รุมสับไอเดีย “ค่าแป๊ะเจี๊ยะ” วรวัจน์ เพิ่มช่องว่างการศึกษาเด็กจน-บ่อเกิดทุจริต
“วรวัจน์” ออกตัวไม่เคยบอกให้ ร.ร.เก็บแป๊ะเจี๊ยะ แค่ไอเดียผู้ปกครองรวยจ่ายเพื่อแลกโอกาสที่ดีให้ลูก-นำเงินไปพัฒนา ร.ร.ด้อย “นักวิชาการ-รมว.ศธ.เงา” เตือนระวังเข้าสู่วังวนปัญหาเดิม “ชินวรณ์” ชี้ก่อทุจริตมโหฬาร “ชมรมค่านิยมสร้างชาติ” ระบุผิดทั้งกฎหมายและคุณธรรม ขู่ฟ้องศาลปกครอง
นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(รมว.ศธ.) กล่าวว่าตนไม่เคยพูดว่าจะเปิดโอกาสให้โรงเรียนเรียกเก็บเงินแป๊ะเจี๊ย แต่ปัจจุบันมีผู้ปกครองส่วนหนึ่งพร้อมจ่ายเเพื่อให้บุตรหลานได้รับบริการการศึกษาที่มีคุณภาพสูงมากๆ จึงควรเปิดโอกาสให้กลุ่มนี้ร่วมระดมทรัพยากรให้โรงเรียน ขณะเดียวกันจะได้นำงบประมาณเรียนฟรี15 ปี ที่โรงเรียนกลุ่มนี้ปฏิเสธจะรับ ไปพัฒนาโรงเรียนด้อยโอกาสแทน เป็นการลดภาระงบประมาณ ศธ. ด้วย ทั้งนี้การจ่ายเงินดังกล่าวต้องไม่มีเงื่อนไขแลกกับการรับเข้าเรียน
“จริงๆแล้ว ทุกวันนี้ผู้ปกครองก็จ่ายเงินให้โรงเรียนอยู่ ผมเพียงต้องการทำให้มันขึ้นมาอยู่บนดิน แต่ไม่ใช่ว่าผู้ปกครองจะจ่ายเงินให้ใครก็ได้ ต้องมีหลักเกณฑ์กำกับว่าจ่ายเงินเพื่อพัฒนาโรงเรียนส่วนไหนได้บ้าง เช่น โครงการจัดซื้อคอมพิวเตอร์ และโรงเรียนก็จะต้องทำรายงานมายัง ศธ. ซึ่งเรื่องนี้ยังแค่เเป็นแนวคิดอยู่ ต้องผ่านการพูดคุยกับฝ่ายต่างๆ อีกหลายขั้นตอนกว่าจะได้บทสรุป”
ศ.ดร.ไพฑูรย์ สินลารัตน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวว่าหากจะเปิดโอกาสให้โรงเรียนที่มีความพร้อมระดมทรัพยากรอย่างเต็มที่จากผู้ปกครอง จะกลายเป็นการเปิดโอกาสให้คนที่มีฐานะดีได้รับประโยชน์ทางการศึกษาที่พิเศษกว่าคนอื่นๆ ดังนั้น รัฐบาลควรหาวิธีการที่จะดึงผู้มีฐานะดีมาช่วยเหลือคนที่ยากจน ขณะเดียวกันก็พัฒนาโรงเรียนอื่นให้มีคุณภาพมากขึ้น เพราะหากปล่อยให้เกิดช่องว่างความแตกต่างของคุณภาพโรงเรียน สุดท้ายก็จะวนกลับไปสู่ปัญหาเดิมๆ ที่ผู้ปกครองพยายามหาช่องทางให้ลูกของตนได้เรียนโรงเรียนดี โรงเรียนใหญ่ ด้วยการจ่ายแป๊ะเจี๊ยะ
นายกนก วงษ์ตระหง่าน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) รมว.ศธ. (เงา) เปิดเผยว่า ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดนายวรวัจน์ ที่ให้ผู้ที่มีฐานะดีมีสิทธิเลือกโรงเรียนดีๆให้กับลูกหลาน ต่อไปหากผู้ปกครองคนใดอยากสนับสนุนโรงเรียนก็สามารถทำได้ ที่ผ่านมาปัญหาเงินกินเปล่าหรือแป๊ะเจี๊ยะสร้างปัญหาด้านต่างๆมาก โดยเฉพาะความไม่เท่าเทียมด้านการศึกษา ขยายช่องว่างโอกาสในการได้เข้าเรียนในโรงเรียนที่มีชื่อเสียงของคนรวยกับคนจน และกระทบไปถึงมาตรฐานของโรงเรียนแต่ละแห่งซึ่งไม่เท่ากัน เป็นเรื่องที่แก้ได้ยากและต้องใช้เวลาจัดการอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ปัญหากำลังจะย้อนกลับไปสู่วังวนเดิม
