‘อู๋ ธวัชชัย’ ครีเอทีฟเพื่อสังคม ปลุกพลังคนรุ่นใหม่ ส่งเสียงร่วมปฏิรูปประเทศ
“...ผมเชื่อว่าหลายคนมีพลัง มีความสามารถ มีทรัพยากรอยู่ในมือจำนวนมาก ถึงเวลาส่องกระจกแล้วถามว่าเราจะทำอะไร เพื่อพัฒนาปฏิรูปประเทศ”
'อู๋' 'ธวัชชัย แสงธรรมชัย' เป็นครีเอทีฟโฆษณาที่ทำงานเพื่อสังคม เคยอยู่ในทีมผลิตสื่ออนิเมชั่นปลาวาฬ “รู้ สู้ Flood” สร้างความรู้และกำลังใจสร้างสรรค์ให้ผู้ประสบภัยน้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2554
ในห้วงเวลาแห่งการปฏิรูป ครีเอทีฟอู๋ ออกมาเสนอประเด็นการปฏิรูปประเทศไทย ในหัวข้อ “พลังสังคมขับเคลื่อนประเทศไทย” ในฐานะตัวแทนคนรุ่นใหม่ บนเวทีสถาบันพระปกเกล้า พร้อมกับเชิญชวน วัยรุ่นคนรุ่นใหม่ ส่งเสียงปฏิรูปประเทศร่วมกัน
ครีเอทีฟหนุ่ม เล่าว่า ก่อนหน้านี้ภาพของการพูดคุยปฏิรูปของผมคือ การเจอกันของผู้ใหญ่หรือพวกรุ่นใหญ่ที่มีอำนาจเยอะๆ ไม่กี่สิบคน ปิดประตูคุยกันในห้องเล็กๆ แล้วตกลงกันเป็นแนวทางปฏิบัติหรือนโยบาย และมีคำถามว่าเราจะเปลี่ยนอะไร
“การปฏิรูป การพัฒนาไปข้างหน้า ไม่ใช่สิ่งที่เราทำกันมาตลอดหรือ มีอะไรพิเศษถึงต้องมาพูดเรื่องปฏิรูปกันในช่วงนี้ ทั้งๆเป็นสิ่งที่อยู่กับมันมาตลอดชีวิต หนังสือพิมพ์ทุกฉบับ ทีวีทุกช่องพูดเรื่องปฏิรูป ผมเลยสงสัยว่าผมจะมาเกี่ยวได้อย่างไร ปฏิรูปอะไร
ล่าสุด เขาเผยว่า “...ผมเพิ่งทำงานวิจัยเรื่องคนไทยมอนิเตอร์ ไปสัมภาษณ์เด็กอายุ 15-20 ปี ทั่วประเทศ ถามเขาว่าเขาคิดอย่างไรเกี่ยวกับการพัฒนาประเทศ เด็กๆตอบว่า พวกเขาพร้อมและอยากมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ”
“แต่เมื่อถามต่อว่าจะทำอะไรได้บ้าง คำตอบที่ได้คือ ไม่แน่ใจว่าจะทำอะไรได้ ปล่อยให้ผู้ใหญ่เขาคุยกันไปเถอะ เพราะรู้สึกว่าตัวเองเด็กเกินไป ซึ่งคำตอบนี้น่าสนใจมาก”
'ธวัชชัย' ตั้งข้อสังเกตว่า “...งานวิจัยชินนี้กำลังบอกเราว่า การปฏิรูปเป็นเรื่องของคนตัวใหญ่ที่กำลังไปตีกรอบให้เด็กหรือเปล่าว่าทำอะไรไม่ได้หรอก ต้องเดินตามผู้ใหญ่เท่านั้น คำถามต่อมาคือ แล้วประเทศนี้ไม่ใช่ของเด็กหรือ เราไม่ฟังเสียงของคนจำนวนนี้จริงๆหรือ”
“นอกจากนี้ คนตัวเล็กตัวน้อย คนอีสาน คนเหนือ คนภาคตะวันออก คนที่เขาไม่ได้เข้าร่วมประชุม จะมาพูดคุยได้จริงหรือไม่ เขาเป็นเจ้าประเทศร่วมกันด้วยหรือเปล่า”
“ฉะนั้น โจทย์พลังสังคมขับเคลื่อนประเทศไทยหรือหัวใจของการปฏิรูป ผมคิดว่าคือการดึงคนทุกภาคส่วนเข้ามาร่วม เช่น แม่ค้าขายก๋วยเตี๋ยว ที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายเศรษฐกิจ ที่วันหนึ่งทางเท้าที่เขาเคยขายของเปลี่ยนไป แต่เราได้ฟังเสียงเขาก่อนจัดระเบียบหรือไม่”
