หอบความสูญเสียร้องสภาทนายฯ พ่อแกนนำต้านเหมือง จ.นครศรีฯ จี้ ตร.จับคนร้ายเอาชีวิตลูก
บิดา"พิธาน"แกนนำต้านเหมืองแร่ ต.กรุงชิง นครศรีฯ ที่ถูกยิงเสียชีวิต ยื่นหนังสือสภาทนายความ จี้หน่วยงานรัฐเร่งหาตัวคนผิด ลั่นหากจับไม่ได้ จะแห่ศพลูกไปศาลากลางจังหวัด เรียกร้องความเป็นธรรมถึงที่สุด
วันที่ 12 ธ.ค. 2557 ที่สภาทนายความ นายสำเร็จ ทองพนัง บิดาของนายพิธาน ทองพนัง ชาวบ้านเขาไม้ไผ่ ตำบลกรุงชิง อำเภอนบพิตำ จังหวัดนครศรีนครธรรมราช ที่ถูกยิงเสียชีวิต เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2557 และเป็นผู้ฟ้องคดีต่อศาลปกครอง ขอให้ศาลมีคำสั่งกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราวให้บริษัท พีแอนด์เอสแบไรท์ ไมนิ่ง จำกัด หยุดทำเหมืองชั่วคราวจนกว่าจะมีการปรับปรุงสิ่งแวดล้อม โดยนายสำเร็จเข้ายื่นหนังสือสือร้องเรียนต่อสภาทนายความให้ช่วยเรียกร้องความเป็นธรรม
นายสำเร็จกล่าวกับสำนักข่าวอิศราว่าสาเหตุที่เข้ามายื่นหนังสือต่อสภาทนายความกรณีการเสียชีวิตของบุตรชาย เพราะอยากให้เจ้าหน้าที่รัฐช่วยดูแล อย่าให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้กับใครอีกเลย
“ถ้าคดีนี้ผู้ต้องหาไม่ถูกจับ เราก็จะแห่ศพไปหน้าศาลากลาง จะหาความเป็นธรรมจนได้ ทั้งๆ ที่สาเหตุการเสียชีวิต เขาก็รู้ เราก็บอกกับตำรวจไปแล้ว สาเหตุว่ามาจากอะไร เพียงแต่เขาอ้างว่าหลักฐานไม่มี ยังต้องพิสูจน์ต่อไป แต่สัญญาณที่มีก่อนหน้านั้น คือ พิธานถูกขู่ว่าถ้าไม่ถอนแจ้งความจะฆ่าให้ตาย สำนึกอนุรักษ์ ของพิธาน ก็จะสานต่อต่อไป คนในชุมชนตอนนี้ก็เข้ามาร่วมเรียกร้องกันเยอะ ชาวบ้านก็มากันเยอะ”
นายสำเร็จกล่าวว่าตอนนี้ไม่ถูกคุกคาม แต่ถูกหมายเอาชีวิตเลยทีเดียวแต่ก็พร้อมสานต่อจิตสำนึกอนุรักษ์ของบุตรชายต่อไป การที่บริษัทเหมืองขอให้เราไปถอนเรื่องที่ฟ้องร้องกับศาลปกครอง แต่เรายืนยัน ว่าบริษัทเขาต้องให้วิศวกรไปทำให้ระบบให้เรียบร้อย ต้องทำให้น้ำกลับมาใสเหมือนเดิม เพราะก่อนที่จะมีเหมือง น้ำบริเวณนี้ ใสสะอาด เป็นต้นน้ำลำธารป่าแถบนี้ อุดมสมบูรณ์มาก ก่อนหน้านี้ บุตรชายคือนายพิธาน ฟ้องร้องบริษัทเหมือง เนื่องจากการทำเหมืองไม่เป็นไปตามแผนโครงการที่มีการทำประชาพิจารณ์ไว้กับชาวบ้าน การขุดแร่ ถมคลอง ไม่เป็นไปตาม มาตรฐานกระทรวงอุตสาหกรรม ทำให้ดินปนเปื้อนในแหล่งน้ำ น้ำที่เป็นต้นน้ำลำธารของชาวบ้าน 4-5 หมู่บ้านที่ใช้ร่วมกันกลับขุ่นและตื้น จากที่เคยใสสะอาดกลับมีการถมคลองแล้วอ้างว่า นายก อบต. ให้ทำฝายกั้นน้ำ ซึ่งการทำฝากกั้นน้ำ ไม่ใช่การเอาดินไปถมคลองแบบนั้น นายพิธาน เขาเห็นการทำความผิด เขาก็ไปร้องสภาทนายความ นายพิธาน ไม่ได้ต้องการปิดเหมือง แต่เนื่องจากชาวบ้านหลายหมู่บ้าน ทั้งหมู่ 8 หมู่ 9 หมู่4 ต้องใช้ห้วยที่บริษัทเหมืองมาถม เพราะห้วยนี้ เป็นต้นน้ำลำธารของชาวบ้าน ทั้ง 4-5 หมู่บ้าน เมื่อฝนตกลงมา น้ำกลับขุ่นข้น ชาวบ้านใช้ไม่ได้ ทั้งที่เมื่อก่อนน้ำใสตลอดฤดูกาล แต่ตอนนี้ น้ำขุ่นข้น ผิดข้อตกลงที่ทำประชาพิจารณ์ไว้กับชาวบ้าน
