กระบวนการยุติธรรมกับรัฐธรรมนูญใหม่
รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนหรือรัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๕๔๐ นอกจากจะได้ปฏิรูปการเมืองแล้ว ยังได้ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมควบคู่กันไปด้วย
การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมโดยรัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๕๔๐ เป็นการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมที่เกิดขึ้นครั้งแรกหลังจากการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมในรัชสมัยรัชกาลที่ ๕
การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมเกี่ยวกับศาลโดยรัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๕๔๐ มีดังต่อไปนี้
(๑) การให้ศาลหรือผู้พิพากษาเท่านั้นมีอำนาจออกหมายอาญา๑
(๒) การสร้างหลักประกันความเป็นอิสระของผู้พิพากษาตุลาการ๒
(๓) การยกเลิกระบบการบังคับบัญชาเป็นลำดับชั้น (Bureaucracy) ในองค์กรศาลยุติธรรมที่ในทางปฏิบัติที่ได้กระทำกันอย่างหลักการมาโดยตลอด๓
(๔) การปฏิรูป “ศาลพิจารณา” (Trial Court) โดยให้ศาลต้องนั่งครบองค์คณะและห้ามผู้พิพากษาที่มิได้นั่งพิจารณาทำคำพิพากษา๔
ส่วนข้อเสนอให้มีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมเกี่ยวกับศาลของผู้เขียนที่ได้เสนอไว้แต่
ไม่ประสบความสำเร็จ คือ ข้อเสนอให้ศาลสูงสุดหรือศาลฎีกามีอำนาจพิจารณาพิพากษาเฉพาะข้อกฎหมายเท่านั้น กล่าวคือ ให้ศาลฎีกาเป็น “ศาลทบทวนข้อกฎหมาย” (Review Court)๕
นอกจากนี้รัฐธรรมนูญฉบับ ๒๕๔๐ ยังได้ปฏิรูปการสอบสวน การปฏิรูปการสร้างความโปร่งใสของการทำงานของพนักงานอัยการ การปฏิรูปเรื่องทนายความ การปฏิรูปในเรื่องพยานและการปฏิรูปในเรื่องอื่น ๆ อีก๖
เมื่อได้มีการปฏิรูปการเมืองและปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมโดยได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๕๔๐ แล้ว ผู้เขียนเองก็ไม่คาดคิดว่าจะมีการยึดอำนาจกันอีก แต่แล้วก็เกิดขึ้นอีกจนได้เมื่อปี ๒๕๔๙ เพราะได้มี “การบิดเบือนหรือหักดิบกฎหมาย” โดยศาลรัฐธรรมนูญชุดที่มีนายประเสริฐ นาสกุล เป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญ ที่ผู้เขียนได้เปรียบเทียบกับคดีที่ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ตกเป็นจำเลยในข้อหากบฏ โดยกระบวนการยุติธรรมของประเทศมิได้ดำเนินการเพื่อสร้างความกระจ่างในการบิดเบือนหรือหักดิบกฎหมายแต่อย่างใด๗ จนมีการยึดอำนาจรัฐและต้องยกร่างรัฐธรรมนูญกันใหม่อีกและเกิดรัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๕๕๐
ในส่วนที่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๕๕๐ นั้น ผู้เขียนเห็นว่าคงมีความพยายามปฏิรูปการเมืองกันแต่อย่างเดียวเท่านั้น แต่ขาดการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมควบคู่กันไปด้วยโดยสิ้นเชิง เหตุนี้ผู้เขียนจึงหวั่นใจตลอดมาว่าอาจจะมีการยึดอำนาจกันอีกก็ได้ เพราะในมุมมองของผู้เขียนแล้ว
กระบวนการยุติธรรมที่ดีและมีประสิทธิภาพทั้งในการดำเนินคดีชั้นเจ้าพนักงาน และในการดำเนินคดีชั้นศาลเท่านั้นที่จะแก้ปัญหาของประเทศชาติได้อย่างเด็ดขาด ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องการเมือง เรื่องเศรษฐกิจและเรื่องสังคม
และแล้วข้อวิตกของผู้เขียนก็เป็นไปตามที่ผู้เขียนได้คาดคิดไว้ คือ ได้มีการยึดอำนาจกันอีกเมื่อวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๗
เมื่อผู้เขียนจำต้องรับทำงาน คอป. ผู้เขียนกับคณะ คอป. ทุกท่านที่ได้เสียสละทำงานด้วยกันก็ได้เสนอแนะต่อรัฐบาลและประชาชนด้วยเหตุผลทางวิชาการไว้หลายเรื่องหลายอย่าง แต่ข้อเสนอแนะของ คอป. ก็ไม่ได้รับการตอบสนองจากทางการเมืองของประเทศแต่อย่างใด
แม้ภารกิจของ คอป. จะจบลงแล้ว แต่ในฐานะประธาน คอป. ผู้เขียนก็ยังเห็นว่าผู้เขียนยังไม่หมดภารกิจ ผู้เขียนจึงได้จัดให้มีการพิมพ์หนังสือเกี่ยวกับงานของ คอป. โดยใช้ชื่อว่า “ประชาธิปไตยกับการตั้งรังเกียจทางสังคม” ขึ้นเผยแพร่แก่สังคม เพราะงานของ คอป. นั้น ผู้เขียนเห็นว่าเป็นงานประวัติศาสตร์ทีเดียว และในการพิมพ์เผยแพร่ผู้เขียนได้รับการสนับสนุนจากบุคคลต่าง ๆ ที่เห็นประโยชน์ของงาน คอป. และสนับสนุนในจัดพิมพ์หนังสือเล่มนี้ ขณะนี้หนังสือเล่มดังกล่าวนี้ได้พิมพ์ออกมาเป็นครั้งที่ ๕ แล้ว การพิมพ์ครั้งที่ ๑ เกิดขึ้นเมื่อเดือนมีนาคม ๒๕๕๖ และหนังสือเล่มดังกล่าวนี้ผู้เขียนได้จ่ายแจกบุคคลในวงการต่าง ๆ ไปแล้วมากมาย รวมทั้งได้มอบให้ห้องสมุดของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทั่วราชอาณาจักร ห้องสมุดของโรงเรียนชั้นมัธยมต่าง ๆ ทั่วราชอาณาจักร และห้องสมุดประชาชนของจังหวัดต่าง ๆ ทั่วราชอาณาจักรอีกด้วย
เมื่อมีรัฐประหารเกิดขึ้นเมื่อวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๗ และต่อมาได้มี สปช. เกิดขึ้น ก็ย่อมจะแน่นอนว่า สมาชิก สปช. ทุกท่านจะได้รับหนังสือเล่มนี้จากผู้เขียนด้วย และผู้เขียนกำลังดำเนินการจัดส่งไปให้ รวมทั้งจะจัดส่งไปให้องค์กรต่อต้านการทุจริตภาคประชาชนที่คุณดุสิต นนทนาคร ได้ก่อตั้งไว้ด้วย
ในการยึดอำนาจการปกครองครั้งวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๗ นี้ ผู้เขียนทราบว่า คสช. วางเป้าหมายสำคัญคือการที่จะปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่น
