ลูกทนายสมชาย รำลึก 2 ปี 'อ้ายสมบัด' ชี้บังคับคนสูญหาย ทำลายศักดิ์ศรีมนุษย์
คนหนุ่มสาวลุ่มน้ำโขงจัดงานรำลึก 2 ปี การหายไป ‘สมบัด สมพอน’ นักพัฒนาชาวลาว หวังทำลายวัฒนธรรม ‘ความเงียบ’ ร่วมยุติการบังคับบุคคลสูญหาย ‘ประทับจิต นีละไพจิตร’ ชี้กิจกรรมครั้งนี้สำคัญ แสดงออกความไม่ยอมจำนนต่อความรุนแรงในโลก
วันที่ 15 ธันวาคม 2557 เครือข่ายคนหนุ่มสาวลุ่มน้ำโขง ร่วมกับสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล และมูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ จัดงานรำลึก 2 ปี การหายไปของสมบัด สมพอน ‘ถ้าโลกนี้ไม่มีการอุ้มหาย’ ณ บริเวณห้องโถง สำนักกลางนักเรียนคริสเตียน
‘สมบัด สมพอน’ เป็นนักพัฒนาอาวุโสชาวลาว ผู้ก่อตั้งศูนย์ฝึกอบรมร่วมพัฒนา และเจ้าของรางวัลรามอน แมกไซไซ ปี 2548 มีบทบาทโดดเด่นในการพัฒนาชุมชนและสังคม โดยเน้นการถ่ายทอดบทเรียน ความรู้ร่วมกับทุกฝ่าย และยังเปิดพื้นที่ให้กับคนหนุ่มสาวได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ร่วมกันด้วย หายตัวไปเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2555 อย่างไร้คำอธิบาย ภายหลังถูกเรียกให้หยุดรถจากตำรวจจราจรบน ถ.ท่าเดื่อ กรุงเวียงจันทร์
น.ส.เปรมฤดี ดาวเรือง องค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิ่งแวดล้อม ในฐานะผู้เคยร่วมงานกับสมบัด สมพอน กล่าวว่า หากสมบัดยังอยู่จะเป็นแบบอย่างในความกล้าหาญและกำลังใจให้กับเยาวชนรุ่นใหม่กลายเป็นผู้นำด้านการพัฒนา เกิดสมบัด คนที่ 2, 3...100 เพื่อพาลาวก้าวเดินไปข้างหน้า และยืนหยัดเชิดหน้าชูตาในประชาคมโลกอย่างมีศักดิ์ศรีมากกว่าการตกเป็นเป้าที่ถูกจับจ้องและตั้งคำถาม
นอกจากนี้ลาวควรจะเปิดโอกาสให้นักพัฒนาและประชาชนได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น พัฒนากฎหมาย กติกา ต่าง ๆ และยอมรับความเท่าเทียม ซึ่งทั้งหมดคงไม่ใช่ภาพฝัน แต่เป็นสิ่งที่พวกเราในฐานะคนทำงานในลาวมาตลอดมีความหวัง และเกิดความชัดเจนมากขึ้นเมื่อเกิดกรณีสมบัดหายตัวไป
“การที่สมบัดหายตัวไปโดยไม่ทราบชะตากรรม มิได้ปราศจากคุณค่า แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อ 2 ปี ที่แล้ว ได้สร้างคุณค่าในตัวเอง และทำให้คนไทยต้องหันมามองตัวเราด้วยเหมือนกัน” ผู้แทนองค์กรพัฒนาเอกชนฯ กล่าว
ด้านน.ส.ประทับจิต นีละไพจิตร ผู้แทนมูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ ในฐานะบุตรสาวนายสมชาย นีละไพจิตร ที่หายตัวไป กล่าวถึงการพัฒนาด้านสิทธิมนุษยชนในไทยก้าวหน้าไปมาก ผิดกับในอดีตมักไม่ค่อยมีคนทราบว่า คนไม่ดีก็ต้องการเข้าถึงสิทธิมนุษยชนเช่นเดียวกับคนดี ซึ่งการที่คุณสมชายได้ผลักดันเรื่องดังกล่าวทำให้มองเห็นความคิดที่ก้าวหน้า และหากเขายังมีชีวิตอยู่จนถึงปัจจุบัน ไม่เพียงบทบาทในการเคลื่อนไหวเกี่ยวกับโครงสร้างกระบวนการยุติธรรมเท่านั้น แต่จะครอบคลุมไปถึงวัฒนธรรมการคิดและเข้าใจสิทธิมนุษยชนด้วย
