ไขปมแตกหักธุรกิจ“นพพร-บัณฑิต”ก่อนคดีจ้างกลุ่ม“พงศ์พัฒน์”อุ้มลดหนี้ 100 ล.
สืบค้นเอกสารดูรอยความขัดแย้ง“นพพร ศุภพิพัฒน์ – บัณฑิต โชติวิทยะกุล”3 หุ้นส่วน ผ่านศึกชิงอำนาจบริหารใน บ.กริฟฟอนฯ ฝ่ายหลังร่อนหนังสือเรียกประชุมปลดฝ่ายแรก ก่อนเกิดคดีใช้บริการ“เสธ.เจี๊ยบ”-เครือข่าย“พงศ์พัฒน์”กับพวก อุ้มบังคับลดหนี้ 100 ล้าน
กรณีความขัดแย้งระหว่าง นายนพพร ศุภพิพัฒน์ นักธุรกิจพลังงานเจ้าของบริษัท รีนิวเอเบิล เอนเนอยี คอร์เปอร์เรชั่น จำกัด กับนายบัณฑิต โชติวิทยะกุล จนนำมาสู่คดีการว่าจ้างเครือข่ายพล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์ อดีตผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (ผบช.ก.) กับพวก เพื่อเจรจาลดหนี้จำนวน 120 ล้านบาทเหลือ 20 ล้านบาท จนถึงขณะนี้ยังไม่มีใครรู้เบื้องลึกที่แท้จริงถึงชนวนความขัดแย้งและหนี้สินก้อนดังกล่าวมีที่มาจากอะไร?
มีเพียงคำพูดของนายนพพรผ่านเฟสบุ๊กสรุปว่า ได้ร่วมหุ้นธุรกิจกับนายบัณฑิต และเพื่อนอีก 2 คน บริษัทชื่อ กริฟฟอน อินเตอร์เนชั่นแนล โฮลดิ้ง จำกัด และปี 2543 ได้ยืมเงินบริษัทฯจำนวน 17 ล้าน ซึ่งการยืมเงินดังกล่าวผู้ถือหุ้นคนอื่นรับทราบ ต่อมาได้ชดใช้คืน ในรูปของการชำระหนี้ให้กับเจ้าหนี้ของบริษัทฯ(ซึ่งเป็นสถาบันการเงิน) จำนวน 8.9 ล้านบาทในปี 2547 และ ชำระคืนบริษัทฯ อีก 17 ล้านบาท ในปี 2555 โดยไปทำยอมความกันที่ศาลฎีกาในเดือนเมษายน 2555 มีเพียงนายบัณฑิตเพียงคนเดียวที่ไม่ยอมความ จึงเกิดปัญหาร้องฟ้องต่อศาลฐานยักยอกทรัพย์ และเป็นที่มาของการเจรจากับนายบัณฑิตหลายครั้งเพื่อขอให้ถอนฟ้อง และเปิดเจรจากันในปี 2557 โดยมี น.ท.ปริญญา รักวาทิน หรือ เจี๊ยบ กรรมการผู้จัดการบริษัทเรือด่วนเจ้าพระยา เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ( ผู้ชักนำให้นายนพพรรู้จักกับนายชากานต์ ภาคภูมิ ผู้ต้องหาคดีอุ้มนายบัณฑิตมาเจรจาลดหนี้)
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าการยืมเงินบริษัทฯ 17 ล้าน และการอ้างว่าชดใช้คืนไปแล้วรวม 25.9 ล้านจะมีข้อเท็จจริงหรือไม่?
มีกรณีหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงความขัดแย้งระหว่างนายนพพร กับ นายบัณฑิต อย่างชัดเจน คือการชิงอำนาจบริหารในบริษัท กริฟฟอน อินเตอร์เนชั่นแนล โฮลดิ้ง จำกัด ในช่วงต้นปี 2544 (ภายหลังกรณียืมเงิน 17 ล้านปี 2543) ซึ่งปัจจุบันบริษัทฯดังกล่าวมีนายบัณฑิต โชติวิทยะกุล เป็นกรรมการและถือหุ้นใหญ่
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.rg สืบค้นข้อมูลและเรียบเรียงมาเสนอดังนี้
บริษัท กริฟฟอน อินเตอร์เนชั่นแนล โฮลดิ้ง จำกัด จดทะเบียนวันที่ 29 พ.ค.39 ทุน 300 ล้านบาท ประกอบกิจการประมูลเพื่อรับจ้างทำของ ที่ตั้งเลขที่ 916/21 ซอยสุขุมวิท 55 (ทองหล่อ) ถ.สุขุมวิท แขวงคลองตัน เขตคลองเตย กรุงเทพฯ มีผู้ถือหุ้น 7 คนคือ
1.นายนพพร ศุภพิพัฒน์ (ขณะอายุ 25 ปี) 2.นายศุภฤกษ์ วิชัยดิษฐ 3.นางจินตนา วิชัยดิษฐ 4.นายอารมณ์ วิชัยดิษฐ 5.นางอำภา วิชัยดิษฐ 6.นายสุพจน์ วิวัฒน์ และ7.นายสมบัติ วาษะ โดยนายนพพร ศุภพิพัฒน์ เป็นผู้เริ่มก่อการผู้ขอจดทะเบียน
ต่อมา วันที่ 11 เมษายน 2540 มีผู้ถือหุ้น 9 ราย ผู้ถือหุ้นใหญ่ 3 ราย
1.นายนพพร ศุภพิพัฒน์ 20,999,994 หุ้น
2.นายบุญเลิศ เกียรติศรีธารา 6,000,000 หุ้น ( 6 ล้านหุ้น)
3.นายบัณฑิต โชติวิทยะกุล 3,000,000 หุ้น ( 3 ล้านหุ้น)
จากทั้งหมด 30 ล้านหุ้น (มูลค่าหุ้นที่ชำระแล้ว 7.50 บาท)
นายนพพร ศุภพิพัฒน์ เป็นกรรมการ
31 ธ.ค.40 นายนพพรในฐานะกรรมการบริษัทฯ ยื่นจดทะเบียนลดทุนจดทะเบียนบริษัทฯ เหลือ100 ล้านบาท
จุดแตกหักเกิดขึ้นเมื่อ
12 เม.ย.2544 นายวงศ์วสุ สันติวราคม และ นายบัณฑิต โชติวิทยะกุล ในฐานะกรรมการบริษัท กริฟฟอนฯ ยื่นจดทะเบียนต่อสำนักนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร แก้ไขเปลี่ยนแปลงกรรมการ โดย ให้ นายนพพร ศุภพิพัฒน์ ออกจากตำแหน่งกรรมการ และ นายวงศ์วสุ สันติวราคม และนายบัณฑิต โชติวิทยะกุล เข้ามาเป็นกรรมการ แทน พร้อมทั้งแก้ไข
“ข้อ 6. จำนวนกรรมการซึ่งจะลงชื่อเป็นสำคัญผูกพันบริษัทได้คือ กรรมการสองคนลงลายมือชื่อร่วมกันและประทับตราสำคัญของบริษัท”
พร้อมกับแนบหนังสือ 3 ชิ้นเป็นหลักฐาน
เอกสารชิ้นแรก หนังสือลงวันที่ 9 ก.พ.2544 นายบัณฑิตกับผู้ถือหุ้นอีก 2 คน ส่งถึงนายนพพร ในฐานะกรรมการบริษัท กริฟฟอนฯ ขอให้เรียกประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1 /2554 ระบุว่า
นายบุญเลิศ เกียรติศรีธารา นายบัณฑิต และ นางวินิดา หรือ วนิดา สันติวราคม ในฐานะผู้ถือหุ้นซึ่งรวมกันได้ 6 ล้านหุ้น (นายบุญเลิศ 2 ล้านหุ้น นายบัณฑิต 1 ล้านหุ้น และ นางวินิดา 3 ล้านหุ้น เกินกว่า 1 ใน 5 ของจำนวนหุ้นของบริษทฯ) ขอให้นายนพพร ในฐานะกรรมการบริษัท กริฟฟอนฯ เรียกประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น เพื่อพิจาณาเรื่องถอดถอนกรรมการ และแต่งตั้งกรรมการบริษัทฯชุดใหม่
