พลังแห่งชีวิต! "พ.ต.อ.หญิง กูมัณฑนา" ก่อนได้รับพระราชทานเครื่องราช
"..ปูรู้เรื่องดี พูดอะไรรู้เรื่องหมด ไม่ว่าจะหิว แพมเพิร์สเต็ม แต่เวลาเขาจะพูดอะไรกับใครก็จะเปล่งเสียงออกมาคล้ายเสียงร้องไห้ ทุกครั้งที่มีคนมาเยี่ยมจะกลับไปพร้อมกับน้ำตาทุกคน เพราะเห็นสภาพปูที่ต้องอยู่แบบนี้.."
เมื่อวันที่ 16 ธ.ค.57 ที่ผ่านมา ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์เป็นกรณีพิเศษ
ประกาศระบุว่า ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ชั้นทวีติยาภรณ์มงกุฎไทย เป็นกรณีพิเศษ ให้แก่ พันตำรวจเอกหญิง กูมัณฑนา เบญจมานะ ซึ่งพิการทุพพลภาพเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ราชการ
ประกาศ ณ วันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2557
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ
รองนายกรัฐมนตรี
หลายคนอาจสงสัยว่า พันตำรวจเอกหญิง กูมัณฑนา เบญจมานะ เป็นใคร มีที่มาที่ไปอย่างไร
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ขอนำข้อมูลเกี่ยวกับ พันตำรวจเอกหญิง กูมัณฑนา เบญจมานะ มานำเสนออีกครั้ง
เสียงระเบิดที่ดังก้องบริเวณลานหน้าโรงพัก สภ.เมืองปัตตานี และกองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดปัตตานี ตามด้วยเสียงกรีดร้อง ลิ่มเลือด และน้ำตา เมื่อวันที่ 21 เม.ย.2553 นั้น ถึงวันนี้หลายคนคงลืมเลือนไปหมดแล้ว คงเหลือแต่ผู้ที่ประสบเคราะห์กรรมตกเป็นเหยื่อความรุนแรงในวันนั้นที่ยังต้องทนทุกข์และมิอาจลบฝันร้ายไปจากความทรงจำ
แรงระเบิดที่เกิดจากลูกระเบิดชนิดขว้างในขณะที่ตำรวจหญิงชายกำลังเข้าแถวเคารพธงชาติ ตามด้วย "คาร์บอมบ์" หรือระเบิดที่ซุกไว้ในรถยนต์เก๋งห่างออกไปไม่กี่ร้อยเมตร ทำให้จำนวนผู้ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ในครั้งนั้นพุ่งสูงมากกว่าครึ่งร้อย ขณะที่ ดาบตำรวจ (ด.ต.) สมพงษ์ คงดำ ผู้บังคับหมู่งานกำลังพล กองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดปัตตานี ต้องสังเวยชีวิต
ส่วน พ.ต.ต.หญิง กูมัณฑนา เบญจมานะ สารวัตรงานกิจการพลเรือน กองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดปัตตานี ได้รับบาดเจ็บสาหัส...
ผ่านมาเกือบ 2 ปีของ พ.ต.ต.หญิง กูมัณฑนา หรือชื่อเล่นที่คนในครอบครัวเรียกกันติดปากว่า "ปู" ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงในชีวิตของเธอยกเว้นยศนำหน้าชื่อที่ได้ขยับเป็น "พันตำรวจโท" และเธอยังไม่ได้กลับไปทำงาน "ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์" ที่ตนเองรัก เพราะร่างกายของเธอพิการ ต้องนอนรักษาตัวอยู่แต่ในบ้านห่างจากตัวอำเภอหนองจิก จ.ปัตตานี ประมาณ 3 กิโลเมตร
บ้านของ พ.ต.ท.หญิง กูมัณฑนา เป็นบ้านครึ่งตึกครึ่งไม้ ประตูหน้าต่างปิดสนิททุกบาน แถมยังลั่นกุญแจอย่างแน่นหนา มองจากข้างนอกแทบไม่รู้เลยว่ามีคนอาศัยอยู่ข้างใน