เมื่อเช่นนี้กรณีจึงทำให้ผู้เขียนอดนึกถึงนายพล Park Chung-hee แห่งประเทศเกาหลีใต้ไม่ได้ เพราะเมื่อ Park Chung-hee ได้ยึดอำนาจรัฐแล้ว สิ่งแรกที่เขาได้กระทำคือ การปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่น ซึ่งก็คือเขาได้ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมในทันที และกระบวนการยุติธรรมที่เขาเริ่มปฏิรูปนั้นคือ กระบวนการยุติธรรมชั้นเจ้าพนักงานซึ่งมีองค์กรอัยการเป็นหน่วยงานหลัก เมื่อเขาใช้องค์กรอัยการเข้าจัดการกับปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นได้แล้ว เขาก็เริ่มพัฒนาประเทศ จนบัดนี้คงเป็นที่ยอมรับกันแล้วว่าประเทศเกาหลีใต้เจริญรุดหน้าไปอย่างมาก ทั้ง ๆ ที่ในอดีตประเทศเกาหลีใต้เคยล้าหลังกว่าประเทศไทยเราเสียอีก
เมื่อคราวครบรอบ ๘๐ ปีของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เขียนได้รับเชิญให้ไปอภิปรายเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรม ที่ห้องประชุม “ห้องประชุมศรีบูรพา” ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ ๒๘ มิถุนายน ๒๕๕๗ แต่เนื่องจากเวลาที่ผู้จัดได้จัดให้นั้นน้อยมาก ๆ ผู้เขียนจึงพูดได้ไม่หมดตามที่อยากจะพูด เหตุนี้ผู้เขียนจึงได้เขียนบทความขึ้นบทความหนึ่งใช้ชื่อว่า “เหลียวหลัง แลหน้า การอภิวัฒน์กระบวนการยุติธรรม” และในบทความนี้นอกเหนือส่งอื่นใด ผู้เขียนได้กล่าวถึงเรื่องราวการพัฒนาประเทศเกาหลีใต้ของนายพล Park Chung-hee และได้ฝากความไปถึง คสช. ด้วย บทความนี้ลงพิมพ์ในหนังสือรวมบทความของผู้เขียนใช้ชื่อ “การอภิวัฒน์กระบวนการยุติธรรม” ซึ่งพิมพ์คู่กับหนังสือรวมบทความของผู้เขียนที่เคยพิมพ์มาแล้วครั้งหนึ่งที่ใช้ชื่อว่า “การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทางอาญา” หนังสือเล่มนี้จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์วิญญูชนเมื่อเดือนตุลาคม ๒๕๕๗ และผู้เขียนได้เซ็นชื่อในหนังสือเล่มนี้และมอบให้ พลเอก ประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และประธาน สนช. คุณพรเพชร วิชิตชลชัย ไปด้วยแล้ว เพราะผู้เขียนไม่อยากเห็นการ “เสียของ” เกิดขึ้นอีก
ตามที่ผู้เขียนได้กล่าวนำมาข้างต้นถึงการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมโดยรัฐธรรมนูญฉบับ ๒๕๔๐ และขณะนี้เรากำลังร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรกันใหม่อยู่ ในบทความนี้ผู้เขียนจึงใคร่ขอกล่าวถึงเบื้องลึกของการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมโดยรัฐธรรมนูญฉบับ ๒๕๔๐ ที่ผู้เขียนในฐานะ สสร. ๒๕๔๐ ได้ผลักดันให้เกิดขึ้นเพื่อให้สังคมได้ทราบว่าบรรยากาศในการผลักดันก็ดี ผลที่เกิดขึ้นแล้วก็ดี และมีอะไรที่ควรผลักดันกันต่อไปหรือไม่อย่างไร
๑. การออกหมายจับหมายค้นโดยศาลหรือผู้พิพากษา
รัฐเสรีนิยมต้องวางจุดมุ่งหมายที่จะให้หลักประกันสิทธิและเสรีภาพของบุคคลในรัฐจุดมุ่งหมายดังกล่าวจะสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อการใช้อำนาจรัฐอยู่ในกรอบที่เหมาะสมและสมควร ต้องถือกฎหมายเป็นใหญ่และต้องประกันสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของบุคคลด้วย๘
เหตุนี้ ในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับ ๒๕๔๐ จึงมีข้อเสนอให้มีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญบัญญัติให้ศาลหรือผู้พิพากษาเท่านั้นมีอำนาจออกหมายจับและหมายค้น
ข้อเสนอนี้กระทบต่อวงการตำรวจ จึงแน่นอนว่าวงการตำรวจต้องพยายามขัดขวางอย่างหนัก ผู้เขียนเองและคณะที่ได้รับมอบหมายจากสภาร่างรัฐธรรมนูญในขณะนั้นจึงถูกต่อว่าต่อขานมากมาย ผู้แทนตำรวจกล่าวว่าทำไมต้องบัญญัติเรื่องนี้ไว้ในรัฐธรรมนูญด้วย ค่อยไปแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญากันก็ได้ ผู้เขียนจำได้ว่าผู้เขียนได้ชี้แจงไปว่า เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่หากแต่เป็นข้อเสนอของ “คณะกรรมการปรับปรุงประมวลกฎหมายวิธีพิจารณา” ของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่ได้เคยเสนอต่อรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ซึ่งเป็นรัฐบาลในขณะนั้นไปนานแล้ว แต่ก็ถูกแช่แข็งเพราะมีการต่อต้านจากวงการตำรวจนั่นเอง และหากจะให้ไปแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาในเรื่องดังกล่าวนี้กันแล้ว ผู้เขียนตายแล้วสิบชาติก็จะไม่มีวันเกิดขึ้นได้ และผู้เขียนจำได้อีกว่าอาจารย์ธงทอง จันทรางศุ ซึ่งก็เป็น สสร. ๒๕๔๐ ด้วยผู้หนึ่ง ได้กล่าวกับผู้แทนตำรวจว่า การออกหมายจับโดยศาลหรือผู้พิพากษาไม่ใช่เรื่องใหม่ เมื่อครั้งเราปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมในรัชสมัยรัชกาลที่ ๕ นั้น ตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาความมีโทษให้ใช้ไปพลางก่อน ร.ศ. ๑๑๕ การออกหมายจับก็กระทำโดยศาลหรือผู้พิพากษา๙ ในที่สุดฝ่ายตำรวจก็ยอมถอย แต่ก็ได้ขอให้มีบทเฉพาะกาลไว้ว่าให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเกี่ยวกับเรื่องการออกหมายจับให้แล้วเสร็จภายใน ๕ ปี เหตุนี้รัฐธรรมนูญฉบับ ๒๕๔๐ จึงต้องมีบทเฉพาะกาลในเรื่องนี้ตามต้องการของฝ่ายตำรวจ
ครั้นเมื่อรัฐธรรมนูญฉบับ ๒๕๔๐ ประกาศใช้บังคับเมื่อต้นเดือนตุลาคม ๒๕๔๐ การออกหมายค้นก็ต้องกระทำโดยศาลหรือผู้พิพากษาในทันที เพราะไม่มีบทเฉพาะกาลเกี่ยวกับการออกหมายค้นไว้ ในส่วนที่เกี่ยวกับการออกหมายจับก็ต้องรอกันต่อไป
อย่างไรก็ตาม เรื่องหมายจับก็ไม่ได้รับการดำเนินการใด ๆ จากรัฐบาล จนกระทั่งครบกำหนด ๕ ปีตามบทเฉพาะกาล กรณีจึงได้เกิดปัญหาข้อกฎหมายขึ้นว่า แล้วใครจะมีอำนาจออกหมายจับ เกี่ยวกับปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวนี้คณะกรรมการกฤษฎีกาโดยที่ประชุมใหญ่เห็นว่านับตั้งแต่ครบกำหนด ๕ ปีไปแล้วเช่นนี้ ศาลหรือผู้พิพากษาเท่านั้นที่จะมีอำนาจออกหมายจับได้ และในที่สุดการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเกี่ยวกับเรื่องนี้เพื่อให้เกิดความสมบูรณ์ตามรัฐธรรมนูญก็เกิดขึ้น แต่มาเกิดขึ้นเอาเมื่อปี ๒๕๔๗
