เอกสารครบ!ปมขัดแย้ง“บัณฑิต”พวก ปลด“นพพร”พ้นบริษัท-ก่อนคดีอุ้ม 100 ล.
เปิดเอกสารครบชุด“นพพร ศุภพิพัฒน์”แตกหัก“บัณฑิต โชติวิทยะกุล”ฝ่ายหลังรวบรวมผู้ถือหุ้นเรียกประชุม ปลดฝ่ายแรกพ้นกรรมการ ก่อนเกิดปัญหาฟ้องร้อง คดีอุ้มบังคับลดหนี้ 100 ล้าน
ความขัดแย้งภายในบริษัทชื่อ กริฟฟอน อินเตอร์เนชั่นแนล โฮลดิ้ง จำกัด ระหว่าง นายนพพร ศุภพิพัฒน์ กับ นายบัณฑิต โชติวิทยะกุล จนนำมาสู่การฟ้องร้องเป็นคดีความในช่วงต่อมานั้น ข้อเท็จจริงจะมาจากการยืมเงินบริษัทฯตามที่นายนพพรที่เปิดเผยผ่านเฟซบุ๊คก่อนหน้านี้หรือไม่?
กระนั้นหลักฐานเชิงประจักษ์ที่เห็นถึงความขัดแย้งในอดีตของบุคคลสองฝ่ายก็คือการเรียกประชุมผู้ถือหุ้นของนายบัณฑิตกับพวก 2 คน รวม 3 คนปลดนายนพพรออกจากกรรมการบริษัทฯเมื่อ 29 มี.ค.44
(อ่านประกอบ:ไขปมแตกหักธุรกิจ“นพพร-บัณฑิต”ก่อนคดีจ้างกลุ่ม“พงศ์พัฒน์”อุ้มลดหนี้100ล.)
ล่าสุดสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org เรียบเรียงเอกสารมาเสนอแบบชัดๆดังนี้
9 ก.พ.2544 นายบัณฑิตกับผู้ถือหุ้นอีก 2 คน คือ นายบุญเลิศ เกียรติศรีธารา และ นางวินิดา หรือ วนิดา สันติวราคม ส่งหนังสือถึงนายนพพร ศุภพิพัฒน์ ในฐานะกรรมการบริษัท กริฟฟอนฯ ขอให้เรียกประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1 /2554
มีข้อความว่า นายบุญเลิศ เกียรติศรีธารา นายบัณฑิต และ นางวินิดา หรือ วนิดา สันติวราคม ในฐานะผู้ถือหุ้นซึ่งรวมกันได้ 6 ล้านหุ้น (นายบุญเลิศ 2 ล้านหุ้น นายบัณฑิต 1 ล้านหุ้น และ นางวินิดา 3 ล้านหุ้น เกินกว่า 1 ใน 5 ของจำนวนหุ้นของบริษัทฯ) ขอให้นายนพพร ในฐานะกรรมการบริษัท ฯ เรียกประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2544 เพื่อพิจารณาเรื่อง ถอดถอนกรรมการ และแต่งตั้งกรรมการบริษัทฯชุดใหม่ และเรื่องอื่นรวม 4 เรื่อง “โดยรีบด่วนด้วย”
17 มี.ค.2544 นายบุญเลิศ เกียรติศรีธารา นายบัณฑิต และ นางวินิดา มีหนังสือถึงผู้ถือหุ้นบริษัทฯ ใจความสรุปว่า ตามที่นายบุญเลิศ เกียรติศรีธารา นายบัณฑิต และ นางวินิดา ได้ขอให้นายนพพรเรียกประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อพิจารณาเรื่องถอดถอนกรรมการ แต่นายนพพรมิได้เรียกประชุมผู้ถือหุ้นภายใน 30 วัน นับแต่วันรับหนังสือ ดังนั้นนายบุญเลิศ เกียรติศรีธารา นายบัณฑิต และ นางวินิดา จึงขอเรียกประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ในวันที่ 29 มี.ค.44 เวลา 14.30 น. ณ บ้านเลขที่ 33 อาคารเอส เอ็น ซี ชั้น 10 อี ถ.สุขุมวิท ซอย 4 (นานาใต้) แขวงคลองเตย กรุงเทพฯ เพื่อพิจารณาเรื่องถอดกรรมการ แต่งตั้งกรรมการชุดใหม่ และอื่นๆ
(ดูเอกสารประกอบ)
29 มี.ค.44 บันทึกรายงานการประชุมของบริษัท กริฟฟอนฯ ที่จัดทำขึ้นโดยฝ่ายของนายบัณฑิตระบุว่า
