“ดร.บวรศักดิ์” แนะโจทย์ปฏิรูป:เลิกประชานิยม ลดเหลื่อมล้ำ เสวนาปรองดอง
"...ดอกบัวเกิดจากโคลนตมฉันใด การปฏิรูปประเทศเกิดจากกระบวนการที่ไม่เป็นประชาธิปไตยได้ฉันนั้น"
ช่วงนี้ “ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ” ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เดินสายรับฟังความคิดเห็นพร้อมกับบรรยายถึงแนวทางการปฏิรูปประเทศไทยบนเวทีสาธารณะอย่างต่อเนื่อง
ล่าสุด 11 ธันวาคม รับเชิญปาฐกถาเรื่อง “การปฏิรูปและการสร้างความปรองดอง ตามแนวทางการยกร่างรัฐธรรมนูญ” บนเวทีสถาบันพระปกเกล้า “สานเสวนา สานใจประชา สู่การปฏิรูปประเทศไทย”
“ดร.บวรศักดิ์” ชี้ว่า โจทย์ใหญ่ประเทศไทยวันนี้คือ ทำอย่างไรถึงจะเกิดการปรองดอง การปฏิรูปประเทศ เพื่อให้ประเทศก้าวต่อไปข้างหน้าได้ ไม่ติดหล่ม ไม่ติดกับดักแห่งความขัดแย้งที่รุนแรงขึ้น
“ ในปี2558 เป็นปีแห่งการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หากประเทศไทยยังไม่สามารถแก้ไขความขัดแย้งได้ แปลว่าคงจะอยู่ในลำดับท้ายๆของอาเซียน”
เขาชี้ว่า รากฐานของความขัดแย้งในสังคมไทยส่วนหนึ่ง เป็นความขัดแย้งของคนรวยมหาศาลกับคนจน ฉะนั้นสังคมไทยจะต้องพูดคุยเรื่องปฏิรูปที่จะทำอย่างไรให้เกิดการลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นในสังคม
“รากฐานของความขัดแย้งปัจจุบัน เป็นความขัดแย้งของคนมั่งมีมาหาศาลกับคนไม่มี ให้ฝ่ายการเมืองแก้คงไม่แก้ เพราะการแก้ปัญหาลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมในสังคม ต้องแก้เชิงโครงสร้าง ต้องจัดสรรผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ จัดสรรความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ จัดสรรทรัพยากรเสียใหม่ในสังคมไทย”
อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ทำยาก เพราะที่ผ่านมาคนที่มีอำนาจการเมือง มีอำนาจเงินอยู่มือ หรือพรรคการเมืองไม่ค่อยอยากทำ แต่เมื่อเกิดความจำเป็นจึงใช้นโยบายประชานิยมเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงทรัพยากร แต่ประชาชนต้องตอบแทนด้วยการเลือกผู้ให้ประชานิยมกลับมาเป็นรัฐบาล
“เมื่อเป็นความจำเป็นที่ประชาชนอยากเข้าถึงทรัพยากรก็ไม่ทางอื่นดีไปกว่าการใช้นโยบายประชานิยม แต่ประชานิยมด้วยการลดแลกแจกแถมต่างจากการลดความเหลื่อมล้ำเชิงโครงสร้างตรงที่ประชานิยม เป็นการเอาทรัพยากรที่เป็นภาษีของประเทศ เอาเงินในอนาคตมาใช้ในปัจจุบันและใช้ในลักษณะเป็นผู้ให้กับผู้รับ”
“แต่แท้จริงแล้ว ประชานิยมคือบิดาของระบบอุปถัมภ์ที่แท้จริง เพราะมุ่งจะสร้างความเหนือกว่าของผู้ให้กับความด้อยกว่าของผู้รับที่รอคอยการรับอุปถัมภ์จากผู้ให้ และต้องตอบแทนผู้ให้ด้วยการเลือกผู้ให้กลับมาเป็นรัฐบาล”
ฉะนั้น เมื่อจะทำการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง ต้องเลิกประชานิยมแต่ต้องจัดสรรทรัพยากรให้คนที่ไม่มี เช่น การให้ศึกษาฟรี ให้การรักษาพยาบาลฟรี มีแหล่งทุนให้ในการประกอบอาชีพโดยนำเงินมาจากการเก็บภาษีเพิ่มจากคนรวยไปช่วยคนจน
“การปฏิรูปครั้งนี้บางทีเป็นการพิสูจน์พุทธดำรัสของพระพุทธองค์ว่า ดอกบัวซึ่งเป็นดอกไม้บริสุทธิ์ที่เกิดจากโคลนตมก็ได้ ซึ่งก็แปลว่าในบัดนี้ สภาปฏิรูปแห่งชาติ รัฐบาล คณะรัฐมนตรี แม้กระทั่งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ จึงมีหน้าที่ใหญ่สำคัญที่สุดในความเห็นของผมคือ การลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมในสังคมให้เกิดขึ้นในเชิงโครงสร้าง”
