'อำนวย ปะติเส' เปิดพื้นที่เกษตรกร ร่วมร่างกม.ข้าว ฉบับปลอดนักการเมือง
รมช.เกษตรฯ ชี้สต๊อกข้าวกว่า 18 ล้านตัน สต๊อกยาง 2 แสนตัน ราคายางตกต่ำ จาก 100 เหลือ 50 บาท/กก. เป็นปัญหาใหญ่สุดที่รัฐบาลต้องเร่งแก้ไขให้ตรงจุดก่อน
วันที่ 12 ธันวาคม 2557 มูลนิธิข้าวไทยร่วมกับภาคีเครือข่าย จัดงานประชุมเวทีข้าวไทย 2557 เรื่อง “การปฏิรูปยุทธศาสตร์ข้าวไทย” ทั้งนี้มีนายอำนวย ปะติเส รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวปาฐกถาพิเศษ ณ ห้องสุธรรม อารีกุล อาคารสารนิเทศ 50 ปี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรุงเทพฯ
นายอำนวย กล่าวถึงระบบการทำงานของกระทรวงเกษตรฯ ในรัฐบาลชุดนี้ว่า จะเป็นแบบพิสดารและแปลกใหม่ แต่จากการที่ได้หารือก็พบว่า หากทำงานในรูปแบบเดิมๆอีก ผลงานที่ได้ออกมาก็จะเป็นเช่นเดิม คือไม่เป็นที่ยอมรับ ไม่ได้ผลเช่นเดิม ดังนั้นจึงลองทำในรูปแบบใหม่ ซึ่งคาดหวังว่าจะดีขึ้นกว่าเดิม
สำหรับการบริหารจัดการแบบใหม่นี้ รมช.เกษตร กล่าวว่า จะเป็นการบริหารจัดการแบ่งออกเป็นแต่ละด้าน จากเดิมแบ่งงานให้แต่ละกรมจัดการเป็นหลัก อาทิ การจัดการเรื่องทรัพยากร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องน้ำ ดิน และระบบการจัดการต่างๆ เป็นต้น
“ ในส่วนการรับผิดชอบโดยตรงของผมเอง ซึ่งเป็นนักเศรษฐศาสตร์เกษตร และเป็นคนที่อยู่กับสินค้าเกือบทุกชนิดของไทย โดยหลักๆ จะมีการติดตามปัญหาเรื่องเกษตรกร สินค้าเกษตร หนี้สิน และตั้งองค์กรฟื้นฟู และกองทุนฟื้นฟูเกษตรกรรับมาดำเนินการโดยตรง”
รมช.เกษตรฯ กล่าวถึงการแก้ปัญหาเรื่องข้าวที่กำลังเป็นปัญหาใหญ่ที่สุดในขณะนี้ มี ตัวเลขที่ต้องจัดการในสต็อกที่ยังค้างอยู่กว่า 18 ล้านตัน อีกทั้งแก้ไขปัญหาเรื่องราคายางที่ยังคงค้างอยู่ในสต็อกกว่า 2 แสนตัน รวมถึงปัญหาเรื่องของราคาที่ตกต่ำลงเรื่อยๆจาก 100 บาท/กิโลกรัม เหลือ 50 บาท/กิโลกรัม ดังนั้นจึงต้องเร่งแก้ตรงจุดนี้ก่อน
"ถัดมาเป็นการวางรากฐานสำหรับทิศทางในอนาคต สิ่งที่ควรดำเนินการแก้ไขคือเรื่องของกฎหมายก่อนที่จะมีรัฐบาลชุดใหม่มาดำรงตำแหน่ง เพื่อไม่ให้เกิดความวุ่นวายไม่เป็นระบบขึ้นอีก" นายอำนวย กล่าว และหวังว่า หลังพ้นจากวาระของรัฐบาลชุดนี้จะสามารถนำแผนที่วางไว้ให้เป็นประโยชน์กับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งชุดต่อไป
นายอำนวย กล่าวอีกว่า ในเรื่องของสินค้าทั้งข้าวและยางที่เป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้านั้น ขณะนี้กระทรวงเกษตรฯได้พิจารณาว่าจะปฏิรูปกฎหมาย ทั้งกฎหมายข้าวและกฎหมายยาง โดยเฉพาะร่างพ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย ได้ผ่านสภานิติบัญญัติ(สนช.)ในวาระ 1 เหลือแค่วาระ 2 ที่ต้องแปรญัตติอีก 30 วัน โดยคาดว่าหลังจากนี้อีก 3เดือนประเทศไทยจะมีกฎหมายเรื่องยางมาบังคับใช้
"ส่วนกฎหมายเรื่องข้าวนั้นยังไม่ได้มีการเสนอและพิจารณากับ สนช. แต่จะทำกฎหมายข้าวฉบับนี้ให้เป็นฉบับที่ปลอดจากนักการเมือง และเป็นเครื่องมือที่ช่วยเหลือเกษตรกรอย่างมีประสิทธิภาพ มีทั้งความยุติธรรมในทุกฝ่าย ซึ่งก็กังวลว่า หากแล้วเสร็จไม่ทันปีนี้ หากทำในปีหน้าคงเป็นเรื่องที่ยาก"
ทั้งนี้ นายอำนวย กล่าวด้วยว่า ทางกระทรวงฯกล้าหาญที่จะส่งเกษตรกรเข้าไปร่างกฎหมายข้าว จำนวน5คน เพื่อชี้ให้ตรงจุดว่าจะแก้ไขปัญหาได้อย่างไรตรงไหนส่วนไหน