นับว่าเป็นบุญของประชาชนชาวไทยและผู้ที่จะต้องถูกกฎหมายไทยใช้บังคับเป็นอย่างยิ่ง เพราะหากประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเกี่ยวกับเรื่องนี้ไม่มีการแก้ไขเพิ่มเติมให้สอดรับกับรัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๕๔๐ ทำให้เกิดความมั่นคงทางกฎหมายในหลักการแล้ว เมื่อได้มีการยึดอำนาจรัฐเกิดขึ้นเมื่อปี ๒๕๔๙ ทุกอย่างก็จะกลับไปสู่อีหรอบเดิม
๒. การออกหมายอาญาโดยศาลหรือผู้พิพากษากับปัญหาในทางปฏิบัติ
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาของประเทศไทยเราหลังจากที่ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมเมื่อปี ๒๕๔๗ แล้วนั้น ผู้เขียนเห็นว่ามีความทันสมัยไม่แพ้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาของประเทศใดในโลก
ตามกฎหมายในปัจจุบันนั้น การออกหมายอาญามีการตรวจสอบโดยศาลหรือผู้พิพากษาถึง ๒ ชั้น กล่าวคือ เมื่อศาลหรือผู้พิพากษาเป็นผู้ออกหมายอาญา หากศาลหรือผู้พิพากษาได้ทำให้ “การตรวจสอบภายนอก” (Accountability) มีความเป็นรูปธรรมอย่างที่สุดแล้ว กรณีการออกหมายค้นในเวลากลางคืนจนมีการยิงตู้เย็นของชาวบ้านที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาจนทำให้นักการเมืองได้รับฉายาเกี่ยวกับเรื่องนี้ก็ย่อมจะไม่เกิดขึ้น การตรวจสอบก่อนการออกหมายอาญาจึงเป็นเรื่องของศาลหรือผู้พิพากษาที่จะต้องทำความเข้าใจกันให้ถูกต้องตามที่กฎหมายได้วางหลักไว้ และหากได้มีการศึกษากันให้เข้าใจกันอย่างถ่องแท้แล้ว การออกหมายจับคุณสุนัย มโนมัยอุดม อดีตผู้พิพากษาและอดีตอธิบดี กรมสอบสวนคดีพิเศษที่ได้สร้างปัญหากฎหมายเป็นอย่างมากก็คงจะไม่เกิดขึ้นเช่นเดียวกัน๑๐
การตรวจสอบโดยศาลหรือผู้พิพากษาเกี่ยวกับเรื่องหมายอาญายังมีบัญญัติไว้ในมาตรา ๖๓ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาอีกด้วย โดยบัญญัติว่า
“มาตรา ๖๓ เมื่อเจ้าพนักงานได้จัดการตามหมายอาญาแล้ว ให้บันทึกรายละเอียดในการจัดการนั้น ถ้าจัดการตามหมายไม่ได้ ให้บันทึกพฤติการณ์ไว้ แล้วส่งบันทึกไปยังศาลโดยเร็ว”
บทบัญญัติแห่งมาตรานี้เป็น “การตรวจสอบภายนอก” (Accountability) หลังการจับและการค้นและเป็นขั้นตอนการตรวจสอบประการที่สองที่มีความสำคัญ เป็นบทบัญญัติที่วางหลัก “การตรวจสอบภายนอก” (Accountability) อีกเปลาะหนึ่ง เป็นการให้หลักประกันสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ฉะนั้น ศาลหรือผู้พิพากษาก็จะต้องพิจารณาบันทึกรายละเอียดในการจัดการของเจ้าพนักงานโดยรอบคอบ เพื่อประโยชน์ในการพิจารณามีคำสั่งให้ออกหมายอาญาในอนาคต มิใช่เพียงการรับทราบเฉย ๆ๑๑
ข้อบังคับของประธานศาลฎีกาเกี่ยวกับการตรวจสอบในขั้นตอนที่สอง กล่าวว่า
“เมื่อเจ้าพนักงานจับกุมบุคคลตามหมายได้แล้ว ให้เจ้าพนักงานที่เกี่ยวข้องรายงานให้ศาลทราบโดยเร็ว แต่ต้องไม่ช้ากว่า ๗ วันนับแต่วันจับ”
เกี่ยวกับข้อบังคับนี้ ด้วยความเคารพ ผู้เขียนก็เห็นว่าเป็นการเปิดช่องให้เจ้าพนักงานมีความสะดวกในการทำงาน กรณีจึงไม่เป็นข้อบังคับที่ให้การคุ้มครองสิทธิที่ดี๑๒
เมื่อครั้งที่ผู้เขียนเป็น สสร. ๒๕๔๐ ผู้เขียนได้เสนอไว้ด้วยว่า เมื่อมีการจับบุคคลใดแล้ว ไม่ว่าจะจับโดยมีหมายจับหรือไม่ก็ตาม
ต้องนำตัวผู้ถูกจับไปศาลในทันทีหรืออย่างช้าในวันรุ่งขึ้น
แต่ข้อเสนอนี้ไม่มีผู้เห็นด้วยกับผู้เขียน เหตุผลก็คงจะเป็นเพราะ สสร. ๒๕๔๐ ถึงอย่างไร ก็มีความกลัว ๆ กล้า ๆ กันอยู่ ดังจะเห็นได้จากการยอมให้มีบทเฉพาะกาลสำหรับการออกหมายจับ ผลจึงปรากฏออกมาในรัฐธรรมนูญฉบับ ๒๕๔๐ ในมาตรา ๒๓๗ ว่า
“และผู้ถูกจับซึ่งถูกควบคุมอยู่ต้องถูกนำตัวไปศาลภายในเวลาสี่สิบแปดชั่วโมง นับแต่เวลาที่ผู้ถูกจับถูกนำตัวไปถึงที่ทำการของพนักงานสอบสวน เพื่อศาลพิจารณา ว่ามีเหตุที่จะขังผู้ถูกจับไว้ตามกฎหมายหรือไม่”
แต่ในคดีที่เป็นเผือกร้อนเพราะผู้ต้องหามีอิทธิพลตามควรหลายเรื่องในเวลาต่อมา เมื่อจับผู้ต้องหาได้แล้วพนักงานสอบสวนก็ส่งตัวผู้ถูกจับไปศาลเลยทันทีแทนที่จะเอาตัวไว้ ๔๘ ชั่วโมงก่อนก็มีอยู่ให้เห็นมิใช่หรือ แล้วมีความเสมอภาคกันตรงไหน
การที่ผู้เขียนได้เสนอไปดังกล่าวมาแล้วนั้น นอกจากจะให้ฎหมายเราเป็นไปตามหลักสากลแล้ว ในฐานะที่ผู้เขียนอยู่ในแวดวงกระบวนการยุติธรรมมาตลอด ได้ทราบและพบเห็นอะไร ๆ มามาก ผู้เขียนจึงเคยกล่าวว่า “แผนกประทุษกรรม” ของตำรวจคือ “แผนมหกรรม” ที่สมควรจะเลิกทำกันได้แล้ว เพราะศาลเองก็มิได้ให้ความสำคัญในเรื่องนี้แต่ประการใด ทั้งยังหมิ่นเหม่ต่อการที่จะทำให้ระบบการดำเนินคดีอาญาของเรากลายเป็น “ระบบไต่สวน” หรือ “ระบบจารีตนครบาล” ที่สามารถกระทำการต่อเนื้อตัวร่างกายของผู้ต้องหาเกิดขึ้นได้ง่าย และบางครั้งญาติของผู้เสียหายยังทำร้ายผู้ต้องหาก็มีให้เห็น เช่น ใช้เท้าถีบหน้าผู้ต้องหาก็เคยปรากฏ เหนือสิ่งอื่นใดข้อเสนอแนะและคำวิพากษ์วิจารณ์ของเขียนดังกล่าวหากทุกฝ่ายพิเคราะห์กันด้วยเหตุด้วยผลแล้วยังเป็นการช่วยสร้าง “ความเชื่อถือศรัทธา” ของกระบวนการยุติธรรมโดยรวมด้วย
คดีที่โด่งดังในขณะนี้ คือ “คดีเกาะเต่า” ก็เกี่ยวกับ “ความเชื่อถือศรัทธา” ไม่ใช่หรือ ?
แม้ขณะนี้พนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องผู้ต้องหา “คดีเกาะเต่า” ไปแล้ว จะผิดถูกอย่างไรก็ต้องรอกันต่อไปก็จริงอยู่ แต่ในความเห็นของผู้เขียนคดีนี้เหนือสิ่งอื่นใดได้กระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอีกด้วยไปแล้ว เพราะมีรายงานข่าวในหนังสือพิมพ์
The Nation, Freiday, December 12, 2014
พาดหัวข่าวว่า
“Koh Tao murder suspects appeal to Suu Kyi”
ข้อความในข่าวตอนหนึ่ง กล่าวว่า
“Myanmar President Thein Sein asked Prime Minister Prayut Chano-cha to ensure justice and fairness for the suspects when the two leaders met in October.”
