นายกฯเตรียมตั้งบอร์ดต้านทุจริตดึงเอกชนร่วม-ย้ำไม่เกี่ยวข้องผลประโยชน์ใด
นายกฯย้ำทุกฝ่ายต้องช่วยดูแลปราบทุจริต เผยนำระบบcost-สัญญาคุณธรรมมาใช้ตรวจสอบโครงการลงทุนการก่อสร้างขนาดใหญ่ ระบุส่วนตัว-รัฐบาลไม่เข้าเกี่ยวข้องผลประโยชน์ใดๆทั้งสิ้น
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการคืนความสุขให้คนในชาติ ศุกร์ที่ 12 ธันวาคม ว่า แม้อันดับดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชั่นประเทศไทยจะดีขึ้นจากการจัดอันดับขององค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ แต่ประเทศยังให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาการปราบปรามทุจรติคอร์รัปชั่นและการฉ้อราษฎร์บังหลวงอย่างจริงจัง
ทั้งนี้ ในฐานะหัวหน้ารัฐบาลได้แถลงนโยบายต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติไปแล้วว่าจะส่งเสริมการบริหารราชการแผ่นดินที่มีธรรมาภิบาลและป้องกันปราบปรามการทุจริต ประพฤติมิชอบในภาครัฐ ถือเป็นนโยบายหลัก
“การป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นถือเป็นวาระสำคัญเร่งด่วนของชาติ เนื่องจากการทุจริตเป็นต้นตอของปัญหาต่างๆของประเทศ และทำให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม เกิดอุปสรรคต่อการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศระยะยาวและสะท้อนวิกฤตคุณธรรมและจริยธรรมในสังคม”
นายกฯกล่าวว่า ทุกภาคส่วนต้องให้ความร่วมมือในการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง ส่วนผู้ให้และผู้รับมีความผิดทั้งคู่ ในฐานะหัวหน้ารัฐบาลแสดงเจตนารมณ์ชัดเจนและไม่เพิกเฉยต่อการกระทำผิดกฎหมาย นำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมทุกเรื่อง ให้ความเป็นธรรมกับทุกคน ทุกภาคส่วน
ส่วนเรื่องการฉ้อราษฎร์บังหลวง ส่วนใหญ่มักเอาผลประโยชน์รัฐมาเป็นผลประโยชน์ส่วนตัวหรือเอื้อประโยชน์ ข้าราชการทุกระดับชั้นต้องระมัดระวัง อย่าปล่อยปละละเลยให้คนเหล่านั้นไปเรียกร้องผลประโยชน์
“ผมและรัฐบาลไม่เข้าไปเกี่ยวข้องในเรื่องผลประโยชน์ใดๆทั้งสิ้น ขอให้ช่วยกันดูแลด้วย เรามีความตั้งใจป้องกันและปราบปรามปัญหาคอร์รัปชั่นอย่างจริงจัง และในฐานะหัวหน้าคสช.ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ เพื่อบูรณาการ กำกับดูแลทั้งในเรื่องการป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นของภาครัฐทั้งระบบ"
"ที่ผ่านมาอาจจะมีการดำเนินการอยู่บ้างแล้วแต่การบริหารจัดการค่อนข้างกระจัดกระจายในหลายหน่วยงาน ไม่มีเจ้าภาพหลักดูแลเรื่องการบริหารจัดการ ทั้งนี้เพื่อให้รวดเร็วขึ้นและได้รับการยอมรับจากทุกฝ่ายในการดูแลคอร์รัปชั่นให้จริงจังขึ้น แต่ทั้งนี้ต้องเป็นไปตามกฎหมาย เพื่อพัฒนากระบวนการตรวจสอบให้ทันต่อสถานการณ์"
นายกฯระบุด้วยว่า คณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ อย่าเกรงว่าจะเป็นซ้ำซ้อนกับใครแต่เป็น กลไกหลักในการดำเนินการป้องกัน เน้นในเชิงป้องกันและขจัดทุจริตคอร์รัปชั่นให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นเท่านั้นเอง
สำหรับคณะกรรมการชุดนี้นอกจากจะมีกรรมการจาก คสช. แล้ว จะมีผู้ทรงคุณวุฒิและผู้แทนจากหน่วยงานทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่น ภาครัฐ ภาคเอกชน เข้าร่วมเป็นกรรมการด้วย
“เมื่อได้รับข้อมูลต่างๆ ครบถ้วนแล้ว หากมีหลักฐานชัดเจน เป็นการรับฟังความคิดเห็นที่หลากหลายจากทุกฝ่ายทั้งภาครัฐและเอกชน ต้องมาช่วยกันว่าจะทำอย่างไรทำให้การป้องปรามและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นมีผลอย่างจริงจัง มีประสิทธิผล และจะช่วยเสริมในการประสานให้กับการทำงานการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นของรัฐบาล ของทุกหน่วยงาน ให้เป็นไปได้ดียิ่งขึ้น”
นายกฯเผยว่า ที่ผ่านมารัฐบาลได้นำระบบการลงทุนการก่อสร้างภาครัฐ (cost) มาใช้ เพื่อให้เกิดความโปร่งใสทั้งรัฐวิสาหกิจ โดยเฉพาะการเปิดเผยข้อมูลการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ โดยจะนำร่องใช้ในโครงการก่อสร้างท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะที่ 2 ของบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ตั้งแต่การออก TOR การประกวดราคา การก่อสร้าง จนถึงการตรวจรับงาน โดยได้ย้ำไปหลายครั้งแล้วว่าผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดนั้น จะต้องดำเนินการด้วยความโปร่งใสตรวจสอบได้ในทุกมิติ
พร้อมกันนี้ รัฐบาลยังนำสัญญาคุณธรรมหรือ Integrity Pact มาใช้ โดยหน่วยงานรัฐ ผู้จัดซื้อจัดจ้างและเอกชนทุกคนที่เข้ามาเสนอราคาต้องลงนามในสัญญาว่าจะไม่มีการรับหรือให้สินบน แล้วก็ยอมรับกระบวนการเปิดเผยข้อมูลในทุกขั้นตอน และยอมให้ผู้เชี่ยวชาญในสาขาวิชาชีพหรือภาคประชาสังคมเข้ามาเป็นคณะตรวจสอบอิสระ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวีขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยายของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จะเป็นโครงการนำร่องการปฏิบัติตามสัญญาคุณธรรม เพื่อเปิดโอกาสในการเรียนรู้ปัญหาและความเสี่ยงในทางการปฏิบัติ ก่อนที่จะมีการพัฒนาต่อยอดเป็นร่างกฎหมาย หรือมาตรการที่ครอบคลุมเพื่อให้ใช้เป็นมาตรฐานในการดำเนินการของโครงการต่าง ๆ ต่อไป ขณะเดียวกันจะเร่งปราบปราบการทุจริตคอร์รัปชั่นทุกมิติอย่างต่อเนื่อง