“ทำในสิ่งผู้มั่งมีทุนมหาศาลที่อยู่ในพรรคการเมืองเขาไม่ทำ ซึ่งก็จะเป็นเรื่องประหลาดเพราะว่า ดอกบัวเกิดจากโคลนตมฉันใด การปฏิรูปประเทศเกิดจากกระบวนการที่ไม่เป็นประชาธิปไตยได้ฉันนั้น”
สำหรับโจทย์การปรองดอง “ดร.บวรศักดิ์” กล่าวว่า ท้ายที่สุดต้องพูดกันในระดับประชาชน ระดับผู้นำ แต่เมื่อไม่ยอมพูดกันดีดี ท่านอาจารย์อเนก(เหล่าธรรมทัศน์) ก็มีสูตรของท่าน ก็อาจจะต้องบังคับมานั่งพูดกัน เป็นอีกทางหนึ่งที่จะต้องคิดว่า เราจะต้องทำจริงจัง
“ถ้าไม่ทำจริงจัง แล้วรัฐธรรมนูญไม่เขียนเรื่องกระบวนการปรองดองที่ถูกต้องให้เกิดขึ้นในรัฐธรรมนูญ ก็เกิดเหตุอย่างที่เกิด ก็ไม่จบ แทนที่จะทำ 1 เพื่อไปสู่ 100 ซึ่ง100 นี่คือนิรโทษกรรม ต้องเริ่มจาก1 ไปถึง 10 20 30 40 50 ถึง100 นิรโทษกรรมจึงเป็นคล้ายๆขั้นตอนสุดท้ายของปรองดอง”
“นโยบาย66/23 สิบปีถึงจะเป็นกฎหมายนิรโทษกรรม ถ้ารัฐธรรมนูญไม่วางโครงสร้างองค์กรให้ดี กระบวนการให้ดี ก็จะไปเริ่มที่ 100 ก็เกิดเหตุอีก ก็ไม่จบ แต่รัฐธรรมนูญนี้จะไม่พูดถึงเรื่องการปรองดองก็ไม่ได้ ถ้าไม่พูดก็แปลว่า เราไม่ได้เอาปัญหาบ้านเมืองที่เกิดขึ้นจริงนำขึ้นมาคิดกันเป็นเรื่องเป็นราว”
ทั้งหมดนี้ จึงเป็นโจทย์ใหญ่ที่เราจะต้องช่วยกันหาคำตอบ ทำอย่างไรถึงจะแก้ปัญหาระยะสั้นเฉพาะหน้าคือการสร้างความปรองดองให้ได้ และถามว่ามีสัญลักษณ์ที่ดีไหม ก็มี เพราะขนาดคสช.ห้าม ประชุมพรรคการเมือง วันนี้พรรคการเองทุกพรรคมา ไม่ว่าจะมาในนามพรรคหรือในนามส่วนตัวไม่เป็นไร แต่เป็นการเริ่มต้นของความพยายามที่จะพูดคุยกัน
“ดังนั้นเหลือเพียงแต่เราจะต้องสานต่อกระบวนการนี้เท่านั้นเอง ซึ่งในการสานต่อบางทีต้องขอความร่วมมือจากสื่อด้วย สื่อจะเป็นตัวสร้างความสมานฉันท์ปรองดองหรือให้ตีกันก็ได้ อยู่ที่คำถามที่สื่อยิง”
“โจทย์ใหญ่ 2 ข้อนี้ ผมยังไม่มีคำตอบ แต่หากเราหาคำตอบให้ 2โจทย์ใหญ่นี้ไม่ได้ กระบวนการที่อยู่ในสปช.ก็ดี ในกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญก็ดี และการยึดอำนาจของคสช.ก็ดี ก็เสียของ”
ดังนั้น เพื่อไม่ให้เสียของ ผมจึงเชิญชวนให้ท่านทั้งหลายช่วยกันเสนอความเห็น เห็นต่างกันได้ไม่เป็นไรแต่ว่าต้องมองอนาคตไปด้วยกัน พยายามอย่ามองไปในอดีต เพราะถ้ามองอดีตเราจะชี้นิ้วทันทีไปที่คนโน้น คนนี้
“แต่หากมองไปในอนาคตร่วมกันว่า เราอยากจะเห็นสังคมไทยในปี 2558, 2559 เป็นอย่างไร แล้วหาทางแก้ปัญหาที่เกิดความขัดแย้ง หรือทางการปฏิรูปใหญ่ที่รออยู่ข้างหน้าว่าจะช่วยกันผลักดันอย่างไร ความสำเร็จก็อาจจะเกิดขึ้น”
อย่างไรก็ตาม “ดร.บวรศักดิ์” ย้ำว่า การมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆในการจัดเวทีเสนอความเห็นเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง หาไม่แล้วการปฏิรูปก็จะกลายเป็นการทำของคนไม่กี่คน และอาจไม่เป็นที่ยอมรับของคนส่วนใหญ่ในสังคม
“ทำอย่างไรให้คนทั้งสังคมเข้ามามีส่วนร่วมให้มากที่สุด ที่ไม่ใช่ส่วนร่วมในการยกพวกมาตีกันอีก แต่เป็นส่วนร่วมที่มีคุณภาพ ช่วยกันทำให้เกิดความปรองดองในบ้านเมือง โดยใช้เครื่องมือกรรมาธิการยกร่างฯ สปช. เป็นเครื่องมือในการดำเนินการได้” ดร.บวรศักดิ์ สรุปทิ้งท้าย