การสอบสวนนั้น ประกอบด้วยการกระทำ ๒ ขั้นตอน คือ
(๑) การรวบรวมพยานหลักฐาน และ
(๒) การใช้มาตรการบังคับ
เนื่องจากการใช้มาตรการบังคับต้องกระทำเมื่อจำเป็นเท่านั้น ดังนั้น การรวบรวมพยานหลักฐานจึงต้องทำก่อนและต้องกระทำจนแน่ใจว่าผู้ต้องหาได้กระทำความผิดจริง และมีความจำเป็นต้องฟังคำให้การของผู้ต้องหา
แต่ในทางปฏิบัติพนักงานสอบสวนจะรีบจับตัวผู้ต้องสงสัยก่อนเสมอ แล้วจึงจะตรวจสอบค้นหาความจริงกันหรือตรวจสอบความจริงกันเพิ่มเติมกันต่อไป และในระหว่างการตรวจสอบค้นหาความจริงกันหรือตรวจสอบความจริงกันเพิ่มเติมกันต่อไปนั้น ก็จะยื่นคำร้องต่อศาลโดยว่ายังมีพยานหลักฐานอีกมากที่ต้องตรวจสอบ จึงขอให้ศาลสั่งขังผู้ต้องหาซึ่งต้องสงสัยว่าจะเป็นผู้กระทำความผิดตามที่กล่าวหาต่อไปก่อนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๘๗ วรรค ๔ ถึงวรรค ๖ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวรรค ๖ ที่บัญญัติว่า
“ในกรณีความผิดที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงตั้งแต่สิบปีขึ้นไป จะมีโทษปรับด้วยหรือไม่ก็ตาม ศาลมีอำนาจสั่งขังหลายครั้งติด ๆ กันได้ แต่ครั้งหนึ่งต้องไม่เกินสิบสองวัน และรวมกันทั้งหมดต้องไม่เกินแปดสิบสี่วัน”
ทางปฏิบัติดังกล่าวนี้จึงเป็นที่มาหรือช่องทางของการทำให้ผู้ต้องหาหรือผู้ต้องสงสัยตกเป็น “กรรมในคดี” (Procedural object) ได้ง่าย เพราะเท่ากับเป็นการเค้นหาความจริงจากผู้ต้องหาหรือผู้ต้องสงสัย แน่นอนเป็นการกระทำที่กระทบต่อสิทธิมนุษยชน ฝ่าฝืนหลักการที่ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าศาลจะพิพากษาว่าเป็นเช่นนั้น
๓. การปฏิรูปศาลและปัญหาตกค้าง
ในขณะที่ผู้เขียนกำลังศึกษากฎหมายที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อผู้เขียนได้เรียนกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งกับท่านอาจารย์หลวงจำรูญเนติศาสตร์ เมื่อปี ๒๕๐๒ อาจารย์ท่านอาจารย์หลวงจำรูญเนติศาสตร์ ได้กล่าวให้นักศึกษาฟังว่าศาลแพ่งประกอบด้วยองค์คณะผู้พิพากษา ๒ คน ผู้เขียนจำได้ว่ามีเพื่อนนักศึกษาคนหนึ่งลุกขึ้นเรียนท่านอาจารย์ว่า
“ผมไปศาลแพ่งมาแล้วครับอาจารย์ ผมเห็นผู้พิพากษานั่งบัลลังก์คนเดียวครับ”
ท่านอาจารย์หลวงจำรูญเนติศาสตร์จึงได้อธิบายกับพวกเราในห้องบรรยายความว่า เคยมีทนายความโต้แย้งเรื่องนี้เช่นกัน ผู้พิพากษาจึงลงบัลลังก์ไป ๑๐ นาทีต่อมาผู้พิพากษาคนเดิมนั้นก็ขึ้นบังลังก์คนเดียวอีก และถูกทนายความคัดค้านอีก ก็เลยมีการเล่นเอาเถิดเจ้าล่อกันจนทนายยอม
สภาพของการนั่งพิจารณาคดีของศาลโดยไม่ครบองค์คณะในคดีอาญาเมื่อผู้เขียนเป็นพนักงานอัยการก็ประสบพบเห็นเช่นกัน
ต่อไปนี้เป็นข้อความจากข้อเขียนของอาจารย์หลวงจำรูญเนติศาสตร์
“การปฏิบัติของศาลในปัจจุบันจะขัดต่อกฎหมายโดยนั่งพิจารณาไม่ครบคณะ แต่ไม่มีใครโต้แย้งเพราะบรรดาคู่ความไม่กล้า ที่ไม่กล้าก็โดยว่า ถ้าคัดค้าน ศาลก็ว่าถ้าเช่นนั้นก็เลื่อนคดีไป เมื่อใดศาลมีผู้พิพากษาว่างพอจะนั่งให้ครบได้ จึงจะทำการพิจารณา คู่ความต้องทนทุกข์ทรมานไปไม่มีกำหนด ดังนี้คนใดจะค้านบ้าง พนักงานอัยการเองซึ่งเป็นผู้ว่าความคดีอาญาแทนแผ่นดินก็ทราบดีว่าศาลทำไม่ได้เพราะเหตุใด ค้านไปก็เท่ากับติราชการด้วยกัน ผลก็คือไม่มีใครกล้าค้านการที่ศาลซึ่งเป็นผู้รักษากฎหมายไม่กระทำตามกฎหมาย”๑๕
ดังนั้น เมื่อมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับ ๒๕๔๐ ผู้เขียนจึงได้ผลักดันให้การนั่งพิจารณาคดีครบองค์คณะเกิดขึ้น เหตุนี้รัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๕๔๐ มาตรา ๒๓๖ จึงบัญญัติว่า
“มาตรา ๒๓๖ การนั่งพิจารณาคดีของศาลต้องมีผู้พิพากษาหรือตุลาการครบองค์คณะ และผู้พิพากษาหรือตุลาการซึ่งมิได้นั่งพิจารณาคดีใด จะทำคำพิพากษาหรือคำวินิจฉัยคดีนั้นมิได้ เว้นแต่มีเหตุสุดวิสัยหรือมีเหตุจำเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ”
อนึ่ง เมื่อผู้เขียนเกษียณอายุราชการและถูกสำนักงานอัยการสูงสุดฟ้องผู้เขียนเป็นคดีแพ่งเกี่ยวกับเรื่องการจัดสวัสดิการเพื่อข้าราชการของสำนักงานอัยการสูงสุด ในวันนัดพิจารณาคดีนัดแรกผู้เขียนได้ไปศาลร่วมกับทนายความของผู้เขียนด้วย ได้สังเกตเห็นด้วยตนเองว่าในบัลลังก์นั้นในวันนั้นมีการพิจารณาคดี ๒ คดีในขณะเดียวกันและพร้อมกัน แต่มีผู้พิพากษานั่งบัลลังก์เพียง ๓ คนเท่านั้น ซึ่งผู้เขียนก็แปลกใจอยู่เพราะขณะนั้นรัฐธรรมนูญฉบับ ๒๕๔๐ ใช้บังคับแล้ว
เกี่ยวกับการยกเลิกการบังคับบัญชาเป็นลำดับชั้นจากศาลยุติธรรมนั้น ดูเหมือนบุคคลในวงการศาลยุติธรรมไม่ได้ต่อต้านหรือคัดค้านแต่อย่างใด แต่ปรากฏต่อมาว่าผู้พิพากษาชั้นผู้ใหญ่ระดับผู้บริหารศาลยุติธรรมหลายคน เคยปรารภกับผู้เขียนว่า รัฐธรรมนูญฉบับ ๒๕๔๐ ได้ทำให้ผู้พิพากษารุ่นใหม่ ๆ ไม่ค่อยจะเกรงใจผู้พิพากษาชั้นผู้ใหญ่ ซึ่งผู้เขียนก็ได้แต่รับฟัง เพราะคำกล่าวนี้แสดงให้เห็นว่ายังมีความไม่เข้าใจกันว่าศาลนั้นจะอยู่ในระบบการบังคับบัญชากันเป็นลำดับชั้นไม่ได้อย่างเด็ดขาด เพราะถ้าเป็นเช่นนั้นแล้วก็จะเป็นการกระทำที่กระทบต่อความเป็นอิสระของผู้พิพากษา เราปฏิบัติกันอย่างไม่ถูกต้องมานานจนคิดว่าสิ่งที่ปฏิบัตินั้นถูกต้องแล้ว กรณีจึงเป็นเรื่องที่น่าห่วงอยู่มากสำหรับผู้เขียน
๔. การปฏิรูปการเรียนการสอน
