น้ำท่วมไทย คำตอบมิใช่ “บางระกำโมเดล”
ฝนตกหนัก น้ำท่วม โคลนถล่ม คือปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นภาคเหนือซ้ำซาก นับวันจะรุนแรง นโยบาย แผนงาน การแก้ปัญหารายวันของกระทรวง ทบวง กรม ออกมาเป็นระยะ “บางระกำโมเดล” ที่จะเป็นต้นแบบในการแก้ปัญหาน้ำท่วม เป็นที่วิวาทะของคนในชุมชนและคนข้างนอก
บางระกำคือ ๑ ใน ๙ อำเภอของพิษณุโลก เป็นแหล่งรับน้ำน่าน, ยม, ปิงบางส่วน และทุกปีน้ำต้องท่วมบางระกำ สื่อ นักข่าว หน่วยงานวิ่งลงไปที่บางระกำน้ำกระจาย เรือแล่นกันว่อน พร้อมกับภาวการณ์จราจรติดขัด ถุงยังชีพ ตื่นเต้นคึกคักและคาดหวัง (ฝันว่า) จะแก้ปัญหาน้ำท่วมบางระกำได้ ภาคประชาชนก็ไม่น้อยหน้าเปิดศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยภาคประชาชนที่ห้องสมุดประชาชนอำเภอบางระกำ ระดมถุงยังชีพ จัดทำอาหาร เก็บข้อมูลผู้ตกหล่นพร้อมกับติดตาม “บางระกำโมเดล” เกิดวิวาทะกัน กระทบกระทั่งกันระหว่างภาคประชาชนกับหน่วยงานรัฐในพื้นที่
นี่คือความจริงของบางระกำโมเดล เสนอการขุดลอกคลอง บึงในพื้นที่ ติดตามด้วยประเด็นร้อนๆแก่งเสือเต้น ขาดรับกันเป็นทอดๆ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก นายปรีชา เรืองจันทร์ เสนอ “น้ำสายด่วน” (waterway) พร้อมกับการทักท้วงจากคนท้ายน้ำ พิจิตร นครสวรรค์ พื้นที่ใต้พิษณุโลก แก้ปัญหาที่พิษณุโลก และน้ำจะมาท่วมคนข้างล่าง ผู้ว่าฯ ยังเสนอให้ คนบางระกำปรับตัวโดยมีแนวทางแก้วิกฤตคือ “กาชาดแจกปลาผู้ว่าฯแจกเบ็ด”
บนความเป็นจริง น้ำท่วมพิษณุโลกไม่ใช่เฉพาะบางระกำ เขตอำเภอเมือง พรหมพิราม วัดโบสถ์น้ำก็ท่วม แม่น้ำน่านและแม่น้ำแควน้อย (มีเขื่อนก็ยังท่วม) น้ำป่าในพื้นที่เทือกเขาเพชรบูรณ์ถล่มอำเภอชาติตระการ นครไทย วังทอง เนินมะปรางจะไหลลงมาสมทบที่บางกระทุ่ม ทั้ง ๙ อำเภอของจังหวัดพิษณุโลก น้ำท่วมอย่างทั่วถึงทุกอำเภอ และยืนยันไม่เฉพาะบางระกำ แต่วันนี้พื้นที่อื่นๆ ถูกลืมและเงียบหายไปพร้อมกับการประโคมข่าวของสื่อ “น้ำท่วมบางระกำและบางระกำโมเดล” น้ำท่วมยังขังอีกยาวนานในบางพื้นที่คงลดลงต้นๆพฤศจิกายน
คำถามชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจะอยู่กันอย่างไร น้ำเน่า ยุงลาย แผลพุพอง ล้วนคือสิ่งที่เกิดขึ้นคาดว่าอีก ๓ เดือน นับแต่นี้ไปจะเงียบหาย ข้าวปลูก ไร่นา สวนที่พังพินาศจะทำอย่างไร นี่คือความเป็นจริงของผู้ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมจังหวัดพิษณุโลก
สรุปรายงานสถานการณ์อุทกภัยจังหวัดพิษณุโลก ณ วันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๕๔ ของสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดพิษณุโลก สรุปรวมพื้นที่ได้รับผลกระทบจำนวน ๙ อำเภอ ๘๔ ตำบล ๖๗๐ หมู่บ้าน ถนนได้รับผลกระทบจำนวน ๓๒ สาย, บ่อปลา ๓๓๘ บ่อ, เป็ด ๙๗ ตัว, กบ ๕๐๐ ตัว, กระบือ ๒ ตัว, สุกร ๑๕ ตัว, ไก่ ๑๐๐ ตัว ราษฎรเสียชีวิตจำนวน ๕ ราย พื้นที่การเกษตรได้รับผลกระทบจำนวน ๓๓๙,๙๖๒ ไร่ บ้านพักอาศัยเสียหายบางส่วนจำวน ๒ หลัง, โรงเรียน ๗ แห่ง, วัด ๒ แห่ง สะพาน ๑ แห่ง พนังกั้นน้ำ ๑ แห่ง คอสะพาน ๒ แห่ง ราษฎรได้รับความเดือดร้อนจำนวน ๒๒,๑๙๐ ครอบครัว ๗๘,๒๔๒ คน