เอกสารชิ้นที่สอง หนังสือ เรียกประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2544 ลงวันที่ 17 มี.ค.44 ระบุว่า นายบุญเลิศ เกียรติศรีธารา นายบัณฑิต และ นางวินิดา หรือ วนิดา สันติวราคม ในฐานะผู้ถือหุ้นซึ่งรวมกันได้ 6 ล้านหุ้น มีหนังสือถึงกรรมการบริษัทฯ ลงวันที่ 9 ก.พ.2544 ขอให้เรียกประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น เพื่อพิจาณาเรื่องถอดถอนกรรมการ และแต่งตั้งกรรมการบริษัทฯชุดใหม่ ฯลฯ แต่ กรรมการบริษัทฯ (นายนพพร) มิได้เรียกประชุมผู้ถือหุ้นภายใน 30 วันแต่อย่างใด
ดังนั้น อาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1174 นายบัณฑิต นายบุญเลิศ และ นางวินิดา ในฐานะผู้ถือหุ้นจึงขอเรียกประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นในวันที่ 29 มี.ค.44 เวลา 14.30 น. ณ บ้านเลขที่ 33 อาคารเอส เอ็น ซี ชั้น 10 อี ถ.สุขุมวิท ซอย 4 (นานาใต้) แขวงคลองเตย กรุงเทพฯ เพื่อพิจารณาเรื่องถอดกรรมการ แต่งตั้งกรรมการชุดใหม่ และอื่นๆ
เอกสารที่สาม สำเนารายงานการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2544 วันที่ 29 มี.ค.44 มีนายบัณฑิต เป็นประธานที่ประชุม มีมติถอดนายนพพรออกจากตำแหน่งกรรมการบริษัทฯ โดยให้เหตุผลว่า ไม่เหมาะสมที่จะเป็นกรรมการ เนื่องจากไม่เคยมีหนังสือเรียกประชุมผู้ถือหุ้น และไม่เคยแจ้งผลการดำเนินงานของบริษัทให้ผู้ถือหุ้นทราบ และที่ประชุม แต่งตั้งนายวงศ์วสุ สันติวราคม และนายบัณฑิต โชติวิทยะกุล เป็นกรรมการชุดใหม่แทน
ทั้งนี้ในเอกสารรายชื่อผู้ร่วมประชุม ไม่ปรากฏชื่อ นายนพพร ศุภพิพัฒน์ และกลุ่มผู้ถือหุ้นฝ่ายนายนพพรอีก 6 คน รวม 7 คน (กลุ่มนายศุภฤกษ์ วิชัยดิษฐ 4 คน) เข้าร่วมประชุมด้วย
12 เม.ย.44 นายวงศ์วสุ สันติวราคม และนายบัณฑิต โชติวิทยะกุล มอบอำนาจให้นายวีระชัย ปราณี ยื่น จดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมจำนวนกรรมการ อำนาจกรรมการและตราของบริษัทฯ ต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพฯ (กรมพัฒนาธุรกิจการค้า)
ภายหลังการยื่นจดทะเบียน
9 พ.ค.44 นายนพพร ศุภพิพัฒน์ ทำหนังสือขอคัดค้านการจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมกรรมการและกรรมการผู้มีอำนาจแทนบริษัทต่อนายทะเบียน (สำนักงานบริการจดทะเบียนธุรกิจ 2) โดยระบุว่า เพิ่งได้รับหนังสือเชิญประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1 ลงวันที่ 17 มี.ค. 44 (จากนายบัณฑิตกับพวก) และ อ้างว่าการประชุมในวันดังกล่าวมิชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากนายนพพรในฐานะกรรมการไม่ทราบเรื่องที่ผู้ถือหุ้นทำหนังสือขอให้เรียกประชุม เชื่อว่ามีการปกปิดที่จะส่งจดหมายถึงนายนพพรเพราะต้องการปลดนายนพพรออกจากกรรมการ และขอคัดค้านการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการ
