มั่นใจ! ปี 57 ไทยส่งออกอาหารทะลุล้านล้านครั้งแรก ตั้งเป้าปีหน้าขยายตัวเพิ่ม 6.9%
สถาบันอาหารเผยตัวเลขส่งออกอาหาร 10 เดือนแรก ปี 57 มูลค่า 8.5 แสนล้านบาท มั่นใจสิ้นปีทะลุ 1 ล้านล้านบาท เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ข้าว-มัน-ไก่ ยังมีแนวโน้มเติบโตดี คาดปี 58 ยอดส่งออกแตะ 1.08 ล้านล้านบาท
วันที่ 16 ธันวาคม 2557 สถาบันอาหาร ร่วมกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จัดแถลงข่าวร่วม 3 องค์กร เรื่อง สถานการณ์ธุรกิจเกษตรและอาหารในปัจจุบัน และแนวโน้มในอนาคต ณ โรงแรม เดอะสุโกศล กรุงเทพฯ
นายเพ็ชร ชินบุตร ผอ.สถาบันอาหาร กล่าวถึงภาพรวมการส่งออกสินค้าอาหารไทย 10 เดือนแรก ปี 2557 ว่า มีการเติบโตมูลค่า 851,223 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีที่แล้ว เนื่องจากได้รับปัจจัยสนับสนุนจากเศรษฐกิจและการค้าในภูมิภาคขยายตัว โดยเฉพาะกลุ่มประเทศอาเซียนและจีน ทำให้ความต้องการสินค้าวัตถุดิบและสินค้าเพื่อการบริโภคขยายตัว ค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่าลง ราคาสินค้าเกษตรและวัตถุดิบอ่อนตัว จึงทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง สินค้าแข่งขันได้ดีขึ้น ประกอบกับ
ทั้งนี้ หากพิจารณาสินค้าส่งออกหลัก 8 สินค้า ผอ.สถาบันอาหาร พบว่า สินค้าที่มีมูลค่าการส่งออกเพิ่มสูงขึ้น ได้แก่ ข้าว มูลค่า 139,819 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 27.0 ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง มูลค่า 76,056 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 24.5 ไก่ มูลค่า 66,314 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 14.3 เครื่องปรุงรส มูลค่า 15,876 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 15.0 และสับปะรดกระป๋อง มูลค่า 13,915 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 10.0
ส่วนสินค้าที่มีมูลค่าการส่งออกลดลงนั้น ได้แก่ น้ำตาลทราย มูลค่า 73,123 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 6.5 เนื่องจากมีคุณภาพการผลิตลดลง ปลาทูน่ากระป๋อง มูลค่า 64,073 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 3.6 และกุ้ง มูลค่า 52,968 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 7.5% เนื่องจากเกิดภาวะโรคกุ้งตายด่วน
นายเพ็ชร กล่าวต่อว่า ตลาดส่งออกอาหารของไทยช่วง 10 เดือนแรก ปี 2557 พบ ภูมิภาคอาเซียน มีสัดส่วนส่งออกมากสุด ร้อยละ 22.1 รองลงมา ญี่ปุ่น ร้อยละ 12.9 จีน ร้อยละ 11.7 สหภาพยุโรป ร้อยละ 11.0 และสหรัฐฯ ร้อยละ 10.6 โดยสัดส่วนการขยายตัวในตลาดอาเซียนและจีนสูงมากขึ้น ขณะที่ตลาดญี่ปุ่น สหภาพยุโรป และสหรัฐฯ ต่ำลง
“ภาพรวมการส่งออกอาหารของไทยตลอดปี 2557 จะมีมูลค่า 1.01 ล้านล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.4 จากเดิมคาดว่า 9.8 แสนล้านบาท” ผอ.สถาบันอาหาร กล่าว และว่าเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ไทยสามารถส่งออกสินค้าแตะระดับมูลค่าล้านล้านบาทได้
นายเพ็ชร ยังกล่าวถึงแนวโน้มการส่งออกอาหารไทยปี 2558 คาดว่าจะมีมูลค่า 1.08 ล้านล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.9 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากเศรษฐกิจโลกขยายตัว เงินบาทอ่อนค่า ราคาน้ำมันลดลง ทำให้ส่งผลดีต่อต้นทุนการผลิตและขนส่ง นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาท รวมทั้งการเปิดตลาดใหม่ในรัสเซียที่หันมานำเข้าสินค้าจากไทยมากขึ้น
ส่วนปัจจัยเสี่ยงสำคัญ ได้แก่ ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ทำให้รายได้จากการส่งออกสินค้าอาหารลดลง อาทิ ข้าว น้ำตาลทราย ภาวะเงินฝืดที่เกิดขึ้นทั่วโลก ทำให้ผู้บริโภคระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอย ไทยถูกสหภาพยุโรปตัด GSP ทุกสินค้าตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นไป
“สินค้าส่งออกที่มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าว (+2.4%) ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง (+9.4%) ไก่ (+7.1%) กุ้ง (+20.4%) ปลาทูน่ากระป๋อง (+0.7% และเครื่องปรุงรส (+7.4%) แต่หากกุ้งฟื้นตัวจากโรคตายด่วนมากขึ้น ก็จะทำให้มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นอีก” ผอ.สถาบันอาหาร กล่าว และว่ามีเพียงสับปะรดที่อาจหดตัว (-3.0%) และน้ำตาลทราย (-5.4%) เนื่องจากความไม่แน่นอนทางวัตถุดิบและภัยแล้ง ทั้งนี้ ตลาดส่งออกที่น่าสนใจและคาดว่าจะมีแนวโน้มเติบโตได้ดี ปี 2558 ได้แก่ จีน เวียดนาม สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และรัสเซีย
ด้านนายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล ประธานคณะกรรมการธุรกิจเกษตรและอาหาร สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ระบุถึงสาเหตุที่การส่งออกของไทยปี 2557 มูลค่า 1.01 ล้านล้านบาท เพราะมีการส่งออกข้าวมากขึ้น ซึ่งเชื่อว่าจะยังเป็นสินค้าส่งออกระดับต้น ๆ และจะมีมูลค่าไม่ตกต่ำ หากมีการจัดการต้นทุนการผลิตที่ดี รวมถึงไม่มีนโยบายพิสดารเหมือนในอดีต
ส่วนการเปิดตลาดใหม่ในรัสเซีย ผู้แทนสภาหอการค้าฯ กล่าวว่า ผู้ประกอบการไทยต้องรีบเข้าไปสำรวจตลาดในรัสเซียให้มากขึ้น เพราะเมื่อยอมให้ไทยส่งหมูชุดแรกเข้าไปแล้ว อนาคตจะเจาะตลาดได้อีกต่อไป ทั้งนี้ เสนอให้รัฐบาลเร่งเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA) ระหว่างไทยกับกลุ่มสหภาพยุโรป เพราะหากมีการเจรจาพิเศษกับรัสเซียเพิ่มขึ้น จะทำให้เกิดสิทธิพิเศษ ดังนั้นต้องเร่งสร้างวิธีทำการค้าเเบบใหม่ อย่าปล่อยให้เป็นแบบนี้