นี่คือข้อสรุปความเสียหายบางส่วนของพื้นที่พิษณุโลก มิใช่บางระกำที่ประสบภัยพิบัติ บางระกำโมเดลเป็นเพียงวาทกรรมทางการเมืองของนักการเมือง พร้อมการขานรับของแต่ละหน่วยงาน เสนอแผนและงบประมาณ มันต่างอะไรกับการแก้ปัญหาที่ผ่านมา จนถึงวันนี้ ๒๐-๓๐ วันแล้ว การแก้ปัญหาตามแนวทางบางระกำโมเดล น้ำก็ยังท่วม ชาวบ้านก็ยังทุกข์ยากลำบาก ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง หรือเป็นเหมือนบางท่านว่า ดีแต่โม้
อีกฟากฝั่งพื้นที่ของพิษณุโลกลำน้ำน่าน– แควน้อยไหลบรรจบกัน พื้นที่หมู่ ๗, หมู่ ๙ ตำบลจอมทอง อำเภอเมือง พิษณุโลก ที่ดำเนินวิถีชีวิตสอดคล้องกับสายน้ำ ๒ สายหลัก สองแควเป็นที่มาของชื่อดั้งเดิมของพิษณุโลก สวนไม้ผลระบบเกษตรดั้งเดิม ระบบเกษตรริมน้ำ แหล่งพันธุกรรมท้องถิ่น (พันธุ์พืชพันธุ์สัตว์ท้องถิ่น) แหล่งสุดท้ายของลำน้ำน่าน ทุ่งลาดแหล่งทำนาที่อุดมสมบูรณ์ หนองน้ำจีน บึงคู มีชีวิตอยู่อย่างมีความสุขบนฐานวิถีชีวิตชุมชนท้องถิ่นน่าน-แควน้ำ
คนในชุมชนอาศัยรายได้หลักจากการทำนา เก็บผักในสวนดั้งเดิม หาปลาในบึง ลำน้ำน่านแควน้อย บางส่วนเก็บขายตลาดบ้านกร่าง ที่ผ่านมาชุมชนกำลังเริ่มรวบรวม ขยายพันธุ์พืช - พันธุ์สัตว์ท้องถิ่นใน “ครอบครัวสร้างโลกเย็น” แต่วันนี้น้ำท่วมขังมาแล้วตั้งแต่วันที่ ๑๗ สิงหาคม ๒๕๕๔ น้ำท่วมจากน้ำแควน้อยและน้ำน่าน ทั้งที่ ๒ แม่น้ำหลักมีเขื่อนขนาดใหญ่และที่ซ้ำร้าย น้ำจากแม่น้ำแควน้อยเน่าเร็วกว่าปรกติ
ชาวบ้านซุบซิบกันว่า “น้ำเน่าตั้งแต่อยู่ในเขื่อนแล้ว” ปลาบางชนิดไม่สามารถอยู่ได้ ผู้หวังดีบอกว่าปรับตัวหาปลา แต่ความเป็นจริงปลาหาไม่ได้เพราะน้ำเน่าคัน ความเสียหาย ๒ หมู่บ้าน (บ้านโพธิ์ทองและบ้านจอมทอง) ถือว่าเสียหายมหาศาล นาตายเรียบ สวนที่จะเป็นแหล่งพึ่งพิงแหล่งสุดท้ายพอยังชีพที่จะเป็นอาชีพต่อลมหายใจไม้ยืนต้นตาย ไม้ผลอายุ ๔-๖ ปี ที่มีหลายร้อยไร่รวมกันคาดว่าตายยกสวน ความโหดร้าย ที่เกิดขึ้นกับคนจอมทองที่ถูกลืม
“ปีนี้น้ำมาเร็วกว่าปกติ เปลี่ยนทางน้ำ ธรรมดาน้ำท่วมจะเป็นกันยายน ตุลาคม ช่วงสิงหาคมจะเป็นช่วงเก็บเกี่ยวข้าว หลังจากนั้นน้ำจะท่วมหาปลาได้ ที่ซ้ำร้ายน้ำขัง น้ำเน่า ยุง พันธุ์ไม้ผล นาข้าวตายหมด ทุกครอบครัว การแจกข้าวของถุงยังชีพทำให้ชุมชนทะเลาะกัน คนแจกก็ไม่เข้าใจ คนรับก็ไม่เข้าใจจิตใจคนแจก" นี่คือบางส่วนของคำพูดนายสุทธิเวชย์ เอี่ยมเนตร แกนนำในหมู่ ๗ ตำบลจอมทอง