หากใครไปเยี่ยมเธอตอนกลางวัน จะได้พบกับ อัตตียา ฮะยีอาแว หรือ "ก๊ะยะห์" ลูกพี่ลูกน้องของ พ.ต.ท.หญิง กูมัณฑนา และเป็นญาติผู้ใหญ่คนเดียวที่เหลืออยู่ ส่วนสารวัตรหญิงแห่งปัตตานีนั้นต้องนอนอยู่บนเตียงตลอดเวลา
"จริงๆ บ้านนี้มีคนอยู่กันหลายคน มีน้องชายของปู และลูกเมียของเขา นอกจากนั้นยังมีสามีของปูอีก ทั้งหมดรวมแล้ว 5 คน แต่ตอนกลางวันจะไม่มีใครอยู่บ้าน ก็เลยต้องปิดล็อคเอาไว้เพราะกลัวอันตราย"
ก๊ะยะห์ ดูแล พ.ต.ท.หญิง กูมัณฑนา มานาน ทำให้รู้ถึงอาการ อารมณ์ และความต้องการของคนเจ็บ
"บ้านนี้เป็นบ้านของตำรวจเก่า ตกทอดมาถึงลูกซึ่งก็คือปู และเป็นตำรวจเหมือนกัน แต่ปูได้รับบาดเจ็บทำให้ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ทุกวันนี้อาการของปูแม้จะดีขึ้นบ้าง แต่ฉันคิดว่าขาดการบำบัด จึงดีขึ้นค่อนข้างช้า ถ้าปูได้บำบัดอย่างต่อเนื่องน่าจะฟื้นตัวดีกว่านี้"
ก๊ะยะห์ เล่าว่า ชีวิตของลูกพี่ลูกน้องช่างน่าสงสาร จากที่เคยเป็นครอบครัวใหญ่ อยู่กันพร้อมหน้าพ่อแม่พี่น้อง ทว่าพ่อกับแม่ก็ต้องมาตายจากไป แม่ของเธอเสียเมื่อปี 2550 จากนั้นปี 2552 น้องเขยของเธอก็ตายไปอีกคนจากเหตุลอบวางระเบิดชุดคุ้มครองครู ส่วนสามีเก่าก็เลิกรากัน และพาลูกๆ ไปอยู่ด้วย กระทั่งตัวเธอเองต้องมาบาดเจ็บจากเหตุระเบิดจนเกือบพิการ
"ทุกคนก็จะช่วยๆ กันดูแล แต่ฉันรู้ดีว่าใจจริงแล้วปูต้องการมากกว่านั้น เขาต้องการให้มีคนอยู่ด้วยตลอดเวลา อยากมีคนคุยด้วย เพราะเขาเป็นคนร่าเริง ชอบสนุก เมื่อก่อนตอนที่ปูยังไม่เป็นแบบนี้ เขามีเพื่อนเยอะ ใครเดือดร้อนปูก็จะยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือ ไม่เว้นแม้กระทั่งเรื่องเงินทอง ถึงปูจะไม่มี ปูก็จะไปหยิบยืมจากญาติพี่น้องเอาไปให้เพื่อน"
"ปูมีลูก 2 คน สามีเก่ารับไปเลี้ยง บ้านอยู่ห่างจากบ้านปูแค่กิโลฯเดียว แต่ลูกๆ ก็ไม่ค่อยมาให้กำลังใจแม่สักเท่าไหร่ มีเพียงญาติๆ และน้องๆ ที่คอยให้กำลังใจ รวมทั้งสามีใหม่ ก็ยังถือว่าชีวิตของปูยังมีด้านดีอยู่บ้าง สามีใหม่ก็รักและดูแลอย่างดี"
ก๊ะยะห์ บอกว่า แม้ร่างกายของ พ.ต.ท.หญิง กูมัณฑนา แทบขยับเขยื้อนไม่ได้ แต่เธอรู้เรื่องดีทุกอย่าง เพียงแต่พูดออกมาไม่ได้เท่านั้น ได้แต่เปล่งเสียงที่เหมือนกับเสียงร้องไห้
"ปูรู้เรื่องดี พูดอะไรรู้เรื่องหมด ไม่ว่าจะหิว แพมเพิร์สเต็ม แต่เวลาเขาจะพูดอะไรกับใครก็จะเปล่งเสียงออกมาคล้ายเสียงร้องไห้ ทุกครั้งที่มีคนมาเยี่ยมจะกลับไปพร้อมกับน้ำตาทุกคน เพราะเห็นสภาพปูที่ต้องอยู่แบบนี้"
ในฐานะที่เป็นข้าราชการ พ.ต.ท.หญิง กูมัณฑนา ได้รับเงินเยียวยามาก้อนหนึ่ง แต่ ก๊ะยะห์ บอกว่าเงินก้อนนั้นหมดไปนานแล้วกับค่ารักษาพยาบาล