“เนื่องจาก บริษัทฯ ไม่มีประธานกรรมการ ที่ประชุมผู้ถือหุ้นได้รอจนล่วงเวลานัดไปแล้วสิบห้านาที จึงได้ลงมติเป็นเอกฉันท์เลือกนายบัณฑิต โชติวิทยะกุล เป็นประธานที่ประชุม และ มีมติถอดนายนพพรออกจากตำแหน่งกรรมการบริษัทฯ โดยให้เหตุผลว่า ไม่เหมาะสมที่จะเป็นกรรมการ เนื่องจากไม่เคยมีหนังสือเรียกประชุมผู้ถือหุ้น และไม่เคยแจ้งผลการดำเนินงานของบริษัทให้ผู้ถือหุ้นทราบ และที่ประชุม แต่งตั้งนายวงศ์วสุ สันติวราคม และนายบัณฑิต โชติวิทยะกุล เป็นกรรมการชุดใหม่แทน และที่ประชุมลงมติให้นายวงศ์วสุ สันติวราคม และนายบัณฑิต ซึ่งเป็นกรรมการขงบริษัทฯ เป็นผู้ดำเนินการยื่นคำขอจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการ ต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร
(ดูเอกสารประกอบ)
ในเอกสารการประชุมวันดังกล่าวมีผู้ร่วมประชุม 3 คนคือ นายวงศ์วสุ สันติวราคม (เข้าร่วมประชุมแทนนายบุญเลิศ เกียรติศรีธารา) นายบัณฑิต และ นายสมยศ สุขเจริญ (เข้าร่วมประชุมแทนนางวินิดา หรือ วนิดา สันติวราคม) นายนพพร ศุภพิพัฒน์ และผู้ถือหุ้นรายย่อยอีก 6 คน รวม 7 คน ไม่ได้เข้าร่วมประชุมด้วย
12 เม.ย.2544 นายวงศ์วสุ สันติวราคม และ นายบัณฑิต โชติวิทยะกุล ในฐานะกรรมการบริษัท กริฟฟอนฯ มอบอำนาจให้นายวีระชัย ปราณี ยื่นจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมจำนวนกรรมการ อำนาจกรรมการและตราของบริษัทฯ ต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพฯ
9 พ.ค.2544 นายนพพร ศุภพิพัฒน์ มอบอำนาจให้นายพิศาล มีสมนัย ยื่นหนังสือคัดค้านการจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมกรรมการและกรรมการผู้มีอำนาจแทนบริษัทต่อนายทะเบียน (สำนักงานบริการจดทะเบียนธุรกิจ 2)
(ดูเอกสารประกอบ)
โดยระบุว่า นายนพพรเพิ่งได้รับเอกสารการจัดทะเบียนแก้ไขกรรมการ หนังสือเชิญประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1 ลงวันที่ 17 มี.ค. 44 (จากนายบัณฑิตกับพวก)และ รายงานการประชุม ในวันนี้ (9 พ.ค.2544 )
อ้างว่าการประชุมในวันดังกล่าวมิชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากนายนพพรในฐานะกรรมการไม่ทราบเรื่องที่ผู้ถือหุ้นทำหนังสือขอให้เรียกประชุม เชื่อว่ามีการปกปิดที่จะส่งจดหมายถึงนายนพพรเพราะต้องการปลดนายนพพรออกจากกรรมการ และขอคัดค้านการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการ และจะส่งเอกสารเพิ่มเติมภายใน 7 วัน
11 พ.ค.2544 นายนพพรยื่นหนังสือคัดค้านการจดทะเบียนเพิ่มเติม ต่อนายทะเบียน (สำนักงานบริการจดทะเบียนธุรกิจ 2) ใจความสรุปว่า ไม่เคยได้รับหนังสือเรียกประชุมผู้ถือหุ้น ไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับของบริษัทกรณีไม่ลงโฆษณาในสื่อสิ่งพิมพ์ การเรียกประชุมวันดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
(ดูเอกสารประกอบ)