“ทำนามีหนี้สิน สามีสุขภาพไม่ดีกะว่าปีนี้หลังเก็บเกี่ยวข้าว จะลดการทำนาจะไม่เช่าต่อ หันมาทำสวนปลูกไม้ผล ปลูกผักตอนนี้อายุ ๔-๕ ปีแล้ว ปีนี้ทั้งนา สวนผัก ไม้ผล น้ำท่วมตายเรียบ เขื่อนแควน้อยน้ำจะไม่ท่วมไม่จริง คิดไม่ออกจะทำอะไรต่อก็คงรับจ้างรอน้ำลด ตอนนี้น้ำเน่ายุงลายมาก ที่เคยท่วมประจำไม่ท่วม แต่เปลี่ยนที่ท่วม" นี่คือคำกล่าวทิ้งท้ายของนางวรรณา ศรีพูล ๑ ใน ๑๐๒ คนของครอบครัวสร้างโลกเย็นที่หวังจะพลิกฟื้นระบบเกษตรพื้นบ้านริมน้ำน่าน
ตำบลท่าช้าง มะตูม คลองเมฆ ไม่แตกต่างกับจอมทองกับบางระกำ คือความเดือดร้อนของคนในชุมชนที่จะส่งผลต่อวิถีชีวิตระยะยาวที่เกิดจากภัยพิบัติอยู่ในภาวะล่มสลายของเทือกสวนไร่นา หนทางข้างหน้ามืดมิด แต่ไร้คนสนใจ ทั้งผู้คน หน่วยงานรัฐ ฤาพิษณุโลกคือบางระกำ
น้ำท่วมภัยพิบัติ “จอมทอง” ทำให้ชุมชนได้มาพูดคุยแลกเปลี่ยน แสวงหาทางออก นอกจากการมารับถุงยังชีพมีทั้งแผนระยะสั้นระยะยาวที่จะอยู่รอด เป็นเพียงการเริ่มต้นพูดคุยกันผ่านการแลกเปลี่ยนสถานการณ์และให้กำลังใจกันแสวงหาทางออกอย่างต่อเนื่องรวมทั้งการนำแผนที่มา ประกอบการวิเคราะห์เบื้องต้น เพื่อพัฒนาเป็นแนวทางสู่อนาคต
๑. ระยะเร่งด่วน
- สุขาเคลื่อนที่เพิ่มจำนวน ๑ จุด เนื่องจากความช่วยเหลือที่มีมาให้ยังไม่ครอบคลุมจุดที่มีผู้เดือดร้อน น้ำดื่ม เนื่องจากน้ำประปาหมู่บ้านไม่สามารถใช้ดื่มได้ ข้าวสารและอาหารแห้ง ถึงแม้จะมีความช่วยเหลือมาจากหลายหน่วยงานแล้ว แต่สิ่งเหล่านี้ก็เป็นสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิต และสามารถเก็บไว้ได้นาน อาหารเหลวสำหรับผู้ป่วย แพมเพิร์สสำหรับผู้สูงอายุ EM สำหรับบำบัดน้ำเสียรอบพื้นที่อยู่อาศัย การกำจัดยุง ไฟฉาย ทรายอะเบท เพื่อการกำจัดยุงลาย
๒. ระยะกลาง
- เมล็ดพันธุ์ข้าวจ้าว, เมล็ดพันธุ์ผัก และต้นพันธุ์ไม้ผล เพื่อทดแทนพืชที่สูญเสียไป และที่เป็นแหล่งอาหารของชุมชน เครื่องสูบน้ำออกจากพื้นที่สวนที่ไม่มีทางระบาย ภายหลังจากที่น้ำจากแม่น้ำลดลงแล้ว เพื่อช่วยกำจัดน้ำเสียและสามารถทำการเกษตรได้ ชุมชนคิดว่าการสูบน้ำยังไม่ควรดำเนินการในระยะแรกเนื่องจากน้ำจากแม่น้ำยังหนุนอยู่หากสูบน้ำออกในช่วงนี้น้ำก็จะซึมกลับมาอีกทำให้สูญเสียพลังงานและงบประมาณ อาชีพนอกภาคเกษตรที่พอจะยังชีพได้ ข้าวสารที่จะสามารถมีชีวิตอยู่ได้ในช่วงรอผลผลิตทางการเกษตร
๓. ระยะยาว
- การพัฒนาระบบเกษตรที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตและนิเวศน์วัฒนธรรมท้องถิ่น การสร้างพนังกั้นน้ำระยะทางประมาณ ๑๐ กิโลเมตรเพื่อช่วยป้องกันน้ำล้นเข้าท่วมพื้นที่นา พื้นที่สวน บ้านเรือน
นี่คือรูปแบบการเริ่มต้นการแก้ปัญหาของชุมชน บางส่วนลงมือทำด้วยตนเอง อาจจะบอกได้ว่า ต้นแบบในการแก้ปัญหาของภาคประชาชน อยากจะบอกให้ว่า “บางระกำโมเดล” มาดูที่ “จอมทองโมเดล” เป็นแนวทางของคนในชุมชนระยะยาวที่จะอยู่กับน้ำท่วมภัยพิบัติให้อยู่รอดได้ ถึงจะตอบไม่ได้ว่า ปีต่อไปน้ำจะท่วมอีกไหม แต่ชุมชนกล้าที่จะอยู่ และปรับตัวอยู่ท่ามกลางภัยพิบัติทางธรรมชาติน้ำท่วมพิษณุโลก .