ในบทความของผู้เขียนเรื่อง “รัฐธรรมนูญกับการตรวจสอบกระบวนการยุติธรรมทางอาญา”๑๖ ที่ผู้เขียนได้เขียนขึ้นเมื่อปี ๒๕๔๑ อันเป็นระยะเวลาที่รัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๕๔๐ ประกาศใช้ใหม่ ๆ ผู้เขียนได้สรุปไว้ดังต่อไปนี้
“กระบวนการตรวจสอบที่รัฐธรรมนูญ (รัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๕๔๐) ได้วางไว้ดังได้กล่าวมาโดยสังเขป คงจะให้ความมั่นใจแก่ประชาชนได้ว่า กระบวนการยุติธรรมทางอาญาของประเทศจะพัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้นเป็นลำดับ ประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมายก็จะดีตามไปด้วย นอกจากนั้นการคุกคามสิทธิและเสรีภาพของบุคคลตลอดจนการประพฤติมิชอบของบุคคลในกระบวนการยุติธรรมจะลดน้อยถอยลงและหมดสิ้นไปในที่สุด บทบาทของศาลยุติธรรมและศาลรัฐธรรมนูญจะมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนากระบวนการยุติธรรมของประเทศ และดังได้กล่าวมาแล้วว่าการตีความกฎหมายของผู้ใช้อำนาจรัฐ (นักกฎหมาย) ในหลายกรณียังไม่สอดคล้องกับหลักการของกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา หากความเห็นของผู้เขียนถูกต้อง ผู้รับผิดชอบสิ่งนี้ก็มิใช่ใครอื่น แต่คือสถาบันการสอนกฎหมาย รัฐธรรมนูญนี้ (รัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๕๔๐) จึงมิใช่เป็นเพียงวางพื้นฐานของการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม แต่ยังเป็นพื้นฐานการปฏิรูปการเรียนการสอนกฎหมายของสถาบันการศึกษากฎหมายอีกด้วย”
บัดนี้ ผู้เขียนต้องขอกล่าวว่า คำสรุปดังกล่าวเกิดจากการมองโลกในแง่ดีของผู้เขียน เพราะอย่าว่าแต่หน่วยงานอื่นเลย ต่อมาแม้องค์กรอัยการที่ผู้เขียนเคยทำงานรับใช้ประเทศชาติและประชาชน บัดนี้ ไม่อาจเป็นที่พึ่งของประชาชนได้เลย
เมื่อครั้งที่ผู้เขียนทำงาน คอป. นั้น คอป. และผู้เขียนได้เคยมีข้อเสนอแนะสำนักงานอัยการสูงสุดหลายอย่างเพื่อให้เกิดความปรองดองของคนในชาติตามภารกิจของ คอป. แต่ก็ไม่เป็นผลเช่นกัน เช่น ความผิดฐานมั่วสุมประชุมกันเกินสิบคนเคยเสนอให้พนักงานอัยการสั่งไม่ฟ้องเพื่อสร้างความสมานฉันท์และความสามัคคีของคนในชาติ๑๗
สุดท้ายผู้เขียนได้เขียนบทความเรื่อง “คอป. อสส. กับการก่อการร้าย” ลงพิมพ์ในหนังสือ “อดีตประธาน คอป. แนะ อสส. ในคดีการก่อการร้าย”๑๘ ซึ่งเป็นการเขียนขึ้นโดยมีการปรึกษาหรือตกลงกับอัยการสูงสุด (นายอรรถพล ใหญ่สว่าง) แล้ว และรับว่าจะทำตามที่ผู้เขียนเสนอแนะ แต่แล้วอัยการสูงสุดก็เปลี่ยนใจ ซึ่งก็คงจะเป็นเพราะการขาดความกล้าหาญในการที่จะช่วยให้เกิดความปรองดองของคนในชาติ
ในหนังสือ “อภิวัฒน์กระบวนการยุติธรรม” ดังกล่าวมาแล้วข้างต้น ผู้เขียนก็ได้กล่าวไว้ใน บทความเรื่อง “อัยการกับความเชื่อถือศรัทธาของประชาชน” ว่า ในขณะที่ผู้เขียนรับราชการเป็นพนักงานอัยการจังหวัดภูเก็ต พระกวีวงศ์ เจ้าอาวาสวัดวิชิตสังฆาราม ได้เคยกล่าวกับผู้เขียนว่า คนไทยเรายังเข้าใจการทำบุญผิด ๆ อยู่ กล่าวคือ มักเข้าใจกันว่าการทำบุญคือการไปวัด การนำสิ่งของไปถวายวัดถวายพระภิกษุ การไปวัดและการนำสิ่งของไปถวายวัดถวายพระภิกษุนั้น เป็นการทำทานซึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งของ “การทำบุญ” แท้จริงแล้ว
“การทำบุญคือทำความดี คนที่ตายไปแล้วเขาจึงเรียกว่าสิ้นบุญ คือหมดโอกาสทำบุญ”
ผู้เขียนต้องขอโทษที่จะต้องขออนุญาตที่จะกล่าวต่ออัยการสูงสุดผู้ที่ไม่ได้ทำตามข้อเสนอแนะของผู้เขียนที่ได้พยายามเสนอให้ทำบุญหรือสร้างบุญให้เกิดขึ้นต่อองค์กรอัยการ แต่ก็ไม่ยอมทำบุญจนถูก คสช. สั่งให้พ้นจากตำแหน่งว่า ก็เลยหมดโอกาสทำบุญ
อนึ่ง เมื่อวันที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๕๕๗ ที่วัดบางเตยในงานพระราชทานเพลิงศพนายจรูญ ศรีจำนอง ผู้เขียนได้พบกับคุณตระกูล วินิจนัยภาค อัยการสูงสุด ซึ่งได้ไปเป็นประธานในงานพระราชทางเพลิงดังกล่าวด้วย และคุณตระกูลฯ ได้กล่าวกับผู้เขียนว่าจะดำเนินการตามที่ผู้เขียนในฐานะประธาน คอป. ได้เสนอแนะไว้ กรณีจึงเป็นที่คาดหมายว่าความปรองดองของคนในชาติจะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน
สรุปและเสนอแนะ
สรุปว่าแม้จะได้มีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมกันโดยรัฐธรรมนูญฉบับ ๒๕๔๐ แล้ว แต่ดูเหมือนบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมยังขาดความรู้ความเข้าใจกฎหมายกันอย่างมากทีเดียว กรณีจึงตกเป็นหน้าที่ของสถาบันการศึกษาทั้งทางวิชาการและทางวิชาชีพที่จะต้องปฏิรูปการเรียนการสอนกันเสียใหม่ แทนที่จะสอนแต่ให้จำตัวบท ให้จำคำพิพากษาศาลฎีกา และสอนให้ทราบแต่ทางปฏิบัติ แต่ต้องเป็นการเรียนการสอนที่ทำให้ผู้ศึกษาสามารถวิพากษ์วิจารณ์คำพิพากษาศาลฎีกาและทางปฏิบัติได้อย่างมีหลักเกณฑ์ในทางวิชาการ
ในการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมนั้น ผู้เขียนเห็นว่าที่สำคัญ ต้องเป็นการปฏิรูปที่ลดค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการด้วย ไม่ใช่ปฏิรูปโดยการขยายหน่วยงานหรือเพิ่มอำนาจของหน่วยงาน เพราะยิ่งจะทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณแผ่นดินโดยใช่เหตุ
