‘ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล’ : พัฒนาคนอย่างยั่งยืน เดินตามรอยสมเด็จย่า
"ทำอย่างไรให้มีความเหลื่อมล้ำที่น้อยลง สร้างคนไทยให้มีความสุข ความสามัคคี รักใคร่ปรองดองกัน ทั้งนี้ ต้องเเก้ปัญหาที่ 'สันดานคนไทย' ไม่ใช่แก้ที่กฎหมายอย่างเดียว"
วันที่ 16 ธันวาคม 2557 สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล จัดการประชุมวิชาการ การพัฒนาเด็ก เยาวชน และครอบครัว ระดับชาติ ครั้งที่ 3 เรื่อง พลเมืองเด็ก การลงทุนที่คุ้มค่า ณ อาคารปัญญาวัฒนา สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตศาลายา
โดยมี 'ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล' เลขาธิการมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง และมูลนิธิปิดทองหลังพระฯ ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง การพัฒนามนุษย์อย่างยั่งยืนตามแนวพระราชดำริสมเด็จย่า
ม.ร.ว. ดิศนัดดา กล่าวว่า สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (สมเด็จย่า) ทรงตรัสเสมอว่า "คนกับคนไม่มีใครอยากเป็นคนไม่ดี แต่ที่เขาไม่ดีเพราะขาดโอกาส" จากประโยคดังกล่าวเเสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นในพระองค์ต่อศักยภาพของคน หากได้รับโอกาสจะสามารถช่วยให้ชีวิตเติบโตเเละพัฒนาได้
เเต่ทุกวันนี้การสร้างโอกาสกลับกลายเป็นการสร้างคนเป็น 'นักฉวยโอกาส' เอารัดเอาเปรียบกันในสังคม อาศัยความสามารถหรือสิ่งที่มีอยู่ทำให้ได้มาซึ่งเงินทองและเกียรติยศ ที่เป็นเช่นนี้เพราะสังคมกลายเป็น 'ระบบทุนนิยม'
เมื่อมองย้อนกลับไปในอดีต เลขาธิการมูลนิธิเเม่ฟ้าหลวง ระบุว่า ผู้คนพยายามหาวิธีการดำเนินการให้ได้มาซึ่งความสามารถที่สามารถแบ่งปันให้ผู้อื่นได้ ดังนั้นคนในยุคเราควรย้อนหันกลับไปมองบรรพบุรุษ ไม่ใช่เดินตามรอยแต่สิ่งที่ฝรั่งต่างชาติทำเพียงอย่างเดียว
"ช่วงอายุที่สามารถสร้างให้เกิดจิตสำนึกที่ดี และสามารถสร้างประเทศชาติต่อไปในอนาคต คือ วัยเด็ก ซึ่งพ่อแม่ต้องสร้างค่านิยมเหล่านี้อย่างถูกต้อง" ม.ร.ว.ดิศนัดดา กล่าว เเละว่า ตายก่อนคงไม่เกิดค่านิยมดังที่สมเด็จย่าตรัส หากไทยยังมีการยอมรับคอร์รัปชันกันได้ ซึ่งทุกคนคอร์รัปชันกันหมด มากน้อยดีกรีเเตกต่างกัน
เลขาธิการมูลนิธิเเม่ฟ้าหลวง กล่าวต่อว่า การพัฒนาคนอย่างยั่งยืนนั้นต้องถามว่า ต้องการให้คนในชาติบ้านเมืองมีลักษณะใด เพื่อให้สามารถพัฒนาสังคมได้ รวมถึงต้องหาวิธีใดลดความเหลื่อมล้ำที่มีกลุ่มคนรวยที่สุดในประเทศมากถึง 20% ถือครองทรัพย์สินกว่า 55% ขณะที่คนจนถือครองทรัพย์สินเพียง 4.6% ซึ่งความห่างมีมากถึง 12 เท่า ระหว่างคน 2 กลุ่ม