“หรือตัวอย่างเล็กๆ เมื่อนานมานี้ ผมจัดคอนเสิร์ตที่คนพิการทุกแบบมาสนุกด้วยกันได้หมด มีล่ามภาษมือแปลเพลงที่เขาไม่ได้ยิน เราทำทั้งหมดโดยไม่มีค่าจ้าง ค่าแรง ทำได้อย่างไร”
คำตอบคือ ทำได้ด้วยการนำความคิดนี้ไปเล่าให้ทุกคนฟัง ไปเล่าให้คนทำเวทีฟัง เล่าให้คนทำเว็บไซด์ฟัง เล่าให้คนที่มีความสามารถที่จะช่วยกันทำงานนี้ฟัง
นั่นหมายความว่า เรานำเรื่องเล่าหรือโจทย์ไปให้เขาเห็นภาพเดียวกันว่าฉันอยากทำอันนี้ ไอเดียนี้ดี งานนี้ก็เกิดขึ้นได้ ทุกคนมาช่วยกันฟรีทั้งหมด เป็นหนึ่งคอนเสิร์ตที่จัดโดยไม่มีใครได้ค่าจ้าง และเป็นเรื่องมหัศจรรย์มากกว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร
'ธวัชชัย' บอกว่า “...เล่าเรื่องนี้ให้ฟังเพราะเป็นการสะท้อนว่า หากทำให้ทุกคนเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงนี้จะมีผลกับเขา เป็นเรื่องดีสำหรับเขา เป็นไอเดียที่เขาซื้อ ทุกคนก็จะกระโจนเข้ามาด้วยความสนใจ ทุกคนอยากจะแสดงความเห็น อยากมีส่วนร่วม”
“คำถามสำคัญคือ การปฏิรูปวันนี้จะให้เป็นที่เล็กๆของคนไม่กี่คน หรือเราจะดึงคนทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมได้อย่างไร ดังนั้นผมว่าหัวใจสำคัญคือ เราอย่าเพิ่งปฏิรูปโดยคิดถึงเนื้อหาหรือหลักการของตัวเอง แต่ต้องไปคิดถึงผู้ฟัง ผู้ใช้ก่อน”
ถามครีเอทีฟโฆษณาว่า จะชวนวัยรุ่น คนรุ่นใหม่ ที่เดินสยาม เดินพารากอน มีเงินเดือนใช้ มีรถขับ มาร่วมปฏิรูปได้อย่างไร?
เขาเสนอว่า ... “ลองกันดูไหมครับ เอานโยบายปฏิรูป แนวทางต่างๆ มาเปิดพื้นที่ให้คนได้ส่งเสียงกันในหลายทาง เช่น เฟสบุ๊ค เอสเอ็มเอสไปในรายการทีวี หรือทำพื้นที่กลางขึ้นมาสักทีหนึ่ง นำเรื่องที่อยากปฏิรูปมากางดู แล้วให้คนได้ส่งเสียงว่าเขาเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย หรืออยากมีข้อเสนออะไรเพิ่มเติม กับประเด็นนั้นๆ”
“เมื่อเปิดพื้นที่ให้กับคนเหล่านี้นำข้อเสนอตัวเองมาตั้งแล้ว ให้ประชาชนที่ทำงานอยู่สีลม สยาม ผู้มีเงินเดือนหลักหมื่น มีรถขับ 1 คัน ลองโหวตดูว่าเขาคิดเห็นอย่างไร เห็นด้วย ไม่เห็นด้วย หรือคิดต่างอย่างไร”
นอกจากนี้ เมื่อฟังความคิดเห็นของคนรุ่นใหม่แล้ว อีกสิ่งสำคัญคือ คนรุ่นใหม่เองก็ต้องส่องกระจกแล้วถามตัวเองว่าจะมีส่วนสำคัญกับการปฏิรูปอย่างไรและทำอะไรได้บ้าง
“ผมเชื่อว่าหลายคนมีพลัง มีความสามารถ มีทรัพยากรอยู่ในมือจำนวนมาก ถึงเวลาส่องกระจกแล้วถามว่าเราจะทำอะไร เพื่อพัฒนาปฏิรูปประเทศ”
เสียงสะท้อนของวัยรุ่น คนรุ่นใหม่ จะมีส่วนสำคัญในการร่วมปฏิรูปประเทศไทยได้ไม่น้อย