฯ เหตุไร้รธน.50เอาผิดไม่ได้
ป.ป.ช. แจงปมตีตกคำร้องถอด 310 ส.ส. ร่วมดันร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเหมาเข่ง เหตุทำผิดรัฐธรรมนูญปี’50 อย่างเดียว ต่างกับแก้รัฐธรรมนูญที่มาของ ส.ว. ที่ ป.ป.ช. ชี้มูลผิดก่อนรัฐประหาร
นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวถึงกรณี ป.ป.ช. ยุติการไต่สวนสำนวนถอดถอน ส.ส. 310 คนที่ร่วมกันลงมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม วาระ 3 เนื่องจากรัฐธรรมนูญปี 2550 สิ้นสุดลงว่า กรณีนี้เป็นเรื่องที่มีผู้ไปยื่นถอดถอนผ่านประธานวุฒิสภาเอาไว้ ซึ่งในจำนวนดังกล่าวมีคำร้องของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีต ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ และอดีตเลขาธิการ กปปส. ที่รวบรวมรายชื่อประชาชนมาเข้าชื่อถอดถอนเอาไว้ด้วย โดยเป็นการร้องว่า ส.ส. ทั้ง 310 คนที่ร่วมกันลงมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมวาระ 3 กระทำผิดรัฐธรรมนูญ ซึ่งตอนนั้นประธานวุฒิสภาได้ส่งเรื่องต่อมาให้ ป.ป.ช. และมีการตั้งอนุกรรมการไต่สวนเอาไว้ แต่ต่อมาหลังมีการรัฐประหารทำให้รัฐธรรมนูญไม่มีสภาพบังคับใช้ ป.ป.ช. เห็นว่าคำร้องดังกล่าวเป็นการร้องว่าการกระทำความผิดตามรัฐธรรมนูญปี 2550 อย่างเดียว ไม่มีความผิดตามกฎหมายอื่น จึงไม่มีอำนาจที่จะดำเนินการไต่สวนต่อได้จึงต้องจำหน่ายคดีออกและรายงานต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. และ ส.ว. ให้ทราบว่าเราไม่สามารถดำเนินการต่อได้
นายสรรเสริญ กล่าวอีกว่า กรณีนี้ต่างกับคดีของนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา และนายนิคม ไวรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา รวมถึงอดีต ส.ส. และ ส.ว. ที่ร่วมกันแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญที่มาของ ส.ว. โดยมิชอบ เนื่องจากกรณีดังกล่าวเป็นเรื่องที่ ป.ป.ช. วินิจฉัยจบไปแล้ว และส่งไปให้วุฒิสภาพิจารณาถอดถอนตามกฎหมาย ซึ่งตอนส่งวุฒิสภายังปฏิบัติหน้าที่อยู่ แต่เรื่องยังทันไม่เข้าที่ประชุมวุฒิสภาเพราะมีการรัฐประหารก่อน พอมี สนช. จึงต้องส่งเรื่องคืนมาให้ป.ป.ช. ยืนยันว่ามีอำนาจหรือไม่ ซึ่งได้ยืนยันกลับไปว่าเป็นเรื่องที่ ป.ป.ช. วินิจฉัยเสร็จแล้ว แม้จะไม่มีรัฐธรรมนูญก็ตาม แต่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 (พ.ร.บ.ป.ป.ช.) ยังมีผลบังคับใช้และมีหลักการเดียวกับรัฐธรรมนูญ จึงส่งเรื่องไปให้ สนช. พิจารณา ส่วน สนช. จะพิจารณาถอดถอนได้หรือไม่เกี่ยวกับเรา เป็นเพียงแค่ขั้นตอนการส่งเท่านั้น
“ส่วนเรื่องที่ค้างอยู่และ ป.ป.ช. ยังไม่ได้วินิจฉัย ถ้าเป็นเรื่องที่ขัดรัฐธรรมนูญอย่างเดียวจะส่งคืนไปยัง สนช. เหมือนกับกรณีร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมนี้ แต่ถ้ายื่นถอดถอนแล้ว มีข้อกล่าวหาอื่นอีก เช่น เสียบบัตรแทนกัน กระทำความผิดกฎหมายอาญา ขัดต่อข้อบังคับ ขัดต่อระเบียบ อย่างนี้ ป.ป.ช. ทำต่อได้ โดยเราจะดูคำร้องเป็นหลัก ดังนั้น คดีแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มา ส.ว. โดยมิชอบกับกรณีนี้เลยต่างกันเพียงนิดเดียว” นายสรรเสริญ กล่าว