ดังนั้น ข้อเสนอของผู้เขียนที่ยังไม่ประสบความสำเร็จเมื่อปี ๒๕๔๐ ที่เสนอให้ศาลฏีกาพิจารณาพิพากษาเฉพาะข้อกฎหมายเท่านั้นหรือให้ศาลฎีกาเป็น “ศาลทบทวนข้อกฎหมาย” (Review Court) ตามที่ผู้เขียนได้เคยเสนอไว้เมื่อครั้งมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๕๔๐ นั้น ผู้เขียนใคร่ขอยืนยันว่า
เป็นข้อเสนอที่ชอบด้วยเหตุผลและเป็นข้อเสนอที่เป็นการลดความสิ้นเปลืองงบประมาณแผ่นดินด้วย
กรณีจึงเป็นข้อเสนอที่ชอบที่จะต้องเกิดขึ้นจริงในรัฐธรรมนูญฉบับที่กำลังร่างกันอยู่ในครั้งนี้ เพราะศาลสูงสุดของทุกประเทศจะพิจารณาพิพากษาเฉพาะข้อกฎหมายเท่านั้น๑๙ และเมื่อเช่นนี้ จำนวนผู้พิพากษาศาลสูงสุดก็จะมีจำนวนน้อยมาก เช่น ศาลสูงสุดของสหรัฐอเมริกามีผู้พิพากษาเพียง ๙ คนเท่านั้น ศาลสูงสุดของประเทศญี่ปุ่นมีผู้พิพากษาเพียง ๑๕ คน และศาลสูงสุดของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีก็มีผู้พิพากษาเพียง ๑๕ คนเท่านั้นเช่นกัน แต่จำนวนผู้พิพากษาศาลฎีกาของไทยเรามีจำนวน ๑๐๐ คนเศษ ค่าใช้จ่ายเฉพาะที่เกี่ยวกับบุคลากรจึงสูงอย่างมาก
และผู้เขียนเห็นสมควรกล่าวต่อไปด้วยว่า หากกรณีเป็นไปตามข้อเสนอแนะดังกล่าวก็จะทำให้นักกฎหมายในกระบวนการยุติธรรมทุกองค์กรให้ความสนใจในปัญหาข้อกฎหมายกันมากขึ้น และแน่นอนว่าจะมีความรู้ข้อกฎหมายเป็นอย่างดีขึ้นไปอีกด้วย
การพัฒนา “ศาลพิจารณา” (Trial Court) ก็ชอบที่จะกระทำกันต่อไป โดยการให้ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ทำหน้าที่ในศาลชั้นต้นในคดีสำคัญ ๆ เช่น คดีความผิดฐานฆ่าผู้อื่น ฐานปล้นทรัพย์ ฐานกบฏ เป็นต้น
ซึ่งเกี่ยวกับเรื่อง “ศาลพิจารณา” (Trial Court) นั้น ท่านอาจารย์หลวงจำรูญเนติศาสตร์ก็ได้เคยกล่าวในข้อเขียนของท่าน เป็นการกล่าวสนับสนุนเรื่องดังกล่าวนี้ไว้ในข้อเขียนเรื่อง “แนวความคิดในการปรับปรุงราชการศาลยุติธรรม” ของท่าน ซึ่งข้อเขียนของท่านอาจารย์หลวงจำรูญเนติศาสตร์นั้น ผู้เขียนได้นำมาลงพิมพ์ล่าสุดในหนังสือรวมบทความของผู้เขียนชื่อ “กระบวนการยุติธรรมในมุมมองของ คณิต ณ นคร” ในหน้า ๑๓๕ – ๑๕๙ โดยท่านอาจารย์หลวงจำรูญเนติศาสตร์กล่าวไว้ดังนี้
“การที่จะให้การพิจารณาพิพากษาคดีรวดเร็วก็ดี การที่จะให้การพิจารณาคดีมีองค์คณะที่ถูกต้องก็ดี ให้การให้ความยุติธรรมกระจายไปทั่วประเทศในสภาพที่ดีเหมือนกันทั่วไปก็ดี จะทำได้ก็ต่อเมื่อแก้ระบบการศาลยุติธรรม ข้อแรกต้องปรับปรุงให้ข้อเท็จจริงยุติแค่ศาลชั้นต้น ไม่ต้องให้มีการอุทธรณ์ฎีกาข้อเท็จจริง ให้อุทธรณ์ฎีกาได้แต่เฉพาะข้อกฎหมาย ฯลฯ”
ในข้อเขียนของท่านอาจารย์หลวงจำรูญเนติศาสตร์ เรื่อง “แนวความคิดในการปรับปรุงราชการศาลยุติธรรม” นั้น ท่านอาจารย์ยังได้นำข้อความในประกาศฉบับแรกตั้งกระทรวงยุติธรรม ลงวันที่ ๒๕ มีนาคม ร.ศ. ๑๑๐ มากล่าวไว้ด้วย ซึ่งมีความว่า
“ผู้พิพากษาจะบังคับชี้ขาดปรับสัตย์ก็อาศัยแต่ในถ้อยคำสำนวนทีในกระดาษสมุด ไม่ได้เห็นด้วยจักษุในการพิจารณาเลย จึงเป็นช่องทางทุจริตของตระลาการและคู่ความ ฯลฯ”
แล้วเรายังจะให้ศาลอุทธรณ์และศาลฎีกายังอ่านสำนวนคดีของศาลชั้นต้น แล้วเชื่อเหมือนหรือเชื่อต่างกันต่อไปอีกหรือ รวมทั้งเรื่องการส่งประเด็นที่กระทำกันอยู่อย่างไม่ถูกต้องกับหลักจะให้คงอยู่ต่อไปอีกหรือ
ผู้เขียนนอกจากจะเป็นผู้สอนกฎหมายในสถาบันการศึกษาในทางวิชาการหลายแห่งแล้ว ยังเป็นผู้สอนกฎหมายของสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภาอีกด้วย
ผู้เขียนได้ออกข้อสอบในการสอบของสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา สมัยที่ ๖๕ สอบวันที่ ๗ เมษายน ๒๕๕๖ โดยผู้เขียนได้ออกข้อสอบดังนี้
คำถาม
“นายแดงถูกพนักงานอัยการฟ้องว่าจ้างวานฆ่านายเหลือง ศาลชั้นต้นพิจารณาพยานหลักฐานที่พนักงานอัยการโจทก์นำเข้าสืบและพยานหลักฐานทางฝ่ายนายแดงจำเลยนำเข้าสืบ และได้ใช้ดุลพินิจชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งปวงแล้ว เชื่อโดยปราศจากสงสัยว่า นายแดงจำเลยกระทำความผิดจริงตามฟ้อง พิพากษาให้ประหารชีวิตนายแดงจำเลย
นายแดงจำเลยอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้นต่อศาลอุทธรณ์ว่าตนไม่ได้กระทำผิดตามฟ้อง ขอให้ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง
พนักงานอัยการไม่อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เพียงแต่ตรวจสำนวนคดีที่ศาลชั้นต้นได้ดำเนินการไว้ แล้วเห็นว่าพยานหลักฐานที่พนักงานอัยการโจทก์และนายแดงจำเลยนำเสนอไม่พอฟังลงโทษนายแดงได้ จึงพิพากษายกฟ้อง
พนักงานอัยการยื่นฎีกาเป็นปัญหาข้อกฎหมายว่า การที่ศาลอุทธรณ์เพียงแต่ตรวจสำนวนศาลชั้นต้นโดยไม่ได้เป็นการพิจารณาเป็น “ศาลพิจารณา” (Trial court) นั้น ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะกรณีเป็นเรื่องข้อเท็จจริง การที่ศาลอุทธรณ์ไม่ได้รู้เห็นหรือสัมผัสพยานหลักฐานทั้งปวงด้วยตนเองนั้น ย่อมไม่อาจอธิบายโดยศาสตร์ใด ๆ ได้ เพราะการที่กฎหมายให้ผู้พิพากษาต้องนั่งครบองค์คณะนั้น ก็เพื่อให้ศาลชั้นต้นซึ่งเป็น “ศาลพิจารณา” (Trial court) ได้สัมผัสพยานหลักฐานทั้งปวงในอันที่จะวินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานในข้อเท็จจริงตามเหตุผลที่สามารถอธิบายได้โดยหลักตรรกศาสตร์ และโดยหลักจิตวิทยาพยานหลักฐาน ขอให้ศาลฎีกาได้ย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ดำเนินการเป็น “ศาลพิจารณา” (Trial court) ให้ถูกต้องตามหลักดังกล่าว