นายสำเร็จกล่าวว่า การยื่นฟ้องต่อศาลปกครองทำให้ชาวบ้านได้รับการคุ้มครองชั่วคราวโดยศาลปกครองสั่งให้บริษัทเหมืองหยุดทำเหมืองชั่วคราว ผู้รับเหมาหลายคนเดือดร้อน คนที่ต้องหยุดงานก็มีจึงมีการขอร้องให้นายพิธานไปยื่นคำร้องต่อศาลปกครองให้ทำเหมืองได้ นายพิธานก็ได้ถ่ายรูปสถานที่จริงส่งให้ศาลปกครอง ซึ่งบริษัทเหมืองก็ไม่ดำเนินการแก้ไขใดๆ กอปรกับมีกลุ่มคนมีสีที่มีผลประโยชน์ อยากให้เหมืองเปิดเพราะเขามีผลประโยชน์อยู่ด้วย ล่าสุด มีการนัดชาวบ้านมาปรองดอง วันที่ 9 ธ.ค. นายพิธานเห็นว่าคงไม่มีอะไรร้ายแรง ไม่ได้ระวังตัว แต่ก็ถูกยิงเสียชีวิตในที่สุด นายสำเร็จกล่าวว่า ตอนนี้ รู้สึกไม่ปลอดภัยในชีวิต ทุกคนที่อยู่ในหมู่บ้าน หวาดผวามากๆ มีข่าวลือว่าเขาจะเอาชีวิตอีก
ด้านน้องสาวนายพิธาน ปัจจุบัน ศึกษาอยู่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง กล่าวว่าทราบเรื่องที่พี่ชายสู้เรื่องเหมืองโดยมาตลอด และทราบข่าวมาบ้างว่าพี่กับพ่อโดนข่มขู่ ก่อนที่พี่จะโดนลอบยิง พี่ได้เคยไปแจ้งความไว้กับ สน.ในพื้นที่แล้ว ว่าหากเกิดอะไรขึ้น สาเหตุเพราะใคร ส่วนตัวคิดว่าเกี่ยวกันกับการที่ต่อต้านเหมือง และบริษัทเหมืองโดนคำสั่งศาลถูกหยุดไปชั่วคราว ทำให้มีคนที่เสียผลประโยชน์
"สำหรับคุณพ่อตอนนี้ สิ่งที่เรียกร้องที่สุด คือความเป็นธรรมและความปลอดภัยในชีวิต และไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้อีก นอกจากนี้ พ่อก็รับ มรดกความมาจากพี่ชายคือนายพิธาน เนื่องจากตอนแรก พี่ชายเป็นผู้ฟ้องร้องบริษัทเหมืองเป็นคนที่หนึ่ง ต่ตอนนี้ พ่อเป็นผู้ฟ้อง คนที่หนึ่งแทน ร่วมกับชาวบ้านอีก 50 คน จากเดิมมี 55 คนแต่ มี 5 คนมาถอนฟ้องไปแล้ว เพราะถูกข่มขู่ ส่วนที่มายื่นหนังสือครั้งนี้ ก็หวังว่าความเป็นธรรมจะเกิดขึ้น"
ด้านนางรัตนา ผาแก้ว หนึ่งในทีมทนายกล่าวว่า คดีดังกล่าว มีคดีฟ้องร้องระหว่างชาวบ้านกับบริษัทเหมือง โดยศาลปกครองอนุญาตตามที่ชาวบ้านขอไต่สวนฉุกเฉิน และศาลให้บริษัททำตามที่ชาวบ้านขอ จากนั้น บริษัทเหมืองในฐานะผู้ถูกฟ้อง มีการยื่นคำร้องขอให้ศาลปกครองเพิกถอนคำสั่งของศาลปกครอง ที่ให้ระงับการทำเหมือง ไว้ก่อน นอกจากนี้ ยังมีส่วนในเรื่องการประทานบัตร ที่ฟ้องศาลปกครองคดีสิ่งแวดล้อม โดยสภาทนายความเป็นทนายให้ชาวบ้านที่มีนายพิธานเป็นผู้ฟ้องคนที่หนึ่ง ขอให้เพิกถอนสัมปทานบัตรและยกเลิกการกระทำที่ทำลายสิ่งแวดล้อม ซึ่งวันที่ ศาลลงไปเดินเผชิญสืบ มีทั้งตัวแทนจากสภาทนายความ และเจ้าหน้าที่ของกรมพื้นฐานการเหมืองแร่ ยืนยันกับศาลว่าการทำเหมืองแร่นี้ผิดจริง ทำไม่ถูกต้อง ศาลจึงมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว
"ตอนนี้ ศาลอยู่ในชั้นพิจารณา คำฟ้องหลักของเรา คือ เพิกถอนสัมปทานบัตร ตอนนี้ ศาลอยู่ในชั้นที่แสวงหาข้อเท็จจริง เดิมเราก็ยังคิดอยู่ว่าจะให้คุณพิธาน ถอนฟ้องไปก่อนไหม เพราะเราก็รู้ว่าคุณพิธานตกเป็นเป้า แต่ยังไม่ทัน ให้ถอนฟ้อง ก็เกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น เราเองก็เสียใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น มีผู้มีอิทธิพล เกี่ยวข้องกับการทำเหมือง เราก็บอกชาวบ้านเสมอว่าเป็นห่วง ให้ระวังตัว” นางรัตนาระบุ
นายเดชอุดม ไกรฤทธิ์ นายกสภาทนายความกล่าวว่า ประเด็นความน่ากังวลของคดีฆาตกรรมที่เกิดขึ้นคือมีการใช้บริการ ของภัยนอกระบบ เป็นการใช้ศาลเตี้ย ไม่ใช่ระบบนิติธรรม การที่นักเลงครองเมือง ยังไม่หายไปจากเมืองนี้ ยิ่งในหมู่บ้านบริเวณที่ห่างไกลปืนที่ยงก็น่ากังวล หมู่บ้านนี้ก็ค่อนข้างห่างไกล ส่วนเรื่อง ฆาตกรรม เมื่อความเกิดขึ้นแล้ว เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ต้องสอบสวน สภาทนายความก็จะเป็นตัวเร่ง คอยติดตามคดี ถ้าไปถึงศาล ถ้าผู้ต้องหามีอิทธิพล เราก็จะถามคุณพ่อของนายพิธานว่า ต้องการให้สภาทนายความส่งทนายเข้าไปประกบไหม
"ถ้าคดีล่าล้า เราก็จะส่งจดหมายเตือนเจ้าหน้าที่ ทั้งนี้ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่มีอันตราย สภาทนายความก็ต้องตั้งคณะทำงานอย่างจริงจัง ส่วนเรื่อง คดีสิ่งแวดล้อม ค่อนข้างมีความชัดเจนตามทฤษฎีที่ผู้ทำสิ่งแวดล้อมเสียหายก็ต้องจ่ายค่าเสียหาย ดังในกรณีนี้ ที่บริษัทเหมืองคุณต้องพิสูจน์ว่าคุณไม่ได้ทำบ่อน้ำเขาเสีย คุณต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าทำใมบ่อน้ำของชาวบ้านจึงตื้นขึ้น และปกติ การประทานบัตรเหมือง ต้องมีการทำประชาพิจารณ์ เหมือนการทำป่าไม้ เมื่อก่อนจะมีกำหนดไว้ว่าเมื่อได้ประทานบัตรไปแล้ว คุณต้องรักษาสภาพน้ำ ดิน ทุกอย่างไม่ให้มีมลพิษ อย่างที่คุณพ่อของพิธานว่า คุณไม่มีสิทธิ์ทำให้น้ำขุ่น ต้นเขิน ซึ่งเมื่อศาลปกครองสืบเอง ศาลก็สั่งคุ้มครองชาวบ้านเลย"
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สภาทนายความสรุปข้อมูลเบื้องต้นคดีดังกล่าว ระบุเมื่อวันที่ 8 พ.ค. 2557 หลังจากศาลปกครองได้รับคำฟ้องแล้ว ศาลได้ลงพื้นที่ตรวจสอบด้วยตนเอง จากนั้น 28 พ.ค.2557 ศาลมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 7 ( รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุถตสาหกรรม ) ให้สั่งบริษัท พีแอนด์เอสแบไรท์ ไมนิ่ง จำกัด ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 8 หยุดการทำเหมืองแร่ไว้ก่อนชั่วคราว และให้รายงานให้ศาลทราบทุก 30 วัน