"ทำอย่างไรให้มีความเหลื่อมล้ำที่น้อยลง สร้างคนไทยให้มีความสุข ความสามัคคี รักใคร่ปรองดองกัน เเต่ต้องเเก้ปัญหาที่ 'สันดานคนไทย' ไม่ใช่แก้ที่กฎหมายอย่างเดียว "
ม.ร.ว.ดิศนัดดา กล่าวด้วยว่า ภายใต้ความวุ่นวายในสังคมไทย นับว่าคนไทยโชคดีที่มีสมเด็จย่าที่ประทานแนวทางในการพัฒนาคน สังเกตได้จากการอบรมสั่งสอนพระธิดาเเละพระโอรสมาเเต่ครั้นทรงพระเยาว์ โดยตรัสเสมอว่า “เรียนหนังสือให้ดี จะได้นำความรู้มาช่วยพัฒนาประเทศและคนไทย”
จากการอบรมสั่งสอนของสมเด็จย่า ทำให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจตามรอยพระมารดา จนปัจจุบันมีโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริมากกว่า 4,000 โครงการ เพื่อสร้างประโยชน์ให้ประชาชนของพระองค์
“สมเด็จย่าทรงมองการพัฒนาคนเป็นหลัก คนเจ็บทำงานไม่ได้ก็จน คนจนไม่มีเงินรักษาก็เจ็บ คนส่งลูกเรียนไม่ได้ก็ไม่มีความรู้ เมื่อไม่มีความรู้ก็ยิ่งจน เรื่องเหล่านี้เกี่ยวพันกันอยู่ ดังนั้นการเเก้ไขปัญหาของคนต้องทำทุกด้านพร้อมกันเเบบบูรณาการ"
ทั้งนี้ สิ่งที่สมเด็จย่าทรงดำเนินการเเก้ไข เลขาธิการมูลนิธิเเม่ฟ้าหลวง เห็นว่า อันดับเเรก คือ ด้านความเจ็บป่วย โดยเฉพาะปัญหาสุขภาพเเละการดำเนินชีวิต พระองค์ให้การช่วยเหลือด้วยการรับมาอยู่ในมูลนิธิที่ทรงเป็นประธาน อาทิ มูลนิธิช่วยคนโรคเรื้อน มูลนิธิิอนุเคราะห์คนพิการ
นอกจากนี้ พระองค์ทรงจัดตั้งมูลนิธิเเพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องความเจ็บป่วย โดยเฉพาะในเขตทุรกันดารที่เข้าไม่ถึงอุปกรณ์ทางการแพทย์ โดยผลการดำเนินงานที่มีการรักษาไปมากกว่า 10 ล้านคน
ม.ร.ว.ดิศนัดดา กล่าวอีกว่า สมเด็จย่าทรงพัฒนาด้านการศึกษาเเก่เด็กในพื้นที่ห่างไกล โดยจัดตั้งโรงเรียนตำรวจตระเวนชายเเดนกว่า 200 เเห่งทั่วประเทศ เเละจัดตั้งโครงการพัฒนาดอยตุงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มีพื้นที่ 90,315 ไร่ เพื่อเเก้ไขปัญหาความยากจนด้วย
ทั้งนี้ ยังมีอีกหลายโครงการที่มุ่งพัฒนาคน สอนให้มีความรู้ และนำไปสู่การพัฒนาต่อยอดได้ในที่สุด
"ผมทำงานเกี่ยวกับการเเก้ไขปัญหาความยากจน การลดความเหลื่อมล้ำ การทำให้ประชาชนอยู่ดีมีสุขมาตั้งแต่สมัยพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี เรื่อยมาจนปัจจุบัน เเต่ยังไม่มีรัฐบาลใดเหมือนกับรัฐบาลปัจจุบันที่เล็งเห็นเรื่องดังกล่าวมีความสำคัญยิ่งยวด เเละผลักดันกลายเป็นยุทธศาสตร์ของชาติอย่างจริงจัง
โดยหนึ่งในนั้น คือ ยุทธศาสตร์การพัฒนาตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในภาคการเกษตรชนบทจำนวน 25% โดยมีเป้าหมายดำเนินโครงการทั้งหมด 19,000 ครัวเรือนทั่วประเทศ ซึ่งผมมองเห็นว่าสิ่งนี้เป็นโอกาสที่ดี" เลขาธิการมูลนิธิเเม่ฟ้าหลวง ทิ้งท้าย .