เอ็นจีโอหนุนร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิตฉบับปชช. สร้างความเท่าเทียมทางเพศ
นักวิชาการด้านกฎหมาย ชี้ ไทยปลูกฝังชุดความคิดรักต่างเพศตั้งแต่เด็ก ระบุ พ.ร.บ.คู่ชีวิตตอบโจทย์โลกที่เปลี่ยนไป สร้างเพศหลากหลายมากขึ้น ขณะที่ ปชช.ผู้สนับสนุน เรียกร้องความเท่าเทียมกันของทุกคน-สิทธิหลังการแต่งงาน
เมื่อเร็วๆนี้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ร่วมกับมูลนิธิเพื่อสิทธิและความเท่าเทียมกันทางเพศ (For-SOGI) และ Documentary Club จัดงานเสวนาเรื่อง “ขอให้เราเท่าเทียมกัน: กฎหมายคู่ชีวิตเพื่อการแต่งงานที่เท่าเทียมในสังคมไทย” ณ ร้าน Eat@Double ชั้น 9 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ
รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวถึงการเท่าเทียมของเพศระหว่างสังคมตะวันตกและสังคมไทยว่า สังคมตะวันตกส่วนใหญ่จะเปิดกว้างเรื่องเพศมากกว่าประเทศไทย การจดทะเบียนสมรสในเพศเดียวกันของต่างประเทศนั้นสามารถทำได้และเป็นที่ยอมรับมากกว่าในไทย ขณะเดียวกันความก้าวหน้าทางด้านเสรีภาพก็มีปัญหาอยู่บ้าง เช่น ในฝรั่งเศสที่มีปัญหาเกิดขึ้น สำหรับประเทศไทยความรู้เรื่องเพศ เรื่องความรักครอบครัวเป็นสิ่งที่ยึดหลักว่ารักต้องต่างเพศเพียงเท่านั้น ซึ่งถูกปลูกฝังมาตั้งแต่เด็กๆ
"หากคิดนอกกรอบมากหรือรักเพศเดียวกันก็จะถูกมองว่าเป็นคนวิปริต เบี่ยงเบน เพราะฉะนั้นการมี พ.ร.บ.คู่ชีวิตจึงทำให้รู้ว่าบนโลกใบนี้มีชุดความคิดอื่นๆเกิดขึ้นซึ่งหลายคนต้องยอมรับความแตกต่างในส่วนนี้ โดยกฎหมายฉบับดังกล่าวจะเป็นการบ่งชี้ได้ว่าโลกได้เปลี่ยนไปแล้ว"
ด้านนางฉันลักษณ์ รักษาอยู่ มูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ กล่าวว่า พ.ร.บ.คู่ชีวิตฉบับนี้เป็นของภาคประชาชนซึ่งเป็นคนละฉบับที่กรมคุมครองสิทธิได้ออกมา แต่ก็ถูกเหมารวมว่า กฎหมาย 2 ฉบับนี้เป็นฉบับเดียวกัน ซึ่งมีความแตกต่างกันมาก อาทิ เรื่องชื่อที่มีความแตกต่าง และเรื่องอายุที่สามารถจดทะเบียนได้ซึ่ง พ.ร.บ.คู่ชีวิตสามารถจดทะเบียนสมรสได้เมื่ออายุ 20 ปี เพราะกรมคุ้มครองสิทธิมองว่ากลุ่มรักเพศเดียวกันไม่สามารถสืบพันธุ์ได้ ในขณะที่ พ.ร.บ.คู่ชีวิตสามารถจดทะเบียนสมรสได้ตั้งแต่อายุ 17 ปีบริบูรณ์ เป็นต้น อย่างไรก็ตามความแตกต่างของกฎหมายทั้ง2 ฉบับนี้ทำให้เกิดความแตกต่างหลายๆอย่าง
"จุดประสงค์การร่างและบังคับใช้ พ.ร.บ.คู่ชีวิตฉบับภาคประชาชนไม่ใช่เรื่องเฉพาะของคนที่รักเพศเดียวกันเท่านั้น แต่ทุกคนสามารถใช้ พ.ร.บ.ดังกล่าวได้หากมีความสอดคล้อง อีกทั้งหัวใจหลักของกฎหมายดังกล่าวคือ ความเท่าเทียมกันของทุกคน"
ขณะที่นายฐิติญานันท์ หนักป้อ ประชาชนผู้สนับสนุน พ.ร.บ.คู่ชีวิต กล่าวว่า การขับเคลื่อนให้เกิดกฎหมายคู่ชีวิตในครั้งนี้ไม่ใช่แค่เรียกร้องมากกว่าคนทั่วไป แต่อยากให้ทุกคนไม่ว่าจะเพศไหนมีสิทธิเท่าเทียมกัน สามารถแต่งงานกันได้ และมีสิทธิที่จะได้รับการยอมรับเหมือนกลุ่มคนต่างเพศ