นายแดงจำเลยฎีกาว่า การที่ศาลอุทธรณ์ดำเนินการไปนั้น เป็นไปตามหลักที่ปฏิบัติกันตลอดมา ไม่ผิดหลักกฎหมายแต่ประการใด ขอศาลฎีกาได้พิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์
ดังนี้ ถ้าท่านเป็นศาลฎีกา ท่านจะวินิจฉัยฎีกาข้อกฎหมายของพนักงานอัยการอย่างไร
ธงคำตอบ
“แม้ในทางปฏิบัติของกระบวนการยุติธรรมจะเห็นกันว่า การที่ศาลอุทธรณ์กระทำดังกล่าวถูกต้องชอบด้วยกฎหมาย ก็มิได้หมายความว่าศาลฎีกาจะแก้ให้ถูกต้องตามหลักกฎหมาย หลักตรรกศาสตร์ และหลักจิตวิทยาพยานหลักฐานไม่ได้
ดังนั้น ถ้าข้าพเจ้าเป็นศาลฎีกา ข้าพเจ้าเห็นพ้องด้วยกับความเห็นของพนักงานอัยการโจทก์ และจะย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ดำเนินการเป็น “ศาลพิจารณา” (Trial court) ให้ถูกต้องตามหลักกฎหมาย หลักตรรกศาสตร์ และหลักจิตวิทยาพยานหลักฐาน แล้วพิจารณาพิพากษาคดีนี้ใหม่ เพราะตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๐๓ ศาลอุทธรณ์สืบพยานได้ ซึ่งแสดงว่าตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญานั้น ในส่วนที่เกี่ยวกับปัญหาข้อเท็จจริง ตามระบบกฎหมายวิธีพิจารณาของไทยเราในปัจจุบัน “ศาลพิจารณา” (Trial court) มี ๓ ชั้น คือ ทั้งศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา เพราะในศาลฎีกานั้น ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๒๕ บัญญัติให้นำบทบัญญัติว่าด้วยการพิจารณาพิพากษาในศาลชั้นศาลอุทธรณ์มาใช้บังคับในชั้นฎีกาด้วย”
และผู้เขียนก็ได้ออกข้อสอบในการสอบของสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา สมัยที่ ๖๖ สอบวันที่ ๖ เมษายน ๒๕๕๗ โดยผู้เขียนได้ออกข้อสอบดังนี้
คำถาม
คดีอาญาเรื่องหนึ่งเป็นคดีที่เกิดขึ้นในเขตท้องที่ศาลจังหวัดบัวใหญ่ แต่พยานบุคคลในคดีนี้ซึ่งมีอยู่ ๔ ปาก และเป็นประจักษ์พยาน ต่างมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตท้องที่ศาลจังหวัดนนทบุรีทั้งสิ้น คดีนี้พนักงานอัยการเห็นว่าตามลักษณะของความผิดและความรู้สึกของประชาชนเป็นคดีที่มีความสำคัญ พนักงานอัยการจึงได้ยื่นคำร้องให้ศาลจังหวัดบัวใหญ่ออกหมายเรียกพยานบุคคลให้มาให้การต่อศาลจังหวัดบัวใหญ่ซึ่งเป็น “ศาลพิจารณา” (Trial court) ศาลจังหวัดบัวใหญ่ไม่อนุญาต แต่ให้สั่งให้ส่งประเด็นไปสืบพยานทั้ง ๔ คนที่ศาลจังหวัดนนทบุรีตามแนวทางที่เคยปฏิบัติกันมา จำเลยในคดีดังกล่าวนี้แถลงต่อศาลจังหวัดบัวใหญ่ว่า จะขอความประเด็นไปฟังการสืบพยานที่ศาลจังหวัดนนทบุรีด้วย พนักงานอัยการแถลงว่า การส่งประเด็นไปสืบพยานที่ศาลจังหวัดนนทบุรีเสี่ยงต่อการหลบหนีของจำเลย กรณีจึงเป็นภาระหนักของราชการฝ่ายราชทัณฑ์
ดั่งนี้ ถ้าท่านเป็นศาลจังหวัดบัวใหญ่ ท่านจะดำเนินการอย่างไรจึงจะชอบด้วยหลักกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
ธงคำตอบ
ทางปฏิบัติที่มีการส่งประเด็นไปสืบพยานบุคคลที่กระทำกันอยู่และกระทำกันตลอดมานั้น เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยหลักกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เพราะศาลจังหวัดบัวใหญ่เป็น “ศาลพิจารณา” (Trial court) เป็นศาลที่ในที่สุดก็จะต้องเป็นผู้พิจารณาพิพากษาคดีทั้งในปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ซึ่งการพิจารณาพิพากษาคดีนั้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๘๖ (๖) ศาลต้องให้เหตุผลในการตัดสินทั้งในปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย การที่ศาลจังหวัดบัวใหญ่ซึ่งเป็น “ศาลพิจารณา” (Trial court) ไม่ได้รับฟังคำให้การพยานด้วยตนเองนั้น ศาลจังหวัดบัวใหญ่ซึ่งเป็น “ศาลพิจารณา” (Trial court) ย่อมไม่มีหลักการหรือศาสตร์ใด ๆ ในการให้เหตุผลในการพิจารณาพิพากษาทั้งในข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ทั้งในทางปฏิบัติที่กระทำกันอยู่และกระทำกันตลอดมานั้น ยังก่อให้เกิดปัญหาความปลอดภัยของราชการฝ่ายราชทัณฑ์อีกด้วย
ดังนั้น ศาลจังหวัดบัวใหญ่จึงชอบที่จะดำเนินการตามคำร้องของพนักงานอัยการจึงจะชอบด้วยหลักกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
ข้อสอบทั้งสองข้อของผู้เขียนดังกล่าวมาข้างต้นไม่ได้รับเลือกให้เป็นข้อสอบ แต่นั่นไม่ใช่ประเด็นสำคัญสำหรับผู้เขียน เพราะ
ในการออกข้อสอบกฎหมายของผู้เขียนนั้น เหนือสิ่งอื่นใดผู้เขียนต้องการสะกิดความเข้าใจหลักกฎหมายในระหว่างกรรมการสอบด้วยกันด้วย ทั้ง ๆ ที่รู้อยู่แก่ใจตลอดมาว่ายากมากที่จะทำให้นักกฎหมายในภาคปฏิบัติเปลี่ยนความเชื่อของตน
อนึ่ง ผู้เขียนจำได้ว่าเมื่อครั้งมี สสร. ๒๕๔๐ ท่านอาจารย์ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ซึ่งเป็นเลขานุการ สสร. ๒๕๔๐ เคยบ่นเสียดายต่อข้อเสนอของผู้เขียนที่ให้ศาลฏีกาพิจารณาพิพากษาเฉพาะข้อกฎหมายเท่านั้นต้องตกไปต่อผู้เขียนด้วยตนเองด้วย
ดังนั้น ในคราวนี้ท่านอาจารย์ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ซึ่งเป็นประธานในการยกร่างรัฐธรรมนูญคงต้องออกแรงเกี่ยวกับเรื่องนี้กันอีก อย่าให้ผู้เขียนต้องบ่นว่าเสียดายก็แล้วกัน
ขอบคุณภาพประกอบจาก google.co.th
๑มาตรา ๒๓๗ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ในคดีอาญา การจับและคุมขังบุคคลใด จะกระทำมิได้ เว้นแต่มีคำสั่งหรือหมายของศาล ฯลฯ”
มาตรา ๒๓๘ บัญญัติว่า “ในคดีอาญา การค้นในที่รโหฐานจะกระทำมิได้ เว้นแต่จะมีคำสั่งหรือหมายของศาล ฯลฯ”
