เสียงจาก“นปช.”คนเห็นต่าง “ปฏิรูปอย่าแค่พิธีกรรม ฟังเสียงพวกเราบ้าง”
“...คนกลางเป็นเรื่องใหญ่มาก สมมุติผมเป็นนักมวย จะไปต่อยกับใครแล้วกรรมการเป็นกลาง ถึงแพ้ เพราะฝีมือเราไม่ถึง ผมจะไม่เสียใจเลย แต่หากขึ้นไปแล้วรู้ว่าจะแพ้ตั้งแต่ยังไม่ได้ชก เพราะรู้ว่ากรรมการไม่เป็นกลาง เราจะไปขึ้นเวทีทำไม"
นาทีนี้ แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช.หลายคน เลือกจะเก็บตัวเงียบอยู่เบื้องหลัง รูดซิบปากไม่วิจารณ์การเมืองยุคคสช. แต่ไม่ใช่สำหรับ “ศิริวัฒน์ จุปะมัดถา” ผู้ประสานงาน นปช.จังหวัดพะเยา
ล่าสุด “ศิริวัฒน์” ขึ้นเวที “สานเสวนา สานใจประชา สู่การปฏิรูปประเทศไทย” ของสถาบันพระปกเกล้า เมื่อ 11 ธันวาคม ที่ผ่านมา ในฐานะตัวแทนคนเห็นต่าง จังหวัดพะเยา ร่วมกับสมาชิกปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) หลายคน ที่มาจากการรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ที่“ศิริวัฒน์” ไม่เห็นด้วย
เขาเปิดใจว่า สถานการณ์การเมืองวันนี้ไม่เอื้อให้พวกเราได้พูดหรือนำเสนอความคิดเห็นและไม่เห็นด้วยกับวิธีการที่ได้มาซึ่งสปช.และคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ แต่ก็ได้รับผลกระทบในการอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกันของประเทศนี้
ดังนั้น จึงอยากฝากท่านว่า ความคิดเห็นของประชาชนสะท้อนมาจากความทุกข์ยากของพวกเรา เราไม่ได้มีอคติหรือมีความคิดเห็นที่จะไปเอาชนะใคร นี่คือสิ่งที่ประชาชนอยากจะนำเสนอ แต่บางครั้ง บางเวลา บางโอกาส ไม่มีโอกาสนำเสนอความคิดเห็นของตัวเอง
“ศิริวัฒน์” ยอมรับว่า วันที่สถาบันพระปกเกล้าให้โอกาสในการเปิดเวทีพูดคุยแลกเปลี่ยนแสดงความเห็น ผมปฏิเสธไม่เข้าร่วมเลย เพราะคิดว่าพูดไปก็ไม่มีใครเห็น แต่สุดท้ายหากเราไม่ได้พูดอะไรเลย ก็ไม่มีประโยชน์เหมือนกัน
“แต่ถ้าเราได้พูดบ้าง อย่างน้อยคนที่มีความคิดเห็นแตกต่างอย่างพวกเราได้มาเรียนรู้ว่า พวกเราเห็นต่างจากเหตุผลอะไร ติดขัดกันตรงไหน แล้วเราจะเดินหน้าร่วมกันแก้ปัญหาประเทศได้อย่างไร ตรงนี้จึงทำให้ผมตัดสินใจเข้าร่วม แม้จะไม่มั่นใจ 100 % ว่าเป็นพื้นที่ปลอดภัยจริงหรือไม่ แต่ก็อยากจะเสนอแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อให้หลายฝ่าย หลายคน ได้เห็นความคิดของเราบ้าง”
นปช.พะเยา เล่าว่า หลายคนปิดตัวเงียบ ไม่อยากแสดงความคิดเห็นทางการเมืองใสถานการณ์ไม่ปกติ แต่เมื่อสถาบันพระปกเกล้าจัดเวทีวิชาการให้มีโอกาสได้พูดคุย ผมคิดว่าก็จะเป็นประโยชน์กับการปฏิรูปประเทศไทยเวลานี้ ในเรื่องการรับฟังความคิดเห็นของทุกภาคส่วน แม้คนเหล่านั้นจะมีความคิดเห็นที่แตกต่าง
“พวกเราเองก็รู้สึกว่าพวกท่านจะนำพาประเทศ แก้ปัญหาได้จริงหรือไม่ แต่ก็ให้โอกาสท่านเต็มที่ในการเสนอแนวความคิด มีโอกาสในการนำเสนอข้อมูลต่างๆ เรายินดีให้ความร่วมมือและพร้อมให้ข้อมูลกับทุกท่านทุกฝ่าย เพียงแต่อยากให้เปิดเวทีให้พวกเราบ้าง ฟังเสียงประชาชนอย่างพวกเราบ้าง”
กระนั้นก็ตาม “ศิริวัฒน์” บอกว่า การเปิดเวทีให้พูดมากขึ้น บางครั้งก็เลือกเหมือนกัน โดยพิจารณาจากคนกลางหรือคนดำเนินการเวทีว่าจัดการพูดคุยกันในรูปแบบใด หรือเป็นเพียงเวทีพิธีกรรม รับฟังด้วยความจริงใจแค่ไหน ให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมการนำเสนอเหตุผลหรือความรู้สึกอย่างแท้จริงหรือไม่
“คนกลางหรือคนดำเนินการเป็นเรื่องใหญ่มาก สมมุติผมเป็นนักมวย ถ้าจะไปต่อยกับใครแล้วกรรมการเป็นกลาง ถึงแพ้ เพราะฝีมือเราไม่ถึง ผมจะไม่เสียใจเลย แต่หากขึ้นไปแล้วรู้ว่าจะแพ้ตั้งแต่ยังไม่ได้ชก เพราะรู้ว่ากรรมการไม่เป็นกลาง เราจะไปขึ้นเวทีทำไม”
“จึงอยากฝากกับทุกท่าน โดยเฉพาะสปช.ที่จะไปเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นประชาชนทุกภาคส่วน เพื่อเป็นข้อมูลนำมาร่างรัฐธรรมนูญหรือกฏ กติกาต่างๆ ในการปฏิรูปประเทศ ถ้าท่านรับฟังแล้วนำเอาปัญหาจริงๆ ไปเขียนเป็นกฎหมายเพื่อสร้างกฏเกณฑ์กติกาที่เป็นธรรม สามารถแก้ปัญหาให้กับทุกคนได้ ผมเชื่อว่าประชาชนทุกภาคส่วนเข้าร่วมอย่างแน่นอน"
“แต่ถ้าทำไปพอเป็นพิธีกรรมเฉยๆ แม้จะคนเข้าร่วม ก็คงไม่มีประโยชน์อะไร เพราะไม่สามารถแก้ปัญหาได้หรือตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนได้ หากไม่เปิดเวทีให้เขาได้แสดงความคิดเห็นอย่างแท้จริงเลย”
“และเมื่อทำไปแล้ว แต่ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ พอประชาชนเขาออกมา นั่นแหละครับ จะเต็มที่ เพราะเขาบอกว่าเขาไม่มีส่วนร่วมอะไรเลย คุณทำของคุณคนเดียว สุดท้ายก็เกิดปัญหาเดิมๆ จึงอยากฝากสปช.ในการเปิดเวทีแสดงความคิดเห็น ขอให้รับฟังและให้โอกาสให้ประชาชนได้เปิดพื้นที่ความรู้สึกจริงๆ นำปัญหาจริงๆมานำเสนอ เพื่อเป็นประโยชน์ในการปฏิรูปประเทศไทย” นปช.พะเยา เผยความรู้สึก