11 พ.ค.44 นายนพพรยื่นหนังสือคัดค้านการจดทะเบียนเพิ่มเติมต่อนายทะเบียน (สำนักงานบริการจดทะเบียนธุรกิจ 2)
11 พ.ค.44 นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร (ผ่านความเห็นชอบจากนายทะเบียนการค้า ,ผอ.สำนักงานบริการจดทะเบียนธุรกิจ 2 , อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า) มีความเห็นว่าการเรียกประชุมผู้ถือหุ้นจำนวน 3 ราย จำนวน 6 ล้านหุ้น ของนายบัณฑิตกับพวก กระทำโดยชอบด้วยกฎหมาย และได้ส่งหนังสือเรียกประชุมทางไปรษณีย์ลงทะเบียนไปยังสำนักงานใหญ่บริษัทฯและที่อยู่ตามภูมิลำเนาของนายนพพรแล้ว จึงเห็นว่า “ขอโต้แย้งของนายนพพร ไม่อาจรับฟังไม่ได้”
เห็นควรรับจดทะเบียนคำขอเปลี่ยนแปลงกรรมการ อำนาจกรรมการและตราของบริษัทตามคำขอของนายบัณฑิตและนายวงศ์วสุ สันติวราคม เมื่อวันที่ 12 เม.ย.44 ได้
28 พ.ค.44 นายบัณฑิตและนายวงศ์วสุ สันติวราคม แจ้งย้ายสำนักงานที่ตั้งบริษัทฯจาก 87 ถ.วิทยุ แขวงลุมพินี เป็นเลขที่ 719 ถ.มหาไชย แขวงบูรพาภิรมย์ เขตพระนคร กรุงเทพฯ
25 ส.ค.46 นายบัณฑิต และนายวงศ์วสุ ออกจากกรรมการ นายฐานันดร พิมพรรณ และ นายสถาพร แก้วนพคุณ เป็นกรรมการแทน
20 ม.ค.49 นายบัณฑิต และนายวงศ์วสุ เป็นกรรมการบริษัทฯ อีกครั้งจนถึงปัจจุบัน และ สถานะของบริษัทถูกระงับขีดชื่อออกจากการเป็นบริษัทร้าง
นี่คือข้อมูลการแตกหักทางธุรกิจภายในบริษัท กริฟฟอนฯ
ก่อนเกิดเหตุการณ์คดีอุ้มนายบัณฑิต เมื่อ 23 มิ.ย.57 โดยกลุ่มนายชากานต์ ภาคภูมิ นายณัฐพล สุวะดี (พ.ต.ณัฐพล อัครพงศ์ปรีชา) กับพวก ขณะที่ผู้เสียหายแจ้งความดำเนินคดีที่สน.พระยาไกร จนนำมาสู่การออกหมายจับนายนพพร ผู้จ้างวาน และผู้ลงมือร่วมขบวนการในที่สุด
อ่านประกอบ:
เปิดตัว“บัณฑิต”เจ้าหนี้“นพพร”เหยื่อคดีอุ้มเครือข่าย พงศ์พัฒน์-พวก
เปิด 12 บริษัท"นพพร"มือจ้างอดีตคนสกุลอัครพงศ์ปรีชาอ้างเบื้องสูงเจรจาลดหนี้ 100 ล.
เปิด 5 คนสกุล“อัครพงศ์ปรีชา”ในบริษัทครอบครัว“สุดาทิพย์-ณรงค์”
เจาะข้อมูล"ไพเชษฐ์"กก.รถเมล์สาย 8 ถูกหมายจับอวดอ้างบิ๊กตร.ช่วยเจรจาลดหนี้
พลิกปูม “ณรงค์ อัครพงศ์ปรีชา” อดีตขรก.สำนักพระราชวัง คดีอ้างเบื้องสูง
พลิกปูมหลังลึก 5 ผู้ต้องหา คดีอ้างสถาบันเบื้องสูงเครือข่าย“พงศ์พัฒน์”
ขุมธุรกิจ“อัครพงศ์ปรีชา-ม่วงนวล”คดี“พงศ์พัฒน์”
เปิดรีสอร์ท พ.ต.อ.โกวิท-สุดาทิพย์ โยงคดีพงศ์พัฒน์ ก่อนได้ประกันตัว
ราชเลขานุการฯ ทำหนังสือแจ้งยกเลิกชื่อสกุลพระราชทาน “อัครพงศ์ปรีชา”