11 พ.ค.2544 นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร (ผ่านความเห็นชอบจากนายทะเบียนการค้า ,ผอ.สำนักงานบริการจดทะเบียนธุรกิจ 2 , อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า) มีความเห็นตรงกันว่าการเรียกประชุมผู้ถือหุ้นจำนวน 3 ราย จำนวน 6 ล้านหุ้น ของนายบัณฑิตกับพวก เกินกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนหุ้นทั้งหมด (จำนวนหุ้นทั้งหมดมี 10 ล้านหุ้น) และลงโฆษณา เรียกประชุมผ่านหนังสือพิมพ์สายกลาง วันที่ 19 กับ 20 มี.ค. ก่อนวันประชุมไม่น้อยกว่า 7 วันตามกฎหมาย ถือกระทำโดยชอบด้วยกฎหมาย และได้ส่งหนังสือเรียกประชุมทางไปรษณีย์ลงทะเบียนไปยังสำนักงานใหญ่บริษัทฯและที่อยู่ตามภูมิลำเนาของนายนพพรแล้ว การประชุมวันที่ 29 มี.ค.44 มีผู้เข้าประชุมนับจำนวนหุ้นได้ 6 ล้านหุ้นจากจำนวนหุ้นทั้งสิ้น 10 ล้านหุ้นผู้เข้าประชุมได้ลงมติเอกฉันท์เปลี่ยนแปลงแก้ไขตามที่ได้ยื่นจดทะเบียน
จึงเห็นว่า “ขอโต้แย้งของนายนพพร ไม่อาจรับฟังไม่ได้”
เห็นควรรับจดทะเบียนคำขอเปลี่ยนแปลงกรรมการ อำนาจกรรมการและตราของบริษัทตามคำขอของนายบัณฑิตและนายวงศ์วสุ สันติวราคม เมื่อวันที่ 12 เม.ย.44 ได้
(ดูเอกสารประกอบ)
เป็นอันว่า นายนพพรพ้นจากกรรมการบริษัทฯ
ในส่วนของบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นพบว่า นายบุญเลิศ นายบัณฑิต และนางวินิดา ถือหุ้นใหญ่บริษัท กริฟฟอนฯ เรื่อยมา จนถึงวันที่ 23 มี.ค.52 บุคคลทั้งสามคนได้โอนหุ้นที่ถือหุ้นจำนวน 6 ล้านหุ้นให้ บริษัท บี ซี อินทิลิเจ็นท์ จำกัด (บริษัทกลุ่มนายวงศ์วสุ สันติวราคม )ขณะที่ นายนพพรกับพวก ยังปรากฏชื่อ ถือ รวม 4 ล้านหุ้น
กระทั่ง 2 พ.ค.55 ชื่อของนายนพพร กับผู้ถือหุ้นกลุ่มวิชัยดิษฐรวม 7 คน หายไปจากรายชื่อผู้ถือหุ้น บริษัทฯมีผู้ถือหุ้น 3 รายคือ นายวงศ์วสุ สันติวราคม3,999,999 หุ้น นายสมผล ตระกูลรุ่ง (ทนายความ 1 หุ้น) และ บริษัท บี ซี อินทิลิเจ็นท์ จำกัด จำนวน 6 ล้านหุ้น
เก็บฉาก ชื่อของนายนพพร ศุภพิพัฒน์ ในบริษัท กริฟฟอนฯ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
อ่านประกอบ:
เปิดตัว“บัณฑิต”เจ้าหนี้“นพพร”เหยื่อคดีอุ้มเครือข่าย พงศ์พัฒน์-พวก
เปิด 12 บริษัท"นพพร"มือจ้างอดีตคนสกุลอัครพงศ์ปรีชาอ้างเบื้องสูงเจรจาลดหนี้ 100 ล.
เปิด 5 คนสกุล“อัครพงศ์ปรีชา”ในบริษัทครอบครัว“สุดาทิพย์-ณรงค์”
เจาะข้อมูล"ไพเชษฐ์"กก.รถเมล์สาย 8 ถูกหมายจับอวดอ้างบิ๊กตร.ช่วยเจรจาลดหนี้
พลิกปูม “ณรงค์ อัครพงศ์ปรีชา” อดีตขรก.สำนักพระราชวัง คดีอ้างเบื้องสูง
พลิกปูมหลังลึก 5 ผู้ต้องหา คดีอ้างสถาบันเบื้องสูงเครือข่าย“พงศ์พัฒน์”
ขุมธุรกิจ“อัครพงศ์ปรีชา-ม่วงนวล”คดี“พงศ์พัฒน์”
เปิดรีสอร์ท พ.ต.อ.โกวิท-สุดาทิพย์ โยงคดีพงศ์พัฒน์ ก่อนได้ประกันตัว
ราชเลขานุการฯ ทำหนังสือแจ้งยกเลิกชื่อสกุลพระราชทาน “อัครพงศ์ปรีชา”