ทั้งนี้ ภายหลังคุณสมชายหายตัวไป บุตรสาว ระบุว่า ในเชิงความคิดทำให้เห็นการบังคับให้บุคคลสูญหายทำลายสิทธิต่าง ๆ ที่ควรได้รับ และที่สำคัญ คือ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ที่มิได้เกิดเฉพาะพวกเขา หากยังรวมถึงครอบครัว ซึ่งจากกรณีศึกษาในประเทศศรีลังกาและเนปาล พบภรรยาต้องฆ่าตัวตายตามสามีที่สูญหาย ด้วยเพราะความผูกพันกับสถานะทางสังคม
น.ส.ประทับจิต กล่าวด้วยว่า คนตัวเล็กไม่สามารถต่อสู้กับอำนาจที่ยิ่งใหญ่ได้ จึงต้องขัดขืนต่อต้านการบังคับบุคคลให้สูญหายด้วยความทรงจำ การเล่าเรื่อง สร้างคำนิยาม ในความเป็นตัวตน เพื่อขึ้นมาแข่งขันกับการนิยามจากกระแสหลักของผู้มีอำนาจ ดังนั้นการจัดงานรำลึกเช่นนี้จึงมีความสำคัญ เพราะเป็นการแสดงออกถึงความไม่ยอมจำนนต่อความรุนแรงที่ได้ทำลายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์จำนวนมากในทวีปเอเชียและโลก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กิจกรรมที่จัดขึ้นครั้งนี้ได้มีการแสดงความคิดเห็นอย่างหลากหลาย โดยระบุถึงการบังคับให้บุคคลสูญหายถือเป็นอาชญากรรมที่ร้ายแรงของทวีปเอเชีย ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อครอบครัวผู้เสียหายเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อการร่วมไม้ร่วมมือในการสร้างประชาคมระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ทั้งนี้ ในช่วงท้าย เครือข่ายคนหนุ่มสาวลุ่มน้ำโขง ได้อ่านสารถึงองค์กรสิทธิมนุษยชนสากล โดยเห็นว่า ความรุนแรงจำนวนไม่น้อยเกิดขึ้นจากการไม่เปิดโอกาสหรือยอมรับการแสดงความคิดเห็นจากความแตกต่างหลากหลายในภูมิภาค จึงขอสนับสนุนกระบวนการเวทีเพื่อเปิดกว้างในการแสดงความคิดเห็น
นอกจากนี้การทำงานของนายสมบัด สมพอน นายสมชาย นีละไพจิตร นายพอละจี รักจงเจริญ และครอบครัวของผู้เสียหาย มองว่าเป็นแรงบันดาลใจสำคัญในการสานต่องานด้านสังคมให้เกิดสันติยุติธรรมในภูมิภาค พร้อมกับต้องการรณรงค์เพื่อให้ได้รับความจริงที่เกิดขึ้นกับบุคคลที่สูญหายและเรียกร้องให้เกิดกลไกในระดับภูมิภาคในการแสวงหาความจริงเพื่อแสวงหาความผิดรูปธรรม
“กิจกรรมครั้งนี้เพื่อทำลายวัฒนธรรม ‘ความเงียบ’ และส่งเสริมกำลังใจซึ่งกันและกันระหว่างคนรุ่นใหม่ในภูมิภาคในการยุติให้ความชอบธรรมกับการบังคับบุคคลสูญหาย เพื่อจะสร้างความหวังในระดับภูมิภาคต่อไป” .