ด้าน นายอำนวย สุนทรโชติ ประธานชมรมค่านิยมเพื่อสร้างชาติ กล่าวว่า เป็นแนวคิดที่เป็นอันตราย อีกทั้งแป๊ะเจี๊ยะนั้นผิดรัฐธรรมนูญว่าด้วยการกีดกันคนโดยใช้ฐานะทางเศรษฐกิจเป็นตัวกำหนด และผิดหลักคุณธรรมถ้าท่านจะคิดนอกรีดก็ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญข้อนี้ก่อน แล้วไปแก้ไขหลักคุณธรรมของชาติให้ได้อีกทางหนึ่ง จึงจะทำให้แป๊ะเจี๊ยะถูกกฎหมายได้ แต่การแก้ไขกฎหมายไม่ใช่การแก้ปัญหา เพราะฉะนั้น หากมีการแก้ไขกฎระเบียบให้เอื้อกับประเด็นดังกล่าวจริง ก็พร้อมที่จะนำเรื่องฟ้องศาลปกครอง
"ขอท้าให้รัฐมนตรีแก้กฎใดๆก็ตามที่เอื้อให้เกิดการจ่ายค่าแป๊ะเจี๊ยะ เราจะสู้ไปถึงศาลปกครองแน่นอน เพราะเป็นการแบ่งแยกกีดกันคน โดยการใช้ฐานะทางเศรษฐกิจ" นายอำนวย กล่าว
ด้าน นาย ชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช ปชป. และอดีต รมว.ศธ. กล่าวว่าแนวคิดดังกล่าวจะทำให้เกิดการทุจริตมโหฬาร และจะส่งผลให้นักเรียนดีมีคุณภาพแต่ฐานะยากจน หมดโอกาส การศึกษาก็จะคุณภาพลดลงไม่ได้ตามมาตรฐาน เรื่องนี้ต้องมีการตรวจสอบอย่างเต็มที่จากทุกภาคส่วนแน่นอน ขอฝากไปยังนายวรวัจน์ให้เน้นที่ระบบคุณภาพการศึกษา แต่จะทำไม่ได้หากรัฐมนตรีไม่มีจริยธรรมอย่างเพียงพอ
ส่วน นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) กล่าวว่า การเปิดโอกาสให้โรงเรียนดังที่ไม่ขอรับเงินอดุหนุนรายหัวจากรัฐบาล สามารถเรียกเก็บเงินจากผู้ปกครองเพิ่มเติมได้นั้น ตรงกับแนวคิดโรงเรียนพรีเมียมสคูล หรือ โครงการโรงเรียนศักยภาพสูงที่ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) กำลังดำเนินการอยู่ ซึ่งโรงเรียนที่เข้าโครงการนี้จะได้รับโอกาสให้เรียกเก็บเงินจากผู้ปกครองในเพดานที่สูงกว่าโรงเรียนปกติ แต่ไม่ใช่ปล่อยให้โรงเรียนเรียกเก็บเงินเท่าใดก็ได้ และในวันที่ 14 ก.ย. นี้ สพฐ.จะเสนอโครงการดังกล่าวเพื่อขอความเห็นชอบจากที่ประชุม กพฐ.
“ระยะแรกจะทำในรูปการเพิ่มสัดส่วนห้องเรียนพิเศษต่างๆ ในโรงเรียนเดียวกันจะมีห้องเรียนปกติและห้องเรียนพิเศษเพิ่มขึ้น จากนั้นโรงเรียนในกลุ่มนี้จะเป็นโรงเรียนที่มีห้องเรียนพิเศษทั้งหมดตอบสนองกลุ่มผู้ปกครองที่ต้องการที่เรียนคุณภาพสูง แต่ตรงนี้จะเป็นมาตรการระยะยาว เพราะต้องมีการปรับแก้กฎหมาย ปรับเปลี่ยนรูปแบบการบริหารงานทั้งบุคลากร งบประมาณ ปรับรูปแบบการรับนักเรียนด้วย ซึ่งโรงเรียนเหล่านี้จำเป็นต้องได้รับโอกาสระดมทรัพยากรได้ เพราะต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมจากปกติ เช่น ค่าจ้างครูต่างประเทศ ค่าอุปกรณ์การเรียนที่ทันสมัย ค่าอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว .
ที่มาภาพ : http://education.kapook.com/view26925.html