๒มาตรา ๒๔๙ บัญญัติว่า
“มาตรา ๒๔๙ ผู้พิพากษาและตุลาการมีอิสระในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย
การพิจารณาพิพากษาอรรถคดีของผู้พิพากษาและตุลาการไม่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาตามลำดับชั้น
การจ่ายสำนวนคดีให้ผู้พิพากษาและตุลาการให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายบัญญัติ
การเรียกคืนสำนวนคดีหรือการโอนสำนวนคดีจะกระทำมิได้ เว้นแต่เป็นกรณีที่จะกระทบกระเทือนต่อความยุติธรรมในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดี
การโยกย้ายผู้พิพากษาและตุลาการโดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้พิพากษาและตุลาการนั้น จะกระทำมิได้ เว้นแต่เป็นการโยกย้ายตามวาระตามที่กฎหมายบัญญัติ เป็นการเลื่อนตำแหน่งให้สูงขึ้น เป็นกรณีที่อยู่ในระหว่างถูกดำเนินการทางวินัย หรือตกเป็นจำเลยในคดีอาญา”
มาตรา ๒๕๐ ผู้พิพากษาและตุลาการจะเป็นข้าราชการการเมืองหรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมิได้
๓ดู มาตรา ๒๔๙ ในเชิงอรรถ ๒
๔ดู มาตรา ๒๔๙ ในเชิงอรรถ ๒
๕ดู คณิต ณ นคร กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งภาคการดำเนินคดี พิมพ์ครั้งที่ ๒ สำนักพิมพ์วิญญูชน พฤศจิกายน ๒๕๕๒ หน้า ๔๔๖
๖ดู มาตรา ๒๔๑ - ๒๔๘
๗ดู คณิต ณ นคร “การบิดเบือนหรือหักดิบกฎหมาย” ประชาธิปไตยกับการตั้งรังเกียจทางสังคม สำนักพิมพ์วิญญูชน หน้า ๖๗ – ๘๕ (หนังสือเล่มนี้พิมพ์ครั้งแรกเมื่อ มีนาคม ๒๕๕๖ พิมพ์ครั้งที่ ๒ เมื่อ กันยายน ๒๕๕๖ พิมพ์ครั้งที่ ๓ เมื่อ ธันวาคม พิมพ์ครั้งที่ ๔ เมื่อ มกราคม ๒๕๕๗ และพิมพ์ครั้งที่ ๕ เมื่อ กรกฏาคม ๒๕๕๗ นอกจากการพิมพ์ในครั้งที่ ๑ เป็นการพิมพ์จ่ายแจกโดยมีผู้สนับสนุนการพิมพ์ทั้งสิ้น)
๘ดู คณิต ณ นคร “รัฐธรรมนูญกับการตรวจสอบกระบวนการยุติธรรมทางอาญา” รัฐธรรมนูญกับกระบวนการยุติธรรม พิมพ์ครั้งที่ ๑ สำนักพิมพ์วิญญูชน มิถุนายน ๒๕๔๙ หน้า ๒๔ – ๓๙
๙ดู คณิต ณ นคร กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา พิมพ์ครั้งที่ ๘ สำนักพิมพ์วิญญูชน มีนาคม ๒๕๕๕ หน้า ๒๘๕
๑๐ดู คณิต ณ นคร “การเอาตัวบุคคลไว้ในอำนาจรัฐกับการปล่อยชั่วคราว” ประชาธิปไตยกับการตั้งรังเกียจทางสังคม สำนักพิมพ์วิญญูชน หน้า ๑๓๑ – ๑๔๓ (หนังสือเล่มนี้พิมพ์ครั้งที่ ๑ เมื่อ มีนาคม ๒๕๕๖ พิมพ์ครั้งที่ ๒ เมื่อ กันยายน ๒๕๕๖ พิมพ์ครั้งที่ ๓ เมื่อ ธันวาคม ๒๕๕๖ พิมพ์ครั้งที่ ๔ เมื่อ มกราคม ๒๕๕๗ และพิมพ์ครั้งที่ ๕ เมื่อ กรกฎาคม ๒๕๕๗ นอกจากการพิมพ์ในครั้งที่ ๑ เป็นการพิมพ์จ่ายแจกโดยมีผู้สนับสนุนการพิมพ์ทั้งสิ้น)
๑๑ดู คณิต ณ นคร กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา พิมพ์ครั้งที่ ๘ สำนักพิมพ์วิญญูชน มีนาคม ๒๕๕๕ หน้า ๓๐๘
๑๒ดู คณิต ณ นคร กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา พิมพ์ครั้งที่ ๘ สำนักพิมพ์วิญญูชน มีนาคม ๒๕๕๕ หน้า ๓๐๙
๑๓ดู คณิต ณ นคร “การเอาตัวบุคคลไว้ในอำนาจรัฐกับการปล่อยชั่วคราว” ประชาธิปไตยกับการตั้งรังเกียจทางสังคม สำนักพิมพ์วิญญูชน หน้า ๑๓๑ – ๑๔๓ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หน้า ๑๓๖ (หนังสือเล่มนี้พิมพ์ครั้งที่ ๑ เมื่อ มีนาคม ๒๕๕๖ พิมพ์ครั้งที่ ๒ เมื่อ กันยายน ๒๕๕๖ พิมพ์ครั้งที่ ๓ เมื่อ ธันวาคม ๒๕๕๖ พิมพ์ครั้งที่ ๔ เมื่อ มกราคม ๒๕๕๗ และพิมพ์ครั้งที่ ๕ เมื่อ กรกฎาคม ๒๕๕๗ นอกจากการพิมพ์ในครั้งที่ ๑ เป็นการพิมพ์จ่ายแจกโดยมีผู้สนับสนุนการพิมพ์ทั้งสิ้น)
๑๔ดู คณิต ณ นคร “อัยการกับความเชื่อถือศรัทธาของประชาชน” อภิวัฒน์กระบวนการยุติธรรม พิมพ์ครั้งที่ ๑ สำนักพิมพ์วิญญูชน ตุลาคม ๒๕๕๗ หน้า ๑๙๕ – ๒๓๓ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หน้า ๒๒๑ – ๒๒๒
๑๕ดู ศาสตราจารย์หลวงจำรูญเนติศาสตร์ “แนวความคิดในการปรับปรุงราชการศาลยุติธรรม” กระบวนการยุติธรรมในมุมมองของ คณิต ณ นคร พิมพ์ครั้งที่ ๒ ตุลาคม ๒๕๕๖ หน้า ๑๓๕ – ๑๕๙ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หน้า ๑๓๘
๑๖ดู คณิต ณ นคร “รัฐธรรมนูญกับการตรวจสอบกระบวนการยุติธรรมทางอาญา” รัฐธรรมนูญกับกระบวนการยุติธรรม พิมพ์ครั้งที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๔๙ หน้า ๒๕
๑๗ดู คณิต ณ นคร “อัยการกับปัญหาความขัดแย้งในชาติ” ประชาธิปไตยกับกาตั้งรังเกียจทางสังคม สำนักพิมพ์วิญญูชน หน้า ๑๔๕ (หนังสือเล่มนี้พิมพ์ครั้งที่ ๑ เมื่อ มีนาคม ๒๕๕๖ พิมพ์ครั้งที่ ๒ เมื่อ กันยายน ๒๕๕๖ พิมพ์ครั้งที่ ๓ เมื่อ ธันวาคม ๒๕๕๖ พิมพ์ครั้งที่ ๔ เมื่อ มกราคม ๒๕๕๗ และพิมพ์ครั้งที่ ๕ เมื่อ กรกฎาคม ๒๕๕๗ นอกจากการพิมพ์ในครั้งที่ ๑ เป็นการพิมพ์จ่ายแจกโดยมีผู้สนับสนุนการพิมพ์ทั้งสิ้น)
๑๘ดู คณิต ณ นคร “คอป. และ อสส. กับการก่อการร้าย” อดีตประธาน คอป. แนะ อสส. ในคดีการก่อการร้าย พิมพ์ครั้งที่ ๑ สำนักพิมพ์วิญญูชน ธันวาคม ๒๕๕๖ หน้า ๑๕ (หนังสือเล่มนี้ต่อมาได้พิมพ์เป็นครั้งที่ ๒ เมื่อ มกราคม ๒๕๕๗ และพิมพ์เป็นครั้งที่ ๓ เมื่อ กรกฎาคม ๒๕๕๗ เป็นการพิมพ์จ่ายแจกโดยมีผู้สนับสนุนการพิมพ์ทั้งสิ้น)
๑๙ดู คณิต ณ นคร กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งภาคการดำเนินคดี พิมพ์ครั้งที่ ๒ สำนักพิมพ์วิญญูชน พฤศจิกายน ๒๕๕๒ หน้า ๔๔๖