"ตอนนี้นอกจากเงินหมด ยังมีหนี้ที่ยังจ่ายไม่หมดด้วย เงินเยียวยาที่ได้มาก็ใช้เป็นค่ารักษาพยาบาล ใครบอกยาอะไรกินแล้วหายเราก็จะซื้อให้ เพราะอยากให้เขาหาย เคยซื้อยาชุดละ 3 หมื่นกว่าบาท กินไปได้ 3 ชุดเงินหมด บางครั้งเงินที่จะซื้อแพมเพิร์สยังไม่มีเลย บางครั้งถ้าฉันไม่มีก็ขอญาติๆ ทุกคนก็ช่วยกัน บางครั้งเงินที่ญาติๆ เอามาเยี่ยมเราก็จะเก็บไว้ซื้อของให้ปู ยังโชคดีที่สามีเขาไม่ทิ้ง"
การทำหน้าที่เสมือนเป็นพยาบาลส่วนตัวคอยดูแลคนที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ หรือแม้แต่จะพูดบอกความต้องการก็ยังทำไม่ได้ ถือเป็นภาระอันหนักอึ้งและเครียดมาก ก๊ะยะห์บอกว่าที่ทำก็เพราะรัก และโชคดีที่ครอบครัวของนางเองเข้าใจ
"ถ้าถามว่าอยากได้อะไรมากที่สุด บอกได้เลยว่าอยากได้ความช่วยเหลือทุกอย่าง แต่ที่ต้องการด่วนคือการบำบัด เพราะปูรู้เรื่องทุกอย่าง เหลือแค่ขยับตัวกับพูดเท่านั้นเองที่ทำไม่ได้ คิดว่าถ้าได้ทำกายภาพบำบัดน่าจะดีขึ้นและอาจจะลุกนั่งเองได้"
ก๊ะยะห์ บอกด้วยว่า ที่ผ่านมาไม่เคยไปร้องเรียนหรือขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานไหน เพราะเข้าใจดีว่าภาครัฐต้องดูแลคนที่เดือดร้อนคนอื่นด้วย เพราะผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงมีเพิ่มขึ้นทุกวัน
"เราเข้าใจ จะให้รัฐมานั่งดูแลคนคนเดียวได้อย่างไร" ก๊ะยะห์กล่าวพลางถอนใจ
ด้าน เป๊าะจิ๊ เพื่อนบ้านของ พ.ต.ท.หญิง กูมัณฑนา ซึ่งเห็นสภาพชีวิตของสารวัตรหญิงมาโดยตลอด บอกว่า รู้สึกสงสารมาก เพราะเธอพูดเป็นภาษาไม่ได้เลย เวลาหิวก็จะส่งเสียงเรียกเหมือนร้องไห้ทั้งที่ไม่มีน้ำตา
"เขาอยากให้มีคนเฝ้าเขาตลอดเวลา แต่ก็เข้าใจญาติๆ นะ ใครจะมานั่งเฝ้าคนเจ็บได้ทุกวันไปตลอดได้ สภาพของปูตอนนี้ไม่ต่างอะไรจากเด็กเล็กๆ เขาเข้าใจที่คนพูด แต่พูดไม่ได้และไม่สามารถขยับตัวเองได้ เราเป็นเพื่อนบ้านก็ได้แต่แวะเวียนไปเยี่ยมนานๆ ครั้ง ญาติผู้ใหญ่ของเขาก็ตายหมดแล้ว ใครที่มีกำลังพอจะช่วยเหลือเขาได้ก็อยากให้ช่วย เพราะชีวิตเขาน่าสงสารจริงๆ" เป๊าะจิ๊ กล่าว
ในห้วงเวลาที่ใครต่อใครพากันวิพากษ์วิจารณ์และเรียกร้องการเยียวยา โดยตั้งเป้าที่ "ตัวเงิน" โดยเฉพาะตัวเลข "7.5 ล้านบาท" แม้ความจริงจะปฏิเสธไม่ได้ว่า "เงิน" คือสิ่งสำคัญ แต่หลายๆ ครั้งการเยียวยาด้านจิตใจ เยี่ยมเยียน พาไปโรงพยาบาล หรือทำให้ผู้ได้รับผลกระทบไม่รู้สึกว่าถูกทอดทิ้งอย่างเดียวดายจากสังคม อาจมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าตัวเลข 7.5 ล้าน...
และนั่นน่าจะเป็นแรงใจให้พวกเขาเหล่านั้นมีพลังก้าวข้ามความเจ็บปวด แล้วลุกขึ้นยืนได้อีกครั้ง
(อ่านเรื่องต้นฉบับ : แรงใจเพียงน้อยนิดกับชีวิตที่เหลืออยู่ของ.. สารวัตรหญิง กูมัณฑนา เบญจมานะ)
...
ทั้งหมดนี่ คือ ข้อมูลของ "พันตำรวจเอกหญิง กูมัณฑนา เบญจมานะ" ก่อนได้รับการโปรดเกล้า ฯ พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ชั้นทวีติยาภรณ์มงกุฎไทย เป็นกรณีพิเศษ