จากนั้น 7 ส.ค. 2557 บริษัท พีแอนด์เอสแบไรท์ ไมนิ่ง จำกัด ยื่นคำร้องต่อศาลปกครอง เพื่อให้ยกเลิกการกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราว โดยอ้างว่าคณะกรรมการตรวจสอบของชาวบ้าน 5 คน ซึ่งรวมถึงนายพิธาน ทองพนัง ได้ไปตรวจสอบและลงลายมือชื่อ ยืนยันว่า บริษัท พีแอนด์เอสแบไรท์ ไมนิ่ง จำกัด ได้ดำเนินการแก้ไขสิ่งแวดล้อมเรียบร้อยแล้ว ศาลนัดไต่สวนคำร้อง 11 ก.ย. 2557
ทั้งนี้ ในการไต่สวนวันที่ 11 ก.ย.57 ศาลไต่สวนว่านายพิธาน ลงลายมือชื่อรับรองว่าบริษัท พีแอนด์เอสแบไรท์ ไมนิ่ง จำกัด แก้ไขผลกระทบเรียบร้อยแล้วใช่หรือไม่ นายพิธานกล่าวว่าตนไม่ได้ไปตรวจสอบ เนื่องจากเอกสารดังกล่าว บริษัท พีแอนด์เอสแบไรท์ ไมนิ่ง จำกัด ทำขึ้นมาเอง และเอามาให้ลงชื่อเมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2557 โดยมีกรรมการคนอื่นลงชื่อก่อนแล้ว จึงเชื่อว่ากรรมการท่านอื่นตรวจสอบแล้วจึงยอมลงชื่อ
จากนั้นวันที่ 20 ส.ค. 2557 ก่อนศาลจะไต่สวนอีกครั้ง นายพิธานฯ และกรรมการคนอื่นๆ ได้ทำการตรวจสอบและถ่ายภาพที่บริษัท พีแอนด์เอสแบไรท์ ไมนิ่ง จำกัด อ้างว่าแก้ไขแล้วนั้น มีสภาพที่ไม่สามารถแก้ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมได้
วันที่ 8 ต.ค.2557 ศาลปกครองจังหวัดนครศรีธรรมราช มีคำสั่งยกคำร้องของ บริษัท พีแอนด์เอสแบไรท์ ไมนิ่ง จำกัด ที่ขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษา วันเดียวกัน นายพิธานถูกพนักงานสอบสอวนแจ้งข้อกล่าวหา ความผิด เกี่ยวกับ พรบ.ป่าไม้ 2 คดี
วันที่ 30 พ.ย.2557 นายพิธาน ถูกยิงเสียชีวิต ระหว่างแจ้งข่าวให้ชาวบ้านทราบการประชุมในวันที่ 9 ธ.ค. 2557 บริษัท พีแอนด์เอสแบไรท์ ไมนิ่ง จำกัด ขอให้ชาวบ้านผู้ฟ้องคดีและผู้ได้รับผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมมาประชุมกัน ที่สำนักงาน อบต.กรุงชิง จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งนายพิธาน ได้ขอให้ตัวแทนจากสภาทนายความเข้าร่วมประชุมด้วย
นายสุวิทย์ เชยอุบล ประธานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม สภาทนายความ กล่าวว่า วันที่ 9 ธ.ค. ชาวบ้าน ขอร้องเรา เราก็ส่งคณะทำงานไปสามคน แต่ปรากฏว่า เจ้าหน้าที่ของบริษัทเหมืองไม่มีใครเข้าร่วมประชุม
เจ้าหน้าที่ทีมทนายรายหนึ่งกล่าวว่าข้อพิพาทระหว่างชาวบ้านและบริษัทเหมืองยังมีกรณีเจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ฟ้องชาวบ้านด้วย โดยอ้างว่าชาวบ้าน บุกรุกเข้าไปในที่ป่าสงวน ซึ่งความจริงแล้ว แม้จะเป็นที่บนเขาแต่ก็เป็นพื้นที่ที่บริษัทอ้างว่าเป็นพื้นที่ให้ประทานบัตรแล้ว กรณีนี้จึงกลายเป็นว่าเจ้าหน้าที่รัฐไปฟ้องร้องชาวบ้านแทนบริษัทเหมือง ซึ่งประเด็นดังกล่าว สภาทนายความจะนำมาใช้สู่คดีต่อไป
ภาพขบวนงานศพนายพิธาน จาก www.manager.co.th